หลายต่อหลายครั้ง หลังจากที่นำเสนอชุดความคิดเกี่ยวกับการจัดการขยะในแบบของผม มักจะมีคำถามตอกกลับมาว่า “ ถ้าไม่เผาแล้วจะจัดการขยะอย่างไร? ” คำถามเช่นนี้ดูจะมีน้ำหนักมากขึ้นเมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า  พื้นที่ฝังกลบขยะนั้นนับวันยิ่งลดลงและหายากเต็มที

คำถามนี้ส่วนใหญ่มาจากคนที่เลือกใช้เทคโนโลยีไปแล้ว  ทั้งนี้คงเป็นเพราะพวกเขาคุ้นเคยกับวิธีการแก้ปัญหา แบบ ”เปิดปุ๊บติดปั๊บ” ที่บรรดาเซลส์แมนเสนอให้  ซึ่งมักได้ยินกันบ่อย ๆ ในทำนองที่ว่า คุณจ่ายเราเท่านี้แล้วเราจะแก้ปัญหาขยะให้คุณ

ถึงจุดนี้ ผมใคร่จะบอกว่า “ ไม่มีเครื่องจักรวิเศษที่จะแก้ปัญหาขยะได้ “

ทางออกที่แท้จริงเริ่มด้วยการแยกขยะ ณ แหล่งกำเนิด

แม้ว่าเรื่องขยะเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี  แต่การจัดการขยะไม่ใช่ปัญหาไฮเทค  การใช้เทคโนโลยีนั้นมีความสำคัญรองลงไปและจะใช้งานได้ดีก็ต่อเมื่อขยะถูกแยกอย่างมีประสิทธิภาพแล้วเท่านั้น  ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ทางออกที่แท้จริงของปัญหาขยะอยู่ที่การจัดการองค์กรมากกว่าเครื่องจักร

การแก้ปัญหาขยะเป็นงานหนักของทุกคน  ตั้งแต่เจ้าหน้าที่เทศบาลจนถึงคนในชุมชนซึ่งต้องให้ความร่วมมือกัน

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจสำหรับคนทั่วไป คือ ขยะไม่ได้เกิดจากไหน หากปล่อยออกมาจากมือพวกเราทุกคนนั่นเอง  หากเราต้องการแก้ปัญหานี้เพื่อประโยชน์แก่ชุมชนของเราและสังคมโลก  ควรจะเริ่มต้นการแก้ปัญหาที่มือเราทุกคน

หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาขยะอยู่ที่การแยกขยะ ณ แหล่งที่สร้างขยะหรือที่แหล่งกำเนิด  ขยะกองหนึ่งประกอบด้วยขยะหลากหลายประเภท  การแยกขยะช่วยลดปริมาณขยะลงและเป็นทางออกที่ทำให้เราไม่เดินไปสู่ทางเลือกที่มีราคาแพงและเสี่ยงต่ออันตรายที่จะตามมา  อย่างเช่น การกำจัดขยะด้วยการเผาในเตาหรือหลุมฝังกลบขนาดใหญ่  เพียงเริ่มต้นทำความเข้าใจว่าขยะมี 6 ประเภท ดังนี้

  1. ขยะที่หลีกเลี่ยงได้ ( Avoidables )
  2. ขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ( Reusables )
  3. ขยะที่ย่อยสลายได้หรือใช้ทำปุ๋ยได้ ( Compostables )
  4. ขยะที่เวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ ( Recyclables )
  5. ขยะพิษ ( Toxic materials )
  6. ขยะที่ไม่สามารถเวียนกลับมาใช้ใหม่หรือย่อยสลายได้ ( Non-recyclable or compostable )

หลักห้าประการ

ก่อนที่ผมจะลงลึกเรื่องทางเลือกในการจัดการขยะ ในทัศนะของผม มีหลักห้าประการที่ควรกล่าวถึงซึ่งเป็นหลักการที่จะทำให้การแยกขยะที่แหล่งกำเนิดประสบผลสำเร็จ

1. ทำให้ง่าย -อย่าเพิ่งวิ่งเข้าหาเครื่องจักรที่ซับซ้อนจนกว่าเราจะเหนื่อยต่อทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีแบบเรียบง่ายแล้วจริง ๆ

2. กำจัดขยะภายในชุมชนของเราเอง -อย่าส่งขยะจากชุมชนของเราออกไปกำจัดที่อื่น หรือให้ใครนำขยะมากำจัดในชุมชนของเรา  พึงระลึกเสมอว่า การส่งออกขยะไปที่อื่นนั้นหมายถึงเรากำลังเอารัดเอาเปรียบชุมชนห่างไกลที่ยากจนและไร้พลังต่อรองเมื่อเห็นว่าชุมชนของเขาจะกลายเป็นที่กำจัดขยะ

3. ประยุกต์วิธีจัดการขยะให้เข้ากับวิถีชุมชน -ในแต่ละชุมชนมักจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่กระตือรือร้นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหานี้  ความตั้งใจและการให้ความร่วมมือของคนเหล่านี้ในชุมชนจะทำให้การจัดการขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ยิ่งไปกว่านั้น การเลือกวิธีจัดการขยะที่เหมาะสมกับแต่ละชุมชนจะช่วยส่งเสริมให้โครงการด้านสังคมของชุมชนดำเนินไปได้ดีขึ้นด้วย เช่น การให้บริการผู้สูงอายุในชุมชน การช่วยเหลือผู้พิการ โครงการฝึกงานสมาชิกในชุมชน โครงการสวนสาธารณะชุมชน และกิจกรรมการสร้าง ความเป็นชุมชนต่าง ๆ  ผมเห็นว่า การพัฒนาชุมชนเป็นยาแก้โรค ”บริโภคนิยม” ซึ่งก่อให้เกิดขยะมากขึ้นโดยไม่จำเป็น

4. ประยุกต์วิธีจัดการขยะให้เข้ากับเศรษฐกิจชุมชน -หากมีการจัดการที่ดี การร่วมกันแยกขยะที่แหล่งกำเนิดอาจใช้เป็นยุทธศาสตร์สร้างงานในท้องถิ่นและสร้างโอกาสให้เกิดธุรกิจชุมชนได้  คำถามใหญ่สำหรับผู้กุมการตัดสินใจ คือ ทำอย่างไรจึงมั่นใจได้ว่าเราจะไม่ต้องจ่ายอีกครั้ง  หากเรายอมจ่ายเพื่อจัดการขยะก่อนนำไปฝังกลบ  จุดนี้นี่เองเป็นจุดแข็งโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา  เพราะวิธีการจัดการขยะเช่นนี้จะเกิดประโยชน์มหาศาลเมื่อเทียบกับการเผาขยะด้วยเตาเผา  เมืองหลวงส่วนใหญ่มีการลงทุนในระดับต่าง ๆ  โดยเฉพาะระดับชุมชนซึ่งงบประมาณนำใช้ไปเพื่อสร้างระบบการนำกลับมาใช้ใหม่ การซ่อมใช้ใหม่ การทำปุ๋ย การเวียนกลับมาใช้ใหม่ จากการศึกษาในมลรัฐนอร์ทแคโรไลน่า สหรัฐอเมริกา พบว่า การเวียนกลับมาใช้ใหม่ มีมูลค่าเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล

