วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด คนกรุงเทพฯ ก็จะได้เห็นผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ รวมถึงสมาชิกสภา กทม. ชุดใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้ง

นโยบายที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ใช้หาเสียง จะทำได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 49 ที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบายและบริหารเมืองให้เป็นไปตามกฎหมาย และการบริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย

อันหลังนี่น่าสนใจ เกี่ยวข้องกับการที่ กทม.ต้องมีการปรับปรุงแผนพัฒนา 20 ปี (2556-2575) ที่ทำขึ้นในช่วงอดีตผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ ที่โดนถอดถอนโดย คสช. มาเป็นแผนพัฒนา 20 ปี ที่ล้อไปกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สมัยอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช.

ในแผนพัฒนา 20 ปีนั้น มีแผนการจัดการขยะใน กทม. คือ การสร้างโรงไฟฟ้าขยะ(waste-to-energy) เพิ่มขึ้นรวมทั้งหมดเป็น 3,500 ตันต่อวัน ภายในปี 2575 แผนนี้มาพร้อมๆ กับการที่ “บิ๊กตู่” สะบัดปากกาลงนามในประกาศ คสช.ยกเว้น “ผังเมืองรวม” ใน 5 กิจการ เอื้อให้โรงไฟฟ้าขยะผุดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ แถมสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. ยืนยันว่ามี “ประมวลหลักการปฏิบัติ หรือ ซีโอพี (Code of Practice : CoP)” ควบคุม

ประมวลหลักการปฏิบัติ หรือ ซีโอพี (Code of Practice : CoP) ห่วยแตกยังไงให้ดูกรณีการจัดการมูลฝอยชุมชนด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ (MBT) ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ส่วนโรงไฟฟ้าขยะหนองแขม 500 ตันต่อวัน ซึ่งอ้างว่าเป็นโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ตั้งอยู่ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมซึ่งก่อสร้างและบริหารงานโดยบริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้สัญญารับจ้างกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผาของกรุงเทพมหานครนั้นก็ยังไม่เห็นกรมควบคุมมลพิษมีรายงานการติดตามตรวจสอบเรื่องการปล่อยมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งไดออกซิน ปรอทและฝุ่น PM2.5 และเผยแพร่ข้อมูลออกสู่สาธารณะ

อย่าลืมว่า โรงไฟฟ้าขยะเป็นแหล่งปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตัวพ่อ ความเข้มข้นของการปล่อยนั้นมากกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 1.7 เท่า ล่าสุดมีการวิจัยพบว่า การเผาขยะทำให้ปัญหาไมโครพลาสติกรุนแรงมากขึ้น โดยจะพบอนุภาคไมโครพลาสติกมากถึง 102,000 อนุภาคต่อตันของขยะที่ถูกเผา

ขณะนี้ สหภาพยุโรปได้ยกเว้นการเผาขยะจากรายการสนับสนุนทางการเงินที่ยั่งยืน ส่วนในสหรัฐอเมริกา ไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าขยะแห่งใหม่ตั้งแต่ปี 2550 โครงการโรงไฟฟ้าขยะกลับขยายเพิ่มขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา—โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย แทนที่งบประมาณจัดการขยะจะนำไปใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม วิสาหกิจเพื่อสังคมและสร้างการจ้างงานที่มีคุณค่า(decent jobs)ให้กับชุมชนท้องถิ่น กลุ่มซาเล้ง และคนจนเมือง เงินที่มาจากภาษีของประชาชนกลับไหลเข้าสู่กระเป๋าของกลุ่มทุนและมาเฟียขยะ

ญี่ปุ่นนี่ตัวดีเลย ส่งเสริมโครงการโรงไฟฟ้าขยะผ่านโครงการพัฒนาระหว่างประเทศมาเป็นเวลานานมาก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคี อย่าง ธนาคารเอดีบี และธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชียที่มีจีนเป็นหัวหอกก็มีเงินสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าขยะในเอเชีย

ทีนี้ คำถามคลาสิก ถ้าไม่เผาขยะ จะจัดการยังไงกับ “ขยะล้นเมือง” ก่อนจะตอบคำถามนี้ สิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่จะต้องทำคือไปดูงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะของ กทม. ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเสียก่อนว่า เอาไปใช้ทำอะไร ใครคือเสือนอนกินของงบประมาณจัดการขยะ มันกลับหัวกลับหางกับวิสัยทัศน์ “ขยะเหลือศูนย์(Zero Waste)”ปลอมๆ ของ กทม. อย่างยิ่ง