Greenpeace action against danger of toxic ash at Phuket waste incinerator, 2000 (Photo : Greenpeace/Yvan Cohen)

ขณะที่เสนอความคิดเห็นในเรื่องนี้ ผมตระหนักดีว่า หลายต่อหลายคนที่นั่งอยู่ในที่นี้มีรายได้หลักจากการทำงานในโรงงานเผาขยะ  และอาจจะโต้แย้งอยู่ในใจกับสิ่งที่ผมกำลังจะพูด  ผมขอปรบมือให้กับหน่วยงานที่จัดการประชุมครั้งนี้ (หมายเหตุ – ผู้เขียนหมายถึงการประชุมการจัดการนานาชาติประจำปีครั้งที่ 4 เรื่อง โรงไฟฟ้าขยะ(Waste-to-Energy) วันที่  24-25  พฤศจิกายน  2541 ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ) ที่มีความกล้าพอในการอนุญาตให้ผมมาพูดในวันนี้

บ่อยครั้งที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจใช้เทคโนโลยีเผาขยะจะยังไม่ค้นพบข้อเสียของมัน จนกระทั่งมีเสียงต่อต้านจากสาธารณชน  หากจะถอดความจากถ้อยคำที่ มาร์ค แอนโทนี ตัวเอกในบทละครของ เชคสเปียร์เคยพูดไว้

ผมไม่ได้มาที่นี่เพื่อสรรเสริญความคิดในเรื่องโรงไฟฟ้าขยะ แต่มาเพื่อฝังความคิดนี้ให้จมธรณี

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยกับผมหรือไม่ ผมก็หวังว่าคุณคงเห็นด้วยกับคำกล่าวของโจเซฟ จูเบิร์ต ที่ว่า

ถกเถียงปัญหาโดยไม่ต้องหาข้อยุติ ดีกว่าพยายามหาข้อสรุปโดยไม่มีการถกเถียงกันเลย

ถกเถียงปัญหาโดยไม่ต้องหาข้อยุติ ดีกว่าพยายามหาข้อสรุปโดยไม่มีการถกเถียงกันเลย

โจเซฟ จูเบิร์ต

ในความเห็นของผม การเผาขยะเป็นการถอยหลังเข้าคลอง เป็นการย้อนกลับไปสู่ศตวรรษที่ 19 หาใช่มองไปข้างหน้ายังศตวรรษที่ 21 โรงงานเผาขยะเพื่อผลิตพลังงานแห่งแรกเปิดดำเนินการในเมืองฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมนี ในปี พ. ศ. 2428 และผมเชื่อว่า แม้วิศวกรที่เชี่ยวชาญที่สุดสามารถทำให้การเผาขยะ เป็นวิธีการจัดการของเสียที่ปลอดภัย เช่น มีการดักจับฝุ่นละอองที่เป็นพิษได้ทั้งหมด และคิดค้นหาวิธีการจัดการขี้เถ้าได้เป็นอย่างดี แต่ถ้ามองในแง่จริยธรรมแล้ว เทคโนโลยีการเผาขยะก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับอยู่ดี

มองกันง่าย ๆ คือ ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องเสียเวลา เงินทองจำนวนมหาศาลและแรงกายแรงใจ ในการกำจัดสิ่งที่เราจะต้องใช้ร่วมกันต่อไปในอนาคต ด้วยเหตุนี้ ท่านทั้งหลายที่พยายามปฏิบัติภารกิจอันหนักหนาสาหัสเกินความสามารถปกติธรรมดาของมนุษย์ เพื่อให้เทคโนโลยีการเผาขยะสมบูรณ์แบบทั้งศาสตร์และศิลป์ กำลังใส่ใจกับวิธีแก้ปัญหาที่ผิดพลาด และสร้างคำตอบอันโก้หรูกับคำถามที่ผิดพลาด การที่เรากำลังเตรียมก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ภารกิจของเราในสังคมไม่ใช่การหาพื้นที่ทิ้ง หรือฝังกลบขยะแห่งใหม่หรือโรงงานเผาขยะรุ่นใหม่ แต่คือการหาวิธีการในการลดปริมาณขยะเป็นอันดับแรก

ใครก็ตามเมื่อได้ยินข่าวเรื่องการเผาขยะเป็นครั้งแรกดูเหมือนเป็นความคิดที่เข้าท่า ผมเองก็เคยคิดเช่นนั้น เพราะหมายถึงว่าแหล่งฝังกลบขยะจำนวน 32 แห่งของชุมชนทางตอนเหนือในมลรัฐนิวยอร์ค จะไม่มีอีกต่อไป และยังผลิตไฟฟ้าจากการเผาขยะได้อีกด้วย ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์  สำหรับพนักงานเทศบาลที่มีชาวบ้านมาร้องเรียนเรื่องขยะกองเป็นภูเขาเลากา การเผาขยะในเตา เป็นวิธีที่รวดเร็วและได้ผลทีเดียว หรือสำหรับนักการเมืองที่รับเรื่องราวร้องทุกข์จากชาวบ้านอยู่เสมอว่า ไม่ต้องการมีบ้านอยู่ใกล้กับแหล่งฝังกลบขยะ  การเผาขยะเพื่อผลิตพลังงานก็ดูจะเป็นทางออกที่ยอดเยี่ยมในทางการเมือง

การตระหนักว่า“การบริโภคเกินจำเป็น” นำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลกและวิกฤติการณ์การจัดการขยะคือการรับรู้ว่าขยะเป็นสายสัมพันธ์อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดระหว่างปัจเจกบุคคลด้วยกันที่มีต่อวิกฤติการณ์ระดับโลก  ความพยายามประการหนึ่งที่ต้องมีมากขึ้นคือ การแข็งขืนต่อปรัชญาอเมริกันยุคหลังสงครามที่ว่า  “ยิ่งบริโภคมากเท่าใดก็จะมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น”

ก่อนที่พวกเราจะทำให้ในโลกใบนี้ไม่อาจอยู่อาศัยได้อีกต่อไป นั่นคือ ต้องหาทางหยุดยั้งความละโมบของบรรษัทข้ามชาติที่กำลังปล้นสดมภ์โลกเพื่อผลกำไรระยะสั้น ๆ ซึ่งเรื่องนี้จะสัมฤทธิผลได้ หากเราในฐานะปัจเจกชนช่วยกันต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อที่เป็นกับดักให้เราหลงอยู่ในมิจฉาทิฐิ  ความคิดที่จะเอาชนะการบริโภคเกินจำเป็นคือการสร้างพลังชุมชน เสียงคัดค้านอย่างรุนแรงจากชุมชนเรื่องหลุมฝังกลบขยะและการเผาขยะในเตา จะมีส่วนผลักดันให้ประเด็นเหล่านี้บรรจุอยู่ในวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรีก็เป็นได้

วิธีการจัดการขยะโดยการเผาอาจดูมีเหตุผล ถ้าหากว่าเราหาทางย้ายไปอาศัยบนดาวดวงอื่นได้ (ซึ่งคงทำได้โดยใช้เทคโนโลยีใน “นิยายวิทยาศาสตร์” เท่านั้น)  เราจำเป็นต้องยืนกรานโดยวิธีการแก้ปัญหาแบบ “คืนสู่สามัญ”ซึ่งเราทำให้สามารถอาศัยอยู่ในชุมชนและบนโลกใบนี้อย่างสันติสุข ทั้งการเผาขยะและการทิ้งขยะในแหล่งฝังกลบที่จัดไว้ ต่างกลบเกลื่อนหลักฐานของวิถีชีวิตแบบกินทิ้งกินขว้างที่ไม่อาจยอมรับได้อีกต่อไป โรงงานเผาขยะทุกแห่งทำให้การอภิปรายถกเถียงและพูดคุยเรื่องที่มีความสำคัญเช่นนี้ล่าช้าอย่างน้อยเป็นเวลาถึง 20 ปี

เราคงต้องมองลึกลงไปจึงจะตระหนักได้ถึง “ก้าวที่ถอยหลัง” ของการเผาขยะทั้งในแง่ของเศรษฐศาสตร์ สังคม และสิ่งแวดล้อมและจากมุมมองของการไปสู่สังคมที่มีความยั่งยืน

ผมจะอภิปรายข้อถกเถียงเรื่องการเผาขยะในประเด็นหลัก 7 ประการ คือ  1) การปล่อยสารพิษ 2) การกำจัดเถ้า 3) ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น 4) การสูญเปล่าของพลังงาน 5) การต่อต้านจากสาธารณชน 6) ทางเลือกอื่น ๆ และ 7) ความยั่งยืน

การปล่อยสารพิษ

ก่อนอื่น ผมขอชี้แจงว่าอุตสาหกรรมการเผาขยะได้มีความคืบหน้ามากในการลดปริมาณการปล่อยสารพิษ นับตั้งแต่ทศวรรษ 70, 80 และแม้แต่ต้นทศวรรษ 90  อย่างไรก็ดี การพัฒนานี้ไม่อาจถือเป็นมาตรฐานได้ ตัวอย่าง ที่เห็นได้ชัดเจนเช่นเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง ประเทศฝรั่งเศสได้นำปัญหาไดออกซินขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นผลมาจากความจริงที่ว่างานในระบบอุตสาหกรรมมักจะมีความซับซ้อน จึงเป็นไปได้ที่วิธีการแก้ปัญหาอาจจะไม่สมบูรณ์แบบและที่สำคัญไม่ควรที่จะนำไปดำเนินการในประเทศที่กฎหมายไม่เข้มงวดพอ หรือประเทศที่งบประมาณมีไม่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายในโครงการขนาดใหญ่ที่มีค่าใช้จ่ายอื่น ๆอีกมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง

นักเคมีส่วนใหญ่มักจะกระพริบตาด้วยความตื่นเต้น เมื่อพบว่ามีสารเคมีมากกว่า 3 ชนิดอยู่ในหลอดทดลอง หน้าที่ของเตาเผาสมัยใหม่ คือ เผาทุกสิ่งทุกอย่างที่สังคมผลิตขึ้นมาในเตาใบใหญ่ใบเดียว ในขณะเดียวกันก็นำพลังงานความร้อนจากการเผาไปผลิตกระแสไฟฟ้าหรือไอน้ำ  จากกระบวนการที่ซับซ้อนนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้น

เกิดก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์

สารประกอบคลอไรด์ส่วนใหญ่ที่อยู่ในขยะจะเปลี่ยนสภาพเป็นก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์ ซึ่งมีสภาพเป็นกรด และเมื่ออยู่ในสภาวะอุณหภูมิสูงก็จะกัดกร่อนโลหะที่ก๊าซสัมผัส แม้ว่าก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์ส่วนใหญ่จะถูกกำจัดโดยใช้เครื่องมือทำความสะอาดก๊าซโดยผ่านให้เข้าสัมผัสกับสารที่มีคุณบัติเป็นด่าง (Alkaline Scrubbing Device) ก่อนที่ไอร้อนจะถูกปล่อยออกจากปล่องเตาเผา แต่กรดก๊าซนี้ได้ทำลายเนื้อวัสดุที่ใช้สร้างเตาเผาไปก่อนแล้ว ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลตรวจสอบบ่อยครั้ง

