ธารา บัวคำศรี แปลเรียบเรียงจาก Wanganui : Beyond the Comfort Zone, North and South Magazine. June, 1995 เขียนโดย Cate Brett (ตีพิมพ์ลงในนิตยสารอาทิตย์รายสัปดาห์ ระหว่าง ปี พ.ศ.2538-2539)
ตอนที่ 3
การประท้วงของชาวเมารีที่เมืองไวทาหงิ 2525

ข้อข้องใจทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยที่ดินและแม่น้ำนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง ตามความคิดเห็นของฉัน มีประเด็นหลักอยู่สองสามประการของการชุมนุมประท้วงที่สวนสาธารณะโมวทอ แง่มุมที่เป็นประเด็นมากที่สุดคือ ความไม่พอใจต่อประมุขแห่งอังกฤษในเรื่องที่ดินผืนหนึ่งที่ชาวเมารีแห่งวางานูอิรู้จักในนาม “สวนสาธารณะโมวทอ”

ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1800 สวนสาธารณะ 0.9 เฮกตาร์นี้เป็นส่วนหนึ่งของ “ปา” ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “ปาไกโตเรปา” ถือครองโดยเมารีที่อยู่ตอนบนของแม่น้ำในช่วงฤดูหาปลา ในปี พ.ศ.2382 ยังเป็นพื้นที่ของเด็กหนุ่มปาเกฮาอายุ 19 ปี ชื่อ เอ็ดเวิร์ด เจอร์นิงแฮม เวคฟิลด์ ซึ่งเจรจาซื้อที่ดิน 40,000 เอเคอร์ มูลค่า 500 ปอนด์ รวมทั้งปืนสั้นลำกล้องแฝด 10 กระบอก ร่ม พิณแบบยิว และหมวก ต่อมาในปี พ.ศ.2383 เป็นหนึ่งในพื้นที่ในการลงนามในสนธิสัญญาไวทาหงิ(Waitangi Treaty) ปรากฎว่าในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 เกิดน้ำท่วม ปาไกโตเรบางส่วนถูกทำลาย ในเวลาต่อมา พื้นที่แห่งนี้ยังคงนิยมใช้เป็นที่ตั้งค่ายและเป็นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนของชาวเมารีที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ

หมายเหตุผู้แปล :ปา(Pa) คือป้อมค่ายและชุมชนของชนเผ่าเมารียุคเก่า ตั้งอยู่ในทำเลที่ป้องกันการโจมตีจากเผ่าอื่น ปัจจุบันพบซากของปา 5,500 แห่งในเกาะเหนือ และประมาณ 100 แห่งในเกาะใต้

บันทึกของสภาผู้แทนราษฎรระบุว่าในปี พ.ศ.2387 มีการอภิปรายประเด็นทางการเงินของการอ้างสิทธิในที่ดินเพื่อสร้างท่าเรือวางานูอิ เซอร์ โดแนล แมคลีนได้รับรองว่าที่ดิน 1 เอเคอร์จะเก็บรักษาไว้ให้ชาวเมารีและมีท่าจอดเรือภายในบริเวณปาไกโตเร อย่างไรก็ตาม ในการร่างกฎหมายฉบับสุดท้ายว่าด้วยการพัฒนาตามแนวชายฝั่งแม่น้ำ ก็มิได้ระบุว่าจะมีการรักษาเขตอนุรักษ์ไว้

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่มีการบันทึกไว้อย่างเที่ยงตรงเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ว่าด้วยสิทธิครอบครองเหนือสวนสาธารณะโมวทอ แต่กลับเป็นข้อเสนอยิบย่อย และคำมั่นสัญญาว่าจะมีสิ่งที่มากกว่านั้นมาให้