5. มุ่งไปสู่การจัดการที่ยั่งยืนสามารถแก้ปัญหาได้ในระยะยาว – แน่นอนว่าสังคมที่พัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่เราจำเป็นต้องมุ่งสู่ทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ บัดนี้ นโยบายการจัดการ ขยะที่ยั่งยืน ที่แท้จริงคือ การลดปริมาณขยะที่จะต้องเผาหรือฝังให้น้อยที่สุด ในระดับสากล การพัฒนาที่ยั่งยืน จำเป็นต้องลดการใช้ทรัพยากร ลดการใช้พลังงาน และประหยัดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมกับมองหาทางเลือกในการใช้ชีวิตอย่างที่พึงพอใจ หลักการเช่นนี้สัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการกระตุ้นการพัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับวิธีการกำจัดขยะ ดังที่กล่าวในข้อ 3

ระบบรวบรวมขยะ

ผังระบบรวบรวมขยะแบบสามถัง แม้ดูเหมือนว่ามีรายละเอียดมากมาย แต่สิ่งที่ควรจำสำหรับชุมชนที่ต้องการใช้ระบบแยกขยะที่แหล่งกำเนิด คือ ต้องสร้างระบบแยกขยะใกล้ ๆ กับระบบ รวบรวมขยะที่มีอยู่ในปัจจุบัน สำหรับชุมชนที่วางถังขยะไว้เป็นระยะ ๆ ริมถนน ควรจัดให้มีจุดแยกขยะที่เวียนกลับมาใช้ใหม่และขยะที่ย่อยสลายได้ อยู่ใกล้เคียงกับถังขยะที่มีอยู่  ในทางกลับกัน ชุมชนที่ใช้ระบบกำจัดโดยการนำขยะไปทิ้งที่หลุมฝังกลบโดยตรง (มักเป็นชุมชนขนาดเล็กในชนบท) หรือนำขยะไปทิ้งที่จุดพักขยะ (สำหรับ ชุมชนชานเมืองใหญ่บางแห่ง) ควรเปลี่ยนให้เป็นการนำขยะมาทิ้งในระบบแยกขยะโดยตรงแทน

หากชุมชนใดมีถังขยะจำนวนจำกัด เช่นในกรณีที่สามารถหาถังขยะได้เพียงจุดละสองถังเท่านั้น ควรเน้นแยกขยะอินทรีย์ออกจากขยะประเภทอื่นก่อน (ขยะอินทรีย์หนึ่งถังและขยะอื่น ๆ ผสมกันอีกหนึ่งถัง) เพราะง่ายแก่การจัดการ  ในขั้นตอนต่อมาเริ่มด้วยการแยกขยะที่เวียนกลับมาใช้ใหม่ซึ่งนำไปขายได้ออกจากขยะที่ผสมกัน ต่อจากนั้นทำการแยกขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่และขยะย่อยสลายที่นำไปขายได้

ในกรณีที่มีถังขยะมาตั้งจุดละสามถัง ควรมีถังหนึ่งไว้เก็บขยะของแข็งที่เวียนกลับมาใช้ใหม่ เช่น ขวด กระป๋อง เป็นต้น โดยแยกออกจากขยะกระดาษ เพราะเศษแก้วนั้นสร้างปัญหาอย่างมากในการนำกระดาษเวียนกลับมาใช้ใหม่

กิจกรรมและโครงสร้างพื้นฐานรองรับการแยกขยะที่แหล่งกำเนิด

มาตรการลดขยะ

วิธีการลดขยะ 2 ประการใหญ่ ๆ ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจยิ่ง ประการแรกคือให้โรงงานอุตสาหกรรมในท้องถิ่นจัดทำบัญชีกากของเสีย เมื่อมีการร้องขอให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในท้องถิ่น ชี้แจงว่า จุดใดในกระบวนการผลิตของโรงงานที่ผลิตขยะออกมาบ้าง จะพบว่าพวกเขาสามารถลดขยะเหล่านั้นได้และยังเป็นการลดต้นทุนของกระบวนการผลิตลงอีกด้วย  ยกตัวอย่างโรงงาน Quaker Oats ในแคนาดา หลังจากการจัดทำบัญชีกากของเสียแล้ว พบว่า สามารถลดขยะจากสายพานการผลิตของโรงงานกว่าร้อยละ 90 คิดเป็นการประหยัดต้นทุนจำนวนมหาศาล  ประการที่สองคือ เก็บค่าธรรมเนียมการกำจัดขยะตามบ้านเรือนและหน่วยงานต่างๆตามปริมาณ คิดง่าย ๆ ว่า ใครสร้างขยะมากเท่าไรต้องจ่ายมากเท่านั้น  เมืองซีแอตเทิล ในสหรัฐอเมริกา เก็บค่าธรรมเนียมขยะเป็นรายเดือนโดยคิดตามขนาดของถังใส่ขยะที่ไม่สามารถเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้เป็นเกณฑ์  ในหลายชุมชนใช้ระบบคูปองจ่ายค่าธรรมเนียมขยะล่วงหน้าโดยให้จ่ายค่าถุงสำหรับใส่ขยะที่ไม่สามารถเวียนกลับมาใช้ใหม่  ซึ่งแต่ละบ้านจะนำมาใส่ในถังขยะหน้าบ้านหรือตามข้างถนน  ระบบแบบนี้เรียกว่า จ่ายตามถุง

ศูนย์ซ่อมแซมและนำกลับมาใช้ใหม่

หลายชุมชนทั่วโลกได้พัฒนาวิธีการนำเอาวัสดุกลับมาใช้ใหม่จากชุมชนหนึ่งไปยังอีกชุมชนหนึ่ง ในลักษณะที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ  ด้วยการตั้งศูนย์ที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป อย่างเช่น การาจเซลส์ (garage sales) ยาร์ดเซลส์(yard sales) จัมเบิลเซลส์(jumble sales) ฟลีมาร์เก็ต(flea market) ตีฟช็อบส์(thrift shops) หรือ เดอะซัลเวชั่นอาร์มี่ แอนด์ กู๊ดวิลล์อินดัสตรี้ (the Salvation Army and Goodwill Industries) แม้ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้จะมีปริมาณไม่มากเมื่อเทียบสัดส่วนกับปริมาณขยะทั้งหมด แต่ขยะ ประเภทนี้ราคาดี โครงการนำกลับมาใช้ใหม่ไม่เพียงเป็นการฟื้นฟูสิ่งของให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก หากยังเป็นการช่วยเหลือคนในชุมชนไปในตัวด้วย 

เจ้าหน้าที่เทศบาลที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการคุ้ยขยะที่นำกลับมาใช้จากหลุมฝังกลบ  ต้องศึกษาหาวิธีที่เหมาะสมในการตั้งศูนย์บริการซ่อมแซมและนำกลับมาใช้ใหม่ในชุมชุมของตัวเอง  ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุนให้จัดตั้งศูนย์เช่นนี้จากชุมชน