เกิดกรดไนตริกออกไซด์

ในระหว่างที่เกิดการเผาไหม้ ไนโตรเจนและออกซิเจนในอากาศจะรวมตัวกันเป็นก๊าซไนตริกออกไซด์ แต่เนื่องจากว่า ก๊าซนี้มีสภาวะเป็นกลางจึงไม่สามารถขจัดด้วยวิธีการเดียวกับก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์ อาทิเช่น การใช้ปูนขาว แม้ว่าระบบการฉีดแอมโมเนียหรือยูเรียจะสามารถเปลี่ยนก๊าซไนตริกออกไซด์ให้กลับเป็นไนโตรเจนได้ แต่เป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายสูง (มักนำไปทำปุ๋ย) และมีประสิทธิภาพประมาณร้อยละ 60% เท่านั้น สำหรับก๊าซไนตริกออกไซด์ที่ยังเหลืออยู่จะเปลี่ยนเป็นก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์โดยแสงอาทิตย์ ซึ่งทำให้เกิดหมอกและควันพิษตลอดจนฝนกรด

โลหะที่เป็นพิษจะถูกปล่อยออกมา

ระหว่างการเผาไหม้ โลหะหลายชนิดที่เป็นพิษจะถูกปล่อยออกมาเช่น ตะกั่ว แคดเมียม อาร์เซนิค ปรอท และโครเมียมซึ่งเกิดจากการเผาขยะพวกพลาสติกและอาจออกมาในรูปของผงฝุ่นหรือก๊าซ เมื่อหลุดรอดออกจากปล่องเตาเผา ผงฝุ่นหรือก๊าซเหล่านี้จะไปรวมตัวกันเป็นบริเวณกว้างในสิ่งแวดล้อม ซึ่งแทรกเข้าไปในปอดของมนุษย์และดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว วิธีการกำจัดสารพิษประเภทโลหะที่ออกมากับอากาศเสียที่นิยมใช้กัน คือใช้เครื่องดักจับฝุ่นแบบประจุไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitators) หรือใช้ถุงกรอง (Baghouses) ข้อเสีย ของเครื่องดักจับฝุ่น คือ ไม่สามารถจับฝุ่นที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ได้ ในขณะที่ถุงกรองจะมีปัญหาเรื่องการฉีกขาดและการอุดตันซึ่งต้องบำรุงรักษาอย่างระมัดระวัง
การจัดการกับ “ปรอท” สารพิษเจ้าปัญหา เป็นเรื่องยาก

สารพิษที่ก่อให้เกิดปัญหามากที่สุดคือปรอท  ในอุณหภูมิของการเผาไหม้ ปรอทจะมีสภาวะเป็นก๊าซ และหลุดรอดจากเครื่องมือควบคุมมลพิษที่กล่าวไว้ข้างต้น ผลคือการเผาขยะเป็นแหล่งกำเนิดปรอทออกสู่สภาพแวดล้อมตัวฉกาจ  ปัจจุบันนี้โรงงานเผาขยะรุ่นใหม่ได้นำเอาถ่านกัมมันต์ หรือถ่านสังเคราะห์ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดซับสูง (Activated Carbon) มาใช้เพื่อดูดซึมปรอท แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง และประชาชนอยากรู้ว่าจะมีการใช้วิธีนี้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ เพราะเท่าที่ผมรู้ ไม่มีโรงงานเผาขยะแห่งใดที่ควบคุมการปล่อยของสารพิษได้ตลอดเวลา การกำจัดปรอทก่อให้เกิดคำถามอื่น ๆ ตามมา เช่น เมื่อถูกดูดซึมเข้าไปในถ่านกัมมันต์แล้วปรอทพวกนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป แล้วกากของเถ้าลอยซึ่งเป็นอนุภาคละเอียดของเถ้า ซึ่งลอยไปตามก๊าซหลังเผาไหม้ (Fly Ash ) ล่ะ ?  จะนำถ่านกัมมันต์ที่ใช้แล้วมาใช้อีกครั้งหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ แล้วปรอทหายไปไหน?  ถ่านกัมมันต์ที่ใช้แล้วถูกนำมาเผาในเตาเผาหรือไม่ แล้วปรอทอยู่ที่ไหน? เพราะคงไม่สามารถอยู่ในเตาเผาได้ตลอดกาล ถ่านกัมมันต์จะมีผลต่อการชะล้างและคุณสมบัติของเถ้าที่นำไปกำจัดในที่ฝังกลบขยะหรือไม่? ในสภาพอากาศร้อนปรอทจะระเหยออกจากเถ้าได้หรือไม่ ?

ไดออกซิน ฟิวแรน และผลพลอยได้อื่น ๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้

หลังจากเกิดอุบัติเหตุในเมืองเซเวโซ ประเทศอิตาลี เมื่อปี พ.ศ.2519 ซึ่งทำให้เกิดสารเคมีที่ชื่อว่า 2,3,7,8-TCDD หรือเรียกทั่วไปว่า ไดออกซิน ฟุ้งกระจายสู่บ้านเรือนประชาชน คีส์ โอลี่และเพื่อนร่วมงาน ในประเทศ เนเธอร์แลนด์ ระบุว่า สารเคมีชนิดเดียวกันนี้ได้ปล่อยออกจากโรงงานเผาขยะ  และยังตรวจพบการปล่อยสารเคมีในกลุ่มไดออกซินตัวอื่น ๆ (มีสารประเภทโพลีคลอริเนเตดไดเบนไซพาราไดออกซินหรือ PCDDs 75 ตัว) รวมทั้งสารในกลุ่มฟูแรน (มีสารประเภทโพลีคลอริเนเตด ไดเบนไซฟูราน หรือ PCDFs อยู่ 135 ตัว) อีกด้วย ข้อโต้แย้งของบริษัทที่ปรึกษาอุตสาหกรรมเตาเผาขยะต่อการค้นพบครั้งนี้ คือ ตราบเท่าที่มี การเดินเครื่องเตาเผาในอุณหภูมิสูง สารในกลุ่มไดออกซินและกลุ่มฟูแรนทุกตัวจะถูกกำจัดไป  อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาพบว่า คำกล่าวอ้างนี้เป็นการบิดเบือนข้อมูล

การเกิดไดออกซินหลังจากการเผาไหม้

ในการประชุมระดับนานาชาติเรื่องไดออกซิน  ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองเบรุต ประเทศเยอรมนี ในปี พ.ศ.2528 มีการเปิดเผยเหตุผลที่ว่า เหตุใดที่ระดับอุณหภูมิสูงเพียงอย่างเดียวไม่ อาจแก้ไขปัญหาไดออกซินได้ ผู้เข้าร่วมประชุม 2 กลุ่มชี้ให้เห็นว่า ไดออกซินสามารถก่อตัวขึ้นใหม่หลังจากไอร้อน ลอยออกมาจากห้องเผาไหม้   ปัจจุบันนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า ในกรณีที่ไอร้อนจากเตาเผาถูกนำมาผ่านอุปกรณ์ควบคุมมลพิษซึ่งทำงานในอุณหภูมิระดับ 200-400 องศาเซลเซียส การก่อตัวของไดออกซินและฟูแรนจะเพิ่มขึ้นกว่า 100 เท่า  กลวิธีในการลดการก่อตัวของไดออกซินหลังจากการเผาไหม้ คือ จะต้องนำไอร้อนไปทำให้เย็นลงทันที หลังจากลอยออกมาจากห้องเผาไหม้ แต่ทว่า วิธีการนี้ ขัดแย้งกับเป้าหมายในการผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะในการผลิตกระแสไฟฟ้านั้นจะต้องปล่อยไอร้อนเข้าไปในหม้อต้มน้ำเพื่อทำให้เกิดไอน้ำที่เป็นตัวขับเคลื่อนกังหันให้หมุน ซึ่งหมายความว่า ช่วงเวลาในการนำไอร้อน มาทำให้เย็นลงต้องล่าช้าออกไป

ปัญหาไดออกซินในเถ้าลอย

หากไม่ใช้วิธีการนำไอร้อนไปทำให้เย็นลงทันที เถ้าลอยซึ่งสะสมอยู่ ในเครื่องชะจับ (Scrabber) จะมีไดออกซินและฟูแรนปนเปื้อนอยู่ ในขณะที่ บางคนมีความเห็นแย้งว่า โรงงานเผาขยะสมัยใหม่สามารถกำจัดไดออกซินและฟูแรนได้อย่างหมดจด  ผมคิดว่าคำกล่าวนี้คงเชื่อถือได้หากว่าปริมาณไดออกซิน ในขยะอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งหมายถึงว่ารวมปริมาณไดออกซินในเถ้าลอยและเถ้าก้นเตาเข้าไปด้วยแล้ว  แต่อันที่จริง อาจมีปริมาณไดออกซินในเถ้าลอยมากกว่าในการฟุ้งกระจายที่ออกจากปล่องเตาเผาเป็นร้อยๆ เท่าทีเดียว

อย่างไรก็ตาม  เมื่อเร็วๆ นี้  หน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่ง สหรัฐอเมริกา (US EPA) ยังเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เกี่ยวกับเรื่องไดออกซินและฟิวรานที่ตกค้างอยู่ในเถ้าลอย  ทั้งที่ในบางครั้ง จะมีการนำส่วนผสมของเถ้า (ทั้งเถ้าก้นเตาและเถ้าลอย) ไปใช้ฝังกลบขยะก็ตาม ในทางตรงกันข้ามที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากมีการตื่นตัวสูงเรื่อง ไดออกซิน  รัฐบาลญี่ปุ่นจึงประกาศออกมาในปี พ.ศ.2540 ว่าได้มีการจำกัดปริมาณไดออกซินที่ปล่อยจากปล่องเตาเผา (ปริมาณของไดออกซินที่อยู่ใน อากาศ, เถ้าลอย และเถ้าธรรมดา) ให้อยู่ที่ระดับ 5 ไมโครกรัม I-TEQ ต่อขยะ ที่นำมาเผาจำนวน 1 เมตริกตัน
ตามที่ได้มีการนำเสนอเรื่องไดออกซินในงานไดออกซิน’ 97 ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองอินเดียนาโพลิส มีการนำเถ้าลอยที่เป็นผลผลิตจากโรงงานเผาขยะในประเทศญี่ปุ่นมาพิสูจน์ แสดงให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายในการเผาขยะต้องเพิ่มสูงขึ้นไปอีก

ไม่มีการควบคุมตรวจสอบไดออกซินอย่างต่อเนื่อง

แม้มีการตื่นตัวเพื่อลดปริมาณการปล่อย ไดออกซิน แต่ก็ยังยากที่จะรับรองต่อสาธารณชนได้ว่าการปล่อยนั้นมีปริมาณไดออกซินในระดับต่ำ  เพราะยัง ไม่มีอุปกรณ์ใดในโลกสามารถควบคุมตรวจสอบไดออกซินและฟูแรนได้ต่อเนื่องตลอดเวลา  แต่กลับต้องขึ้น อยู่กับการวัดในแต่ละจุด ซึ่งมักจะมีการแจ้งให้ผู้เดินเครื่องโรงงานเผาขยะทราบล่วงหน้าว่าจะมีการไป ตรวจสอบในวันนั้น ๆ  แทบจะไม่เกินปีละ 1 ครั้ง

