นักวิเคราะห์กล่าวว่าปูตินต้องการสร้างจักรวรรดิรัสเซียและยูเครนเป็นส่วนสำคัญของแผนการ
แปลเรียบเรียงจาก Abhijit Majumder February 20, 2022 ใน https://www.firstpost.com/world/why-does-russia-want-ukraine-so-badly-heres-what-a-geography-book-tells-us-10391451.html

เราอาจกล่าวโทษความทะเยอทะยานที่น่าอับอายของวลาดิมีร์ ปูติน ต่อการเข้าโจมตียูเครน แต่เหตุผลที่แท้จริงอาจฟังดูหนักแน่นและน่าสนใจกว่านั้น คือ ภูมิศาสตร์
หนังสือ Prisoners of Geography ของ Tim Marshall ซึ่งตีพิมพ์จำหน่ายในปี 2559 นำเสนอมุมมองที่สดใหม่ว่าด้วยภูมิรัฐศาสตร์ โดยอธิบายว่า แม่น้ำ ทะเล ภูเขา ธารน้ำแข็ง ป่าไม้และที่ราบ กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัสเซีย จีน สหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรปตะวันตก แอฟริกา ตะวันออกกลาง เกาหลี ญี่ปุ่น และลาตินอเมริกา อย่างไร
นอกจากนี้ ยังอธิบายถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ของอินเดียและปากีสถาน — ส่วนโค้งที่เป็นน้ำของมหาสมุทรอินเดีย ทะเลอาหรับ และอ่าวเบงกอล เทือกเขาฮินดูกุชทางตะวันตกเฉียงเหนือและเทือกเขาหิมาลัยทางตอนเหนือ ที่ราบสูงของทะเลทรายบาลูจิสถาน พรมแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือ ภูเขาและเทือกเขาคาราโครัมซึ่งเชื่อมต่อเทือกเขาหิมาลัย – คือลานนองเลือดของความขัดแย้งอันน่าสลดใจ
สิ่งที่รับรู้กันทั่วไป (ซึ่งมีความจริงอยู่บ้าง) ในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายระหว่างประเทศ คือ ปูตินต้องการเป็นผู้ที่นำยูเครนกลับคืนสู่อ้อมแขนของรัสเซีย เขามอบอำนาจให้ตัวเองอีก 14 ปี ที่จะทำเช่นนั้น
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ปูตินต้องการสร้างจักรวรรดิรัสเซีย ยูเครนเป็นส่วนสำคัญของแผนของเขา ในการปราศรัยปี 2558 ปูตินเรียกยูเครนว่าเป็น “มงกุฎเพชรของรัสเซีย” สร้างความตื่นตระหนกให้กับองค์กรต่างๆในโลกตะวันตก หนึ่งปีหลังจากที่รัสเซียผนวกไครเมียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน
ในปี พ.ศ. 2564 ปูตินเขียนสิ่งที่ปลุกเร้าใจ
“ในขณะที่การแบ่งแยกที่ก่อตัวขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาระหว่างรัสเซียและยูเครน ระหว่างพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และจิตวิญญาณที่เหมือนกัน ในความคิดของผมคือความโชคร้ายและโศกนาฏกรรมของเรา นี่คือผลของความพยายามโดยเจตนาของกองกำลังเหล่านั้น(ประเทศตะวันตก)ที่พยายามบ่อนทำลายความสามัคคีของเรามาโดยตลอด”
ปูตินเขียนว่า ”ชาวรัสเซีย ชาวยูเครนและชาวเบลารุส ล้วนสืบสายมาจาก Ancient Rus ซึ่งเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ชนเผ่า Slavic และชนเผ่าอื่นๆ ทั่วดินแดนอันกว้างใหญ่ ทั้ง Ladoga, Novgorod และ Pskov ไปถึง Kiev และ Chernigov – โยงใยด้วยภาษาเดียวกัน (ซึ่งตอนนี้เราเรียกว่ารัสเซียเก่า) ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของเจ้าชายแห่งราชวงศ์ Rurik และ – หลังจากการล้างบาปของ Rus – ศรัทธาแห่งวิถี Orthodox ทางเลือกด้านจิตวิญญาณที่สร้างโดย St Vladimir ซึ่งเป็นทั้งเจ้าชายแห่ง Novgorod และ Grand Prince ของเคียฟ ยังคงกำหนดความสัมพันธ์ของเราในวันนี้เป็นส่วนใหญ่ บัลลังก์ของเคียฟดำรงตำแหน่งที่โดดเด่นใน Ancient Rus นี่เป็นประเพณีตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 9 เรื่องราวที่สะท้อนในคำพูดของ Oleg the Prophet ว่าด้วย Kiev – ให้เป็นมารดาแห่งเมืองทุกเมืองในรัสเซีย”
