แปลเรียบเรียงจาก IPCC’S MITIGATION REPORT: 5 TAKEAWAYS FOR ZERO WASTE CITIES เขียนโดย by Mariel Vilella, Director of Global Climate Program https://www.no-burn.org/ipcc-takeaways-zw/

รายงานการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation of Climate Change) ซึ่งเป็นรายงานการประเมินครั้งที่ 6 ของคณะทำงานที่ 3 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(IPCC) เพิ่งปล่อยออกมา

เป็นคำเตือนอีกครั้งถึงภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศกำลังเร่งตัวขึ้น มีเวลาเหลือน้อยมากที่จะหลีกเลี่ยงมิให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มเกินขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียส แม้แต่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพียงเล็กน้อยก็ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงอย่างต่อเนื่อง ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา(ต้นเดือนเมษายน 2565) ขั้วโลกเหนือและใต้มีอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส และ 40 องศาเซลเซียส ในเวลาเดียวกันตามลำดับ

แล้วเราทำอะไรได้บ้าง? ทั้งหมดของรายงาน Mitigation of Climate Change เกี่ยวกับทางเลือกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากมุมมองทางวิทยาศาสตร์ แม้ว่ารายงานจะมุ่งถึง “นโยบาย” โดยไม่ระบุถึงแนวปฏิบัติที่เฉพาะเจาะจง แต่ก็มีเบาะแสบางอย่างและการอ่านระหว่างบรรทัดที่สามารถแปลไปสู่การปฏิบัติได้

IPCC กับของเสีย: แหล่งปล่อยมลพิษที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในเขตเมือง

IPCC พูดถึงขยะอย่างไร? ตามที่รายงานได้ระบุไว้ ภาคการจัดการขยะมีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเขตเมืองเป็นอันดับสองรองจากภาคพลังงานและการขนส่ง รวมถึงเมืองที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ

เมืองเป็นแหล่งกำเนิดของก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นมากขึ้นทั่วโลก : แม้ว่าจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลากหลายรูปแบบจากเขตเมืองในหลายประเทศและภูมิภาค ส่วนแบ่งของการปล่อย GHG เพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคและทั่วโลกระหว่างปี 2543-2558

เมืองในบรรดาประเทศที่ร่ำรวย (ในภาษาของ UN ที่เรียกว่า “ประเทศที่พัฒนาแล้ว”) ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นจาก 60% ในปี 2543 เป็น 67% ในปี 2558 แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกและประเทศกำลังพัฒนา

คาดว่าการเติบโตของเมืองภายใต้สถานการณ์ที่เป็นไปตามปกติอาจเพิ่มความต้องการทรัพยากรและวัตถุดิบเพิ่มสองเท่าจาก 40 พันล้านตันในปี 2553 เป็น 90 พันล้านตันภายในปี 2593 ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มการปล่อย GHG ด้วย

ตามที่ IPCC ระบุ เมืองต่างๆ สามารถลดการปล่อย GHG ลงได้อย่างมาก แต่สิ่งนี้ต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ นั่นคือ เศรษฐกิจหมุนเวียน การรวมกลุ่มและความเท่าเทียม และเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมเป็นองค์ประกอบหลักบางส่วนร่วมกับกลยุทธ์อื่นๆ ที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาเมืองที่ปล่อยคาร์บอนต่ำและเป็นศูนย์

นี่คือจุดที่กลยุทธ์ของเสียเป็นศูนย์ (zero waste) สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ โดยจะต้องมีการประสานกันของทุกภาคส่วน กลยุทธ์และนวัตกรรม รวมถึงเมืองในประเทศกำลังพัฒนา

ประเด็นสำคัญ 5 ประการจากรายงาน Mitigation of Climate Change ของ IPCC เกี่ยวข้องกับวาระการลดการปล่อยคาร์บอนในเมืองต่างๆ และโอกาสของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการจัดการขยะเมือง :

1. ขยายเศรษฐกิจหมุนเวียนในเมืองจากมุมมองเชิงระบบ

ศักยภาพของเศรษฐกิจหมุนเวียนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นมีสูง แน่นอนว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนคือหนึ่งในแนวทางการกำจัดของเสียจากต้นทาง (การลดที่แหล่งกำเนิด) หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ การทำปุ๋ยหมัก หรือการรีไซเคิลทุกอย่าง เศรษฐกิจหมุนเวียนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยความต้องการวัตถุดิบและการแปรรูปที่ลดลง รวมถึงไม่มีการปล่อยมลพิษจากการจัดการของเสีย หากเมืองเซี่ยงไฮ้รีไซเคิลทุกอย่างที่สามารถรีไซเคิลได้ จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลง 16.8 ล้านตันต่อปี

การบรรลุเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ได้ต้องการแค่การแทรกแซงเพียงครั้งเดียว แต่ยังต้องคิดใหม่อย่างเป็นระบบว่าเราใช้วัสดุอย่างไร และนี่คือเหตุผลที่ IPCC ให้ความสำคัญอย่างมากกับการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ Net Zero สำหรับเมืองต่างๆ เป็นไปได้แม้จะมีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว แต่มันจะไม่เกิดขึ้นกับการแทรกแซงแบบเดียวกับที่เราเคยเห็นมาจนถึงตอนนี้ – หลุมฝังกลบและโรงงานเผาขยะ ในทางกลับกัน ต้องใช้กลยุทธ์ที่หลากหลายและบูรณาการเพื่อเชื่อมโยงการใช้วัสดุและประสิทธิภาพกับการใช้พลังงานและการผลิต แบบแผนการใช้ที่ดิน และโดยการเชื่อมโยงพื้นที่ในเมืองและชนบท ตัวอย่างหนึ่งคือการคืนปุ๋ยหมักและสารอาหารอันมีค่าไปยังฟาร์มที่ป้อนอาหารให้กับเมือง

2. การปล่อยก๊าซมีเทนจากของเสีย : แนวทางง่ายๆ ในการทำให้เมืองเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ

ที่มา : http://no-burn.org/methane-matters

การจัดการกับก๊าซมีเทน ซึ่งเป็น GHG ที่สำคัญที่สุดอันดับสองรองจาก CO2 ที่มีส่วนทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกในปัจจุบันเพิ่มขึ้น 0.5°C ถือเป็นแนวทางต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศในเขตเมืองที่สามารถทำได้โดยง่าย มีเทนเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีฤทธิ์มากแต่มีอายุสั้น ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่มีแนวโน้มดีที่สุดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะเวลาอันใกล้ แม้ว่ารายงานของ IPCC จะเน้นไปที่คาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว แต่ก็มีการวิเคราะห์ถึงโอกาสในการลดการปล่อยก๊าซมีเทนในรายงาน Global Methane Assessment ฉบับล่าสุด

ในรายงาน Global Methane Assessment นี้ ของเสียและโดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะอินทรีย์มีความโดดเด่น: ภาคการจัดการของเสียเป็นแหล่งปล่อยก๊าซมีเทนที่ใหญ่เป็นอันดับสามและเติบโตอย่างรวดเร็ว โชคดีที่การกำจัดการปล่อยก๊าซมีเทนจากหลุมฝังกลบนั้นค่อนข้างถูก – ต้องมีการแยกขยะที่แหล่งกำเนิดและการจัดการทางเลือก เช่น ปุ๋ยหมัก งานล่าสุดของเราระบุว่าการปล่อยก๊าซมีเทนจากหลุมฝังกลบสามารถลดลงราว 96% ด้วยการแทรกแซงง่ายๆ เพื่อกันไม่ให้ขยะอินทรีย์ไปสู่หลุมฝังกลบ

3. การเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า (“Waste-To-Energy” Incineration) : ยุทธศาสตร์ที่มีแต่แพ้

น่าเสียดายที่พอมาถึงเรื่องการเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า (“Waste-To-Energy” Incineration) รายงาน IPCC มักอ้างอิงถึงการโฆษณาชวนเชื่อของภาคอุตสาหกรรมมากกว่าหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่หนักแน่น เทคโนโลยีการเผาขยะ(incineration) ไพโรไลซิส(pyrolysis) และแก๊สสิฟิเคชั่น(gasification) ไม่เข้ากันกับฉากทัศน์คาร์บอนต่ำ เนื่องจากเทคโนโลยีทั้งหลายเหล่านี้เป็นแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ นอกจากนี้ยังมีทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับการบำบัดของเสียและการผลิตพลังงาน รายงาน IPCC ไม่ได้กล่าวถึงความท้าทายและความซับซ้อนเหล่านี้

การเผาขยะเป็นวิธีที่ไร้ประสิทธิภาพและมีราคาแพงที่สุดในการผลิตพลังงานและการจัดการของเสีย เป็นรูปแบบการผลิตไฟฟ้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด โดยปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) 1.7 เท่าต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ต้นทุนในการผลิตพลังงานสูงกว่าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมบนบกเกือบสี่เท่า มากกว่าก๊าซธรรมชาติสองเท่า และแพงกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน 25% แม้ว่าโรงงานเผาขยะซึ่งมีความเข้มข้นทางคาร์บอนสูงมาก แต่อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ — หนึ่งในผู้ปล่อย GHG อันดับต้นๆ ของโลก — ตั้งเป้าที่จะใช้เชื้อเพลิงทางเลือกเพื่อให้ครอบคลุม 22% ของการใช้พลังงานเตาปูนซีเมนต์ทั่วโลกภายในปี 2573 น่าตกใจที่ ทั้งโรงงานเผาขยะและการเผาร่วมในเตาเผาซีเมนต์ถูกรวมไว้เป็นวิธีแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศใน 39 จาก 99 แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศ (NDCs)