เท่าที่ทราบ มีโรงงานเผาขยะเพียงไม่กี่แห่งที่ได้รับ การตรวจวัดเกินกว่า 1 ครั้งตลอดอายุการใช้งาน  ดังนั้น แม้ว่าเตาเผาได้รับการออกแบบมาอย่างเยี่ยมยอดเพียงไร ประชาชนยังไม่มีอิสระพอที่จะรู้ได้ว่า การเดินเครื่องดำเนินไปอย่างถูกต้องเพียงใด การบำรุงรักษาและการตรวจสอบเป็นอย่างไร ตลอดช่วงอายุการใช้งาน 20 ปี หรือมากกว่านั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้ คือ โรงงานเผาขยะในเมืองอินเดียนาโพลิส ซึ่งเปิดเดินเครื่องเมื่อปลายปี พ.ศ. 2531 จากการตรวจสอบอย่างไม่ลดละของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมท้องถิ่น ปรากฏว่าในช่วง 2 ปีแรกของการเดินเครื่อง มีการฝ่าฝืนข้อกำหนดในใบอนุญาตมากกว่า 6000 ครั้ง รวมทั้งไม่ติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ จำนวน 18 ครั้ง นอกจากนี้ ท่อของหม้อน้ำขัดข้องถึง 27 ครั้ง ภายใน 1 ปี  ไม่มีใครรู้ว่าปริมาณไดออกซินที่แพร่กระจายออกไปจะเป็นอย่างไร

จากเหตุการณ์เหล่านี้  พูดสั้น ๆ คือ  ในประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้ว ทั้งมาตรการหรือตัวอุตสาหกรรมเองต่างก็ไม่สามารถตรวจสอบหรือควบคุมปริมาณไดออกซินได้อย่างจริงจัง ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ มีการสร้างโรงงานเผาขยะในประเทศทางตอนใต้และยุโรปตะวันออก ซึ่งมาตรการในการควบคุมต่ำมาก และไม่มีโรงงานเผาขยะแห่งใดเลยที่มีการควบคุมตรวจสอบไดออกซิน แม้แต่เฉพาะจุดก็ตาม

ความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับระดับไดออกซินในปัจจุบัน

ที่ต้องนำเรื่องปริมาณการปล่อยไดออกซินมาพิจารณา เนื่องจากประชาชนมีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับปริมาณของไดออกซินที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อม อาทิ เช่น ในอากาศและร่างกายของเรา  ความวิตกกังวลนี้เกิดขึ้นเนื่องจากความจริงที่ว่า สารเคมีที่เราได้รับเข้าไปในร่างกายในปริมาณสูงสุดนั้นมาจากอาหารที่เรารับประทานและจะส่งต่อไปยังทารกในครรภ์ ในขณะที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของวงการอุตสาหกรรมเตาเผาขยะมักจะออกมาโต้แย้งบ่อย ๆ ว่า ปริมาณการปล่อยไดออกซินอยู่ในระดับต่ำ (โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสารก่อมลพิษตัวอื่น ๆ)  ข้อโต้กลับคือ  ไดออกซิน แม้ในระดับ 1 ส่วนในพันล้านส่วน ส่งผลกระทบกับฮอร์โมนหลายชนิดซึ่งมีหน้าที่ต่าง ๆ กันในร่างกาย ผลการศึกษาที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากเปิดเผยขึ้นในปี พ.ศ.2535  เมื่อนักวิทยาศาสตร์ ชาวฮอลแลนด์ค้นพบว่า แม้แต่ ไดออกซินที่มีอยู่เดิมในสิ่งแวดล้อมก็สามารถเข้าไปเป็นอันตรายต่อต่อม ไทรอยด์ซึ่งมีหน้าที่ในการเผาผลาญ ของเด็กอ่อนวัย 1 สัปดาห์ได้

ไดออกซินเข้าไปปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารได้ง่ายมาก

ไดออกซินที่ถูกปล่อยออกมาจากปล่องโรงงานเผาขยะ/โรงไฟฟ้าขยะ ไม่ว่าจะในปริมาณมากเพราะการเดินเครื่องไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หรือในปริมาณน้อย หากว่าการเดินเครื่องมีประสิทธิภาพสูง ต่างก็พร้อมที่จะเข้าไปปนเปื้อนในสัตว์กินหญ้าและสัตว์น้ำประเภทปลาได้ทั้งสิ้น  เมื่อปี พ.ศ. 2529 ผมและทอม เวบสเตอร์ ร่วมกันคำนวณหาปริมาณของไดออกซินที่ปนเปื้อนในนม 1 ลิตร พบว่ามีมากเท่ากับ ที่มนุษย์ได้รับผ่านทางการสูดอากาศเข้าไปเมื่อหายใจอยู่ข้าง ๆ วัวเป็นเวลาถึง 8 เดือน ผลการคำนวณครั้งล่าสุด ชี้ให้เห็นว่าใน 1 วัน วัวที่กินหญ้าจะได้รับไดออกซินเข้าสู่ร่างกาย (จากที่ปนเปื้อน อยู่ตามยอดหญ้า)  ในปริมาณเท่ากับที่มนุษย์จะได้รับจากการหายใจอยู่ข้าง ๆ วัวตัวนั้น เป็นเวลา 14 ปี

นี่ไม่ใช่ข้อมูลทางวิชาการเพียงเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2532 ฟาร์มโคนมจำนวน 16 ฟาร์ม ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ลมของโรงงานเผาขยะขนาดใหญ่ในเมืองรอทเทนแดมถูกสั่งระงับมิให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์นม เพราะมีไดออกซินปนเปื้อนในระดับสูงกว่าที่อื่น ๆ ในเนเธอร์แลนด์ ถึง 3 เท่า  สถานการณ์นี้ดำเนินอยู่จนกระทั่งปี พ.ศ.2538 จึงได้สิ้นสุดลง เนื่องจากมีการยกเครื่องเตาเผาครั้งใหญ่ ไม่เช่นนั้นแล้วคงยังแก้ปัญหาไม่ได้จนบัดนี้ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2541 โรงงานเผาขยะในเมืองลิซเล ประเทศฝรั่งเศส จำนวน 3 เครื่องต้องหยุดเดินเครื่อง  เนื่องจากมีไดออกซินปนเปื้อนในนมซึ่งผลิตจากฟาร์มที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ลมของเตาเผา  ในปริมาณมากกว่าระดับที่อนุญาตให้จำหน่ายได้ถึง 3 เท่า  (5 ส่วนต่อล้านส่วน TEQ ในไขมันนม)

ไอร์แลนด์เป็นประเทศที่แสดงให้เห็นว่าโรงงานเผาขยะได้ทำให้เกิดมลพิษไดออกซินในระดับมหาศาลเพียงใด

รายงานจากประเทศไอร์แลนด์ชี้ให้เห็นว่า การปนเปื้อนของไดออกซินในนมที่ผลิต ในกลุ่มประเทศยุโรปมีปริมาณสูงมาก ดร.คริสโตเฟอร์ แรพเป ได้วิเคราะห์ตัวอย่างนมจากเมืองต่าง ๆ ในไอร์แลนด์ พบว่าการปนเปื้อนของไดออกซิน อยู่ในช่วง 0.12-0.51 ส่วนต่อพันล้านส่วน I-TEQ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.23 ส่วนต่อพันล้านส่วน ซึ่งต่ำกว่าปริมาณที่ตรวจพบ ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เยอรมนี ฮอลแลนด์ ฝรั่งเศส และอังกฤษ  ในความเห็นของผมคิดว่าเป็นเพราะไม่มีการสร้างโรงงานเผาขยะในประเทศไอร์แลนด์นั่นเอง

ความก้าวหน้าในประเทศหนึ่งไม่ได้แปลว่าจะต้องประสบผลสำเร็จในอีกประเทศหนึ่งเสมอไป

ครั้งแล้วครั้งเล่า จะมีรายงานข่าวว่าประเทศนั้นประเทศนี้ หรือโรงงานเผาขยะแห่งโน้นแห่งนี้สามารถควบคุมการปล่อยไดออกซินอย่างได้ผลเพื่อที่จะส่งเสริมให้มีการสร้างโรงงานเผาขยะในประเทศต่าง ๆ ซึ่งในประเทศ นั้น ๆ คนควบคุมเตาเผา อาจไม่รอบคอบพอหรือมาตรการในการควบคุมไม่เข้มงวดพอ

ตัวอย่างเช่นเมื่อบริษัทที่ปรึกษาและนักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดนประกาศต่อโลกว่า สวีเดนสามารถแก้ปัญหาการปล่อยไดออกซินได้แล้ว  หลังจากนั้น อีกนานทีเดียวกว่าที่จะมีการสร้างโรงงานเผาขยะขึ้นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งปรากฏว่ามีปัญหาการปล่อยไดออกซินในปริมาณสูงมาก  อย่างเช่น  โรงงานเผาขยะในเมือง นอร์ฟอล์ค รัฐเวอร์จิเนีย  ซึ่งเผาขยะวันละ 2000 ตัน  มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ถูกตรวจพบว่าปล่อยไดออกซิน ออกมาในปริมาณมากกว่าไดออกซินที่เกิดจากการจราจร  โรงงานเผาขยะ โรงงานอุตสาหกรรมและแหล่งอื่นๆ ในประเทศสวีเดน  เยอรมนี  และเนเธอร์แลนด์รวมกันเสียอีก(ประมาณ 2000 กรัมต่อปี)

การให้ความสนใจกับการควบคุมไดออกซินที่ปลายปล่องโรงเผาขยะ/โรงไฟฟ้าขยะไม่อาจจะแก้ปัญหาการปนเปื้อนไดออกซินในสิ่งแวดล้อมได้

ไม่ว่าคุณจะยอมรับความจำเป็นที่จะต้องมีโรงงานเผาขยะหรือไม่  แต่คุณคงต้องปรบมือให้กับความสำเร็จของผู้พยายามลดปริมาณการปล่อยไดออกซินที่ออกมาจากโรงงานเผาขยะ  อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่ว่านี้ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ขยะก่อขึ้นได้  ตราบเท่าที่ยังมีพลาสติกที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ เช่น พีวีซีและโพลีไวนิลไดคลอไรด์ (PVDC) ปะปนอยู่ในขยะ  ซึ่งไดออกซินและฟูแรนพร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อที่มีการเผาขยะ ไม่ว่าจะเป็นการเผาขยะที่สนามหลังบ้านของคุณ, การเผาขยะที่ที่ทิ้งขยะ  การเผาสิ่งของตามริมถนน และอุบัติเหตุไฟไหม้บ้าน, สำนักงานหรือโรงงานอุตสาหกรรม

การลดปริมาณการปล่อยไดออกซินที่ออกมาจากโรงงานเผาขยะในประเทศซีกโลกเหนือไม่อาจทำให้เราพอใจกับการปนเปื้อนของไดออกซินซึ่งเกิดจากการสร้างโรงงานเผาขยะคุณภาพต่ำในประเทศซีกโลกใต้ได้ รวมทั้งการปนเปื้อนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเผาขยะในประเทศทั้งทางเหนือและทางใต้ ทั้งในส่วนที่เกิดขึ้นอย่างตั้งใจและโดยบังเอิญ  ในทัศนะของผม  ปัญหาไดออกซินจะแก้ไขได้โดยการหยุดใช้พลาสติกที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ และคลอไรด์ในทางอุตสาหกรรมเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพื่อลดปริมาณสารก่อมลพิษชนิดหนึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มปริมาณสารก่อมลพิษอีกชนิดหนึ่งได้

