ธารา บัวคำศรี แปลเรียบเรียงจาก Wanganui : Beyond the Comfort Zone, North and South Magazine. June, 1995 เขียนโดย Cate Brett (ตีพิมพ์ลงในนิตยสารอาทิตย์รายสัปดาห์ ระหว่าง ปี พ.ศ.2538-2539)
ตอนที่ 1

ความมืดสลัวแผ่เข้าปกคลุม จึงเห็นความแตกต่างอย่างที่สุดของ “ปาไกโตเร มาราเอ” หลังจากช่างภาพกลับเข้าที่พักและจัดการอย่างรีบร้อนกับข่าวชิ้นใหม่ล่าสุดของวันรุ่งขึ้น ปาไกโตเรจึงเผยบรรยากาศอีกมุมหนึ่ง
เสียงเป่าหอยสังข์เรียกคนที่มาเยี่ยม(มานูฮิริ) และชาวเมารีทุกชนเผ่า(อีวี่) หลังจากอาหารมื้อเย็นให้มารวมกันอยู่รอบๆ ที่พัก(ฟาเรปูนิ) เพื่อทำพิธีสวดมนต์ในตอนค่ำ ตามด้วยการชี้แจงกฏระเบียบของมาราเอ เรื่องการเงินและการดูแลด้านอาหารและที่พักเพื่อนำไปสู่ความหมายของ “วางานูอิทางา(Wanganui Tanga)”
ชายสูงวัยอาวุโสยืนและท่องคำอธิษฐานในภาษาเมารี คนทั้งหลายท่องตาม คนกลุ่มหนึ่งร้องเพลงเสียงสูงน่าขนลุกเสริมขึ้นมา สตรีวัยกลางคนและสตรีสูงวัยอาวุโสนั่งซุกตัวอยู่ในผ้าห่มกันความเย็นชื้นที่แผ่มาจากแม่น้ำวางานูอิที่ไหลเอื่อยช้า ต่างพากันเสกเป่ามนต์คาถาอันคุ้นเคยเพื่อปัดเป่าความตึงเครียดในแต่ละวัน
หมายเหตุผู้แปล : ปาไกโตเรคือชื่อป้อมค่ายอันแก่แก่ของเมารี ส่วนมาราเอ คือสิ่งก่อสร้างที่เป็นหอประชุม มีการประดับประดาด้วยศิลปะแบบเมารี เป็นศูนย์กลางสำคัญของชุมชน หรือหมายถึงพื้นที่กลางแจ้งใช้สำหรับการพบปะและชุมนุมในโอกาสต่างๆ และมีสถานที่ที่ใช้ร่วมกันรวมทั้งหอประชุม เมารีเข้ายึดสวนสาธารณะโมวทอซึ่งเป็นพื้นเดิมของป้อมค่าย จึงเรียกว่า “ปาไกโตเร มาราเอ”
หมายเหตุผู้แปล : “Wanganui Tanga” เป็นคำผสมในภาษาเมารีโดยใช้คำนามผสมกับคำว่า tanga และจะมีความหมายตามเนื้อหานั้นๆ เช่น Maori-tanga ความภูมิใจในความเป็นเมารี ส่วน Wananuitanga ในที่นี้คือ สิทธิในการปกครองตนเอง
กลุ่มสตรีสูงวัยอาวุโสเหล่านี้มีอายุราว 80-90 ปี ซึ่งในวัฒนธรรมของปาเกฮา พวกเธอจะถูกจัดการเหมือนแมวที่เลี้ยงไว้เฝ้าบ้าน แต่ที่นี่ พวกเธอมีความทัดเทียมและศักดิ์สิทธิ์เท่ากับคนรุ่นลูกหลานของเธอที่กำลังจัดการดูแลมาราเอและตีลูกเบสบอลอยู่ในสนาม สตรีเหล่านี้เป็นผู้จุดประกายให้กับคนหนุ่มสาวเมารี สตรีที่เรียก เคน แมร์ ผู้นำคนหนึ่งในการชุมนุมว่า “จอนห์นี่มาสาย”
หมายเหตุผู้แปล : “ปาเกฮา” เป็นชื่อเรียกชนผิวขาวในภาษาเมารี
ความแปลกประหลาดเช่นนี้นับเป็นครั้งแรกของกรณีความขัดแย้งและความไม่ชัดเจนหลายต่อหลายครั้งในเรื่องราวของโมวทอ
ฉันมาถึงวางานูอิในวันที่ 23 หลังจากเมารีเข้ายึดครองสวนสาธารณะโมวทอ เป็นวันหลังจากที่สภาเมืองวางานูอิบอกว่าเหลือเวลาอีกเพียงเจ็ดวันพวกเขาต้องออกไป ฉันมาถึงพร้อมด้วยภาพของเมารีหัวรุนแรงแสดงอาการท้าทายและปฏิเสธอำนาจของปาเกฮา