และฉันไม่สงสัยเลยว่า สิ่งที่มากกว่านั้นได้มาถึง ในกลุ่มนักกิจกรรมและกลุ่มหัวรุนแรงซึ่งชุมนุมที่โมวทอ มีชายอายุ 60 ปี ชื่อ โจ อัลเลน ทีฮู เขาใช้เวลาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เดินทางไปมาระหว่างห้องสมุดแห่งชาติเมืองเวลลิงตัน เมืองหลวงของนิวซีแลนด์ และเมืองวางานูอิ อย่างอดทน เพื่อสืบค้นประวัติศาสตร์ของการอ้างสิทธิเหนือที่ดินของชาวเมารีแห่งแม่น้ำวางานูอิภายใต้สนธิสัญญาไวทาหงิ

แฟ้มข้อมูลมหาศาลได้ตอบคำถามว่าทำไมสตรีอาวุโสจึงเรียก เคน แมร์ ว่า จอห์นนี่มาสาย

ชาวเมารีรุ่นอาวุโสที่ปาไกโตเร มาราเอ ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งคือสวนสาธารณะโมวทอในปัจจุบัน เคยมีกรณีพิพาทกับประมุขแห่งอังกฤษตั้งแต่ปี พ.ศ.2420 เมื่อบรรพบุรุษของพวกเขาร้องเรียนต่อรัฐบาลครั้งแรกเรื่องการสูญเสียสิทธิการทำประมงพื้นบ้าน และมีการร้องเรียนครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2460 จากนั้น มีการเดินเรื่องไปยังศาลอุทธรณ์สองครั้ง ครั้งแรกเพื่อคัดค้านการผันน้ำวางานูอิเพื่อส่งไปยังโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าโตงาริโร และครั้งที่สองในเดือนมีนาคม 2537 ต่อศาลยุติธรรมว่าด้วยสนธิสัญญาไวทาหงิ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการจัดการแม่น้ำ

ในช่วงการรับฟังความคิดเห็นเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ซึ่งจัดขึ้นที่มาราเอทั้งในพื้นที่ตอนบนและตอนล่างของแม่น้ำ เมารีแห่งวางานูอิทั้งหลายได้ให้การด้วยตัวอักษรและปากเปล่ารวมกันเป็นประวัติศาสตร์ของชนเผ่า และการถูกริดรอนสิทธิการใช้แม่น้ำที่พวกเขาพึ่งพาผูกผัน แม่น้ำคือโลกทางจิตวิญญานและโลกกายภาพที่พวกเขาอาศัยอยู่กิน

เป็นครั้งแรกที่เมารีหนุ่มสาวจำนวนมากได้ยินเรื่องราวเหล่านี้ เป็นครั้งแรกที่พวกเขาถูกระบุอย่างเป็นทางการในฐานะผู้แปลกแยก เป็นครั้งที่พวกเขาเห็นผู้คนรวมตัวกันข้ามชนชั้นทางสังคมและชนเผ่าหรือ “ฮาปู” เป็นครั้งแรกที่หลายคนจับตามองสิ่งที่พวกเขาได้กระทำเมื่อครั้งหนึ่ง

หมายเหตุผู้แปล : “ฮาปู” หมายถึง เมารีแต่ละกลุ่มซึ่งมีดินแดนของตน เป็นกลุ่มที่สืบมาตั้งแต่บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งกลุ่มทั้งหญิงและชาย แต่ละกลุ่มแยกจากกันโดยชื่อของผู้ก่อตั้ง อีกคำหนึ่งที่นิยมใช้ในคำภาษาอังกฤษนิวซีแลนด์คือ อีวี่(iwi) หมายถึงชาวเมารีทุกชนเผ่า

สิ่งที่พวกเขาทำในปัจจุบัน ถูกมองว่าเป็นอันตราย…ประชากรรวมของวางานูอิมีราว 45,000 คน เป็นชาวเมารี 7,600 คน ประมาณ 2,500 คนว่างงาน และอีกราว 1,250 คนเป็นผู้ต้องโทษและถูกคุมขัง