วงการอุตสาหกรรมการเผาขยะมีการปรับปรุงในเรื่องการปล่อยมลพิษทางอากาศ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์และด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ก่อให้เกิดอุปกรณ์ควบคุมมลพิษรุ่นใหม่ๆ  และการเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยให้แก่โรงงานเผาขยะ  เมื่อมีการลงทุนและสร้างโรงงานเผาขยะ เราก็มักจะคาดหวังว่าโรงงานเผาขยะจะมีอายุการใช้งานได้อย่างน้อย 20 ปี  อย่างไรก็ตาม โรงงานเผาขยะที่เดินเครื่องกันอยู่ทุกวันนี้แตกต่างจากที่เคยสร้างกันมาเมื่อ 20 ปีก่อน  และเราอาจเดาได้ว่าเครื่องที่จะสร้างในอีก 20 ปีต่อจากนี้  คงจะแตกต่างกว่าที่เดินเครื่องกันอยู่ทุกวันนี้เช่นกัน

เรื่องที่ยุ่งยากคือ วิธีแก้ปัญหามลพิษชนิดหนึ่งอาจทำให้ปัญหาเกี่ยวกับสารก่อมลพิษอีกชนิดหนึ่ง เลวร้ายยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น การเพิ่มอุณหภูมิในเตาเผาและการเพิ่มประสิทธิภาพในการเผาไหม้เพื่อลดปัญหาไดออกซิน ทำให้เกิดก๊าซไนตริกออกไซด์และสารโลหะหนักที่เป็นพิษในปริมาณมากขึ้น รวมทั้งควบคุมปรอทได้น้อยลง (ดูดซึมปรอทได้น้อยลง)  การดักจับพลังงานผ่านหม้อต้มน้ำ และการใช้เครื่องดักจับฝุ่นแบบ ประจุไฟฟ้าสถิตย์  ทำให้เกิดไดออกซินหลังการเผาไหม้มากขึ้น  การใช้ปูนขาวและถุงกรองทำให้เกิดเถ้าลอยที่เป็นพิษ

สาธารณชนต้องใช้ชีวิตอยู่กับการทดลองแบบนี้ไปอีกหลายปี และมีแนวโน้มว่าจะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ  อาทิเช่น  ในปี พ.ศ.2536 ประชาชนในเมือง โคลัมบัส รัฐโอไฮโอ ซึ่งเกิดตื่นตัวกันขึ้นกับรายงานสั้น ๆ ในเรื่อง การเจ็บป่วยและอาการวิตกกังวลที่ไม่ค่อยพบเห็น รวมทั้งโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นกับผู้คนในละแวกใกล้เคียงกับ โรงงานเผาขยะขนาดใหญ่ซึ่งรองรับขยะได้ 2000 ตันต่อวัน  ค้นพบว่าค่าของไดออกซินที่ปล่อยออกมา จากเตาเผาในแต่ละปีซึ่งวัดในปี พ.ศ.2535 แต่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน อยู่ในระดับเกือบ 1000 กรัม TEQs ซึ่งมากกว่าปริมาณรวมของไดออกซินที่เกิดขึ้นในเยอรมนีในขณะนั้น

ยิ่งไปกว่านั้น  สาธารณชนต้องตกตะลึงกับข่าวอีก 2 เรื่อง  คือ เรื่องแรก นักวิทยาศาสตร์จากองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกาได้รายงานในงานไดออกซิน 93 ว่า  ปริมาณของไดออกซิน ที่เกิดจากโรงงานเผาขยะทุกแห่งในสหรัฐอเมริการวมกัน (ประมาณ 130 เครื่อง) อยู่ในช่วงระหว่าง 60 – 200 กรัม TEQs ซึ่งน้อยกว่าที่โรงงานเผาขยะที่โคลัมบัสแห่งเดียวผลิตออกมา  เรื่องที่ 2 คือ กรมสุขภาพ แห่งรัฐโอไฮโอ รายงานว่าปริมาณของไดออกซินในระดับ 1000 กรัม (ราว 1.5 เท่าของอุบัติเหตุที่เซเวโซ)  ซึ่งแพร่กระจายสู่ประชาชนและสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพแต่อย่างใด

ในอังกฤษ เจ้าหน้าที่ออกมายอมรับว่าโรงงานเผาขยะที่เดินเครื่องในช่วงทศวรรษ 70, 80 และต้นทศวรรษ 90 ไม่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดฉบับใหม่ของยุโรปเกี่ยวกับไดออกซินหากว่าไม่ได้ยกเครื่องใหม่

โรงงานเผาขยะเหล่านี้นั่นเองที่เป็นตัวการปล่อยไดออกซินออกสู่สภาพแวดล้อม รวมทั้ง เข้าไปปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์นม  เราได้รับทราบไปแล้วว่าระดับเฉลี่ยของไดออกซินที่ปนเปื้อนในนมของประเทศอังกฤษมีค่าสูงกว่าของประเทศไอร์แลนด์ แทนที่จะกล่าวคำขอโทษต่อประชาชนในการสร้างมลพิษให้เกิดขึ้นกับแหล่งผลิตอาหาร รัฐบาลอังกฤษกลับเสนอให้ก่อสร้างเตาเผาเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกเกี่ยวกับการผลิตพลังงาน

การกำจัดเถ้า

การเผาขยะจะทำให้เกิดเถ้า 2 ประเภท คือ  เถ้าก้นเตา (Bottom Ash) ซึ่งจะตกลงไปรวมตัวกันในตะแกรงเหล็ก (ประมาณร้อยละ 90 ของปริมาณขี้เถ้าทั้งหมด)  และเถ้าลอย (Fly Ash) ซึ่งเป็นวัตถุที่เบามาก และจะสะสมกันอยู่ในหม้อต้มน้ำ เครื่องถ่ายเทความร้อนและอุปกรณ์ควบคุมมลพิษทางอากาศ  ตราบเท่าที่ยังมีการวิตกกังวลเรื่องสารโลหะหนักที่เป็นพิษ  ความจริงทางเคมี คือ ยิ่งควบคุมมลพิษทางอากาศได้ดีเพียงใดเถ้าลอยจะมีอันตรายมากขึ้นเท่านั้น

อันตรายจากเถ้าลอยมักไม่ค่อยเป็นที่รับรู้

ในบางประเทศที่กฎหมายมีประสิทธิภาพพอ เช่น แคนาดา และเยอรมนี  เถ้าลอยถือว่าเป็นสารที่มีพิษมากและจะส่งไปทิ้งในที่ฝังกลบขยะที่จัดไว้สำหรับขยะประเภทมีพิษ ในประเทศญี่ปุ่น กฎหมายที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มีแนวโน้มว่าจะผลักดันให้มีการพิสูจน์และตรวจสอบเถ้าลอย  อย่างไรก็ตาม ในประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่อันตรายจากเถ้าลอยมักจะไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ เนื่องจาก
เถ้าลอยมักจะรวมอยู่กับเถ้าก้นเตาก่อนนำไปทดสอบและกำจัด

ไม่ได้ตรวจสอบในลักษณะเดียวกับสารพิษ

เช่น สารโลหะหนักและไดออกซินในเถ้า แต่ตรวจสอบ เพียงแค่ดูว่ามีอะไรออกมาจากขี้เถ้าบ้างระหว่างการทดสอบน้ำชะละลายขยะ (leachate test)

มีปูนขาวเข้ามาผสมในเถ้าระหว่างการทดสอบน้ำชะละลายขยะ

สาเหตุทั้ง 3 ข้อนี้ เป็นสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา จากสถานการณ์เหล่านี้ ผมคิดว่า คงจะไม่มีการเตือนให้ทั้งคนงานและชาวบ้านในชุมชนตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสกับเถ้าโดยตรง ยิ่งไปกว่านั้นในบางประเทศ มักนำขี้เถ้าไปกำจัดโดยใช้วิธีดึกดำบรรพ์ ซึ่งอาจเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ถ้ามองในแง่สิ่งแวดล้อมแล้วไม่น่าพึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง  ตัวอย่างเช่น ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ในช่วงปี พ.ศ.2537 มีการนำเถ้าลอยไปทำเป็นยางมะตอยถึงร้อยละ 35  ในสหรัฐอเมริกา  ส่วนผสมของเถ้าทั้งเถ้าลอยและเถ้าก้นเตา จะนำไปทิ้งในที่ทิ้งขยะโดยรวมอยู่กับขยะประเภทอินทรีย์สาร และนำไปใช้ฝังกลบขยะในหลาย ๆ ที่  นอกจากนี้ ยังมีการนำเถ้าลอยไปผลิตคอนกรีต โดยไม่มีการเขียนเตือนบนฉลากว่ามีส่วนประกอบของสารโลหะหนักที่เป็นพิษแต่อย่างใด

เถ้าคือปัญหาที่ไม่มีทางแก้ของอุตสาหกรรมเผาขยะ

ในกรณีที่จัดการกับเถ้าได้อย่างเหมาะสม ค่าใช้จ่ายในการเผาขยะจะสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับทุกชุมชน ไม่เว้นแม้แต่ชุมชนที่มีรายได้สูง และหากว่าจัดการกับเถ้าไม่ได้แล้ว จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

โรงงานเผาขยะ/โรงไฟฟ้าขยะมีค่าใช้จ่ายสูงมากจนน่ากลัว

เมื่อมีการต่อต้านข้อเสนอการสร้างโรงงานเผาขยะขนาดเล็ก (เผาขยะได้ในปริมาณ 200 ตันต่อวัน) ในชุมชนของเราทางตอนเหนือของมลรัฐนิวยอร์ค (เซนต์ลอเรนซ์ เคาน์ตี้) ในปี  พ.ศ.2523 เงินลงทุนได้เพิ่มขึ้นเป็น 34 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 850 ล้านบาทในขณะนั้น)  บริษัทเงินทุนมูดีส์ได้คำนวณว่าค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (ค่าใช้จ่ายที่ผลักให้ลูกค้ารับผิดชอบซึ่งคือค่าขนส่งขยะ 1 ตัน ไปยังเตาเผา) ตกประมาณ 180 บาท(ราคาปัจจุบันจะเป็น 7200 บาท) ต่อตัน  ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มนี้เอง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงงานเผาขยะในสหรัฐอเมริกาต้องลดขนาดลงเหลือเพียงรองรับขยะได้ 750 ตันต่อวัน

ในปี พ.ศ.2526 มีการสร้างโรงงานเผาขนาดรองรับขยะ1500 ตันต่อวันขึ้นในเมืองนอร์ธแอนโคเวอร์  ซึ่งติดตั้งเครื่องดักจับฝุ่นเพียง 3 ตัว มีราคาประมาณ 190 ล้านเหรียญสหรัฐ (4,750 ล้านบาทในขณะนั้น)  โดยมีค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มอยู่ที่ 2,375 บาทต่อตัน  แต่อาจเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 บาทต่อตันหากมีการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมมลพิษตัวใหม่ ตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มของโรงงานเผาขยะขนาดรองรับขยะ 1000 ตันต่อวัน ในเมืองโซราคิวส์ ซึ่งเปิดเดินเครื่องเมื่อปี พ.ศ. 2537 ตกราว 178 ล้านเหรียญสหรัฐ  (ราว 7,120 ล้านบาท) เนื่องจากมีการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมมลพิษรุ่นใหม่ล่าสุด