ความทรงจำที่เลือนหายไปในวันคริสต์มาสปีกลายได้ย้อนกลับมาอีกครั้ง คือรายงานข่าวการตัดหัวรูปปั้นจอห์น บาลลานส์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกิจการชนพื้นเมืองช่วงศตวรรษที่ 19 ในสวนสาธารณะเมืองวางานูงิ และเดือนกุมภาพันธ์ 2538 การตัดหัวรูปปั้นครั้งที่สองและการปิดถนนของกลุ่มเมารีหัวรุนแรงนามว่า เท อะฮี คา เพื่อก่อกวนมหกรรมกีฬามาสเตอร์เกมที่เมืองวางานูอิเป็นเจ้าภาพ
ท้ายที่สุด การเจรจาต่อรองสนธิสัญญาไวทาหงิ นายดุค เกรแฮม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมดำเนินการอืดอาดยืดยาดเข้าไปในวางานูงิเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 เพื่อจัดการพูดคุยในที่ชุมนุมเรื่องจดหมายแถลงงบประมาณอันโชคร้ายที่ “คาอิฟาอิกิ-มาราเอ” ในขณะที่การเฉลิมฉลองวางานูอิทางาไดจัดขึ้นที่สวนสาธารณะโมวทอ การเฉลิมฉลองที่แปรสภาพอย่างรวดเร็วมากใต้ร่มของเต็นท์และความมืด แบบเดียวกับการยึดครองที่บาสตันพอยส์
ข่าวโทรทัศน์บอกเราว่า ตัวละครคนสำคัญคือนักกิจกรรมทางสังคมชาวเมารีชื่อเคน แมร์ และนายกเมืองวางานูมิ และนักธุรกิจนาม ชาส พอยน์เตอร์ แล้วเคน แมร์ เป็นใครล่ะ เขาบอกกับคนทั่วไปว่า เขาเป็นสมาชิกของ “เท อะฮีคา” กลุ่มเมารีที่กระตือรือร้นและมีจิตใจสูงส่งซึ่งมีเป้าหมายเน้นไปที่อำนาจในการปกครองตนเอง ความเกี่ยวพันของชนเผ่าที่เขาสังกัดกับชนเผ่าเมารีแห่งแม่น้ำวางานูอิได้สืบสายผ่านชนเผ่างาติ ทูเอรา และ งาติ ฮิเน เอโร ปัจจุบันเขาอายุ 30 ปีกว่า เขากลับมาบ้านที่วางานูอิพร้อมด้วยภรรยาและลูกน้อย เคนทำงานด้านการแพทย์ในราชนาวีนิวซีแลนด์ในปลายทศวรรษ 1970 และระหว่างปี พ.ศ.2530 จนถึงปลายปี พ.ศ.2537 เขาได้รับการว่าจ้างเป็นเจ้าหน้าที่เมารีในสมาคมครูมัธยมศึกษา

สตรีที่เรียกเคน แมร์ ว่าจอนห์นี่มาสาย คือ มาการาตา ทาวารัว นักบวชคาทอลิกวัยกลางคนของคณะนิกายเซนต์โยเซฟ มากาเรตาเคยมีบทบาทโดดเด่นในเครือข่ายความเป็นธรรมทางสังคมแห่งคริสเตียน (คนในเมืองวาานูอิส่วนมากเป็นคาทอลิก) เธอเคนทำงานเรื่องการยกระดับจิตสำนึกและประสานเครือข่ายชนพื้นเมืองทั่วเอเชียแปซิฟิกเป็นเวลาหลายสิบปี แม้ว่ามากาเรตาลดบทบาทตัวเองลงและอยู่ในกลุ่มที่ไม่พูดแสดงออกในการชุมนุมที่โมวทอ ทั้งเธอและสตรีอาวุโส ชื่อ เท มานาวาอูนิ ปาอูโร มีส่วนสำคัญที่ปาไกโตเรอย่างชัดเจน บทบาทของเคน แมร์ ผู้เป็นนักพูดที่แหลมคมและผู้นำมวลชนจึงมักทำให้สื่อมวลชนสับสนและเข้าใจผิดพลาด
หากพวกเขาเหล่านั้นเป็นพวกที่ชอบก่อความวุ่นวาย ทำไมจึงมีพิธีสวดมนต์ และมีการอภิปรายอย่างเข้มข้นเพื่อให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของมาราเออย่างเข้มงวด?