เมื่อเร็วๆ นี้ สหภาพยุโรปได้ถอดถอนเทคโนโลยีการเผาขยะจากอนุกรมวิธานทางการเงินที่ยั่งยืนและการสนับสนุนทางการเงิน ในสหรัฐอเมริกา ไม่มีการสร้างโรงงานเผาขยะแห่งใหม่ตั้งแต่ปี 25450 อย่างไรก็ตาม โครงการโรงงานเผาขยะยังคงเพิ่มขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียที่ญี่ปุ่นส่งเสริมเทคโนโลยีเผาขยะผ่านโครงการพัฒนาระหว่างประเทศ ธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคี เช่น Asian Development Bank และ Asian Infrastructure Investment Bank มีบทบาทหลักในการให้ทุนสนับสนุนโครงการโรงงานเผาขยะในเอเชีย

4. พลาสติกคือคาร์บอน

IPCC มีความชัดเจนมากในการชี้ให้เห็นว่าการผลิตและการใช้พลาสติกเป็นปัญหา: “การคาดการณ์สำหรับการเพิ่มการผลิตพลาสติก (…) ไม่สอดคล้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จำเป็น”

อันที่จริง พลาสติกมีส่วนสัดส่วนขยายเพิ่มมากขึ้นในงบดุลคาร์บอนทั่วโลก รอยเท้าคาร์บอนทั่วโลกของพลาสติกตลอดวงจรชีวิตทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 1.7 พันล้านตันของ CO2 เทียบเท่า (CO2e) ในปี 2558 ซึ่งจะเติบโตเป็น 6.5 พันล้าน CO2e (เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อปีจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเกือบ 1,640 แห่ง) ภายในปี 2593 หากการผลิต การกำจัด และการเผาขยะพลาสติกยังคงดำเนินต่อไปตามสถานการณ์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังหมายความว่า ภายในปี 2593 การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากพลาสติกเพียงอย่างเดียวจะมีสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสามของงบดุลคาร์บอนที่เหลืออยู่เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 1.5 °C ภายใต้ความตกลงปารีส การปล่อย GHG จากการผลิตพลาสติกอยู่ที่ประมาณ 2 ตัน CO2e ต่อตันของพลาสติกที่ผลิตได้

นี่เป็นครั้งแรกที่ IPCC ระบุถึงการจัดการกับพลาสติก และเรียกร้องให้ลดปริมาณพลาสติกที่ผลิตขึ้นอย่างชัดเจน : รัฐบาลต่างๆ จะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง

5. จะบรรลุสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร? ธรรมาภิบาล การเงิน เทคโนโลยี และผู้เก็บขยะ

IPCC ระบุชัดเจนว่าเมืองทั่วโลกต้องการศักยภาพเชิงสถาบันและการจัดการมากพอๆ กับการเข้าถึงระบบการเงินและเทคโนโลยี การจัดการของเสียคือประเด็นหลักของเรื่องนี้ : การแก้ปัญหา – การรวบรวมขยะที่แยกจากต้นทางและแหล่งกำเนิด การทำปุ๋ยหมักและการรีไซเคิล การห้ามใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่มีปัญหา – นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อน แต่ฝ่ายบริหารของเมืองจะต้องทำงานร่วมกับประชาชนในเมืองของตน

ในภาคการจัดการของเสีย ระบบธรรมาภิบาลที่ได้รับการปรับปรุงจะเปิดโอกาสในการตระหนักถึงและผนวกภาคเศรษฐกิจของการจัดการของเสียนอกระบบให้เป้นส่วนหนึ่งของแนวทางการจัดการของเสีย ซึ่งรายงาน IPCC ยังได้ตระหนักถึงโดยระบุว่า การจัดการของเสียเป็นแนวทางที่สำคัญในการผสมผสานภาคเศรษฐกิจนอกระบบเข้ากับเศรษฐกิจในเมือง

นี่ยังเป็นหลักสำคัญของ “ผลประโยชน์ร่วม” เช่น การจ้างงานที่มากขึ้น การบูรณาการทางสังคม มลพิษที่ลดลง การลดความยากจน ในแง่นี้ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการของเสียอาจเน้นเป้าหมายไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเมืองเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการปรับตัวและเสริมสร้างศักยภาพของเมืองในการฟื้นคืนจากแรงกระแทกภายนอกและวิกฤตต่างๆ

โดยสรุป รายงานการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation of Climate Change) ของ IPCC เตือนเราว่าภาคการจัดการของเสียให้โอกาสมหาศาลในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วและมีต้นทุนต่ำ ในขณะที่สร้างความยืดหยุ่นในการรับแรงกระแทกจากวิกฤต สร้างงานที่มีคุณค่า และส่งเสริมเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นที่เจริญรุ่งเรือง เมืองต่างๆ ทั่วโลกที่มุ่งมั่นเพื่อเป้าหมายขยะเหลือศูนย์ แสดงให้เห็นว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการจัดการของเสียนั้นเป็นไปได้และเป็นที่ต้องการ – และโดยการลงมือทำให้มากขึ้นไปอีก