ค่าใช้จ่ายของโรงงานเผาขนาดรองรับขยะ 2000 ตันต่อวัน ซึ่งเดินเครื่องอยู่ใกล้ ๆ เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี พ.ศ.2538  สูงถึง 600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 24,000 ล้านบาท) โดยครึ่งหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ และยังมีรายงานจากประเทศเยอรมนีอีกว่าค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มของโรงงานเผาขยะในประเทศนั้นมีจำนวนสูงมาก

ลงทุนด้วยเงินจำนวนมหาศาล แต่การสร้างงานมีน้อยมาก

เงินส่วนใหญ่ในการลงทุนมักใช้ไปในการจัดหาอุปกรณ์ที่ซับซ้อน นอกเหนือจากงานก่อสร้างตัวโรงงงานเผาขยะแล้ว  งานประจำที่จะเกิดขึ้นต่อไปมีน้อยมาก โรงงานเผาขยะขนาดใหญ่อาจจ้างคนงานได้ประมาณ 100 คน  แต่หากว่าชุมชนใช้ความพยายามในการคัดแยกขยะ  การนำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่  การซ่อมแซม  การหมุนเวียนใช้ใหม่  และการนำขยะ ไปทำปุ๋ยหมัก  จะเกิดการสร้างงานขึ้นมากมาย  ทั้งในส่วนของการจัดการกับขยะซึ่งเป็นระดับปฐมภูมิ  และในระดับทุติยภูมิคือวงการอุตสาหกรรมที่นำขยะไปผ่านกระบวนการผลิตอีกครั้งหนึ่ง

เงินส่วนใหญ่ที่นำไปใช้ในการสร้างโรงงานเผาขยะ/โรงไฟฟ้าขยะมักไหลออกจากชุมชน

บริษัทวิศวกรรมขนาดใหญ่ ที่เป็นผู้ก่อสร้างโรงงานเผาขยะไม่ได้ตั้งอยู่ในชุมชนนั้น ๆ และเงินลงทุนส่วนใหญ่จึงไหลออกจากชุมชน (หรือไหลออกนอกประเทศในกรณีที่เป็นบริษัทต่างชาติ)  ในทางตรงกันข้าม หากนำเงินไปลงทุนในการใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน ซึ่งเป็นทางเลือกอื่น ๆ ในการจัดการกับขยะ เงินเหล่านั้นก็จะยังคงหมุนเวียนอยู่ในชุมชนนั้นและสร้างงาน พร้อมทั้งพัฒนาชุมชนในรูปแบบอื่น ๆ ต่อไป

เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสูญเปล่า

เศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาอาจได้รับผลกระทบ  หากโอกาสในการสร้างงานในท้องถิ่นต้องลดลง ในปี พ.ศ. 2540  รัฐบาลฟิลิปปินส์ดำเนินการพิจารณาข้อเสนอการสร้างโรงงานเผาขยะขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่งในกรุงมะนิลา (และอีก 7 เครื่อง นอกกรุงมะนิลา)  บริษัทโวลันด์จากประเทศเดนมาร์คยื่นข้อเสนอสร้างโรงงานเผาขยะขนาดรองรับขยะได้ 1300 ตันต่อวัน ในบริเวณที่ฝังกลบขยะเดิมที่เรียกว่า สโมคกี้เมาน์เทน เพื่อเผาขยะประเภทพลาสติกซึ่งจะขุดมาจากแหล่งฝังกลบขยะดังกล่าว  ส่วนบริษัทอ็อกเด็น จากประเทศสหรัฐอเมริกา เสนอให้สร้างโรงงานเผาขยะขนาดเผาขยะ 2000 ตันต่อวัน ที่แหล่งฝังกลบขยะที่เรียกว่า คาร์โมนา ซึ่งอยู่ชานกรุงมะนิลา  ในขณะที่บริษัทร่วมทุนสวีเดนเอเซียบราวน์ แอนด์โบเวอรี่(ABB) เสนอให้สร้างโรงงานเผาขยะขนาดรองรับขยะ 4500 ตันต่อวัน  (ซึ่งจะเป็นโรงงานเผาขยะขนาดใหญ่ที่สุดในโลก) ที่แหล่งฝังกลบขยะที่เรียกว่า ชานมาทิโอ

คงเป็นเรื่องน่าหงุดหงิดใจทีเดียวที่จะต้องเห็นเงินจากภาษีของเราจำนวนมหาศาลถูกนำไปใช้จ่ายอย่างสิ้นเปลืองเพื่อการลงทุนนี้  ในขณะที่การพัฒนาโครงการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ และการนำขยะไปทำปุ๋ยหมักในเมืองบารานเกย์ส์ ขาดแคลนงบประมาณและการสนับสนุนจากรัฐบาล ความจริงเหล่านี้มักถูกปิดบังไม่ให้ประชาชนผู้เสียภาษีอากรรับรู้ เพราะโครงการสร้างโรงงานเผาขยะชอบโฆษณาว่าสร้างด้วย “เงินทุนส่วนตัว”  รวมทั้งการโหมประชาสัมพันธ์เรื่อง “โรงไฟฟ้าขยะ” ยิ่งทำให้ประชาชนเข้าใจว่าตนเองคงไม่ต้องเสียเงินทองในเรื่องการสร้างโรงงานเผาขยะแต่อย่างใด ซึ่งอันที่จริงนอกจากเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ได้มาจากการขายพลังงานที่ผลิตได้ เงินลงทุนส่วนใหญ่ (รวมทั้งกำไร) ก็ต้องเรียกคืนกลับมาในรูปของค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม  ซึ่งมาจากกระเป๋าของประชาชนทุกคนนั่นเอง

ประชาชนผู้เสียภาษีอากรมักจะได้ทราบความจริงก็ต่อเมื่อสายเกินไปแล้ว

เพื่อที่จะได้เงินในส่วนที่ลงทุนกลับคืนมา บริษัทผู้สร้างโรงงานเผาขยะมักจะทำสัญญากับคณะกรรมการในชุมชนว่า จะมีการขนส่งขยะไปยังเตาเผาในระยะเวลาที่กำหนด ในการนี้คณะกรรมการฯ จะต้องเซ็นสัญญาที่เรียกว่า “ส่งและจ่าย” (put or pay) ซึ่งจะผูกมัดให้ชุมชนต้องส่งขยะไปเผาในแต่ละเดือน แต่ละปี ในปริมาณที่กำหนดไว้  และหากทำไม่ได้ตามนั้นก็ต้องจ่ายเงินอยู่นั่นเอง

ในสหรัฐอเมริกา การควบคุมเส้นทางการขนส่งถือว่าผิดกฎหมาย ในสหรัฐอเมริกา ศาลฎีกาได้ขัดขวางระบบนี้ด้วยการออกกฎว่า  การควบคุมเส้นทางการขนส่งรถขนขยะถือว่าผิดกฎหมาย  โดยอ้างว่าเป็นการเข้าไปวุ่นวายกับ “กิจการเชิงพาณิชย์ภายในรัฐ” กล่าวสั้น ๆ คือ ปัจจุบันนี้รถขนขยะได้รับอนุญาตให้นำขยะไปที่ไหนก็ได้ที่ต้องการ  ผลก็คือ ในหลายต่อหลายรัฐจะมีรถขนขยะจำนวนมากนำขยะไปทิ้งยังที่ทิ้งขยะที่ห่างไกลที่มีค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มต่ำ 

ตัวอย่างเช่น  ในปี พ.ศ. 2541 ราคาค่ากำจัดขยะในท้องตลาดของรัฐแมสซาชูเสทท์ตกราว 45 เหรียญต่อตัน  ซึ่งนั่นหมายถึงว่า เตาเผาเครื่องอื่น ๆ เช่น โรงงานเผาขยะที่เมืองนอร์ธแอนโดเวอร์ ที่มีค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มอยู่ที่ 95 เหรียญต่อตัน  ต้องประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง  ในรัฐนิวเจอร์ซี นักการเมืองกำลังกระวนกระวายใจว่าจะหาเงินมาชดใช้หนี้จำนวน 1.6 ล้านล้านเหรียญที่เกิดจากการก่อสร้างโรงงานเผาขยะจำนวน 5 แห่งได้อย่างไร  (รัฐนิวเจอร์ซีต้องการสร้างโรงงานเผาขยะทั้งหมด 22 แห่ง)  และนอกจากนี้เตาเผาแต่ละเครื่องก็ไม่ได้รับขยะรวมทั้งรายได้ตามที่คาดการณ์ไว้  ประเด็นที่ถกเถียงกันในตอนนี้ คือใครจะเป็นผู้รับผิดชอบหนี้จำนวนมหาศาลนี้ ชุมชนที่ดำเนินการเตาเผาชุมชนที่ใช้บริการหรือรัฐทั้งรัฐโดยรวม

การเผาขยะคือการสูญเปล่าของพลังงาน

โรงงานไฟฟ้าขยะไม่ใช่พลังงานหมุนเวียน

ผมยอมรับว่าโรงงานเผาขยะสมัยใหม่สามารถนำไปใช้ผลิตน้ำร้อน ไอน้ำและ/หรือกระแสไฟฟ้าได้จริง  ขยะในประเทศอุตสาหกรรมมีปริมาณของกระดาษ และพลาสติกมากพอที่จะนำไปใช้เผาโดยไม่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงอื่น ๆ  แต่เนื่องจากว่า มีชุมชนเพียงไม่กี่แห่งที่จะนำขยะจากที่ทิ้งขยะไปเผาเพื่อผลิตพลังงาน  พลังงานที่ได้จึงเป็นพลังงานสุทธิที่สามารถนำไปใช้ได้เฉพาะในชุมชนนั้นๆ เท่านั้น การทำสัญญาขายไอน้ำให้แก่บริษัทในท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐในระยะยาว  เปรียบเสมือนถูกจับขังคุก  ในบางกรณีมลรัฐหรือรัฐบาลเอง อาจต้องการให้หน่วยงานซื้อพลังงานจากเตาเผา  ในประเทศอังกฤษ รัฐบาลถึงกับเสนอความช่วยเหลือด้านเงินทุนให้กับอุตสาหกรรมการเผาขยะภายใต้โครงการจูงใจในข้อตกลงการใช้เชื้อเพลิงที่ไม่ใช่ฟอสซิล” เพื่อส่งเสริมทางเลือกใหม่ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเดิมเคยใช้แต่เชื้อเพลิงประเภทฟอสซิล

