ความคิดของคนเราทำงานอย่างไรในช่วงวิกฤตและหลังจากวิกฤต อะไรที่เราได้เรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
ธารา บัวคำศรี แปลเรียบเรียงจาก https://mindworkslab.org/thedisruptedmind/
วิกฤตที่มีลักษณะพลิกผัน เช่น การระบาดใหญ่ของโควิด-19 มีผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งต่อกรอบความคิดทางสังคม เมื่อวิกฤตดังกล่าวเกิดขึ้น เรื่องเล่า บรรทัดฐาน อารมณ์ และปัจจัยทางความคิดอื่นๆ จะเปลี่ยนแปลงไปและปะทะประสานกันใหม่ภายในสังคม

การอภิปรายถกเถียงดังกล่าวนี้บางส่วนปรากฏอยู่หน้าแรกของหนังสือพิมพ์ แต่ส่วนใหญ่ซ่อนอยู่ในโซเชียลมีเดีย ในขณะที่เรามักจะมองถึงการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม เช่น การทำงานจากบ้าน(work from home) การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ หรือการปรับค่าจ้างสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ แต่การเปลี่ยนแปลงอื่นๆ เช่น ความโกรธเกรี้ยว ความเชื่อมั่นที่ลดลงต่อธรรมาภิบาล สถาบันต่างๆ และกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม เป็นต้น จะพิสูจน์ว่าเป็นตัวชี้ขาดในระยะยาวมากกว่า
ต้องกล่าวไว้ ณ ที่นี้ว่า ไม่ใช่วิกฤตทั้งหลายจะต้องมีลักษณะพลิกผันเสมอไป และผลสะเทือนจากความพลิกผันก็อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล โดยทั่วไป วิกฤตที่มีลักษณะผลิกผันมากกว่าจะเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ เหตุการณ์สภาพอากาศที่เกิดซ้ำๆ เช่น พายุไต้ฝุ่น เป็นต้น จะเป็นวิกฤตที่ผลิกผันหากผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นมีความแตกต่างไม่เหมือนที่ผ่านมา ส่วนวิกฤตการหลอมละลายของเตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์ เช่น ในฟุกุชิมะ หรือการวินาศกรรม 9/11 ถือเป็นความพลิกผันที่ไม่คาดคิดมาก่อน
สำหรับผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ขาดประสบการณ์ การกระตุ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงชุดความคิดในช่วงสถานการณ์วิกฤตอาจดูเหมือนท่วมท้นหรือคาดเดาไม่ได้ แต่จากงานวิจัยที่นำมาเสนอต่อไปนี้แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงชุดความคิดในช่วงวิกฤตเป็นไปตามแบบแผนที่เอื้อต่อการสร้างกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ หากเราตระหนักอย่างชัดเจนว่าจะทำอะไรในเวลาใด การเปลี่ยนแปลงทางความคิดยังมาจากอิทธิพลของแบบแผนทางจิตสังคมที่เปิดเผยออกมาให้เราเห็นตลอดช่วงสถานการณ์วิกฤต
วิกฤตในฐานะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ

ชุดความคิด(Mindset) เป็นจุดคานงัดเชิงลึกเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ชุดความคิดมีอิทธิพลต่อเป้าหมาย อำนาจ การกระจายและกฎของระบบ ในช่วงเวลาปกติ ชุดความคิดทางสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ส่วนในช่วงเหตุการณ์พลิกผัน การเปลี่ยนแปลงชุดความคิดสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลสะเทือนอย่างยิ่งต่อโครงร่างของระบบอนาคต การทำความเข้าใจว่าชุดความคิดเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในช่วงวิกฤตที่ผลิกผัน จะเสริมสร้างให้ผู้เล่นต่างๆ มีบทบาทที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ นี่อาจหมายถึง การเร่งโอกาสในการบรรลุเป้าหมาย หรือป้องกันไม่ให้เกิดพัฒนาชุดความคิดในทางลบ
ชุดความคิดทางสังคม(Societal Mindset) และปัจจัยต่างๆ ของชุดความคิด
การเปลี่ยนแปลงชุดความคิดทางสังคมไม่ใช่ผลรวมของการเปลี่ยนแปลงชุดความคิดที่เกิดจากวิกฤตชุดใดชุดหนึ่ง แต่เป็นการก่อเกิดขึ้นของโลกทัศน์โดยรวมผ่านการสื่อสาร ชุดความคิดจะไม่ได้ถูกสื่อสารออกไปอย่างครบถ้วน หากเกิดขึ้นผ่านการใช้ปัจจัยความคิดที่เฉพาะเจาะจง เราคิดว่ามี “ปัจจัยทางความคิด” 6 ประการมีความสัมพันธ์กันเป็นพิเศษ ได้แก่ เรื่องเล่า บรรทัดฐาน อัตลักษณ์ ค่านิยม อารมณ์และสิ่งแวดล้อม นักสร้างการเปลี่ยนแปลงควรสามารถระบุผู้มีอิทธิพลมากที่สุดและผู้ที่สามารถได้รับอิทธิพลเมื่อเปลี่ยนชุดความคิดในช่วงวิกฤต
ชุดความคิดเปลี่ยนแปลงอย่างไรในช่วงวิกฤต?

