ในคืนวันที่ 25 มกราคม 2565 ท่อน้ำมันดิบใต้ทะเลบริเวณอ่าวมาบตาพุด จ.ระยอง เกิดการรั่วไหล บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเลหรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลของบริษัทสตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร ส่งผลให้มีคราบน้ำมันกระจายกลางอ่าวไทย
ในแถลงการณ์ฉบับที่ 4 SPRC ระบุว่า “บริษัทฯได้ทำการคำนวณแรงดัน (Pressure Balance) พบว่า มีปริมาณน้ำมันดิบรั่วไหลอยู่ท่ีประมาณ 20 – 50 ตัน SPRC ได้ทำการฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมันโดยทางเรือและเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเรือภาคท่ี 1 หลังจากนั้นได้ทำการบินสำรวจพบว่า ขณะน้ี SPRC สามารถควบคุมปริมาณคราบน้ำมันให้อยู่ในวงจำกัดและยังคงมีปริมาณน้ำมันอยู่ในทะเลประมาณ 5.3 ตัน (5,300 ลิตร)

นอกจากการแถลงการณ์ของ SPRC การให้ข้อมูลสาธารณะของรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมในเรื่องปริมาณน้ำมันรั่วของ SPRC ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน
ในบทความนี้ นำเสนอแนวทางการระบุปริมาตรของคราบน้ำมันจากประสบการณ์ 20 ปีในการใช้เทคโนโลยีและภาพถ่ายจากดาวเทียมติดตามตรวจสอบรายงานเพื่อรับมือกับหายนะน้ำมันรั่วของ Sky Truth
การคำนวนปริมาตร
ปริมาณ(quantity)หมายถึง จำนวนที่ไม่ได้เจาะจงว่าเท่าไรแน่นอน เช่น ปริมาณคน ปริมาณข้าวที่ขาย ส่วนปริมาตร(volume)หมายถึง ขนาดของสิ่งใดๆ ซึ่งมีรูปทรง 3 มิติ มีความจุเป็นหน่วยลูกบากศ์
คราบน้ำมันในทะเลเปิดมักจะเป็นชั้นน้ำมันบางๆ ที่ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่หลายตารางกิโลเมตร ดังนั้น ในการคำนวณปริมาตรของคราบน้ำมัน เราจำเป็นต้องวัดหรือประเมินพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยคราบน้ำมัน จากนั้นจึงประมาณความหนาเฉลี่ยของพื้นที่นั้น จากนั้นเราคูณพื้นที่ด้วยความหนาเพื่อให้ได้ปริมาตร

การประมาณพื้นที่ผิวที่ปกคลุมด้วยคราบน้ำมัน
การวัดพื้นที่เป็นกระบวนการที่ค่อนข้างตรงไปตรงมาและแม่นยำด้วยภาพถ่ายดาวเทียม เราเพียงแค่ลากเส้นรอบขอบที่มองเห็นได้ของพื้นผิว แล้วคำนวณพื้นที่ภายในขอบเขตนั้น สำหรับรายงานการรั่วไหลของน้ำมันที่เราไม่มีภาพถ่ายดาวเทียม เราใช้ความยาวและความกว้างที่รายงานของคราบน้ำมันเพื่อคำนวณพื้นที่วงรอบที่มีคราบน้ำมัน

การประมาณความหนา
อย่างไรก็ตาม การประมาณความหนาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง วิธีหนึ่งในการประมาณความหนาของคราบน้ำมันคือการสังเกตจาก “สี” และกำหนดความหนาตามหลักเกณฑ์กำหนดช่วงความหนาตามสีของคราบน้ำมัน (เช่น “Rainbow sheen”) ตารางและแนวทางปฏิบัติสำหรับการประเมินปริมาณการรั่วไหลของน้ำมันด้วยสายตาที่เผยแพร่โดย National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) แต่เมื่อใช้ภาพถ่ายดาวเทียมโดยเฉพาะภาพเรดาร์ (SAR) เราไม่สามารถสังเกตลักษณะสเปกตรัมที่สร้างสีที่เด่นชัดของคราบน้ำมันได้ ดังนั้น เราจึงใช้วิธีนี้ไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ เราใช้หลักการง่ายๆ ในการประมาณค่าความหนาเฉลี่ยต่ำสุดที่ทำให้คราบน้ำมันกระจายในทะเลมองเห็นได้บนภาพถ่ายดาวเทียมอย่างสมเหตุสมผล
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาและการตัดสินของผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ SkyTruth ได้กำหนดหลักเกณฑ์ง่ายๆ ในการประมาณความหนาของคราบน้ำมันที่มองเห็นได้ในภาพเรดาร์ SAR โดยเฉลี่ยอย่างน้อย 1µm (หนึ่งไมครอน) ความหนาที่แท้จริงจะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ทั้งหมด เนื่องจากบางส่วนของคราบน้ำมันอาจหนากว่าค่าเฉลี่ย และส่วนอื่นๆ จะบางกว่า
ดังนั้น เมื่อเราคำนวณพื้นที่ของคราบน้ำมันที่มองเห็นได้ในภาพเรดาร์ SAR ได้แล้ว และใช้ความหนาเฉลี่ยของน้ำมันทั่วบริเวณนั้นอย่างน้อย 1µm เราสามารถคำนวณปริมาตรขั้นต่ำของคราบน้ำมันที่ลอยบนผิวน้ำทะเลได้
คราบน้ำมันที่ปกคลุมพื้นผิวทะเล 1 ตารางกิโลเมตร เมื่อคูณด้วยความหนา 1 ไมครอน จะเท่ากับปริมาตรของคราบน้ำมัน 1 ลูกบาศก์เมตร (1 ลูกบาศก์เมตร = 1,000 ลิตร = 264.17 แกลลอน) การหาพื้นที่ด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียม Terra SAR-X วันที่ 27 มกราคม เวลา 18.23 น. พบว่าคราบน้ำมันปกคลุมผิวทะเลคิดเป็นพื้นที่ 47 ตารางกิโลเมตร เมื่อคำนวณหาปริมาตร จะมีคราบน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำอย่างน้อยที่สุด 47,000 ลิตร ซึ่งเป็นตัวเลขที่แตกต่างจากการแถลงของบริษัท SPRC ที่ระบุว่า “ยังคงมีปริมาณน้ำมันอยู่ในทะเลประมาณ 5.3 ตัน (5,300 ลิตร)”
ยังไม่นับว่า คราบน้ำมันที่ถูกขจัดด้วยสารเคมี dispersant ที่จมลงสู่ท้องทะเลไปก่อนหน้านี้แล้ว

การคำนวณหาปริมาตรของคราบน้ำมันบนผิวทะเลดังกล่าวข้างต้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมของสาธารณชนในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์พลเมือง (Citizen Science)
มีการนำเอาวิทยาศาสตร์พลเมืองมาใช้มากขึ้นในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เมื่อเทคโนโลยีเปิดโอกาสใหม่ๆ และผู้คนจำนวนมากสามารถร่วมมือกันข้ามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และเข้ามาร่วมในโครงการที่อาจเป็นอุปสรรคในอดีต วิทยาศาสตร์พลเมืองมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่การตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมระดับเล็กไปจนถึงความพยายามในการจำแนกประเภทที่ต้องระดมผู้คนจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ห้องปฏิบัติการ NOAA National Severe Storms Laboratory ได้พัฒนาแอพสมาร์ทโฟน mPING เพื่อให้ทุกคนในสหรัฐอเมริกาสามารถยื่นรายงานสภาพอากาศแบบ Hyper-local ซึ่งจะช่วยให้ NOAA National Weather Service ปรับแต่งการพยากรณ์อากาศเพิ่มเติมได้
ที่มา :
https://response.restoration.noaa.gov/about/media/noaa-partners-university-washington-examine-how-citizen-science-can-help-support-oil-spi
https://skytruth.org/oil-spill-reports/oil-spill-reporting-resources/how-we-determine-oil-spill-volume/