ความจริงกับการประชาสัมพันธ์ 

ในขณะที่มีการประชาสัมพันธ์ว่า การเผาขยะคือการนำขยะมาผลิตพลังงาน ความจริงคือ โรงงานเผาขยะผลิตได้ในปริมาณน้อยมาก  และพลังงานที่ผลิตได้นั้นไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุนไป  ตัวอย่างเช่น โรงงานเผาขนาดรองรับขยะ 1500 ตันต่อวัน  ที่สร้างในเมืองนอร์ธแอนโดเวอร์ (มลรัฐแมสซาชูเสทท์) ใช้เงินลงทุนไป 190 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5,000 ล้านเหรียญ)  โดยรับขยะจากประชาชนประมาณ 5 แสนคน  แต่กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่งไปใช้ตามบ้านเรือนได้เพียง 28,000 หลัง  โรงงานเผาขยะที่มีอยู่ทั้งหมดในญี่ปุ่นจำนวน 193 แห่ง ผลิตพลังงานในปริมาณน้อยกว่าโรงไฟฟ้าฐานเพียง 1 โรงเสียอีก  และหากว่าสหรัฐอเมริกาจะเผาขยะที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศจะผลิตพลังงานได้เพียงร้อยละ 1 ของความต้องการในประเทศเท่านั้น

ขอให้พิจารณาประเด็นง่าย ๆ ต่อไปนี้

โรงงานเผาขยะเป็นโรงไฟฟ้าชนิดเดียวที่ต้องได้เงินเป็นค่าจ้างในการรับเชื้อเพลิงมาเผา ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการผลิตกระแสไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากเชื้อเพลิงจะสกปรกมากขึ้น  และขยะถือเป็นเชื้อเพลิงที่สกปรกที่สุดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ ซึ่งจะต้องมีการนำเงินจำนวนมหาศาลไปใช้ในการควบคุมมลพิษทางอากาศ และการกำจัดเถ้าหากว่าจะดำเนินการอย่างถูกต้องเหมาะสม

โรงงานเผาขยะจะต้องเดินเครื่องต่อไปเป็นเวลาหลายปีกว่าที่จะได้ผลผลิตที่เป็นพลังงานสุทธิ  แต่พลังงานปริมาณมหาศาลจะถูกนำไปใช้ในการก่อสร้าง การเดินเครื่อง  การบำรุงรักษา และการรื้อถอน เมื่อหมดอายุการใช้งาน

ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและเดินเครื่องได้มาจากค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่ชุมชนเป็นผู้จ่ายเมื่อใช้บริการโรงงานเผาขยะ รายได้จากการขายกระแสไฟฟ้ามีอยู่น้อยมาก อาทิเช่น เตาเผาในเมืองพอจจี้บอนซี ประเทศอิตาลี  ซึ่งผมได้ไปเยี่ยมชมมาเมื่อปี พ.ศ.2541 มีรายได้จากค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มมากกว่าที่ได้จากค่าขายกระแสไฟฟ้าถึง 10 เท่า

การรีไซเคิลประหยัดพลังงานมากกว่าการเผา

ข้อโต้แย้งที่ถูกนำมาถกเถียงกันมากที่สุดเกี่ยวกับการส่งเสริมในเรื่องการนำขยะมาผลิตเป็นพลังงานมาจากผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกา  แสดงให้เห็นว่า หากนำขยะซึ่งเป็นวัสดุที่หมุนเวียนกลับมาใช้ แทนที่จะนำไปเผา จะประหยัดพลังงานได้ 3-5 เท่า  เปรียบเทียบกับที่ได้พลังงานจากการเผาขยะ  ผลต่างที่เห็นได้ชัดนี้ เนื่องจากการเผาขยะสามารถดึงเอาปริมาณความร้อนที่มีอยู่ในขยะมาได้เพียงบางส่วนเท่านั้น  และไม่สามารถดึงพลังงานที่เกิดจากการสกัด  การผลิต การประกอบและการสังเคราะห์ทางเคมีซึ่งเกี่ยวข้องกับการผลิตวัสดุต่าง ๆ แต่การนำขยะกลับมาใช้ใหม่และการหมุนเวียนกลับมาใช้ สามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้

ต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างขึ้น

จากมุมมองในระดับประเทศหรือระดับโลก  โรงงานเผาขยะคือ  “การสูญเปล่าของพลังงาน”  หาใช่ “โรงไฟฟ้า” ไม่  แต่น่าเสียดายที่มุมมองเหล่านี้มักจะจางหายไป เมื่อขึ้นไปถึงระดับผู้มีอำนาจตัดสินใจในชุมชน ซึ่งเห็นผลประโยชน์ระยะสั้นของการผลิตพลังงานจากขยะเมื่อ เปรียบเทียบกับการฝังกลบขยะ  วิสัยทัศน์ที่กว้างขึ้นเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อทำให้เล็งเห็นความสูญเปล่าที่เกิดจากการเผาขยะ  แต่ละครั้งที่ชุมชนเผาสิ่งของอะไรก็ตาม  ชุมชนในระดับใหญ่กว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพลังงานที่ใช้ในการผลิต  มีเพียงแต่วิธีการนำขยะกลับมาใช้ใหม่,  การหมุนเวียนกลับมาใหม่  และการนำขยะ ไปทำปุ๋ยหมักเท่านั้นที่ช่วยให้เราลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพลังงานที่ใช้ในการผลิตลง

เสียงต่อต้านจากประชาชน

ในสหรัฐอเมริกา การเผาขยะเป็นวิทยาการที่ไม่เป็นที่นิยมเลย นอกเหนือจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์  นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2528  โรงงานเผาขยะจำนวนกว่า 300 แห่งถูกต่อต้านหรือถูกชะลอโครงการไว้  ในปี พ.ศ. 2528 มลรัฐแคลิฟอร์เนียวางแผนที่จะสร้างโรงงานเผาขยะจำนวน 35 โรง  และมีเพียง 3 โรง เท่านั้น ที่ได้รับการสร้างจริง ๆ ส่วนที่เหลือถูกยกเลิกหมด  ส่วนมลรัฐนิวเจอร์ซีมีแผนการจะสร้างถึง 22 โรง และได้สร้างเพียง 5 โรง  ในปี พ.ศ. 2539  โรงงานเผาขยะแห่งที่ 6 ที่กำหนดจะสร้างในเมอร์เซอร์เคาน์ตี้  ถูกต่อต้านในที่สุดหลังจากพยายามดิ้นรนอยู่หลายปี  และนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2537  จำนวนโรงงานเผาขยะที่ถูกปิดดำเนินการมีมากกว่าที่ดำเนินการอยู่

การพัฒนาเรื่องโรงงานเผาขยะในสหรัฐอเมริกาหยุดนิ่งอยู่กับที่   ในขณะที่เขียนบทความอยู่นี้ (ตุลาคม 2541)  ไม่มีการยื่นข้อเสนอในเรื่องการสร้างโรงงานเผาขยะขนาดใหญ่ปานกลาง (รองรับขยะมากกว่า 40 ตันต่อวัน) ในสหรัฐอเมริกาเลย  ข้อเสนอฉบับล่าสุดที่ได้รับการพิจารณา คือ  ฉบับที่ยื่นโดย บริษัทฟอสเตอร์วีลเลอร์ ในเมืองเพนน์สวิลล์ มลรัฐนิวเจอร์ซี  ไม่เพียงแต่คณะกรรมการชุมชนจะปฏิเสธข้อเสนอนี้เท่านั้น  บริษัทฟอสเตอร์ วีลเลอร์เองได้ประกาศถอนตัวจากธุรกิจเทคโนโลยีเผาขยะ  เนื่องจากแรงต่อต้าน  และเหตุการณ์น่าอดสูเกี่ยวกับเตาเผาชนิดฟลูอิด (Fluidized-bed – เตาเผาแบบใช้ตัวกลางนำความร้อน) ในเมืองรอนฟินส์  รัฐอิลินอยส์  มีบริษัทวิศวกรรมขนาดใหญ่หลายต่อหลายรายในสหรัฐอเมริกาที่ได้ถอนตัวออกจากวงการธุรกิจเทคโนโลยีเผาขยะ  อาทิเช่น  บริษัทคอมบัสชั่น เอนจิเนียริ่ง, บริษัท เบลานท์, บริษัทดราโว,   บริษัท เวสติงเฮาส์,  บริษัทเจเนรัลอิเลคตริค  และบริษัทอิปาสโค  ที่ยังเหลืออยู่ก็คือ 3 บริษัทใหญ่  ได้แก่  บริษัทอ็อกเด็น มาร์ติน, บริษัทวีลาบราเทอร์  และบริษัทอเมริกันรีฟูเอล   ซึ่ง 2 ใน 3 รายนี้  เจ้าของคือ บริษัทที่มีกิจการเกี่ยวกับขยะ  (คือ WMI และ BFI)  ซึ่งสามารถหารายได้ส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจขยะมา ชดเชยกับเงินที่สูญเสียไปในกิจการโรงงานเผาขยะ

การเผาขยะไม่ได้รับความนิยมในหลาย ๆ ประเทศไม่เพียงเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น  อาทิเช่น  ออสเตรเลีย  เบลเยียม  แคนาดา  ฝรั่งเศส  เยอรมนี  อิตาลี  ญี่ปุ่น  เนเธอร์แลนด์  นิวซีแลนด์  โปแลนด์  สเปน  อังกฤษ  และอีกหลายต่อหลายประเทศ  ทั้งในซีกโลกเหนือและใต้  ซึ่งคงไม่มีเวลาพอที่จะกล่าวถึงโดยละเอียด ดังนั้นผมจะขอยกตัวอย่างเพียง 3 ประเทศ คือ

เยอรมนี   แม้ว่า เยอรมนีจะเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถก่อสร้าง  เดินเครื่อง  และควบคุม โรงงานเผาขยะได้ดีกว่าประเทศอื่น ๆ  แต่การคัดค้านไม่ให้มีการสร้างเตาเผาอีกนับแต่ปลายทศวรรษ 80 จนถึงปัจจุบัน ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและรุนแรง  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด  คือ  การรวมตัวกันของประชาชน ที่เรียกว่า “Das Bessere Mulkoncept”  (แนวคิดการจัดการขยะที่ดีกว่า)  ในปี พ.ศ. 2533  สามารถผลักดันให้มีการลงคะแนนลับในเมืองบาวาเรีย  ผลคือทำให้การเผาขยะเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในการจัดการขยะ  ในขณะนั้นเจ้าหน้าที่ของเมืองบาวาเรีย กำลังวางแผนจะสร้างโรงงานเผาขยะอีก 17 โรง  การรวมตัวกันครั้งนั้นสามารถเชิญชวนให้ประชาชนกว่าล้านคนเคลื่อนขบวนเข้าสู่หอประชุมในเมือง  โดยใช้เวลา 12 วัน  เพื่อไปลงชื่อพร้อมลงคะแนนลับ  แม้ว่าผลที่ออกมาจะพ่ายแพ้แต่ก็ถือเป็นชัยชนะอันน่าทึ่ง และเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นว่าการเผาขยะไม่ได้รับความนิยมเลยในรัฐนี้

ฝรั่งเศส พวกเราหลายคนที่เคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมได้เลิกกับฝรั่งเศสไปแล้วในเรื่องการเผาขยะ  คิดดูว่า ประเทศที่โคจรไปได้กว่าครึ่งรอบโลกและยังสามารถนำระเบิดนิวเคลียร์ไปทิ้งลงที่หลังบ้านของใครก็ได้นั้น จะยอมมาพูดคุยเกี่ยวกับจริยธรรมและสิ่งแวดล้อม ?  อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีมานี้  การต่อต้านการเผาขยะเริ่มหยั่งรากลึกลงในประเทศฝรั่งเศส  สมาคมต่อต้านการนำเข้า-ส่งออก  และการเผาขยะแห่งชาติ  ซึ่งมีชุมชนกว่า 100 แห่งเป็นสมาชิก  หยุดการเดินเครื่องของโรงงานเผาขยะได้เป็นจำนวนมาก  และออกข่าวผ่านสื่อมวลชนเกี่ยวกับเรื่องไดออกซินและการปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารมากกว่าประเทศใด ๆ ในโลก

