การยึดอำนาจของบรรษัทยักษ์ใหญ่

ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP มีจุดเริ่มต้นจากความตกลง Trans-Pacific Partnership(TPP) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของสหรัฐอเมริกาตามยุทธศาสตร์ในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามาที่ต้องการล้อมกรอบจีน[1] หลังจากสหรัฐอเมริกาถอนตัวไปในปี 2560 มีการรีแบรนด์ TPP ภายใต้ชื่อ CPTPP [2] โดยรัฐภาคีที่เหลืออีก 11 ประเทศ (TPP-11) คือ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม ภายใต้การนำของญี่ปุ่น

มีการเจรจาโดยรัฐบาล 12 ประเทศในความตกลง TPP เป็นเวลา 5 ปี (ปี 2556-2560) เมื่อมีการเผยแพร่เอกสาร 30 ข้อบท (Chapter) ที่มีความยาวมากกว่า 6,000 หน้าออกสู่สาธารณะ ความตกลง TPP ที่เรียกว่าเป็นความตกลงทางการค้ารุ่นใหม่และมีมาตรฐานสูงแห่งศตวรรษที่ 21 ก็เผยให้เห็นโฉมหน้าอันอัปลักษณ์ที่แท้จริง เครือข่ายภาคประชาสังคมในอเมริกาเหนือภายใต้แคมเปญ Trade for the People and Planet ระบุว่าแท้ที่จริงแล้ว TPP คือการเจรจาลับทางการค้าโดยมีที่ปรึกษาของบริษัทอุตสาหกรรม 600 แห่งเข้ามาเกี่ยวข้อง[3]

Trade for the People and Planet ระบุว่า ความตกลง TPP ดังกล่าวเป็นตัวบ่อนทำลายประชาธิปไตยโดยเอื้อให้เหล่าบรรษัททั้งหลายเข้ามีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คนในทุกมิติ ตั้งแต่ความมั่นคงทางอาหารไปจนถึงสิ่งแวดล้อม สิทธิคนงานและการเข้าถึงบริการสาธารณสุข

ขบวนการสหภาพแรงงานในอเมริกาเหนือยั่วแย้งว่า “ถ้าคุณชอบ NAFTA(เขตการค้าเสรีแห่งอเมริกาเหนือ) คุณจะรัก TPP”[4] และถ้าจะกล่าวให้ถึงที่สุด TPP เป็นมากกว่าความตกลงทางการค้า มันคือการยึดอำนาจของบรรษัทยักษ์ใหญ่ของโลก [5]

Activists from many different coalitions, including Beyond Extreme Energy, confronted the Democratic party’s weak positions on climate change by using nonviolent direct action to disrupt business as usual in and around the offices of Democratic National Convention (DNC) Chair Debbie Wasserman Shultz in Washington, DC. Six Beyond Extreme Energy activists blockaded the doors at the DNC Headquarters, calling on the party to stand on the side of people and the planet instead of the fracked-gas industry, ultimately opposing the Trans Pacific Partnership (TPP).

เนื้อหาของ CPTPP นั้นมี TPP เป็นพื้นฐาน กลุ่ม TPP-11 ลงนามความตกลง CPTPP เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 หลังจากเจรจากันใหม่นานกว่าหนึ่งปี แม้ว่าในทางเทคนิคจะเป็นความตกลงทางการค้าฉบับใหม่ แต่ประเทศภาคี CPTPP ได้ระงับมาตรา/ข้อบทสำคัญไว้ทั้งหมด 22 ประเด็น ข้อบทที่ถูกระงับส่วนใหญ่ถูกแทรกลงในข้อบท TPP ต้นฉบับตามความต้องการของทีมเจรจาสหรัฐอเมริกาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศ และหนึ่งในข้อบทที่ยังคงไว้เหมือนเดิมไม่ว่าจะอยู่ใน TPP หรือ CPTPP คือด้านสิ่งแวดล้อม [6]

ข้อบทด้านสิ่งแวดล้อมที่อ่อนแอ

ในเดือนตุลาคม 2559 Matthew Rimmer ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม คณะนิติศาสตร์แห่ง Queensland University of Technology จัดทำบทวิเคราะห์เพื่อเสนอต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาด้านการต่างประเทศและการค้าแห่งออสเตรเลีย ระบุถึง 10 ประเด็นสำคัญดังนี้ [7]