ปัจจุบันศูนย์เช่นนี้เกิดขึ้นมากมาย รูปแบบที่ผมชอบใจคือ เวสต์ไวส์ (WasteWise) ในเมืองจอร์จทาวน์ รัฐออนตาริโอ ประเทศแคนาดา ซึ่งเกิดขึ้นเพราะนักเคลื่อนไหวในชุมชนเหน็ดเหนื่อยในการต่อสู้กับวิธีการแก้ปัญหาแบบปลายท่อที่เสนอให้กับชุมชน นั่นคือ โครงการก่อสร้างเตาเผาขยะขนาดใหญ่ (1500 ตันต่อวัน) เพื่อรองรับขยะ 40 ล้านตัน จากเมืองโตรอนโต ซึ่งห่างออกไป 40 ไมล์  พวกเขาตั้ง เวสต์ไวส์ ขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่าและทำได้จริงด้วยเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลท้องถิ่น ออนตาริโอ พวกเขาเช่าโกดังขนาดใหญ่ตั้งเป็นศูนย์ดำเนินงาน 4 อย่าง คือ 1) รับซ่อมแซมสิ่งของที่สามารถซ่อมได้อย่างเช่นเฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนต่างๆ รวมถึงจักรยาน 2) ขายสิ่งของที่ซ่อมเสร็จแล้วและสิ่งของพร้อมใช้งานได้ 3) รวบรวมปรับปรุงและขายสิ่งของที่สามารถเวียนกลับมาใช้ได้ (ซึ่งไม่รวมกับโครงการกล่องสีฟ้า ของชุมชน) และ 4) บริการให้ความรู้เรื่องขยะและการลดการใช้สารพิษ  ช่วงแรกศูนย์แห่งนี้ดำเนินการโดยอาสาสมัคร  อีกห้าปีต่อมาศูนย์ก็สามารถพึ่งตัวเองได้  และขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลา (ผมมี วีดีโอเทปแสดงการทำงานของศูนย์นี้ หากคุณสนใจ)

สิ่งสำคัญสำหรับศูนย์ซ่อมแซมและนำกลับมาใช้ใหม่คือเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การเสริมสร้างกิจกรรมอื่นๆในชุมชน  เป็นต้นว่า การให้การศึกษาในชุมชน  ศูนย์นี้อาจใช้เป็นสถานที่สอนเทคนิคการซ่อมแซมสิ่งของให้แก่เด็กและผู้สนใจโดยช่างผู้ชำนาญการในชุมชนเอง  หรือสอนการทำปุ่ยจากขยะที่หลังบ้านตนเอง หรือ กระทั่งการสอนผลิตสิ่งของใช้เองจากวัสดุที่ได้จากศูนย์ 

นอกจากนี้ ศูนย์ฯยังอาจใช้เป็นที่รวบรวมขยะประเภทสีทาบ้าน น้ำมันชักเงา หรือน้ำยาทำความสะอาด ซึ่งนำมาใช้ทั้งในกิจการซ่อมแซมสิ่งของภายในศูนย์ ฯ หรือให้คนในชุมชนนำไปใช้กิจกรรมประเภทการลงแขกทาสีบ้าน  ศูนย์ฯยังใช้เป็นสถานที่พบปะพูดคุยของชุมชน

กิจการเช่นนี้สามารถทำเป็นธุรกิจเอกชนหากำไรได้  ตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมคือศูนย์ Urban Ore Operation  ซึ่งดำเนินงานโดย แดน แนปป์ ที่เบอร์คเลย์ แคลิฟอร์เนีย เป็นกิจการที่มีมูลค่ากว่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 600 ล้านบาทที่อัตราแลกเปลี่ยน 40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ) ก่อให้เกิดสร้างงานถาวรและรายได้งามเป็นจำนวนมาก

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ ศูนย์โฮโบ (Hobo hardware) ในเมือง Guelph มลรัฐออนตาริโอ ซึ่งดำเนินการเฉพาะวัสดุก่อสร้างที่นำกลับมาใช้ใหม่และวัสดุที่ผู้ซื้อนำไปประกอบเอง แต่สินค้าเหล่านี้ขายเหมือนเป็นของใหม่ โกดังมีการจัดเก็บสินค้าอย่างมีระบบระเบียบหาง่าย ผมเคยไปเยี่ยมชมที่นั่นและบันทึกวิดีโอเทปไว้ (ติดต่อได้หากคุณสนใจ)

ทำปุ๋ยหมัก

การแปรรูปขยะเป็นปุ๋ยนั้นทำได้เกือบทุกระดับ  ไม่ว่าจะเป็นในสวนหลังบ้านหรือใต้ถุนบ้านโดยการใช้ถังหมัก  ในชุมชนหรือในพื้นที่ที่เป็นศุูนย์กลาง หลักการสำคัญคือจะต้องมีการควบคุมอย่างใกล้ชิดโดยว่ามีขยะประเภทไหนบ้างที่เข้าสู่ระบบการทำปุ๋ย อย่างไรก็ตาม ประเภทของวัสดุในขยะที่นำมาทำปุ๋ยนั้นพออนุโลมได้ในกรณีที่มีวัสดุที่ไม่เหมาะแก่การทำปุ๋ยหลุดเข้าสู่ระบบของเรา เช่นขยะที่ยังไม่ได้มีการแยกที่แหล่งกำเนิด

ในความเห็นของผม หลังจากที่มีการแยกขยะที่แหล่งกำเนิดแล้ว การทำปุ๋ยเป็นขั้นตอนสำคัญ และเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากที่สุดเพราะสิ่งที่เราจะนำมาทำปุ๋ยนั้นเป็นขยะประเภทที่หากเราไม่นำมาทำปุ๋ย จะต้องนำไปฝังกลบซึ่งก่อปัญหาตามมามากมาย 

ในหลุมฝังกลบ ขยะอินทรีย์เหล่านี้จะย่อยสลายแล้วปล่อยก๊าซมีเธนออกมาซึ่งเป็นก๊าซที่ทำให้บรรยากาศของโลกร้อน (เรียกว่าก๊าซเรือนกระจก) นอกจากนี้ ยังปล่อยสารเคมีประเภทกรดอินทรีย์ออกมาซึ่งจะไปกัดกร่อนขยะประเภทโลหะทำให้เกิดการรั่วไหลของสารพิษออกสู่ผิวดินและน้ำใต้ดิน  และขยะประเภทนี้มักจะมีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นรุนแรงอีกด้วย

ดังนั้น เป้าหมายสำคัญที่สุดของการทำปุ๋ยหมักก็เพื่อแยกขยะอินทรีย์ออกมาจัดการด้วยวิธีที่ดีกว่า  แทนที่จะนำไปฝังกลบแล้วก่อปัญหารุนแรงตามมาภายหลังนั่นเอง

เพราะตระหนักว่าการทำปุ๋ยเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะจัดการขยะจากชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะอินทรีย์  ชุมชนในเมืองซีแอตเทิลและที่อื่น ๆ อีกหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา  จัดให้มีโครงการทำปุ๋ยหมักโดยรับการสนับสนุนด้านการเงินจาก หน่วยงานด้านการทำปุ๋ยในท้องถิ่น  โครงการนี้ประชาชนจะได้รับการแนะนำถึงกระบวนการทำปุ๋ยอย่างละเอียด ตลอดจนการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในซีแอตเทิล โครงการนี้ดำเนินการโดยสมาคม Seattle Tilth ซึ่งจัดทำวิดีโอชื่อ Zoo Doo and You Can Too ขึ้นมาเพื่อรณรงค์และทำความเข้าใจเรื่องระบบการทำปุ๋ยแก่ชาวบ้านในระดับครัวเรือนและในเชิงพาณิชย์

