
มีประกาศข้อตกลงหลายฉบับที่ COP26 ซึ่งมุ่งแก้ปัญหาการทำลายป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปฏิญญาว่าด้วยป่าไม้และการใช้ที่ดิน มี 105 ประเทศภาคี ร่วมลงนามในปฏิญญาดังกล่าว ซึ่งเน้นถึงการอนุรักษ์ป่าไม้และสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง สื่อมวลชนทั่วโลกยกย่องว่าปฏิญญานี้คือ “ผลลัพธ์ที่สำคัญ” ของ COP26 และเป็นขั้นตอนหลักเพื่อหยุดยั้งการทำลายป่าไม้และฟื้นฟูผืนป่าภายในปี 2573
เรามาดูจุดเด่น ข้อด้อย และช่องว่างในปฏิญญาว่าด้วยป่าไม้และการใช้ที่ดินซึ่งเกี่ยวโยงกับเกษตรกรรมและการปล่อยก๊าซมีเทน
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การทำลายป่าไม้จะไม่ยุติลง หากเราไม่ตัดวงจรของห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมเชิงอุตสาหกรรม
ปฏิญญาว่าด้วยป่าไม้และการใช้ที่ดินที่ COP26 ไม่ช่วยหยุดการทำลายป่าในอีก 10 ปีข้างหน้า
ประเทศหลัก เช่น บราซิลและรัสเซีย ซึ่งไม่ได้ร่วมปฏิญญาด้านป่าไม้ในปี 2557 ได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยป่าไม้และการใช้ที่ดินใน COP26 ปฏิญญานี้รวมถึงการสนับสนุนเงินทุนราว 14 พันล้านปอนด์ และเงินทุนอีก 1.1 พันล้านปอนด์เพื่อปกป้องลุ่มน้ำคองโกที่เป็นผืนป่าฝนเขตร้อนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
ปฏิญญาว่าด้วยป่าไม้และการใช้ที่ดินยังอ้างถึงชนเผ่าพื้นเมืองว่ามีความสำคัญในการปกป้องป่าไม้ แต่เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองก็กังวลอย่างมากว่าพวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
แต่เหตุผลชัดเจนที่ประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโร(Jair Bolsonaro) ของบราซิลรู้สึกดีที่จะลงนามในปฏิญญาใหม่นี้ คือ การเปิดช่องให้มีการทำลายป่าไม้ต่อไปอีกหนึ่งทศวรรษ ปฏิญญาว่าด้วยป่าไม้และการใช้ที่ดินไม่มีภาระผูกพันทางกฎหมาย และไม่ได้ระบุสาเหตุหลักของการทำลายป่าที่เฉพาะเจาะจงลงไป นั่นคือ การผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมเพื่ออุตสาหกรรม
ผืนป่าแอมะซอนใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดแล้ว และไม่อาจอยู่รอดจากการทำลายต่อไปได้อีก เกือบ 20% ของผืนป่าถูกทำลายไปแล้ว พื้นที่ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อสมดุลสภาพภูมิอากาศโลกมาถึงจุดผลิกผันที่อันตราย
Sônia Guajajara ผู้ประสานงานฝ่ายบริหารของกลุ่ม Articulation of Indigenous Peoples of Brazil (APIB) กล่าวว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่ามี “ความรับผิดชอบทางศีลธรรม อิทธิพล และทรัพยากรทางเศรษฐกิจ” เพื่อตัดซัพพลายเออร์ที่มีส่วนในการทำลายผืนป่าแอมะซอนในวันนี้ ไม่ใช่อีก 10 ปี ไม่ใช่ในปี 2025”
โดยสรุป ในขณะที่ข้อตกลงนี้มีผู้สนับสนุนรายใหญ่อยู่เบื้องหลัง แต่ชนเผ่าพื้นเมืองกลับถูกละทิ้ง และอาจสายเกินไปสำหรับปฏิญญาที่ไร้จุดหมายและไม่สามารถบังคับใช้ได้
ปฏิญญาว่าด้วยป่าไม้และการใช้ที่ดินไม่ได้กล่าวถึงสิ่งที่จำเป็นจริงๆ เพื่อยุติการทำลายป่า นั่นคือ ลดการผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรม
ข้อตกลงนี้ไม่ได้กล่าวถึงหนึ่งในรากเหง้าของการทำลายป่า นั่นคือ การผลิตและบริโภคเนื้อสัตว์แบบอุตสาหกรรม
ระบบอาหารและห่วงโซ่อุปทานอาหารนั้นเชื่อมโยงกันทั่วโลก ผืนป่าในบราซิลถูกทำลาย – บ่อยครั้งด้วยไฟ – เพื่อการปศุสัตว์และปลูกถั่วเหลืองเพื่อเป็นอาหารหมูและไก่
หากไม่มีการหยุดยั้งการขยายตัวของอุตสาหกรรมเกษตรในพื้นที่ต่างๆ เช่น บราซิล เป็นต้น สิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองจะยังคงถูกคุกคามและธรรมชาติจะถูกทำลายต่อไป
ผืนป่าต้องการสิ่งที่ตรงกันข้าม นั่นคือ โอกาสในการฟื้นฟูอย่างแท้จริง การฟื้นตัวของระบบนิเวศป่าไม้จะช่วยโลกต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ
สังคมมนุษย์ต้องเริ่มพิจารณาถึงระบบอาหารที่มีพืชเป็นหลัก และลดการบริโภคเนื้อสัตว์แบบอุตสาหกรรม – การกินอาหารที่มีพืชเป็นหลักมากขึ้นต้องการพื้นที่เพราะปลูกน้อยลง
แต่การส่งเสริมระบบการผลิตอาหารแบบอุตสาหกรรมที่สร้างผลกำไร ให้กับชนชั้นปกครองของบราซิล คือความสำคัญอันดับต้นของประธานาธิบดีโบลโซนาโร โดยไม่แยแสว่าจะเกิดผลกระทบต่อชนเผ่าพื้นเมืองหรือแม้แต่สรรพชีวิตบนโลก