คืนนี้เช่นเดียวกับทุกคืน การปราศรัยได้เริ่มขึ้น มีการหยิบยกเรื่องการจัดการที่พักในที่ชุมนุม ผู้รับผิดชอบเรื่องการเงินรายงานว่าจนถึงสุดสัปดาห์มีเงิน 4,000 เหรียญ(นิวซีแลนด์) ที่บริจาคเข้ามาราเอ (หนึ่งในผู้บริจาคคือ เกรแฮม ลาทิเมอร์ ประธานสภาเมารีแห่งนิวซีแลนด์)
หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น วางานูอิ ครอนิเคิล รายงานว่า นักธุรกิจในพื้นที่ไม่พอใจต่อการชุมนุมของเมารีซึ่งสร้างความเสียหายต่อธุรกิจของตน แต่ความจริงแล้ว การชุมนุมได้กระตุ้นให้เศรษฐกิจคึกคัก ภายในเมือง โรงแรม ที่พักประเภทต่างๆ และบริษัทเช่ารถมีรายได้เพิ่มขึ้นจากสื่อมวลชน แม้กระทั่งโรงเรียนนายร้อยทหารเรือสาขาวางานูอิก็ยังมีรายได้จากโทรทัศน์นิวซีแลนด์ 1,000 เหรียญ เพื่อให้ช่างภาพเข้าไปตั้งกล้องบนหลังคาตึกที่สามารถมองเห็นสวนสาธารณะโมวทอได้ทั่ว
มีเพียงนักธุรกิจท้องถิ่นสองคนที่ปฏิเสธว่าไม่ส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของเมารี กลุ่มผู้ชุมนุมใช้เงิน 3,000 เหรียญ เป็นค่าใช้จ่ายนับตั้งแต่เริ่มเข้ายึดสวนสาธารณะ และอีก 1,000 เหรียญมาจากการบริจาคของชาวเมารีและปาเกฮาที่มีอารมณ์ร่วมทั่วประเทศ จากการจัดอันดับความนิยม การชุมนุมประท้วงของเมารีได้รับความสนใจมากกว่ากิจกรรมธุรกิจที่แข่งขันกันบนถนนสายหลักในเมืองวางานูอิ ร้านแวร์เฮาส์ที่ขายข้าวของเครื่องใช้สารพัดที่อยู่ทั่วไปในนิวซีแลนด์ขายเต็นท์และอุปกรณ์แคมปิ้งดีเป็นเทน้ำเทท่า
ตามมาด้วยรายงานจากหัวหน้ารักษาความปลอดภัย ลีออน เรเรคูรา ซึ่งได้ประกาศย้ำถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงกลางคืน และเน้นให้ผู้มาเยี่ยมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของชนเผ่าเมารีแห่งวางานูอิ คือ ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดในที่ชุมนุม และไม่มีใครได้รับสิทธิพิเศษ ผู้ที่ทะเลาะเบาะแว้งกันต้องออกไป
เป็นทีรู้กันดีกว่า เมารีบางคนในที่ชุมนุมประท้วงถูกตักเตือนให้หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่นำไปสู่การปะทะ และการใช้จ่ายเงินอย่างไม่ระมัดระวัง คนหนุ่มสาวชาวเมารีเข้ามาร่วมชุมนุมเพราะพวกเขาพร้อมที่จะก่อหวอดเรื่องค่าจ้าง ต่อต้านระบบ และต่อต้านชาวปาเกฮา มีการย้ำเตือนทุกคืนว่า การก่อเหตุวิวาทกับคนทั่วไปหรือตำรวจถือว่าเป็นผู้ก่อเหตุ อีกครั้ง อีกครั้ง เราบอกว่า ศัตรูไม่ใช่ปาเกฮา แต่คือราชินีแห่งอังกฤษและตัวแทน การก่อเหตุวิวาทเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่เรื่องเชื้อชาติ
นี่ไม่ใช่ภาพของพวกหัวรุนแรงที่ไร้กฎเกณฑ์ตามที่ฉันคาดไว้ หรือไม่ใช่ภาพจากจอทีวีที่คนเฝ้าดูเคน แมร์ ผู้น่าชังที่ได้กล่าวโจมตีนายกเมืองวางานูอิ
ตอนที่ 2