  1. เนื้อหาในข้อบทด้านสิ่งแวดล้อมใน TPP นั้นล้มเหลวในการที่จะปกป้องสิ่งแวดล้อมในภูมิภาครอบมหาสมุทรแปซิฟิก
  2. ขาดกระบวนการเพื่ออภิปรายและปรึกษาหารืออย่างเปิดกว้าง โปร่งใสและเป็นประชาธิปไตยในข้อบทด้านสิ่งแวดล้อมใน TPP
  3. TPP ล้มเหลวในการเสริมสร้างความเข้มแข้งของกรอบความตกลง พหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ
  4. ข้อบทด้านสิ่งแวดล้อมใน TPP ขาดการบังคับใช้มาตรฐานและเกณฑ์ด้าน สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
  5. ข้อบทด้านสิ่งแวดล้อมใน TPP นำมาใช้ได้น้อยมากเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาครอบมหาสมุทรแปซิฟิก
  6. ข้อบทด้านสิ่งแวดล้อมใน TPP มีเนื้อหาที่อ่อนแอในด้านมหาสมุทรและ การประมงทะเล ตัวอย่างเช่น เม็กซิโกและมาเลเซียเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศที่เกี่ยวข้องกับการล่าปลาฉลามทั่วโลกมากกว่า 25% (ระหว่างปี 2545 ถึง พ.ศ. 2554) ขณะที่สิงคโปร์เป็นผู้ส่งออกครีบปลาฉลามรายใหญ่เป็นอันดับ 4 (ระหว่างปี 2543 ถึง 2552) เปรูและชิลีเป็นผู้ส่งออกหลักของผลิตภัณฑ์ปลาฉลาม ส่วนสิงคโปร์ มาเลเซียและเวียดนามเป็น 1 ใน 6 ประเทศหลักที่บริโภคหูฉลาม อย่างไรก็ตาม TPP ไม่ได้ขอให้ประเทศภาคีใช้มาตรการเฉพาะใดๆ เพื่ออนุรักษ์ปลาฉลาม แม้ว่าประเทศเหล่านั้นควรดำเนินการ “ตามความเหมาะสม” รวบรวมข้อมูล จำกัดการจับสัตว์น้ำพลอยได้ มาตรการบรรเทาผลกระทบ หรือการห้ามค้าหูฉลาม
  7. ข้อบทด้านสิ่งแวดล้อมใน TPP ล้มเหลวในทำให้เกิดการอนุรักษ์ธรรมชาติที่เข้มแข็งจริงจัง
  8. เนื้อหาว่าด้วยการค้าด้านบริการสิ่งแวดล้อม ในภาพรวมของข้อบทด้าน สิ่งแวดล้อมใน TPP ส่งเสริมการค้าเทคโนโลยีสกปรกพอๆ กับเทคโนโลยีสะอาด
  9. ข้อบทด้านสิ่งแวดล้อมใน TPP ล้มเหลวในการกล่าวถึงและต่อกรกับวิกฤต สภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกเงินอุดหนุนอุตสาหกรรม เชื้อเพลิงฟอสซิล
  10. ข้อบทอื่นๆ ใน TPP ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนา อุปสรรคเชิงเทคนิคของการค้าและการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ นั้นได้บ่อนทำลายนโยบายสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ยั่งยืนและปฏิบัติการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ในบทบรรณาธิการวารสารของ New Zealand Medical Association(NZMJ) เดือนมีนาคม 2561 หัวข้อ “Climate change, human health and the CPTPP” [8] Oliver Hailes นักวิชาการด้านกฎหมายที่กรุงเวลลิงตัน นิวซีแลนด์ ให้ความเห็นว่า ข้อบท 20.15 นั้นแตะประเด็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศแบบเลี่ยงๆ โดยรับรู้ว่า “การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำต้องมีการดำเนินการแบบรวมหมู่” และประเทศภาคี “จะต้องร่วมมือกันเพื่อจัดการกับเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ร่วม” เช่น “การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ใช้เทคโนโลยีและทางเลือกที่ปล่อยมลพิษต่ำและราคาสมเหตุผล” ประเด็นสิ่งแวดล้อมในข้อบท 20 รวมถึงมลพิษจากการเดินเรือที่มีต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล การหร่อยหรอของชั้นโอโซน การประมงเกินขนาด และการอนุรักษ์พืช สัตว์และทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้ Oliver Hailes เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากจุดยืนทางกฎหมาย ความตระหนักที่เบาหวิวและความไม่แน่นอนของ “กรอบความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม” ข้างต้นเหล่านี้ ย้อนแย้งอย่างชัดเจนกับกฎเกณฑ์ที่บังคับใช้ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องผลกำไรของการลงทุนจากต่างประเทศ

กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS)

แม้ว่าเนื้อหาความตกลง CPTPP จะเชื่อมโยงกฎหมาย การขยายตัวทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน แม้รัฐบาลมีบทบาทในการกำกับดูแลการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของภาคเอกชนในระดับประเทศ แต่ที่ผ่านมา กฎหมายระหว่างประเทศก็มีอิทธิพลต่อการดำรงไว้ซึ่งแนวทางเสรีนิยมใหม่ในยุค โลกาภิวัฒน์เพื่อครอบครองและแสวงประโยขน์จากทรัพยากร Oliver Hailes เห็นว่า นอกเหนือจากผลกระทบที่เฉพาะเจาะจง ความตกลง CPTPP จะจำกัดอำนาจของรัฐบาลในการกำกับดูแลผลประโยชน์สาธารณะ

ข้อบท 9 ใน CPTPP ว่าด้วยการลงทุน ประกอบด้วยสิทธิที่แข็งแกร่งและกว้างขวางสำหรับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการคุ้มครองจากการเวนคืนโดยไม่มีค่าตอบแทน (ข้อบท 9.8) และการรับประกันที่เปิดกว้างไว้สำหรับ “มาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติ” (ข้อบท 9.6) ที่บังคับใช้ผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน(ISDS)  กลไกนี้รวมอยู่ในข้อตกลงทางการค้าเพื่อช่วยแก้ไขข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนต่างชาติและประเทศที่ไปลงทุน แต่ ISDS กลายเป็นวิกฤตความชอบธรรมเพราะมีโครงสร้างโน้มเอียงที่เอื้อต่อนักลงทุนข้ามชาติ [9]

ในกรณีของนิวซีแลนด์ Oliver Hailes มองว่า การคุ้มครองการลงทุนข้ามชาติภายใต้ความตกลง CPTPP นำเสนอกลไกลับๆ เพื่อจำกัดกระบวนการออกกฎหมายของประเทศ โดยทำให้บริษัทเอกชนสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้ หากรัฐบาลออกกฎหมายหรือข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่การลดทอนมูลค่าของทรัพย์สินหรือผลกำไร เช่น การลด ละ เลิกการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิล  

การคุ้มครองดังกล่าวนี้ไม่ครอบคลุมถึงประชาชนและภาคธุรกิจในท้องถิ่น แต่จะครอบคลุม “ทรัพย์สินทุกรายการที่ [บริษัทต่างชาติ] เป็นเจ้าของหรือควบคุม ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมที่เป็นเรื่องของการลงทุน รวมถึงจุดประสงค์ของทุนหรือทรัพยากรอื่นๆ การคาดการณ์ผลที่ได้หรือกำไร หรือสมมุติฐานด้านความเสี่ยง”(ข้อบท 9.1) นอกเหนือจากอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินที่จับต้องได้ คำจำกัดความในเรื่องการคุ้มครองยังครอบคลุมเกือบทุกอย่างที่อาจเหมารวมเป็นสิทธิในทรัพย์สิน เช่น ใบอนุญาตตามกฎหมาย สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องมือทางการเงิน เช่น หุ้นและอนุพันธ์ การจัดการ การผลิต สัมปทาน การแบ่งรายได้ และสัญญาอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน”  และ “ใบอนุญาต การอนุญาต ใบอนุญาต และสิทธิที่คล้ายคลึงกันตามกฎหมาย[ของประเทศ]”

Oliver Hailes วิเคราะห์อีกว่า การคุ้มครองนักลงทุนในความตกลง CPTPP ใช้ข้อสัญญามาตรฐาน(boilerplate safeguard) กล่าวคือ “การดำเนินการหลักการ ไม่เลือกปฏิบัติโดย [รัฐบาล] ที่ถูกออกแบบและนำไปใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น สาธารณสุข ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม นั้นไม่ถือว่าเป็นมาตรการเวนคืนทางอ้อม ยกเว้นในสถานการณ์ที่หายาก (rare circumstances)” (ภาคผนวก 9B.3(b))

ในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบการเข้าร่วมความตกลง CPTPP สภาผู้แทนราษฎร กรมสนธิสัญญาและกฎหมายของไทยให้ข้อมูลว่า การประเมินความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกฟ้องร้องผ่านกลไก ISDS ภายใต้ความตกลง CPTPP นั้นจะต้องเปรียบเทียบกับความตกลงทางการค้าอื่น ๆ ที่ไทยมีอยู่แล้วกับสมาชิก CPTPP เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งความตกลงเหล่านั้นมีกลไก ISDS อยู่แล้ว ในกรณีที่นักลงทุนมีทางเลือกและต้องการฟ้องรัฐย่อมต้องประเมินว่า การฟ้องร้องภายใต้ความตกลงใดจะมีโอกาสชนะคดีมากที่สุด เมื่อประเมินแล้วจะเห็นว่า CPTPP ซึ่งเป็นความตกลงยุคใหม่มีข้อจำกัดมากกว่าความตกลงอื่น ๆ โดยมีข้อบทที่ให้พื้นที่รัฐในการกำหนดนโยบาย(policy space safeguards) มากกว่า และมีเงื่อนไขในการยื่นฟ้องคดีและเพิ่มรายละเอียดวิธีพิจารณาความ ของคณะอนุญาโตตุลาการ(procedural safeguards)ชัดเจนและรัดกุมมากยิ่งขึ้น หากนักลงทุนเลือกใช้ความตกลง CPTPP เพื่อฟ้องร้องประเทศไทย ก็จะเป็นผลดี เนื่องจาก CPTPP มีข้อบทที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายรัฐในการต่อสู้คดี

ส่วนกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทย ระบุว่า ไทยอาจเจรจาขอจัดทำ side letter เพื่อยกเว้นข้อกังวลเรื่อง ISDS ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจา ในกรณีของนิวซีแลนด์ ซึ่งทำ side letter กับ 5 ประเทศ เพื่อจำกัดการใช้กลไก ISDS ระหว่างกัน ได้แก่ ออสเตรเลีย เปรู เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน โดย side letter ระหว่างนิวซีแลนด์กับออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์กับเปรู กำหนดห้ามนักลงทุนใช้กลไก ISDS เพื่อฟ้องรัฐ ส่วน side letter กับอีก 3 ประเทศ ได้แก่ นิวซีแลนด์กับมเวียดนาม นิวซีแลนด์กับมาเลเซีย และนิวซีแลนด์กับบรูไนนั้นกำหนดเงื่อนไขให้มีการปรึกษาหารือระหว่างกันก่อน หากไม่สามารถตกลงกันได้ นักลงทุนจะใช้กลไก ISDS ฟ้องรัฐก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอม (consent)จากรัฐก่อน

กรณีตัวอย่างข้างต้น Oliver Hailes ตั้งประเด็นว่า ให้สังเกตถึงข้อกำหนดที่เอื้อกับนักลงทุนทั้งหลายที่แฝงอยู่ในเนื้อหาที่เป็นข้อยกเว้น ดังต่อไปนี้ คือ “ไม่เลือกปฏิบัติ (non-discriminatory)” “ชอบธรรม(legitimate)”;  “ยกเว้นในสถานการณ์ที่หายาก(except in rare circumstances)”  Oliver Hailes ชี้ว่านักกฎหมายด้านการลงทุนที่ถูกฝึกฝนมาอย่างดี(และได้รับค่าจ้างเต็มที่) สามารถใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ดังกล่าวได้

คดีฟ้องร้องผ่านกลไก ISDS หลายคดีในระดับสากลมีขึ้นเพื่อท้าทายกฎหมายด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศ  ตัวอย่างเช่น บริษัทพลังงานแห่งหนึ่งของแคนาดาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากสหรัฐอเมริกา 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ(NAFTA) หลังจากที่รัฐบาลโอบามายกเลิกโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ Keystone XL ที่ต่อเชื่อมแหล่งทรายน้ำมันของแคนาดากับแหล่งน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกจากความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ 

ดังนั้น แม้จะมีการรับรองอย่างเป็นทางการว่าข้อกังวลของ ISDS ได้รับการแก้ไขแล้ว การระงับในข้อบทการลงทุนอาจจะช่วยป้องกันนักลงทุนจากการใช้กลไก ISDS หากเป็นกรณีพิพาทที่เกี่ยวข้องกับสัญญาเอกชนกับรัฐบาล ซึ่งจะแตกต่างจากกรณีพิพาทที่เกี่ยวข้องกับมาตรการกำกับดูแลภาคสาธารณะ ยิ่งกว่านั้น มีแนวโน้มสูงว่าการระงับกลไก ISDS จะไม่เป็นผลหากสหรัฐอเมริกากลับเข้าร่วมความตกลง CPTPP ในภายหลัง ความเสียหายทางการเงินมากกว่า 85% ที่มาจากภาษีของประชาชนซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องจ่ายให้นักลงทุนภายใต้ความตกลงทางการค้าต่างๆ นั้นเป็นเรื่องข้อพิพาทด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

