จีนและสหรัฐอเมริกามีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศรวมกันราว 40% ของทั้งโลก สองมหาอำนาจนี้มีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่และต้องลงมือทำร่วมกัน เพื่อมิให้โลกไปถึง climate endgame

จีนเป็นแชมป์ปล่อย GHG แซงหน้าสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ราวๆ ปี 2548 แต่เมื่อนับการปล่อย GHG สะสมมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18-19 สหรัฐอเมริกาก็ยังเป็นแชมป์อยู่ดี เรื่องนี้ถูกหยิบยกเป็นประเด็นการเจรจาต่อรองอยู่เสมอว่าใครจะลดก่อนลดหลัง ลดมากลดน้อย

ความเคลื่อนไหวของจีนที่ตัดความสัมพันธ์แบบทวิภาคีในเรื่อง climate change หลายฝ่ายออกมาโทษ ปธ.รัฐสภาสหรัฐ คุณเพโลซี ในฐานที่ไปกระตุกหนวดพญามังกรที่ไต้หวัน ก็ว่าไปครับ แต่เราต้องคิดเชิงวิเคราะห์ให้ลึกซึ้ง ทั้งภูมิรัฐศาสตร์กับการเมืองด้านสภาพภูมิอากาศ ความสัมพันธ์ที่เปราะบางแบบนี้มีมาเรื่อยๆ หนักบ้าง เบาบ้าง

สหรัฐฯ และจีนกล่าวหากันและกันว่าไม่ลงมือทำมากพอเพื่อลด GHG เช่น จีนโจมตี “ความเห็นแก่ตัว” ของสหรัฐฯ เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะนั้นยกเลิกการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในปี 2560 ในขณะที่โจ ไบเดน กล่าวว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน “ทำผิดพลาดครั้งใหญ่” โดยไม่เข้าร่วม COP26 ที่กลาสโกว์ช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา เป็นต้น

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มีความสำคัญเชิงทางยุทธศาสตร์เป็นพิเศษ หลายทศวรรษที่ผ่านมา มีความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงานสะอาดมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ นับตั้งแต่ปี 2552 ความร่วมมือนี้ได้ยกระดับและขยายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ผู้คนหลายพันคนจากทั้งสองประเทศทำงานร่วมกันเพื่อทำวิจัยร่วมกัน เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และข้อมูลข่าวสาร รวมถึงพัฒนากิจการเชิงพาณิชย์เพื่อนำเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมาใช้

ความร่วมมือที่เปราะบางเกิดขึ้นระหว่างสองมหาอำนาจผู้ปล่อย GHG มากที่สุดในโลก ก่อนการประชุม UNFCCC COP27 ในอียิปต์ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า มีความหวังเพียงเล็กน้อยที่จะหลีกเลี่ยง climate endgame หากสหรัฐฯ และจีนไม่ลงมือลดการปล่อย GHG ให้มากที่สุดตามเป้าหมายความตกลงปารีส

คุณ Nate Hultman ผอ.ศูนย์ Global Sustainability ที่มหาวิทยาลัย Maryland กล่าวว่า ความสัมพันธ์ในวงกว้างนั้นซับซ้อนมาก แต่ทั้งสองประเทศต้องเข้าใจว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องความร่วมมือแบบทวิภาคีเท่านั้น แต่เป็นมิติระดับโลก “ คุณ Nate Hultman หวังว่าการระงับความร่วมมือแบบทวิภาคีนี้จะกินเวลาสั้นๆ และสหรัฐฯ และจีนต้องกลับมาคุยบนโต๊ะเจรจาโดยเร็วที่สุด

แต่ถึงจะไม่มีจีนและสหรัฐฯ บนโต๊ะเจรจาใน COP27 การเจรจาที่ COP27 ในอียิปต์ก็ยังต้องเดินหน้าต่อไป คุณ Nate Hultman ให้ความเห็นว่า COP27 จะไม่ล้มเหลวเพียงเพราะว่า สหรัฐอเมริกาและจีนไม่แก้ไขความแตกต่างของพวกเขา ประชาคมนานาชาติต้องร่วมกันหาทางอื่นๆ ที่สามารถทำได้”

อ้างอิง :
https://www.theguardian.com/environment/2022/aug/05/what-does-the-us-china-row-mean-for-climate-change-taiwan
https://www.csis.org/us-china-climate-and-energy-relationship
https://www.scmp.com/comment/opinion/article/3153831/cop26-why-us-china-rivalry-could-be-death-climate-change-diplomacy