
ในปี 2564 นี้ แคว้นบริติชโคลัมเบียต้องเจอกับการปะทุของไฟป่าที่อันตรายและคลื่นความร้อน จนถึงปลายเดือนมิถุนายน มีไฟป่าปะทุขึ้นกว่า 40 จุด โดยจุดที่เกิดไฟขนาดใหญ่อยู่ห่างจากเมืองแวนคูเวอร์ 200 กิโลเมตรไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
เครื่องมือวัดระบบ Visible Infrared Imaging Radiometer Suite (VIIRS) บนดาวเทียม NOAA-20 จับภาพด้านบนไว้ได้ในช่วงเวลาบ่ายสองโมงตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยเช้าของวันที่ 1 กรกฎาคม ไฟป่า McKay Creek (ด้านซ้าย) และไฟป่า Sparks Lake (ด้านขวา) เผาผลาญพื้นที่ราว 150 และ 200 ตารางกิโลเมตร ตามลำดับ ไฟป่าที่มีขนาดเล็กกว่าสามารถเห็นได้ในทางตอนใต้ของเมือง Lytton.
เราสามารถสังเกตเห็นพื้นที่สีขาวสว่างที่อยู่เหนือจุดเกิดไฟขนาดใหญ่ทั้งสอง Michael Fromm นักอุตุนิยมวิทยาที่ the Naval Research Laboratory บอกว่านี่คือ การเกิดเมฆไฟโรคิวมูโลนิมบัส(cumulonimbus) มวลเมฆและความร้อนที่มักยกตัวอยู่เหนือควันไฟป่า เมฆชนิดนี้เป็นส่วนผสมของควันสีเทาและน้ำแข็งสีขาว ดังนั้นจะปรากฎความขาวที่มากกว่ากลุ่มควันไฟส่วนอื่นๆ
ภาพที่สองด้านล่างแสดงรายละเอียดของไฟป่า McKay Creek ซึ่งจับภาพโดยเครื่อง Operational Land Imager (OLI)บนดาวเทียม Landsat 8 ในตอนเที่ยงวันตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ภาพสีธรรมชาตินี้นำมาซ้อนทับกับช่วงแสงอินฟาเรดคลื่นสั้น เพื่อระบุจุดเกิดไฟที่ยังปะทุอยู่

หลังจากจับภาพนี้ได้ เจ้าหน้าที่ของรัฐได้สั่งให้มีการอพยพชาวเมือง Lytton เนื่องจากไฟป่าขยายเพิ่มขึ้น รายงานข่าวระบุว่า ไฟป่าปะทุขึ้นอย่างรวดเร็วและล้อมเมืองเอาไว้ มีบ้านเรือนเสียหายและประชาชนได้รับบาดเจ็บ ไฟป่า George Road ยังได้เผาไหม้พื้นที่ด้านใต้ของเมือง
ไฟป่านี้ปะทุขึ้นในช่วงที่อุณหภูมิในแถบแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือและแคนาดาตะวันตกเพิ่มสูงขึ้นทะลุสถิติที่มีการบันทึกกันมา ในวันที่ 29 มิถุนายน 2564 เมือง Lytton ร้อนขึ้นเป็น 121°F (49.6°C)—ถือเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดเท่าที่มีการเก็บสถิติเมื่อเทียบกับทุกๆ พื้นที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมาในแคนาดา
Fromm กล่าวว่า “พื้นที่ป่ามีความเปราะบางในทุกๆ ฤดูร้อน เราได้เห็นไฟป่าและเมฆไฟที่มีขนาดใหญ่ขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความร้อนแบบสุดขีดและกระแสลมใหญ่นั้นทำให้ไฟป่ามีอันตรายรุนแรงมากขึ้น”

แผนที่ด้านบนแสดงความผิดปกติของอุณหภูมิอากาศทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาและแคนาดาตะวันตกในวันที่ 29 มิถุนายน 2564 แผนที่สร้างขึ้นจากแบบจำลอง Goddard Earth Observing System(GEOS) เพื่อแสดงแบบแผนแผนการกระจายตัวของอุณหภูมิอากาศ 2 เมตรเหนือพื้นผิว สีแดงเข้มเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิ 36°F (20°C) ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิในวันเดียวกันในช่วงปี 2557-2563
แบบจำลอง GEOS model ก็เช่นเดียวกับแบบจำลองสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศอื่นๆ คือจะใช้สมการทางคณิตศาสตร์ที่เป็นตัวแทนของกระบวนการทางกายภาพ (เช่น การตกของน้ำฟ้าและกระบวนการเกิดเมฆ) เพื่อคำนวณว่าบรรยากาศจะเกิดอะไรขึ้น การวัดจริงในส่วนของคุณลักษณะทางกายภาพ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และกระแสลม จะถูกป้อนเข้าไปในแบบจำลองเป็นระยะๆ เพื่อให้ใกล้เคียงกับสภาพจริงเท่าที่จะได้
ภาพ NASA Earth Observatory สร้างโดย Lauren Dauphin และ Joshua Stevens โดยใช้ข้อมูล VIIRS จาก NASA EOSDIS LANCE, GIBS/Worldview และ Suomi National Polar-orbiting Partnership, ข้อมูล Landsat จาก U.S. Geological Survey และข้อมูล GEOS-5 จาก Global Modeling and Assimilation Office เขียนโดย Kathryn Hansen /แปลเรียบเรียงโดย ธารา บัวคำศรี
ข้อมูลอ้างอิง
- BC Wildfire Service (2021, July 1) Active Wildfires Map. Accessed July 1, 2021.
- BC Wildfire Service (2021, July 1) Wildfires of Note: McKay Creek. Accessed July 1, 2021.
- BC Wildfire Service (2021, July 1) Wildfires of Note: Sparks Lake. Accessed July 1, 2021.
- CBC News (2021, June 30) For 3rd straight day, B.C. village smashes record for highest Canadian temperature at 49.6 C. Accessed July 1, 2021.
- CBC News (2021, June 30) Village of Lytton, B.C., evacuated as mayor says ‘the whole town is on fire’. Accessed July 1, 2021.
- National Public Radio (2021, July 1) The Deadly Heat Wave Is Triggering Dozens Of Wildfires In Western Canada. Accessed July 1, 2021.
- Thompson-Nicola Regional District (2021, June 30) Evacuation Order for Village of Lytton. Accessed July 1, 2021.