
ในขณะที่ระดับมลพิษทางอากาศทั่วประเทศจีนลดลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การแพร่กระจายของมลพิษทางอากาศยังคงทำให้ท้องฟ้ามืดลงเป็นประจำในบางพื้นที่
เครื่องมือ MODIS บนดาวเทียม Terra ของ NASA บันทึกภาพสีธรรมชาติของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2565 หมอกควันสีเทาจาง ๆ ปกคลุมเหนือหุบเขาและพื้นที่ลุ่มต่ำอื่น ๆ เขตเมือง พื้นที่เพาะปลูก ทะเลสาบและลักษณะทางพื้นที่อื่นๆ ซึ่งปกติจะมองเห็นได้ชัดเจนกว่านี้ บริเวณสว่างที่ด้านซ้ายล่างของภาพคือเมฆ
ในวันที่บันทึกภาพ เครื่องมือวัดคุณภาพอากาศภาคพื้นดินหลายแห่งในรายงานระดับฝุ่น PM2.5 ในระดับที่ส่งผลต่อสุขภาพและเป็นอันตราย ตามข้อมูลที่เผยแพร่โดยโครงการคุณภาพอากาศโลก หมายความว่า ระดับ PM2.5 นั้นสูงกว่าขีดจำกัดที่แนะนำขององค์การอนามัยโลกโดยเฉลี่ย 15 ไมโครกรัมในหนึ่งวัน
การกระจายตัวของฝุ่นและละอองลอยเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูหนาวเนื่องจากอุณหภูมิผกผัน โดยปกติอากาศจะเย็นลงตามระดับความสูง แต่ในระหว่างการผกผัน อากาศอุ่นจะลอยเหนือชั้นอากาศเย็นใกล้พื้นผิว อากาศอุ่นทำหน้าที่เหมือนฝาปิดและดักจับมลพิษใกล้พื้นผิวโดยเฉพาะที่ราบและหุบเขา แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศทั่วไปในฤดูหนาว ได้แก่ การเผาไหม้ถ่านหินและไม้ฟืนเพื่อให้ความร้อน กิจการทางอุตสาหกรรม และยานพาหนะ ควันจากไฟและพายุฝุ่นยังส่งผลต่อคุณภาพอากาศที่ไม่ดีอีกด้วย
องค์ประกอบที่น่าจะเป็นไปได้ของฝุ่นและละอองลอยในภาพถ่ายดาวเทียมด้านบนนี้คืออนุภาคไนเตรต จากการวิเคราะห์ล่าสุดที่นำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระดับของไนเตรตยังคงสูงอย่างยาวนานในจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่าการควบคุมการปล่อยมลพิษจะลดความเข้มข้นของอนุภาคประเภทอื่นๆ ที่มีส่วนทำให้เกิด PM2.5 ลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะนี้ ไนเตรตเป็นองค์ประกอบหลักของมลพิษทางอากาศในฤดูหนาวของปักกิ่ง ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดมวล PM2.5 ราว 30-40 เปอร์เซ็นต์ มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมไนเตรทถึงไม่ลดลง
ภาพจาก NASA Earth Observatory โดย Lauren Dauphin โดยใช้ข้อมูล MODIS จาก NASA EOSDIS LANCE และ GIBS/Worldview เรื่องโดย อดัม วอยแลนด์
ที่มา : https://earthobservatory.nasa.gov/images/149291/a-winter-haze-over-china