ปฏิญญาที่อ่อนแอเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มั่งคั่งที่สุดและมีอำนาจมากที่สุดในบราซิลเท่านั้น นักล็อบบี้อุตสาหกรรมเกษตรฝังลึกอยู่ในองคาพยพของรัฐบาล ในขณะที่กว่า 60% ของชาวบราซิลเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร
รอยร้าวแรกในปฏิญญา : สหราชอาณาจักรผลักภาระให้ผู้บริโภค อินโดนีเซียขอการปฏิบัติพิเศษ และบราซิลถอยหลังเข้าคลอง
ไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจากประกาศปฏิญญาว่าด้วยป่าไม้และการใช้ที่ดิน บอริส จอห์นสันนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรเป็นคนแรกที่พยายามขัดขวาง เมื่อถูกถาม เขากล่าวว่า ผู้บริโภคจะเป็นกุญแจสำคัญทำให้บริษัทอุตสาหกรรมและสถาบันการเงินมีภาระรับผิดต่อการทำลายป่า แม้ว่ารัฐบาลต่างๆ จะไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้
การผลักภาระรับผิดจากรัฐบาลและบรรษัทไปให้ผู้บริโภคอย่างโจ่งแจ้งนี้สะท้อนความไร้น้ำยาของผู้นำประเทศ และเป็นอันตรายอย่างยิ่งในเวลาที่เลวร้ายที่สุด รัฐบาลและบริษัทอุตสาหกรรมต่างๆ จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาอย่างจริงจัง – การผลักภาระไปที่ผู้บริโภคนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
ต่อไปคือ Siti Nurbaya Bakar รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ของอินโดนีเซีย ซึ่งโพสต์ลงบนโซเชียลมีเดียว่า “การบังคับให้อินโดนีเซียยุติการทำลายป่าเหลือศูนย์ในปี 2030 เห็นได้ชัดว่าไม่เหมาะสมและไม่ยุติธรรม”
วุฒิสมาชิกของบราซิลก่อกวนปฏิญญาอีกครั้ง เมื่อแถลงข่าวโดยเสนอแนะว่า บราซิลจะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาการทำลายป่าอย่างผิดกฎหมายเท่านั้น ในความเป็นจริง การแยกความแตกต่างระหว่างการทำลายป่าอย่างผิดกฎหมายและผิดกฎหมายในบราซิลทำได้ยากมาก ตอนนี้ รัฐบาลโบลโซนาโรกำลังผลักดันให้มีกฎหมายที่เอื้อต่อการทำลายป่า ‘ถูกกฎหมาย’ มากขึ้น ลดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และคุกคามสิทธิในที่ดินของชนเผ่าพื้นเมือง
นอกเหนือจากการถอยออกจากปฏิญญาว่าด้วยป่าไม้และการใช้ที่ดินแล้ว บราซิลเปิดเผยข้อมูลหลังจากการประชุม COP26 จบลงไม่กี่วัน ระบุว่า การทำลายผืนป่าในแอมะซอนเพิ่มสูงสุดในรอบกว่า 15 ปี แท้ที่จริง ตัวเลขดังกล่าวที่เสนอโดยรัฐบาลบราซิลระบุวันที่ 27 ตุลาคม 2564 ซึ่งหมายถึงว่า รัฐบาลบราซิลตั้งใจปิดข้อมูลจนกว่าจะสิ้นสุดการประชุม COP26
ความกลับกลอกของรัฐบาลและบริษัทอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้พวกเราตกที่นั่งลำบาก – เราต้องการความรับผิดชอบและการลงมือทำตามคำมั่นสัญญาเหล่านี้เพื่อนำเราออกจากวิกฤต
จะมีอะไรดีๆ ออกมาจากปฏิญญาว่าด้วยป่าไม้และการใช้ที่ดินหรือไม่
คำตอบสั้น ๆ คือ มีเรื่องต้องทำอีกมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือ (Global North) ปฏิญญาว่าด้วยป่าไม้และการใช้ที่ดิน ไม่ได้แตะเรื่องทำนอง “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่”
รัฐบาลในกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือจะต้องเน้นถึงการลดการบริโภคเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรม เราไม่อาจยุติการทำลายป่าได้ภายในปี 2573 หากไม่มีการลดการบริโภคเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมในระดับโลก
นอกเหนือจากการขาดคำมั่นสัญญาเพื่อลดเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรม เป้าหมายระยะกลางและกลไกการติดตามตรวจสอบเรื่องภาระรับผิดชอบ จะช่วยรับรองว่าปฏิญญานี้จะไม่ล้มเหลวเหมือนปฏิญญาปี 2014 หากไร้ซึ่งภาระรับผิดชอบต่อผลของการกระทำ(accountability) ปฏิญญาว่าด้วยป่าไม้และการใช้ที่ดินนี้จะล้มเหลวอย่างแน่นอน
กลุ่มประเทศซีกโลกเหนือจะต้องมุ่งมั่นและสนับสนุนกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ Global South ให้ไปพ้นจากแบบจำลองการส่งออกที่ไม่เท่าเทียมกันอย่างลึกซึ้งที่นำไปสู่การทำลายล้างผลาญผืนป่าและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
จนกว่าเราจะรื้อถอนระบบของความไม่เป็นธรรมที่อยู่เบื้องหลังระบบอาหารในปัจจุบันของเรา บรรษัทอุตสาหกรรมทั้งหลายจะยังเดินหน้าสร้างความหายนะต่อผืนป่า ผู้คนและโลกใบนี้
แล้วปฏิญญาว่าด้วยก๊าซมีเทนและการเกษตรล่ะ?