แล้วใครเป็นคนคุมการชุมนุมประท้วงของชาวเมารีตัวจริง แล้วพวกเขาทำอะไร มีอะไรเป็นข้อพิสูจน์ว่า พวกเขาเป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกหลงลืมอยู่ด้านหลังเขตเมืองวางานูอิแห่งนี้ และเหตุใดจึงมีความสำคัญขึ้นมาทันทีทันใด มาราเอแห่งอื่นๆ ในเมืองวางานูอิจะสร้างความแตกต่างในการลุกขึ้นมาชุมนุมประท้วงของเมารีในเมืองหรือไม่

นิโก ทางารัว อดีตผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงาน นักกิจกรรมจากพรรคแรงงานและบุรุษอาวุโสผู้ทรงคุณวุฒิจากโอโตโก มาราเอ ที่ตจั้งอยู่ตอนบนของแม่น้ำวางานูอิ ถูกมอบหมายให้เป็นผู้นำในการแถลงข่าวเพราะ “มานา” ของเขาเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางของเมารี นิโกบอกกับฉันในตอนแรกที่มาพักในปาไกโตเร ว่า พวกปาเกฮาไม่มีอะไรต้องกลัวจากการชุมนุมประท้วงที่โมวทอ “หลายคนถามผมว่า ใครคือศัตรู ศัตรูคือบริษัทข้ามชาติ ต่างชาติมาฮุบเอาธุรกิจการค้า ทุกคนคิดว่าเมารีต้องการยึดประเทศ ไม่หรอก เราเพียงต้องการมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรของตัวเอง ถ้าเราสูญเสียที่ดินที่เหลืออยู่ เราจะสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง เราจะหายไปในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง”
หมายเหตุผู้แปล : Mana - ภาษาเมารีเก่าหมายถึงอำนาจของสิ่งเหนือธรรมชาติและจะถูกทำลายหากกลุ่มในชนเผ่าแตกแยกกัน ปัจจุบันเป็นคำที่ทั้งเมารีและปาเกฮาใช้กันอย่างกว้างขวางหมายถึงบารมี อิทธิพล เกียรติคุณและศักดิ์ศรีของคนผู้นั้น
ในด้านหนึ่งคำพูดของนิโก ทางารัว ทำให้ผู้ที่เกรงกลัวการชุมนุมของเมารีเบาใจขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง กลับทำให้เห็นความสับสนและการขาดปัจจัยกำหนดอย่างชัดเจนในการชุมนุมประท้วงที่สวนสาธารณะโมวทอ เป็นเพียงการแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ที่พวกเขาใช้ชุมนุมกัน หรือเป็นความเกี่ยวพันที่ยากจะเยียวยาในการอ้างสิทธิของเมารีแห่งแม่น้ำวางานูอิในการจัดการสายน้ำ เป็นข้อขัดแย้งกับราชินีแห่งอังกฤษผู้มีอำนาจสูงสุดเกี่ยวกับการขายที่ดินทั้งหมด 80,000 เอคอร์ของวางานูอิในปี พ.ศ. 2383 หรือเป็นเรื่องชะตากรรมของแม่น้ำและที่ดิน 8,000 เอเคอร์ ที่สงวนเอาไว้อย่างผิดๆ ให้เป็นเขตอนุรักษ์ของเมารี
ความจริง ยังไม่มีความชัดเจนในการตอบคำถามเหล่านี้เพื่อแก้ปัญหาที่หยั่งรากลึกของโมวทอให้ลุล่วงไปได้ ไม่เพียงแต่ที่เมืองวางนูอิเท่านั้น แต่ทั่วทั้งนิวซีแลนด์ ไม่ต้องคิดเลยว่าทำไมนายกเมืองวางานูอิจึงประกาศแข็งกร้าวว่ารัฐบาลต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง
อะไรเป็นแรงผลักดันของการต่อสู้ยุคใหม่ของเมารี และจะหยุดลงที่ไหน (โปรดติดตามตอนต่อไป)