วิธีการที่ง่ายและได้ผลมากที่สุดวิธีหนึ่งที่จะลดขยะอินทรีย์คือ การรณรงค์ให้บ้านเรือนและสถานที่สำคัญต่าง ๆ ใช้เครื่องตัดหญ้าแล้วทำให้หญ้ากระจายคลุมบริเวณที่ตัด และนี่เป็นวิธีการหนึ่งที่ฝ่ายดูแลสวนของเมือง นิวยอร์คซิตี้นำมาใช้และทำให้ประหยัดเงินกว่าหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 40 ล้านบาท) ซึ่งปกติต้องจ่าย เป็นค่ากำจัดกองหญ้าที่ตัดอยู่แล้ว

ตัวอย่างความสำเร็จในการกำจัดขยะด้วยการทำปุ๋ย เห็นได้อย่างชัดเจนในกรณีของเมืองซูริค สวิสเซอร์แลนด์ โครงการทำปุ๋ยหมักของที่นั่นเริ่มในปี 2534 โดยมีชุมชนกว่า 480 แห่ง ทำปุ๋ยจากขยะในชุมชนตัวเอง มีตั้งแต่ชุมชนขนาดเล็ก (3 ครัวเรือน) ไปจนถึงขนาดใหญ่ (200 ครัวเรือน)

หลายชุมชนอาจไม่สนใจการทำปุ๋ยขยะอินทรีย์ แต่อาจสนใจนำขยะเหล่านั้นไปทำสวนชุมชนแทน ซึ่งเป็นแนวคิดการกำจัดขยะที่อาศัยความร่วมมือของชุมชนเป็นหลัก และวิธีนี้เป็นไปได้สูงที่จะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากหน่วยงานรัฐท้องถิ่นอย่างเทศบาล  เพราะทุก ๆ กิโลกรัมของขยะที่นำไปทำสวนชุมชนนั้นหมายถึงแต่ละกิโลกรัมของขยะที่ไม่ต้องขนไปฝังกลบ  นับเป็นวิธีการที่สร้างสรรค์อย่างหนึ่งที่จะประยุกต์การจัดการขยะให้เข้ากับกิจการชุมชน สวนชุมชนที่เกิดขึ้นก็ไม่ต่างกับสวนสวรรรค์ใช้พักผ่อนหย่อนใจ  แทนที่จะปล่อยให้ชุมชนและเมืองสกปรกเลอะเทอะ

หลังจากการนำขยะมาทำปุ๋ยและทำสวนแล้ว เราอาจต้องการพื้นทีส่วนกลางเพื่อรวบรวมปุ๋ยเหล่านั้นให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ ปัจจุบัน ในสหรัฐอเมริกามีพื้นที่เช่นนี้มากกว่า 3,000 แห่ง แต่นี่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องการเทคโนโลยีซับซ้อนอะไรอีกต่อไป เพราะเป็นการจัดการกับใบไม้กิ่งไม้เท่านั้น เราเพียงต้องการพื้นที่ว่าง เปิดโล่ง และมีลมหมุนเวียน

ยังมีพื้นที่ขนาดเล็กมากมายที่อาจใช้เป็นจุดรวบรวมขยะเศษอาหาร ขยะเทศบาลที่เป็นกากตะกอนน้ำทิ้งและขยะจากภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีระบบการจัดการแบบปิดที่ช่วยให้มีการย่อยสลายตามธรรมชาติของขยะอินทรีย์เหล่านี้เกิดเร็วขึ้นและปลอดกลิ่น  วิธีที่ดีที่สุดในสายตาผมเป็นระบบแบบอุโมงค์ดัทช์ (Ducth Tunnel System) ซึ่งตอนแรกพัฒนาขึ้นมาจากการเตรียมดินปลูกเห็ด ต่อมา พัฒนาให้มีระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานซึ่งเป็นแบบที่ผลิตเพื่อขายโดยบริษัทไกคอมในประเทศเนเธอร์แลนด์

มีคัมภีร์การทำปุ๋ยจากขยะเป็นวารสารรายเดือนชื่อ Biocycle ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา วารสารนี้ได้ทำการสำรวจเรื่องราวและรายงานสถานการณ์ขยะในสหรัฐอเมริกาไว้อย่างน่าสนใจปีละครั้ง

โรงเรือนที่ใช้ในการนำวัสดุกลับคืนมาใหม่ (Materials Recovery Facilities)

กฎเหล็กสามข้อที่จะทำให้ตลาดการเวียนกลับมาใช้ใหม่เกิดความมั่นคงคือ คุณภาพ ปริมาณ และความสม่ำเสมอ  อุตสาหกรรมที่จะใช้วัสดุเหล่านี้ต้องการความมั่นใจว่าพวกเขาจะได้วัตถุดิบ (ขยะเวียนกลับมาใช้ใหม่) ที่ไม่เข้าไปก่อปัญหาในสายพานการผลิต เช่น ไม่มีเศษเซรามิกส์ในขยะแก้ว ไม่มีพลาสติกรวมอยู่ในขยะกระดาษ หรือมีพลาสติกชนิดพีวีซ ี(PVC) ผสมกับพลาสติกแบบพีอีที (PET หรือ Polyethylene)

การแยกขยะที่แหล่งกำเนิดจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง  โรงเรือนที่ใช้ในการนำวัสดุกลับคืนมาใหม่จะช่วยในส่วนที่เหลือ  เพราะโรงเรือนนี้ใช้ทั้งแรงงานคนและเครื่องจักรในการแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพออกเป็นขยะโลหะ กระป๋องอลูมิเนียม และกระป๋องพลาสติก ปัจจุบันมีการใช้โรงแยกขยะแบบนี้อยู่ทั่วโลก ตัวอย่างส่วนหนึ่ง อาจชมได้จากวิดีโอที่มีชื่อว่า การจัดการขยะ:พันธกิจแห่งอนาคต (Waste Management As If the Future Mattered)

การลงทุนเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งเมื่อพูดถึงการหมุนเวียนขยะกลับมาใช้ใหม่  แน่นอนว่าจำเป็นต้องมีการลงทุนที่เป็นตัวเงินจำนวนหนึ่งเพื่อการนี้  แต่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการเก็บรวบรวมขยะ และโดยเฉพาะค่าการฝังกลบขยะในปริมาณเดียวกัน  แต่ในเชิงเปรียบเทียบ แน่นอนว่าการทำปุ๋ยก็เป็นวิธีการที่น่าสนใจเหมือนกัน

ศัตรูตัวฉกาจของการเวียนขยะกลับมาใช้ใหม่คือการฝังกลบราคาถูก  ในการเวียนขยะกลับมาใช้ใหม่จำเป็นต้องพิจารณาด้วยว่า  การฝังกลบราคาถูกนั้นยังไม่ได้คิดราคาที่แท้จริง โดยเฉพาะความเสียหายที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อมและความเสียหายอื่น ๆ ที่จะเกิดตามมาในอนาคตต่อทั้งท้องถิ่น (การรั่วไหลของสารพิษออกมาปนเปื้อนอากาศและน้ำ) และต่อโลก (การใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างไม่มีประสิทธิภาพ)

การขาดแคลนตลาดมักเป็นเหตุผลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาปฎิเสธการเวียนขยะกลับมาใช้ใหม่ ในความเป็นจริงพบว่า การเวียนขยะกลับมาใช้ใหม่มีตลาดที่มั่นคงมากในระดับที่แน่นอนระดับหนึ่งเสมอ  และอยู่ในระดับสูงพอที่จะต่อรองไม่ให้มีการจัดการขยะด้วยการสร้างเตาเผาขยะได้ อย่างน้อยในระยะ 20 ปีต่อจากนี้ ชุมชนต่าง ๆ น่าที่จะได้รับการแนะนำให้เตรียมพื้นที่สำหรับเก็บขยะที่ยังไม่มีมูลค่ามากนักในปัจจุบัน  เพื่อรอใว้ขายในราคาที่ดีกว่าในอนาคต 