บังคลาเทศ  เมื่อประชาชนในเมืองคุลนา (เมืองท่าของอ่าวเบงกอล)  ได้ยินข่าวว่าบริษัทอเมริกันยื่นข้อเสนอก่อสร้างโรงไฟฟ้าในเมืองของตนต่างก็ตื่นเต้นกันมาก  แต่เมื่อสมาคมกฎหมายสิ่งแวดล้อมแห่งบังคลาเทศ ตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ กลับพบว่าอันที่จริงข้อเสนอนี้คือการสร้างโรงงานเผาขยะขนาดใหญ่  ซึ่งจะรับขยะที่ส่งมาทางเรือจากเมืองนิวยอร์ค  เป็นการยากที่จะหยุดโครงการนี้ได้  อย่างไรก็ตาม แม้ในประเทศที่สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนจะมองเห็นความจริงผ่านการโฆษณา  “การผลิตพลังงานจากขยะ”  หากว่ามีใคร คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและจริงจัง

อันตรายจากการเพิกเฉยต่อความคิดเห็นของสาธารณชน  บ่อยครั้งทีเดียวที่ผู้มีอำนาจมักตัดสินใจสร้างโรงงานเผาขยะ ก่อนที่จะสอบถามความคิดเห็นจากประชาชน ส่วนใหญ่แล้วมักจะมอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษาเป็นผู้พิจารณาทบทวนทางเลือก  และเนื่องจากบริษัทเหล่านี้มักมีประสบการณ์ทางด้านงานวิศวกรรม  จึงมีแนวโน้มอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ที่จะแก้ปัญหาโดยใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน และให้ความเชื่อถือกับองค์กรหรือสถาบันวิชาการ  นอกจากนี้ยังมีการจ้างบริษัทประชาสัมพันธ์มาคิดออกแบบกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อรับมือ “การต่อต้าน”  จากประชาชน  อย่างไรก็ตาม  การกระทำเช่นนี้มักจะนำไปสู่ความล้มเหลว  สิ่งที่ได้ชื่อว่าเป็น “การแก้ปัญหาที่รวดเร็วและได้ผล”  กลายเป็นเชื่องช้า หากว่ามีเสียงต่อต้านจากประชาชน

มองหาทางเลือกให้มากกว่าหนึ่ง  แม้ว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจจะเชื่ออยู่ตลอดเวลาว่าการเผาขยะในเตา เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา  แต่ควรได้รับการแนะนำให้หันไปพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ ด้วย  ซึ่งใช้เงินลงทุนในจำนวนเท่ากัน (ต้องเลือกบริษัทที่ปรึกษาอย่างรอบคอบ) และทำให้ไม่ต้องเดินเข้าหาประชาชนพร้อมกับกล่าวว่า “ยอมรับโรงงานเผาขยะของเราเสีย  ไม่เช่นนั้นจะเจอปัญหา”

แม้แต่ผู้ที่ปักใจเชื่ออย่างจริงจังก็ยังไม่คิดจะก้าวไปพร้อมกับการเผาขยะ  พูดในเชิงการเมือง  ไม่มีเหตุผลเลยที่จะนำเอาทางเลือกที่มีปัญหาที่สุด  ราคาแพงที่สุด  และถูกต่อต้านมากที่สุดมาใช้แทนการฝังกลบขยะ  และจะดูมีเหตุมีผลขึ้น หากนำเอาทางเลือกที่ถูกคัดค้านน้อยที่สุดมาใช้แทน  เช่น  การนำขยะกลับไปใช้ใหม่ การหมุนเวียนใหม่ หรือการนำขยะไปทำปุ๋ย  ซึ่งถ้าในกรณีที่วิธีการเหล่านี้ถูกนำมาใช้ มากเกินไปแล้ว  นั่นแหละจึงควรนำวิธีการเผาขยะมาพิจารณา

“การไม่เผา” เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากกว่า  หากเปรียบเทียบกันการหมุนเวียนกลับมาใช้ และการนำขยะไปทำปุ๋ยหมัก เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมจากสาธารณชนมากกว่า  ในสหรัฐอเมริกาผู้ที่นำขยะหมุนเวียนกลับไปใช้ใหม่มีมากกว่าผู้ที่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง  ทั้ง ๆ ที่มีการพยากรณ์ในเชิงลบจากผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดขยะในช่วงกลางทศวรรษ 80  คนอเมริกันยังคงยืนยันที่จะนำขยะหมุนเวียนกลับมาใช้  ปัจจุบันมีโครงการหมุนเวียนขยะมาใช้ใหม่เกือบ 900 โครงการ  และโครงการการทำปุ๋ยอีกกว่า 300 โครงการ  ที่เมืองซีแอตเทิลซึ่งมีประชากรประมาณ 1 ล้านคน  ลดปริมาณขยะที่แหล่งทิ้งขยะได้เกือบร้อยละ 50  มลรัฐนิวยอร์คทั้งรัฐสามารถลดปริมาณขยะในที่ทิ้งขยะประมาณร้อยละ  45 ในขณะที่ชุมชนบางแห่งทำได้ทะลุเป้าคือมากกว่าร้อยละ 60  ตัวอย่างเช่น  ชุมชนในเขตควินเต้ของ ออนตาริโอ ประเทศแคนาดาทำได้ มากกว่าร้อยละ 70 และชุมชน 2 แห่งใกล้เมืองพาดูรา มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 80 และมากกว่านั้น

ทางเลือกอื่นๆ

การนำเสนอครั้งนี้ใช้เวลามามากแล้ว จนผมคงไม่สามารถแจกแจงรายละเอียดของทางเลือกอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ “การเผาขยะ” ได้มากนัก  จึงใคร่ขอเสนอเพียงประเด็นสำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้

หลุมฝังกลบที่ดูแลโดยชุมชน

เป็นที่แน่ชัดว่า ไม่มีการแก้ปัญหาวิธีใดที่จะกำจัดแหล่งฝังกลบขยะไปได้  อย่างน้อยที่สุด เท่าที่มองเห็นในอนาคตอันใกล้นี้  คำถามคือแหล่งฝังกลบประเภทไหนที่คนในชุมชนยอมรับได้  แหล่งฝังกลบที่นำขยะมาทิ้งโดยไม่ผ่านการบำบัดใดๆ หรือ?  แหล่งฝังกลบที่รองรับทั้งเถ้า ขยะกองโต  รวมทั้งผลพลอยได้ทั้งหลายจากการเผาขยะหรือ?  แหล่งฝังกลบที่มีแต่กากของเสียหลังจากได้มีการคัดแยก, การลดปริมาณขยะ, การนำขยะไปหมุนเวียนใช้ใหม่  การนำขยะกลับไปใช้ใหม่  การแยกวัสดุมีพิษออก และการนำขยะไปทำปุ๋ย แล้วหรือ? 

หากเรียงลำดับในลักษณะเช่นนี้ คนส่วนใหญ่คงเลือกข้อที่ 3  โดยสรุปว่าเนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพของโครงการ  แต่เราสามารถทำแหล่งฝังกลบขยะให้อยู่ในสภาพดีกว่านั้นได้  ถ้าเรายืนกรานว่าจะต้องมีการคัดแยกเสียก่อนว่าจะไม่มีขยะประเภทมีพิษและอนินทรีย์สารถูกฝังไปด้วย  แต่น่าเสียดายที่วิธีการแก้ปัญหา “ที่ต้นเหตุ” นี้  มักจะถูกข้ามขั้นตอนไป  กลายเป็นการแก้ปัญหา “ที่ปลายเหตุ” แทน ซึ่งวิธีการในการฝังกลบขยะนั้นเริ่มตั้งแต่การนำขยะมาวางซ้อน ๆ กันในที่ที่ขุดไว้  การเก็บรวบรวมและการบำบัด การกลบหน้าดินประจำวัน การกลบหน้าดินครั้งสุดท้าย  และการตกแต่งเพื่อความสวยงามและรักษาสภาพแวดล้อม

แต่เนื่องจากเงื่อนไขเศรษฐศาสตร์ วิธีการ “ควบคุมสิ่งที่ออกมา”  จึงดูจะมีแนวโน้มให้เกิดการก่อสร้างที่ฝังกลบขยะขนาดใหญ่ขึ้น ๆ  ซึ่งเกิดเสียงต่อต้านจากชุมชน และจบลงด้วยการตัดสินใจ แบบเผด็จการ  วิธีการ “ควบคุมสิ่งที่จะนำเข้าไป” น่าจะใช้เป็นทางเลือกแทนวิธีเดิม  เพราะผลที่ได้คือ ที่ฝังกลบขยะที่มีขนาดเล็กควบคุมได้และเป็นที่ยอมรับจากชุมชน
ความสำคัญของการนำขยะไปทำปุ๋ย  ในขณะที่คนส่วนใหญ่มักเสนอว่าทางเลือกของการฝังกลบขยะ และการเผา คือการหมุนเวียนกลับมาใหม่

แต่สำหรับผมแล้ว  ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของกลยุทธ หลังจากขั้นตอนสำคัญของการคัดแยกขยะแล้วคือ  “การทำปุ๋ยหมัก”  เนื่องจากว่าขยะที่สร้างปัญหามากที่สุดในที่ฝังกลบขยะก็คือ อินทรีย์สาร (ขยะประเภทที่ย่อยสลายได้โดยจุลินทรีย์)  ที่ปล่อยก๊าซมีเธนออกมา  ก๊าซตัวนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาโลกร้อน เกิดกลิ่นฉุน  และมีกรดเกิดขึ้นซึ่งจะปล่อยสารพิษสู่น้ำผิวดิน  ปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขได้ด้วยการนำขยะไปทำเป็นปุ๋ยหมัก  ซึ่งค่าใช้จ่ายและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำมาก เมื่อเทียบกับการนำขยะไปเผา

การจัดการขยะแบบผสมผสาน

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการขานรับสิ่งที่ผมได้นำเสนอไปวันนี้  จากกลุ่มผู้สนับสนุนการเผาขยะคือคำกล่าวที่ว่า  “พวกเราเห็นด้วยกับคุณที่ว่าจะต้องมีการสนับสนุนให้มีการลดปริมาณขยะ  การนำขยะกลับไปใช้ใหม่  และการหมุนเวียนกลับมาใหม่  (พวกเขามักลืมที่จะรวม “การทำปุ๋ยหมัก” ไปด้วย)  แต่ยังมีขยะบางส่วนหลงเหลืออยู่  น่าจะเป็นการดีที่จะนำขยะเหล่านี้ไปเผาเพื่อผลิตพลังงานแทนที่จะนำไปทิ้งในที่ฝังกลบขยะไม่ใช่หรือ?  ข้อกล่าวอ้างนี้มาในรูปของ “การจัดการกับขยะแบบผสมผสาน”  ซึ่งฟังดูดี แต่ผลที่ได้ไม่ค่อยจะเป็นไปตามที่กล่าวอ้างไว้