ในประเด็นเรื่อง ISDS เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการถูกฟ้องร้องจากบริษัทเอกชนอันเนื่องมาจากการที่รัฐบาลดำเนินการตามความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม และนโยบายและปฏิบัติการกอบกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ จึงมีข้อเสนอที่สำคัญคือ ให้แยกกลไก ISDS [10] ออกมาจากความตกลงทางการค้า

กระเทาะเปลือก #CPTPP ว่าด้วยการปนเปื้อนจีเอ็มโอ

กรณีที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศอ้างว่าความตกลง CPTPP ไม่ได้เปิดให้สินค้าจีเอ็มโอเข้ามาปลูกได้โดยเสรีและไม่ทำให้ไทยต้องแก้กฎหมายภายใน เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธาน FTA Watch ชี้แจงผ่านเฟซบุกเพจ FTA Watch[11] ว่า “ไม่ได้เป็นความจริงทั้งหมด”

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ขยายความว่า “ความตกลง CPTPP ภายใต้ข้อบท 2.27: Trade of Products of Modern Biotechnology นั้น มีเจตนาลดอุปสรรคในการค้าผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอโดยตรง ถึงแม้ว่าจะไม่ทำให้ไทยต้องแก้กฎหมายภายในและระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่หากมีการปนเปื้อนของจีเอ็มโอ (Low Level Presence ) ความตกลง CPTPP ระบุให้ผู้ส่งออกดำเนินการต่างๆ ตามระเบียบและกฎหมายภายในของประเทศผู้ส่งออก และให้เป็นไปตามการประเมินความเสี่ยงและความปลอดภัยด้านอาหารของ CODEX ซึ่งเป็นการลดทอนอำนาจของไทยในการจัดการปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมและสินค้าจีเอ็มโอที่ได้รับการรับรองในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ พิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety Protocol) ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพนั้น  ประเทศผู้ส่งออกมีหน้าที่ต้องแจ้งแก่ประเทศผู้นำเข้า (prior informed consent) หากเป็นสินค้าจีเอ็มโอ และผู้นำเข้าสามารถปฏิเสธการรับผลิตภัณฑ์นั้นได้ตาม มาตรการป้องกันเอาไว้ก่อน (precautionary principle) หรือการคำนึงมิติด้านเศรษฐกิจสังคม (socio-economic consideration) โดยไม่ต้องยึดแนวทางการประเมินความเสี่ยงที่ต้องใช้หลักฐานทาง วิทยาศาสตร์อย่างเพียงพอแต่เพียงอย่างเดียวเพราะผลกระทบต่อความปลอดภัยทางชีวภาพและสุขภาพนั้นต้องใช้เวลายาวนานจึงจะเห็นผล นอกจากนี้ ในรายงานของกระทรวงสาธารณสุขยังกังวลด้วยว่า ในมาตราดังกล่าวของ CPTPP ยังได้เพิ่มขั้นตอนและกระบวนงานในการขออนุญาต เช่น การแจ้งข้อมูล หรือส่งรายงานประจำปี รวมถึงต้องมอบหมายให้มีผู้ดำเนินการตอบคำถามต่างๆ ต้องเพิ่มทรัพยากรทั้งบุคคลากรและงบประมาณในการจัดเตรียมมาตรการรองรับ เช่น ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ เครื่องมือและวิธีการตรวจวิเคราะห์ที่รวดเร็วแม่นยำ การจัดให้มีระบบการทวนสอบกลับที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดทำกระบวนการประเมิน ความเสี่ยงต่อผลิตภัณฑ์ประเภทสินค้าเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่”

เมื่อกระเทาะเปลือก CPTPP ออก แก่นแท้ของความตกลงทางการค้านี้ ก็หนีไม่พ้นการปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของนักลงทุน(ส่วนใหญ่คือบริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในประเทศและบรรษัทข้ามชาติ) โดยการจำกัดอำนาจนิติบัญญัติของรัฐบาลต่างๆ

กรีนพีซ ประเทศไทย ทำงานรณรงค์ #NoCPTPP ขณะนี้มีประชาชนกว่า 200,000 คน ร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลตัดสินใจยุติการเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP อย่างถาวรในทันที และเรียกร้องให้มีการสร้างสมดุลและปรับโครงสร้างของกฏเกณฑ์ทางการค้าและการลงทุนขึ้นใหม่ หัวใจหลักของข้อตกลงการค้าใดๆ จะต้องบรรจุเรื่องความรับผิดชอบ ความโปร่งใสตรวจสอบได้ และภาระรับผิดของบรรษัท ตลอดจนภาระผูกพันที่มีผลบังคับใช้ทางกฏหมายสำหรับนักลงทุนและบรรษัท เราเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างประเทศ รวมถึงไอเดียต่างๆ ทำให้โลกของเราเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างและเชื่อมต่อกันมากขึ้น แต่การค้าจะต้องไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายในตัวเอง “การค้า” ควรเป็นวิธีการหรือแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งทำให้เราอยู่ในขอบเขตพื้นที่ที่ปลอดภัยและเป็นธรรมสำหรับมนุษยชาติ

อ่านเพิ่มเติม “จุดยืนของกรีนพีซว่าด้วยความตกลงทางการค้า

ร่วมลงชื่อเพื่อหยุดทำลายความมั่นคงทางอาหาร #NoCPTPP

อ้างอิง

[1] เอกสารประกอบการอภิปรายเกี่ยวกับความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership–CPTPP)โดย ดร.วิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย https://treaties.mfa.go.th/pdf/(1)%20CPTPP.pdf

[2] “Climate change, human health and the CPTPP” บทบรรณาธิการวารสารของ New Zealand Medical Association(NZMJ) 9 March 2018, Vol 131 No 1471 https://www.nzma.org.nz/journal-articles/climate-change-human-health-and-the-cptpp

[3] TPP Corporate Insiders https://tradeforpeopleandplanet.org/tpp-corporate-insiders/  US’s controversial TPP proposal is smoking gun for corporate agenda https://www.bilaterals.org/?us-s-controversial-tpp-proposal-is 

[4] มรดก 20 ปีของเขตการค้าเสรีแห่งอเมริกาเหนือ(NAFTA)คือ การที่คนงานในสหรัฐอเมริกามากกว่า 845,000 คนถูกรับรองโดยความช่วยเหลือด้านการปรับการค้า (TAA) ว่าต้องตกงานเนื่องจากการนำเข้าแรงงานจากแคนาดาและเม็กซิโกหรือการย้ายโรงงานไปยังประเทศเหล่านั้น ในขณะเดียวกัน NAFTA มีส่วนทำให้เกิดแรงกดดันต่อค่าจ้างของสหรัฐฯ และความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ของสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น – NAFTA’s 20 year legacy and the fate of the Trans Pacific Partnership

[5] Jim Hightower, “The Trans-Pacific Partnership is not about free trade. It’s a corporate coup d’état—against us!” http://tradeforpeopleandplanet.org/trans-pacific-partnership-corporate-coup-detat-against-us/ 

[6] ข้อบทด้านสิ่งแวดล้อมของความตกลง CPTPP https://wtocenter.vn/upload/files/fta/174-ftas-concluded/175-cptpp-tpp11/177-full-text/20.-Environment-Chapter.pdf

[7] Matthew Rimmer and Matthew Rimmer, Greenwashing the Trans-Pacific Partnership: Fossil Fuels, the Environment, and Climate Change, 14 Santa Clara J. Int’l L. 488 (2016). Available at: https://digitalcommons.law.scu.edu/scujil/vol14/iss2/5

[8] Oliver Hailes, Climate change, human health and the CPTPP, March 2018 The New Zealand medical journal 131(1471):7-12.

[9] อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ISDS ได้ที่ https://waymagazine.org/isds-basic101/ 

[10] Van Harten, Gus, “An ISDS Carve-Out to Support Action on Climate Change” (2015). Osgoode Legal Studies Research Paper Series. 113. http://digitalcommons.osgoode.yorku.ca/olsrps/113
[11] อ่านเพิ่มเติมใน สมุดปกดำ “เหตุใดประเทศไทยไม่ควรเข้า #CPTPP” จัดทำโดย FTA Watch ดาวน์โหลดได้ที่ https://t.co/AknMgUBJDK