สำหรับขยะจำพวกพลาสติกบางประเภทหรือวัสดุผสม  ควรเลือกจัดการด้วยการฝังไว้ในบริเวณจำกัด ซึ่งบริเวณที่ฝังวัสดุที่แยกแล้วและไม่เป็นพิษ ควรทำเครื่องหมายและบันทึกให้ชัดเจนเพื่อคนรุ่นต่อไปจะได้ขุดขึ้นมาจัดการด้วยวิธีที่เหมาะสมและปลอดภัยกว่า ผมขอย้ำอีกทีว่า การจัดการที่ผมเสนอนั้นเป็นวิธีง่ายๆ ที่สมเหตุสมผล เป็นการดีกว่าแน่นอนที่เราจัดเก็บวัสดุบางประเภทที่ยังไม่มีวิธีจัดการที่ดีในปัจจุบันในลักษณะ ของการควบคุม ทั้งนี้เพื่อรอการจัดการที่เหมาะสมกว่าในอนาคต

วิธีการเวียนกลับขยะมาใช้ใหม่เพื่อทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์สูงสุด คือ การหาทางใช้วัสดุทดแทนในท้องถิ่น เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์อาจนำไปใช้แทนฟางเป็นที่นอนสำหรับปศุสัตว์ หรือใช้เป็นฉนวน ขยะจำพวกแก้วอาจนำไปทำไฟเบอร์กลาสได้ เศษไม้นำมาทำกระดานไฟเบอร์ เฟอร์นิเจอร์หรือพื้นไม้ และพรมเก่าอาจนำมาทำเป็นพรมใหม่ เป็นต้น

มองไปในอนาคตข้างหน้า วิสัยทัศน์กว้างไกลอย่างกรณีของ ด.ร. แดน แนปป์  แห่ง Urban Ore envisage Industrial Park หรือ Eco-parks ผู้ซึ่งจัดสร้างศูนย์การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งหน่วยผลิตและขายสินค้าไว้เป็นจุดเดียวกันในพื้นที่ขนาดใหญ่ รายละเอียดความสำเร็จในการทำจุดศูนย์การเวียนกลับมาใช้ใหม่เชิงพาณิชย์ อาจดูได้จากเอกสาร ชื่อ Resource Recycle

การรวบรวม การใช้ การเก็บ การลดและการกำจัดขยะมีพิษ

แม้ว่าสัดส่วนของขยะพิษจะมีเพียงร้อยละ 1 ถึง 2 ของปริมาณขยะจากบ้านเรือนทั้งหมด  แต่ขยะเหล่านั้นยากที่จะจัดการได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องทราบอย่างชัดเจนว่าขยะพิษเหล่านั้นมีอะไรบ้าง

ชุมชนบางแห่งร่วมกันแก้ปัญหาด้วยการแยกขยะประเภทนี้  ตั้งแต่ขั้นตอนการรวบรวมขยะตามถังขยะริมถนน ในเมืองฮัมบูร์ก เยอรมนี มีการแยกน้ำมันเครื่องออกก่อน  ส่วนในมืองนิวเคอร์เก้น ออสเตรีย เลือกที่จะแยกพวกแบตเตอรี่ออกก่อน หลายชุมชนกำหนดให้มีวันจัดเก็บขยะพิษขึ้นมาเป็นพิเศษ โดยให้แต่ละบ้านนำขยะประเภทนี้มารวมกันที่จุดรวบรวมส่วนกลาง ในขณะที่หลายแห่ง สร้างอาคารรวมรวมขยะพิษไว้บริเวณ หลุมฝังกลบขยะเพื่อจัดเก็บไปจนถึงการแลกเปลี่ยนขยะพิษบางอย่างที่ยังใช้การได้ เช่น สีทาบ้าน  โดยเป็นการแลกเปลี่ยนภายในชุมชน ซึ่งผู้ผลิตสีบางรายเสนอให้มีการรวบรวมสีเหล่านั้นไปผสมใหม่แล้วนำกลับมาบริจาคเพื่อใช้ในโครงการสาธารณะต่าง ๆ ของชุมชน ผมสนับสนุนให้มีการทำโครงการลักษณะนี้ อย่างเช่น การทำในลักษณะของศูนย์ซ่อมและนำกลับมาใช้ใหม่ในระดับชุมชน  ซึ่งมีหลักการง่าย ๆ ว่าวัสดุที่จะนำกลับมาใช้ใหม่นั้นต้องปลอดภัยเพียงพอ (ถ้าไม่ปลอดภัยเพียงพอที่จะนำกลับมาใช้ใหม่ ก็ไม่อยู่ในข่ายการจัดการ เช่นนี้) วัสดุบางอย่างที่แต่ละคนไม่อาจใช้ ก็ควรเป็นการใช้ของชุมชนโดยรวม

สารพิษบางอย่างเช่น ปรอท ซึ่งไม่สามารถจัดการด้วยวิธีเช่นนี้ เราควรตั้งคำถามให้ลึกลงไปว่า เราจำเป็นต้องใช้หรือไม่ หากอุตสาหกรรมยืนยันที่จะต้องใช้สารประเภทนี้ในการกระบวนการผลิตและการใช้ได้รับอนุญาตตามกฎหมายแล้ว เป็นหน้าที่ของอุตสาหกรรมเหล่านั้นเองในการจัดการสารพิษให้เหมาะสม  วัสดุมีพิษรวมถึงแบตเตอรี่และหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่ใช้กันตามบ้านเช่นเดียวกัน  อุตสาหกรรมน้ำมันก็ต้องมีขบวนการนำน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วกลับไป และอุตสาหกรรมยางต้องนำยางเก่ากลับไปจัดการ ถือเป็นหน้าที่ของอุตสาหกรรมในการนำผลิตภัณฑ์เจ้าปัญหาเหล่านี้ไปจัดการอย่างเหมาะสม

ทำการกรองขยะก่อนการฝังกลบในพื้นที่ชุมชน

หลังจากการแยกขยะที่แหล่งกำเนิด วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ ย่อยสลายได้ และวัสดุมีพิษจะถูกแยกไปจัดการด้วยขบวนการที่เหมาะสมดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น  แต่โดยทั่วไป จะยังมีขยะเหลืออยู่เป็นพวกเศษขยะอื่น ๆ ที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ไม่สามารถเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ และไม่สามารถย่อยสลายได้

ในทางหนึ่ง เราต้องหาทางแจ้งผู้ผลิตวัสดุเหล่านี้ว่า ถ้าเราไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เวียนกลับมาใช้ใหม่ และย่อยสลายได้ พวกเขาควรเลิกผลิตวัสดุประเภทนี้เสีย  เราควรจะยื่นข้อเสนอต่อไปว่า หากไม่เลิกผลิต พวกเขาต้องรับผิดชอบในการจัดการวัสดุเหล่านี้เมื่อกลายเป็นขยะหลังจากที่ถูกใช้งาน ในเยอรมนีมีระบบ Gruen Punkt (Green Point) ซึ่งตามกฎหมาย ระบุให้อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์ต้องนำบรรจุภัณฑ์ที่ชุมชนไม่สามารถเวียนกลับมาใช้ใหม่กลับไป พร้อมกับจัดตั้งระบบเวียนกลับมาใช้ใหม่ที่ครอบคลุมได้ถึง ร้อยละ 80 โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการเผาในเตา  แต่กฎหมายนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่หลายคนคาดหวัง ยังมีการนำวัสดุจากขยะหลายชนิดไปใช้เป็นเชื้อเพลิง และมีการนำวัสดุบางอย่าง ไปทิ้งไว้ในประเทศกำลังพัฒนาโดยอ้างว่าเป็นการเวียนกลับมาใช้ใหม่

ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียมีนโยบายการใช้วัสดุที่ก้าวหน้ามากที่สุด โดยห้ามการใช้วัสดุบางประเภท เช่น พีวีซี ปรอท และแคดเมียม ในขณะที่ประเทศที่ยังไม่รู้แจ้งอย่างเรา ๆ ต้องมาปวดหัวในการหาทางจัดการขยะมีพิษเหล่านี้ให้เหมาะสม

ชุมชนต้นแบบในทวีปอเมริกาเหนือ เมื่อชุมชนทำการแยกขยะที่เวียนกลับมาใช้ใหม่ได้และขยะที่ย่อยสลายได้ออกไปแล้ว สิ่งที่เหลือมักจะถูกขนไปฝังกลบโดยตรงในหลุมฝังกลบขนาดใหญ่และห่างไกลออกไปทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูง และต้องใช้ระบบที่มีเทคโนโลยีซับซ้อนมากในการรวบรวมและบำบัดกากของเสีย  และระบบเช่นนี้มักจะกีดกันไม่ให้มีการจัดการขยะด้วยระบบเล็ก ๆ ในระดับชุมชน แต่จะผลักดันให้มีการสร้างโรงจัดการขยะรวมขนาดใหญ่ระดับภูมิภาคแทน

ผมเห็นว่า  ระบบฝังกลบที่มีการปูพื้นและอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในที่สุดแล้วมักเกิดการรั่วไหลของสารพิษออกไปปนเปื้อนในอากาศและน้ำใต้ดิน  ผมคิดว่าหากเราไม่สามารถควบคุมสารพิษที่จะรั่วไหลออกจากหลุมฝังกลบ เราก็ควรจะใส่ใจควบคุมสิ่งที่เราจะนำไปฝังกลบให้มากขึ้น  ซึ่งทำได้สองขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือ การแยกขยะที่จุดรวบรวมขยะดังที่ได้กล่าวมา ขั้นตอนที่สองคือการแยกขยะก่อนนำไปฝังกลบ ผมมั่นใจว่า หากชุมชนจัดทำโรงกรองขยะก่อนนำไปฝังกลบได้ ความต้องการสร้างหลุมฝังกลบขนาดใหญ่จะลดน้อยลง หรือหมดไป แล้วมุ่งไปสู่การจัดการระดับเล็กๆ ภายในท้องถิ่นแทน

ในแผนภาพที่ 3 ผมพยายามที่จะวาดภาพโรงกรองขยะในแนวคิดผมให้ดูอย่างชัดเจน มีสายพาน ลำเลียงขยะออกมาให้คนคัดแยก โดยคนเหล่านั้นอยู่ในแผงกระจกกั้นเพื่อความปลอดภัย โดยภายในสายพานจะต่อเข้ากับระบบการดูดกลิ่น และคนงานแต่ละคนต้องทำงานตามใบสั่งงานที่ไม่ขัดกับข้อกฎหมายด้วยการแยกขยะที่ปลอดภัยมากพอที่จะนำไปฝังกลบ เช่น ขยะไม่มีพิษหรือขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติ ทั้งนี้สิ่งที่คนงานเหล่านี้จะทำการแยก จะต้องเป็นใบสั่งที่มาจากชุมชน

นอกเหนือจากการแยกวัสดุมีพิษอย่างแบตเตอรี่หรือกระป๋องสีทาบ้านแล้ว คนงานเหล่านี้ยังช่วยแยกขยะที่เวียนกลับมาใช้ใหม่ที่เล็ดรอดจากการแยกขยะที่แหล่งกำเนิดได้อีกด้วย  ขยะที่เล็ดลอดมานี้มักเป็นขยะอินทรีย์ประเภทผ้าอ้อมเด็ก กระดาษที่ปนเปื้อน เป็นต้น  ขยะประเภทนี้ควรทำให้เกิดเสถียรด้วยขบวนการทางชีวภาพ เพื่อที่จะนำไปฝังกลบหรือถมที่  แต่ไม่ควรนำขยะประเภทนี้ไปขาย

ผมเสนออีกว่า การนำวัสดุไปฝังกลบอย่างปลอดภัยนั้น ควรที่จะ 1) นำไปอัดให้มีขนาดเล็กลงเพื่อลดพื้นที่ที่ต้องใช้ในการฝังกลบ และ 2) ให้มีการศึกษาออกแบบการเปลี่ยนแปลงเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต (ซึ่งอาจทำโดยนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคในท้องถิ่น)

ส่วนการเฝ้าดูแลติดตามนั้นอาจทำด้วยวิธีง่าย ๆ โดยการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจในระบบความปลอดภัยของระบบฝังกลบ และหากตรวจพบว่ามีขยะพิษปนเปื้อนอยู่ ควรมีบทลงโทษกับผู้ดำเนินการฝังกลบ เช่น ปรับให้หนักที่สุด หรือไล่ออกจากการเป็นผู้ดำเนินการ เป็นต้น

ระบบที่ใกล้เคียงกับแนวคิดการทำโรงกรองขยะก่อนที่จะนำไปฝังกลบมากที่สุด คือประสบการณ์ในชุมชน ฟิลล์มอร์ มลรัฐมินเนสโซต้า ซึ่งมีศูนย์ทำปุ๋ยและการหมุนเวียนขยะกลับมาใช้ใหม่ ( ทั้งนี้ ท่านสามารถ ดูรายละเอียดได้ในวิดีโอเทปของศูนย์นี้) ชุมชนแห่งนี้มีทางเข้า 3 จุด หากรถขนขยะนำขยะที่ผสมคละกันโดยไม่ได้ทำการแยก จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมก่อนเข้าไป ส่วนรถขนขยะที่เวียนกลับมาใช้ใหม่ในลักษณะที่คละกันยังไม่ได้แยก ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม แต่ถ้าเป็นรถขนขยะที่เวียนกลับมาใช้ใหม่ และมีการแยกแล้ว จะได้รับเงินพิเศษ มีการจ้างคนพิการมาแยกขยะที่เวียนกลับมาใช้ได้ที่คละกันอยู่ คนงานที่เหลือ(ไม่พิการ) จะทำการแยกขยะที่ผสมคละกันเพื่อแยกขยะที่ย่อยสลายได้ไปทำปุ๋ย และแยกขยะหนังสือพิมพ์ใช้เป็นที่นอนของฝูงปศุสัตว์