ทันทีที่ชุมชนยินยอมให้สร้างโรงงานเผาขยะ  เงินงบประมาณจะถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างเกือบทั้งหมด  โดยเหลือเพื่อหมุนเวียนมาใช้ใหม่  หรือการทำปุ๋ยหมักเพียงเล็กน้อย  ยิ่งไปกว่านั้น  ทันทีที่โรงงานเผาขยะสร้างเสร็จ  มันต้องการขยะที่มีอยู่ทั้งหมด  (ในสหรัฐอเมริกา อาจรวมถึงขยะอื่นๆ นอกเหนือจากขยะที่จัดเก็บโดยเทศบาล)  เพื่อจะนำรายได้ที่เกิดขึ้นมาชดใช้หนี้สินจำนวนมหาศาล ที่กู้มาเพื่อการก่อสร้าง

ที่สำคัญ เมื่อโรงงานเผาขยะสร้างขึ้นมาแล้ว  เราก็ต้องใช้ประโยชน์ให้เต็มที่  ซึ่งเป็น เรื่องที่ไม่ยืดหยุ่นเอาเสียเลย  เพราะทางเลือกอื่น ๆ ถูกมองข้ามไปหมด  แต่ในทางกลับกัน  หากเราสนับสนุนให้มีการนำขยะกลับมาใช้ใหม่  นำขยะหมุนเวียนกลับมาใหม่  หรือนำไปหมักเป็นปุ๋ยโดยดำเนินการ จัดหาแหล่งฝังกลบที่เสียค่าใช้จ่ายสูง  (หรือนำขยะไปทิ้งยังแหล่งฝังกลบไกล ๆ)  จะสามารถลดการใช้โรงงานเผาลงได้ 

ความจริงแล้ว  ผู้มีอำนาจตัดสินใจควรจะผลักดันให้มีการออกแบบโครงการที่ช่วยลดปริมาณขยะ  ส่งเสริมการนำขยะกลับมาใช้ใหม่  นำขยะหมุนเวียนกลับมาใหม่ และนำขยะไปทำเป็นปุ๋ย  ซึ่งหากทำได้ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของชุมชนที่จะต้องนำไปจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม  รวมทั้งมีหนทางแก้ไขที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ

หลักการ 5 ข้อ  นอกเหนือจากที่ต้องจ่ายเงินให้กับบริษัทที่ปรึกษาเป็นจำนวนสูงแล้ว  ขยะยังกลายเป็นธุรกิจที่ยุ่งยากซับซ้อนอีกด้วย  แต่ความจริงแล้ว  หากเราลองมอง “ขยะ”  ที่อยู่ในบ้านของเรา  มันเป็นเพียงอะไรอย่างหนึ่งที่เราใช้เงินซื้อมาเมื่อวานนี้  และไม่ต้องการใช้มันแล้วอีกต่อไปในวันนี้เท่านั้นเอง

ขยะทั้งหลายคือ ของต่าง ๆ เหล่านั้นมารวมกันอยู่  และจัดการได้โดยการคัดแยกซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก  จากการคัดแยกขยะเราจะได้สิ่งของที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่อีกครั้ง  ขยะที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใหม่  ขยะที่นำไปทำเป็นปุ๋ย (ซึ่งทำได้ที่สนามหลังบ้าน) และขยะอันตราย  แต่ในการผลิตโดยเฉพาะช่วงบรรจุหีบห่อ  จะมีวัสดุที่ผสมผสานกันซับซ้อนมากยิ่งขึ้น  ซึ่งแม้จะนำไปคัดแยก อาจก่อให้กิดปัญหาอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม  แทนที่จะปล่อยให้วัสดุที่ผลิตหรือออกแบบมาไม่ดีเหล่านี้ มีส่วนผลักดันให้มีการสร้างโรงงานเผาขยะ สิ่งของ“เหลือใช้”พวกนี้ น่าจะก่อให้เกิดการพัฒนาในการออกแบบที่ดีกว่า  ในความเห็นของผม  หลักการ 5  ข้อที่เราควรนำมาประยุกต์ใช้หรือแก้ไขวิกฤติปัญหาขยะที่เกิดขึ้น  โดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์  คือ 1) หาวิธีแก้ไขที่ง่าย ๆ  2 ) หาวิธีแก้ไขที่ดำเนินการได้ในท้องถิ่น 3) ผสมผสานวิธีแก้ปัญหากับเศรษฐกิจของชุมชน 4) ผสมผสานวิธีแก้ปัญหากับการพัฒนาชุมชน 5) ต้องแน่ใจว่าการแก้ปัญหานี้มีความยั่งยืน

ความยั่งยืน

การใช้ฟอสซิลซึ่งมีราคาถูกเป็นเชื้อเพลิงทำให้มองไม่เห็น “ความไม่ยั่งยืน”

ผมเห็นว่า ชีวาลัยแห่งโลกที่เราอาศัยถูกคุกคามเนื่องจากประเทศอุตสาหกรรมหันมาใช้ระบบการผลิตแบบเชิงเส้น, ในระดับที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมา,  ซึ่งกระทำต่อระบบชีวภาพในลักษณะที่จัดการให้วัสดุหมุนเวียนไปมาในระบบการผลิตแบบเชิงเส้นนี้ไม่เหมาะกับสภาพของโลก  แต่ทว่าความไม่ยั่งยืนนี้ถูกซ่อนเร้นมากว่า  200  ปี โดยการใช้ ฟอสซิล เป็นเชื้อเพลิง  ผลสุดท้ายคือ  ทรัพยากรถูกเปลี่ยนสภาพเป็นขยะในอัตราที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา  แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงระดับโลกยังหาเหตุผลเพื่อรองรับระบบการผลิตเชิงเส้น ซึ่งคิดถึงเงินลงทุนมากกว่ารายได้  โรงงานเผาขยะเป็นสิ่งแสดงให้เห็นความล้มเหลวของระบบการผลิตดังกล่าว

การเผาขยะเป็นโอกาสที่สูญเปล่า

ทุกครั้งที่เราเผาขยะในเตาเผา  หรือนำไปฝังกลบในที่ทิ้งขยะ  เราต้องหาอะไรสักอย่างมาแทนที่  ซึ่งหมายถึงการกลับไปใช้ปัจจัยนำเข้าที่ต้องใช้พลังงานสูง การร่อยหรอของทรัพยากร รวมทั้งมลภาวะของการผลิต  เป็นความจริงที่ว่าการเติบโตของกระบวนการผลิตขั้นแรก เป็นตัวการทำให้อุณหภูมิในโลกสูงขี้น  พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ  การบริโภคเกินจำเป็นนั่นเองที่ก่อให้เกิดวิกฤติปัญหาขยะทั้งในระดับชุมชนและระดับโลก  สิ่งที่เราสามารถทำได้คือ  นำขยะกลับมาใช้ใหม่  นำขยะหมุนเวียนกลับมาใหม่ และลดปริมาณการอุปโภคบริโภคลง  ถุงหรือกระป๋องคือความสัมพันธ์ที่เป็นรูปธรรมระหว่าง บุคคลกับวิกฤติการณ์ระดับโลก ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด

แรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังการบริโภคเกินจำเป็น 

ในระดับประเทศ  การบริโภคเกินจำเป็นจะถูกเติมเชื้อด้วยเศรษฐกิจซึ่งวัดความสำเร็จบนเวทีเศรษฐกิจโลกที่อัตราความเจริญเติบโตของผลผลิตมวลรวมของประเทศ  ซึ่งไม่ใช่ความอยู่ดีกินดีของคนทั้งประเทศหรือคุณภาพของสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด โดยภาพรวมแล้ว  เรามักถูกล่อลวงให้ติดอยู่ในโยงใยของความต้องการแบบผิด ๆ ที่ถักถอด้วยคำโฆษณา  และถูกปลูกฝังความคิดด้วยสิ่งเย้ายวนที่เรียกว่า โทรทัศน์

ต่อสู้กับแนวคิดที่ครอบงำสังคมส่วนใหญ่ 

หลักปรัชญาตะวันตก (หลังสงครามอเมริกา)  ที่ว่า “ยิ่งบริโภคมากเท่าใด ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น” เป็นการคุกคามกฎธรรมชาติของโลก  ในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธ์หนึ่ง วาระของเรากำลังจะมาถึง  การล้างบาปของเราขึ้นอยู่กับกลุ่มคนที่มีความสุขได้มากขึ้น ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเองบริโภคน้อยลง  ดังเช่นที่คานธีเคยกล่าวไว้ว่า  “โลกมีทุกสิ่งทุกอย่างเพียงพอสำหรับความต้องการของเราทุกคน  แต่ไม่พอสำหรับความตะกละของคนคนเดียว”

การก่อร่างสร้างชุมชน 

เราจำเป็นต้องหาพลังความแข็งแกร่งเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และชุมชนให้เป็นศูนย์กลางของชีวิต แทนที่จะปล่อยให้โทรทัศน์เข้ามามีอิทธิพลอย่างที่เป็นอยู่  โดยให้การศึกษาประชาชนทุกคนเกี่ยวกับการลดปริมาณขยะ  การหมุนเวียนกลับมาใหม่  และการทำปุ๋ยหมัก  แม้ว่าวิธีการเหล่านี้จะใช้แก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด  แต่เป็นการเริ่มต้นที่ดี  ในทางกลับกัน  โรงงานเผาขยะทุกแห่งเป็นตัวการชะลอการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ล่าช้าออกไป  และใช้เวลาไปอย่างสูญเปล่า แทนที่จะชักนำ ให้ชุมชนและเผ่าพันธ์ของมนุษย์ก้าวเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง  เพื่อต่อสู้กับการบริโภคเกินจำเป็น และหาทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก

บทสรุป

จากที่ได้นำเสนอมาทั้งหมด ผมพยายามชี้ให้เห็นเหตุผลหลายอย่างที่สนับสนุนความคิดที่ว่า การเผาขยะไม่ใช่วิธีการจัดการกับขยะที่เหมาะสมในศตวรรษที่  21 

ความตื่นตระหนกของประชาชนเกี่ยวกับมลพิษและกากของเสีย รวมทั้งเงินจำนวนมหาศาลที่ต้องนำไปใช้ในการลงทุน  สิ่งเหล่านี้ทำให้การก่อสร้างโรงงานเผาขยะลดน้อยลงทั้งในประเทศทางตอนเหนือและตอนใต้ หากมีใครสักคนไม่หลงไปกับถ้อยคำที่ดึงดูดใจแต่ไม่ถูกต้องที่ว่า “โรงไฟฟ้าขยะ”  เขาจะเห็นได้ว่าโรงงานเผาขยะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาสำหรับอนาคตซึ่งเรื่องของความยั่งยืนจะเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่รอด

ในทัศนะของผม  เมื่อคุณสร้างโรงงานเผาขยะขึ้น คุณกำลังประกาศให้โลกรู้ว่าคุณไม่สู้จะฉลาดนักทั้งทางด้านการเมืองและเทคนิคในการนำทรัพยากรกลับคืนมาด้วยพฤติกรรมที่ไม่รับผิดชอบต่อชุมชนและเยาวชนรุ่นหลัง