แต่ความหลังว่าด้วยอารยธรรมอดีต หรือแนวคิดจักรวรรดินิยม ไม่อาจอธิบายได้ครบถ้วนว่าทำไมรัสเซียต้องบุกยูเครน เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายและแบ่งออกเป็น 15 ประเทศ อันเนื่องมาจากปัจจัยทางการเมืองที่ยืดเยื้อเรื้อรัง ความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจ และความพ่ายแพ้ในอัฟกานิสถาน สหภาพโซเวียตแตกออกเป็นส่วนๆ และส่วนของรัสเซียที่เหลืออยู่นั้นมีความอ่อนไหวเปราะทางในทางภูมิศาสตร์
Tim Marshall เขียนในหนังสือ Prisoners of Geography ว่า “ความฝันของมอสโกที่จะมีควบคุมเส้นทางเดินเรือในทะเลเปิดเขตร้อนได้หายไปตั้งแต่นั้นมา และอาจจะไกลกว่าที่เคยเป็นมา 200 ปีแล้ว การขาดท่าเรือที่เข้าถึงมหาสมุทรเขตร้อนโดยตรงมักเป็นจุดอ่อนของรัสเซียเสมอมา ภูมิศาสตร์ได้โต้กลับต่ออุดมการณ์ของโซเวียต”
ตราบใดที่มีรัฐบาลซึ่งสนับสนุนรัสเซียในเคียฟ รัสเซียก็มั่นใจว่ามีเขตกันชนอยู่และปกป้องที่ราบยุโรปเหนือ หรือแม้แต่ยูเครนที่เป็นวางตัวเป็นกลางจากสหภาพยุโรปหรือ NATO การครอบครองท่าเรือที่เซวาสโทพอลในแหลมไครเมียก็ยังไม่เป็นปัญหา การพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียของยูเครนนั้นไม่เป็นอันตราย
แต่ยูเครนที่สนับสนุนกลุ่มประเทศตะวันตกโดยมีความทะเยอทะยานที่จะเข้าร่วมกันพันธมิตรตะวันตกที่ยิ่งใหญ่ทั้งสองซึ่งคือสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา นั้นเป็นคำถามใหญ่ของการเข้าถึงท่าเรือในเขตทะเลดำของรัสเซียรัสเซียไม่สามารถยอมได้หากวันใดวันหนึ่งยูเครนกลายเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือ NATO
Sevastopol เป็นท่าเรือในเขตอบอุ่นที่สำคัญเพียงแห่งเดียวของรัสเซีย แต่การเข้าถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจากทะเลดำ ไม่อาจทำได้ภายใต้อนุสัญญามองเทรอซ์ปี 2479 ซึ่งทำให้ตุรกี หนึ่งในสมาชิก NATO สามารถควบคุมช่องแคบ Bosporus ในห้วงแห่งความขัดแย้ง
นอกเหนือจากช่องแคบ Bosporus แล้ว ทะเลอีเจียน ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และช่องแคบยิบรอลตาร์ ก็กีดกันการเคลื่อนไหวของรัสเซียในการเข้าถึงมหาสมุทรแอตแลนติกหรือเส้นทางสู่มหาสมุทรอินเดียผ่านคลองสุเอซ การเกิดขึ้นกองทัพเรือรัสเซียใน Tartus ของซีเรียเป็นยุทธศาสตร์แต่มีข้อจำกัด
ในกรณีเกิดสงคราม กองทัพเรือรัสเซียไม่สามารถออกไปยังทะเลบอลติก เนื่องจาก NATO ควบคุมช่องแคบ Skagerrak ซึ่งเชื่อมต่อกับช่องแคบทางเหนือ แม้รัสเซียจะผ่าน Skagerrak ออกไปได้ กลุ่ม GIUK Gap (กรีนแลนด์ ไอซ์แลนด์ สหราชอาณาจักร) ในทะเลเหนือ ก็สามารถขัดขวางการรุกคืบของรัสเซียออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติก
เห็นได้ชัดเจนว่า ภูมิศาสตร์นั้นไม่เคยปราณีต่อรัฐชาติและอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ รัสเซียจะหาทางพ้นไปจาก “พันธนาการแห่งภูมิศาสตร์” จะโดยการทำสงครามหรืออื่นๆ หรือไม่นั้น ประวัติศาสตร์จะบอกเรา