ทางเลือกการจัดการขยะโดยไม่ต้องเผา

ราวปี พ.ศ. 2532 ด.ร. แบรี่ คอมโมเนอร์ และคณะทำงาน ทำการทดลองวัดความสำเร็จในการเปลี่ยนระบบการจัดการขยะจากการฝังกลบโดยตรงมาเป็นการใช้ระบบแยกขยะแบบสี่ถัง แล้วนำขยะที่แยกได้ไปเข้าระบบเวียนกลับมาใช้ใหม่และระบบทำปุ๋ยขยะอินทรีย์  โดยทำการทดลองในชุมชนอีสแฮมป์ตัน ลองไอร์แลนด์ มลรัฐนิวยอร์ค ด้วยความช่วยเหลือของอาสาสมัคร 100 คน 

ในระบบแยกขยะโดยใช้ถังขยะสี่ถัง  ถังหนึ่งพวกเขาใช้รวบรวมขยะประเภทขวด กระป๋องและวัสดุที่สามารถนำไปเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ชัดเจน  ถังที่สองสำหรับขยะกระดาษ  ถังที่สามสำหรับขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ (ซึ่งใช้กล่องกระดาษเก็บขยะประเภทนี้)  ถังสุดท้ายใช้เก็บขยะที่เหลืออื่น ๆ

จากการทดลองพบว่า พวกเขาสามารถใช้ระบบหมุนเวียนขยะซึ่งปกติต้องถูกนำไปฝังกลบกลับมาใช้อีกได้ถึงร้อยละ 84  มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า  การทดลองนี้ไม่อาจใช้เป็นตัวแทนคนอเมริกันทั้งประเทศได้ เพราะเป็นการทดลองในกลุ่มคนขนาดเล็ก 100 ครอบครัว และพวกเขาให้ความร่วมมือในระดับสูงกว่าปกติ จึงทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ

ผมมีความเห็นต่างออกไปว่า จุดที่มีการวิพากษ์วิจารณ์นี้เองที่มีความสำคัญ เพราะความสำเร็จในเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับระดับการให้ความร่วมมือของคนในชุมชนเป็นหลัก  ยิ่งคนให้ความร่วมมือมาก ความสำเร็จของระบบหมุนเวียนขยะนี้ก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น เราควรจะทุ่มงบประมาณให้การศึกษาเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนร่วมมือมากยิ่งขึ้น นี่คือจุดที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

ในเมืองร็อคฟอร์ด มลรัฐอิลลินอยส์  คนในชุมชนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการแยกขยะที่เวียนกลับมาใช้ใหม่มากถึงสี่เท่าด้วยโครงการล็อตเตอรี่ขยะ  แต่ละสัปดาห์บ้านหลังหนึ่งที่ได้รับเลือก ต้องนำขยะมาให้ตรวจหากพบว่ามีการคัดแยกขยะถูกต้องตามกติกาของชุมชน  บ้านหลังนั้นจะได้รับเงินรางวัล 1,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 38,000 บาท) แต่หากมีการแยกไม่ถูกต้อง บ้านหลังนั้นจะไม่ได้รับรางวัล และบ้านที่ได้รับเลือกในสัปดาห์ถัดไปจะได้รับเงินรางวัลเพิ่มเป็น 2,000 เหรียญสหรัฐแทน (ประมาณ 76,000 บาท)

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริงนี้ ได้ลบล้างการคาดการณ์เมื่อสองทศวรรษก่อนที่ทำนายว่าคนอเมริกันสามารถหมุนเวียนขยะกลับมาใช้ใหม่ได้มากที่สุดเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นแสดงให้เห็นว่าคนอเมริกันทำได้ดีกว่าที่คาดการณ์มาก

องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมสหรัฐทำการสำรวจทั่วประเทศในปี 2539 พบว่าคนอเมริกันมีการหมุนเวียนขยะชุมชนด้วยระบบถังขยะที่วางไว้ริมทาง มากถึงร้อยละ 27.3 โดยมีโครงการแยกขยะตามถังขยะริมทางมากถึง 9,000 แห่ง  โครงการที่ประสบความสำเร็จมาก อย่างในมลรัฐนิวเจอร์ซี่  พบว่ามีการหมุนเวียนขยะ(ที่จะต้องนำไปฝังกลบ) กลับมาใช้ใหม่มากกว่าร้อยละ 45 

ขณะที่ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการออกกฎหมายที่สร้างแรงจูงใจให้มีการเวียนขยะกลับมาใช้ใหม่และการรับซื้อขยะ ชุมชนจะมีบทบาทสำคัญในการทำให้การเวียนกลับมาใช้ใหม่เป็นจริง จากสถิติระดับชาติซึ่งทำการเฉลี่ยความสำเร็จจากชุมชนที่ประสบผลสำเร็จมาก ๆ และไม่ประสบผลสำเร็จเลยเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าอะไรที่ทำให้ชุมชนแต่ละแห่งประสบผลสำเร็จ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ในชุมชนหรือในเมืองที่สนใจอยากรู้ว่าพวกเขาสามารถหมุนเวียนขยะที่จะต้องนำไปฝังกลบมาใช้ใหม่ได้มากแค่ไหนนั้น ควรค้นหาจากประสบการณ์จริง และในอินเทอร์เนต จะพบว่าชุมชนขนาดไหนและมีลักษณะอย่างไรที่ดำเนินการในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี หรือพยายามปรับปรุงมันให้ดีขึ้น ตารางต่อไปนี้แสดงให้เห็นถึง ชุมชนในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จมากในการหมุนเวียนขยะ (ซึ่งจะต้องนำไปฝังกลบ) มาใช้ได้ใหม่ ระหว่างร้อยละ 39 ถึง 81

บทสรุป

ผมไม่คิดว่าการนำเสนอความคิดเรื่องการแยกขยะที่แหล่งกำเนิด  และการจัดการด้วยวิธีหลากหลายที่ระบุในบทความนี้ คือ ทางออกอันง่ายดายหรือสมบูรณ์แบบในการจัดการกับวิกฤตขยะที่เราเผชิญกันทุกวันนี้  หากเป็นหลักการจัดการขยะที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน ขณะเดียวกัน เป็นระบบการจัดการที่ต้องลงมือทำอย่างจริงจังและต้องใช้ความพากเพียรและการสร้างสรรค์จากผู้ประสานงานระบบอย่างมาก

ถึงที่สุดแล้ว ความสมบูรณ์พร้อมของวิธีการแก้ปัญหาเช่นนี้มักถูกจำกัดโดยระบบการตัดสินใจที่มาจากที่อื่นๆมากกว่าเทศบาลท้องถิ่น  รวมถึงการตัดสินใจออกแบบที่ไม่ดีในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งผลต่อการใช้วัสดุบางอย่างเกินจำเป็น โดยเฉพาะพวกบรรจุภัณฑ์ และวัสดุเจ้าปัญหาที่ไม่ควรใช้อย่างสารกลุ่มออร์กาโนคลอรีน เช่น พีวีซี และสารมีพิษอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของผม ผมมั่นใจว่านี่คือทิศทางที่ถูกต้อง นี่คือทางออกในการจัดการขยะที่ก้าวหน้าไปกว่าการฝังกลบหรือเผาด้วยเตาเผา นี่คือสิ่งทำให้ผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมเรียนรู้ที่จะใส่ใจ และให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรซึ่งมีอยู่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพเพื่ออนาคตของโลก นี่คือสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ประชาชน เพราะเมื่อเขาเหล่านั้นได้เรียนรู้ว่าการแยกขยะที่แหล่งกำเนิดเป็นเรื่องง่ายมาก นั่นจะเป็นจุดที่เด็ก ๆ ให้ความสนใจ เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ที่สนใจหาระบบการจัดการขยะที่มี ประสิทธิภาพซึ่งประชาชนจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อให้ระบบแยกขยะนั้นดำเนินไปอย่างดีเยี่ยม

ชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการหมุนเวียนขยะในสัดส่วนที่สูง มักจะดำเนินโครงการด้วยความภาคภูมิใจยิ่งไปกว่านั้น มีผลพลอยได้มากมายจากการที่สมาชิกในชุมชนสามารถร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่เทศบาล ชาวบ้านทั่วไป นักกิจกรรม หรือผู้ประกอบการ และพวกเขาเหล่านี้ก็มักจะเป็นกลุ่มที่ลุกขึ้นมาต่อต้านโครงการเตาเผาขยะ หรือโครงการหลุมฝังกลบขยะขนาดใหญ่ และเป็นแรงที่ลุกขึ้นมา ช่วยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเมื่อจะดำเนินการตามทางเลือกแบบเทคโนโลยีง่าย ๆ และ เป็นทางออกที่พิจารณาอยู่บนฐานของชุมชน

ท้ายที่สุดนี้ ผมเชื่อว่าแนวคิดที่ผมเสนอไปนี้เป็นทางที่จะนำไปสู่การตั้งคำถามที่สำคัญของพวกเราว่า เราจะอยู่บนโลกที่มีทรัพยากรจำกัดของเราได้อย่างไร ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตกันเสมือนว่าเรามีโลกอีกหนึ่งใบถ้าโลกนี้หมดไป ขยะเป็นสายใยที่เชื่อมโยงระหว่างชีวิตหนึ่ง ๆ กับโลกแห่งความเป็นจริง วิธีที่เราจัดการกับสิ่งที่เราทิ้งออกไปนั้นเสมือนกับเป็นวิธีการจัดการโลกของเราส่วนหนึ่ง เราสามารถที่จะแสดงออกซึ่งความห่วงใยต่อโลกผ่านวิธีการจัดการขยะของเราได้

แนวคิดแบบนี้นำไปสู่คำถามที่ใหญ่กว่าในการดำเนินชีวิตของเรา การตระหนักเรื่องสารพิษไดออกซินที่ปล่อยจากการเผาขยะในเตาเผาจะทำให้เราตระหนักถึงพิษภัยในอาหารที่เรารับประทานทุกวัน  ซึ่งจะนำไปสู่การให้ความสำคัญที่จะทบทวนวิธีทำการเกษตรของเราให้ลดการใช้สารเคมีเกษตรที่เป็นพิษ หรือการหวังพึ่งพาพืชตัดต่อพันธุกรรม (ซึ่งมีพิษทางพันธุกรรม) เช่นกระแสทุกวันนี้ได้

แนวคิดที่อยู่บนพื้นฐานการอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเช่นนี้  ยังจะนำไปสู่การอนุรักษ์เชื้อเพลิงฟอสซิลและการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกที่ไม่มีวันหมด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ความห่วงใยเรื่องการใช้บรรจุภัณฑ์ทำให้เราหันไปใช้ขวดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ หันไปสนใจตั้งศูนย์นำขวดกลับมาใช้ใหม่ในระดับชุมชน เช่น การล้างขวดกลับมาใช้ในอุตสาหกรรมเบียร์หรืออุตสาหกรรมนมเล็ก ๆ ในท้องถิ่น

การตระหนักถึงการลดขยะจะทำให้เราหันไปทบทวนวิถีชีวิตที่ตกอยู่ในกระแสมอมเมาของลัทธิบริโภคนิยมอันเต็มไปด้วยการโฆษณาที่มีสีสันและหลอกล่อให้เราใช้เวลาส่วนใหญ่ของเราอยู่หน้าโทรทัศน์อย่างสูญเปล่า อลัน เดิร์นนิ่ง ได้เขียนวิเคราะห์เรื่องการบริโภคเกินความจำเป็นไว้ในหนังสือเรื่อง เท่าไรถึงจะพอ (How Much is Enough?) และสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า มนุษย์ทุกวันนี้ถูกลวงให้เชื่อว่าความสุขนั้นอยู่ที่วัตถุที่เราใช้เงินซื้อ มากกว่าความสุขที่ได้จากการสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน กับเพื่อน กับครอบครัวและคนที่เรารัก

ผมขอสรุปสั้นๆ ว่า สิ่งที่อยู่ตรงข้ามการบริโภคที่เกินจำเป็น แท้ที่จริงคือการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อนที่รัก ทุกท่านครับ ความจำเป็นในการใช้วัตถุเพื่อสนองตอบดำรงชีวิตของพวกเรา แท้ที่จริงแล้ว เราต้องการเพียงครึ่งหนึ่งของที่เราใช้อยู่เท่านั้นครับ

เรียบเรียงจากบทความเรื่อง Alternatives To Incinerating Trash เขียนโดย ดร.พอล คอนเนทท์ ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเซนต์ลอว์เรนซ์ แคนตัน นิวยอร์ค

พอล คอนเนทท์ เป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเซนต์ลอเรนซ์ เมืองแคนตัน นิวยอร์คตั้งแต่ปี 2526 ได้รับปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และปริญญาเอกทางเคมีจากดาร์ทเมาท์คอลเลจ หลังจากปี 2528 เขาทุ่มเททำการวิจัยเรื่องการจัดการของเสียโดยเฉพาะประเด็นทางวิชาการที่เกี่ยวกับการปล่อยสารพิษไดออกซินจากโรงงานเผาขยะซึ่งมีผลต่อห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ ดร.พอล เข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติเรื่องไดออกซินหลายต่อหลายครั้ง และทำงานร่วมกับทอม เวบสเตอร์ เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมด 6 ฉบับ ซึ่งต่อมาได้ตีพิมพ์ในวารสาร “Chemosphere” เขายังได้ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดการกากของเสียในรูปแบบที่หลากหลายให้กับชุมชนต่างๆ นอกจากนี้ ยังได้ไปแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาแล้วกว่า 1500 ครั้งใน 48 รัฐทั่วสหรัฐอเมริกา และในประเทศอื่น ๆ อีก 40 ประเทศทั่วโลก และ ดร. พอล ทำงานกับเอลเลน ผู้เป็นภรรยา ออกจดหมายข่าวรายสัปดาห์ชื่อ Waste Not เป็นระยะเวลานานถึง 12 ปี เขายังทำงานร่วมกับนายโรเจอร์ ไบลีย์ - เพื่อนซึ่งเป็นศาสตราจารย์คณะวิจิตรศิลป์ของมหาวิทยาลัย เซนต์ลอว์เรนซ์ ผลิตวิดีโอเทป 40 เรื่องซึ่งล้วนเกี่ยวกับการจัดการกากของเสียในแง่มุมต่าง ๆ รวมถึงวีดิทัศน์(10 ม้วน)เกี่ยวกับสารพิษไดออกซิน ดร. พอล มีบทบาทสำคัญในการทำงานกับชุมชนระดับรากหญ้ากว่า 300 แห่งในสหรัฐอเมริกาซึ่งคัดค้านโครงการโรงเผาขยะ จนทำให้โครงการเหล่านั้นยกเลิกไป

ราล์ฟ เนเดอร์ นักรณรงค์สิทธิผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา กล่าวถึง ดร. พอล ว่า “เขาเป็นคนเดียวที่ผมรู้จักที่สามารถทำให้เรื่องขยะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ”