ภาพ NASA Earth Observatory สร้างโดย Joshua Stevens โดยใช้ข้อมูล GEOS-5 จาก Global Modeling and Assimilation Office ของนาซา และฐานข้อมูลของ Joalda Morancy/NASA/JPL-Caltech และทีมวิทยาศาสตร์ ECOSTRESS เขียนเรื่องโดย Kathryn Hansen / แปลเรียบเรียงโดย ธารา บัวคำศรี

เหตุการณ์คลื่นความร้อนที่เกินปกติเกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงฤดูร้อน แต่คลื่นความร้อนล่าสุดในเขตแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือต้องเป็นกรณียกเว้น ในเดือนมิถุนายน 2564 อุณหภูมิในหลายเมืองของสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเพิ่มขึ้นทุบสถิติทั้งหมดในช่วงที่มีคลื่นความร้อนซึ่งสำนักอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ เรียกว่า “เป็นคลื่นความร้อนครั้งประวัติศาสตร์และอันตราย”
ความร้อนเริ่มก่อตัวขึ้นช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และผลที่เกิดขึ้นแสดงในแผนที่ด้านบนแสดงอุณหภูมิพื้นผิวดินในวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ในรัฐวอชิงตัน โดยระบุว่า ในช่วงเที่ยงวัน อุณหภูมิพื้นผิวที่เมืองซีแอตเติลพุ่งขึ้นไปที่ 120 องศาฟาเรนไฮต์ (49 องศาเซลเซียส) และที่โหดกว่านี้ยังมาไม่ถึง จนถึงวันที่ 26 มิถุนายน การเตือนภัยคลื่นความร้อนมีขึ้นทั่วรัฐวอชิงตัน โอเรกอนและแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ
ข้อมูลในแผนที่มาจากระบบ ECOsystem Spaceborne Thermal Radiometer Experiment on Space Station (ECOSTRESS) ของนาซา โดยใช้เครื่องมือ scanning radiometer เพื่อวัดรังสีความร้อนที่แผ่ออกมาจากพื้นผิวโลกซึ่งจะต่างจากการวัดอุณหภูมิอากาศ เครื่องมือนี้จะทำให้เรารู้ว่าพื้นผิวโลกร้อนขึ้นอย่างไร ร้อนมากกว่าหรือน้อยกว่าอุณหภูมิอากาศ
แผนที่ด้านล่างแสดงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอากาศทั้งสหรัฐอเมริกาและแคนาดาในวันที่ 27 มิถุนายน 2564 ในช่วงที่ความร้อนเริ่มเข้มข้นและบันทึกอุณหภูมิค่อยๆ เริ่มลดลงบ้าง แผนที่ทำขึ้นจากข้อมูลแบบจำลอง Goddard Earth Observing System (GEOS) และแสดงแบบแผนการกระจายตวัของอุณหภูมิอากาศที่สูงกว่าพื้นดิน 2 เมตร (6.5 ฟุต) พื้นที่ระบายสีแดงหมายถึงบริเวณที่อุณหภูมิอากาศสูงมากกว่า 27 องศาฟาเรนไฮต์ (15 องศาเซลเซียส) โดยมากกว่าค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิอากาศระหว่างปี 2557-2563 ในวันเดียวกัน

แบบจำลอง GEOS model ก็เช่นเดียวกับแบบจำลองสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศอื่นๆ คือจะใช้สมการทางคณิตศาสตร์ที่เป็นตัวแทนของกระบวนการทางกายภาพ (เช่น การตกของน้ำฟ้าและกระบวนการเกิดเมฆ) เพื่อคำนวณว่าบรรยากาศจะเกิดอะไรขึ้น การวัดจริงในส่วนของคุณลักษณะทางกายภาพ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และกระแสลม จะถูกป้อนเข้าไปในแบบจำลองเป็นระยะๆ เพื่อให้ใกล้เคียงกับสภาพจริงเท่าที่จะได้
สถานีอุตุนิยมวิทยาในหลายเมืองรายงานถึงอุณหภูมิที่ร้อนทำลายสถิติในวันที่ 27 มิถุนายน 2564 เมืองซีแอตเติลมีอุณหภูมิสูงถึง 104°F (40°C)ในวันนั้น เป็นอุณหภูมิของเมืองที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึก ที่เมืองพอร์ตแลนด์ในรัฐโอเรกอนอุณหภูมิสุงเป็น 112°F (44°C)ซึ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึก เมือง Lytton รัฐ British Columbia อุณหภูมิสูง 116°F (47°C)—ถือเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุด ไม่มีที่ไหนในสหรัฐสูงกว่านี้เท่าที่มีการบันทึก สถิติอุณหภูมิที่มีการบันทึกในแคนาดาก่อนหน้านี้คือ 113°F (45°C) เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ปี 2480 ในเขต Yellow Grass และ Midale รัฐ Saskatchewan
จากข้อมูลใน blog ของ Cliff Mass นักวิทยาศาสตร์ด้านบรรยากาศ ความร้อนสุดขีดเป็นผลจากเงื่อนไขปัจจัยที่ผิดปกติรวมๆ กัน ทั้งความกดอากาศสูงมากบริเวณตอนในของทวีปและความกดอากาศต่ำแถบพื้นที่ชายฝั่งทะเล ทำให้เกิดการไหลเวียนที่รุนแรงของอากาศจากตะวันออกไปตะวันตก กระแสไหลเวียนดังกล่าวช่วยดันอากาศอากาศเย็นจากมหาสมุทรให้ห่างออกจาก ขณะที่มีการไหลเวียนของอากาศอุ่นอยู่เหนือแนวเทือกเขา และกระแสอากาศจะยิ่งร้อนขึ้นเมื่อเคลื่อนตัวลงตามลาดเขาไปสู่พืน้ที่เชิงเขาด้านล่าง