ผลลัพธ์จาก COP 26 ส่วนใหญ่ล้มเหลวในการพิจารณาถึงระบบเกษตรกรรมและอาหาร ถึงแม้ว่าหนึ่งในสามส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับการผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรม
สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปประกาศปฏิญญาระดับโลกที่ COP26 ซึ่งตั้งเป้าหมายจำกัดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30% เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยในปี 2563 แม้ว่าจะเป็นแนวโน้มที่ดี แต่คำมั่นดังกล่าวไม่รวมการลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากการผลิตและบริโภคเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมที่ต้นทาง
ในฐานะผู้นำระดับโลกที่ลงนามในปฏิญญาลดการปล่อยก๊าซมีเทน อุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่ 10 แห่งได้ลงนามใน “แถลงการณ์” ของกลุ่มซึ่งสัญญาว่าจะยุติการสูญเสียป่าไม้ การที่บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น JBS Cargill และ Bunge อยู่ในรายชื่อผู้ลงนาม แถลงการณ์อาจดูก้าวหน้า แต่สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกถึงคือ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่เหล่านี้ไม่เคยลงมือตามคำมั่นสัญญา ขณะที่ ยังเดินหน้าทำลายป่าไม้และวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อแสวงกำไรต่อไป
ในช่วงหลังที่ COP26 เราได้เห็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ การเจรจา และปฏิญญาต่างๆ ที่ริเริ่มโดยรัฐบาลและธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของเกษตรกรรมต่อโลกธรรมชาติ แต่การเน้นใช้เทคโนโลยีมาเป็นทางออก และความจริงที่ว่ารัฐบาลทั้งหลายเลื่อนการตัดสินใจประเด็นการเกษตรกรรมในการเจรจารอบต่อไปในอนาคต ดังนั้น ผู้ได้ประโยชน์ในขณะนี้ยังคงเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าการทำธุรกิจไปตามปกติ
เราไม่มีเวลาสำหรับปฏิญาณที่ว่างเปล่าอีกต่อไป เว้นเสียแต่ว่าอุตสาหกรรมเกษตรจะเปลี่ยนแบบจำลองธุรกิจของตนโดยสิ้นเชิง เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล เราจำเป็นต้องปลดแอกจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์
ความจริงพื้นฐาน : ปฏิญญาว่าด้วยป่าไม้และการใช้ที่ดินรวมถึงปฏิญญาเพื่อลดการ ปล่อยมีเทน คือการจัดการกับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์
ผู้นำโลกจะไม่ได้อะไรจากข้อตกลงเพื่อ “ยุติการทำลายป่าภายในปี 2573” หากไม่มีแผนที่ชัดเจนเพื่อลดการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมเชิงอุตสาหกรรม
ในสหราชอาณาจักร มีการบริโภคเนื้อสัตว์มากเป็นสองเท่า – และผลิตภัณฑ์นมมากกว่าสามเท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก– นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าเราต้องลดการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมเชิงอุตสาหกรรมลงมากกว่าครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 เพื่อกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ
นั่นหมายความว่าสหราชอาณาจักรสามารถพูดได้อย่างมีพลังว่า ปฏิญญาว่าด้วยป่าไม้และการใช้ที่ดิน ที่ COP26 จะประสบความสำเร็จในการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศในท้ายที่สุดหรือไม่ ป่าไม้และระบบนิเวศที่สำคัญอย่างแอมะซอนกำลังถูกทำลายเพื่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์และอาหารสัตว์ การยุติอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และการลดการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมคือเรื่องฉุกเฉินที่ต้องทำ