ที่มาของการเปลี่ยนแปลงชุดความคิด
ในช่วงวิกฤต การเปลี่ยนแปลงชุดความคิดจะถูกกระตุ้นโดยสองกระบวนการ : ประสบการณ์แบบฉุกเฉิน(emergency experiences) และ ความยุ่งเหยิง → การจัดกระบวนใหม่(disorientation → reorientation) การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลผูกพันต่อความรู้สึก ความคิด ความเชื่อของเรา และส่งผลต่อมาหลังจากนั้น
ประสบการณ์แบบฉุกเฉิน(Emergency experience)
ในช่วงพลิกผัน ชีวิตประจำวันของเราหยุดชะงักลงและผู้คนได้สัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ๆ ประสบการณ์เหล่านี้อาจเป็นผลมาจากความพลิกผันที่ทำให้ระบบต่างๆ ล้มเหลวหรือเปลี่ยนแปลง (เช่น การจัดหาสินค้าที่จำเป็น เช่น อาหาร น้ำ หรือไฟฟ้า เป็นต้น เสียหายเนื่องจากภัยพิบัติ การสูญเสียการดำรงชีวิต หรือการสูญเสียทรัพย์สินจากอัคคีภัยหรือการยึดสังหาริมทรัพย์) นอกจากนี้ ประสบการณ์ดังกล่าวอาจถูกกระตุ้นด้วยกฎระเบียบหรือบรรทัดฐานทางพฤติกรรมแบบใหม่ที่กำหนดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อวิกฤต (เช่น การล็อกดาวน์ การเว้นระยะห่างทางสังคม เคอร์ฟิว การปันส่วนอาหาร)
ประสบการณ์ต่างๆ เปลี่ยนชุดความคิดได้สองทาง ประการแรก การเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงรวมกับประสบการณ์ของความเข้าใจ ความภาคภูมิใจ และการเชื่อมต่อของมนุษย์ ได้ขยายความน่าจะเป็นที่สมองจะเก็บประสบการณ์เหล่านี้เป็นความทรงจำอย่างมีนัยสำคัญ ช่วงเวลาที่สำคัญดังกล่าวอาจส่งผลกระทบยาวนานต่อชุดความคิดของผู้คน (เช่น การก่อการร้าย แผ่นดินไหว หรือเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว) ช่วงเวลาสำคัญเหล่านี้สามารถขยายผลกระทบได้ดียิ่งขึ้นเมื่อผู้คนอยู่ในสภาวะสับสนไร้ทิศทาง
ประการที่สอง ชุดความคิดได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนนิสัยอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ใช้เวลายาวนานและกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในท้านที่สุดเมื่อเวลาผ่านไป ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงวิธีที่ผู้คนทักทายและโต้ตอบกันเนื่องจากการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือพฤติกรรมการกินในช่วงสงครามหรือโรคระบาด
กลไกทั้งสองนี้สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยกัน ซึ่งมักจะเพิ่มผลกระทบต่อจิตใจ ตัวอย่างของผลกระทบรวมกันนั้นสามารถเห็นได้ เช่น การเสริมสร้างพลังของสตรีหลังจากเข้าทำงานในอาชีพที่ผู้ชายเป็นใหญ่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และการเพิ่มขึ้นของการทำงานระยะไกลอันเนื่องมาจากการระบาดใหญ่ของ SARS-CoV-2
โรคระบาดใหญ่ในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าประสบการณ์สามารถเปลี่ยนปัจจัยชุดความคิดทั้งหมดได้ ตามที่กล่าวไปแล้ว ประสบการณ์สามารถรื้อถอนเรื่องเล่า (“การทำงานจากที่บ้านไม่ได้ผล”) กำหนดบรรทัดฐานใหม่ (“เราจะไม่ปล่อยให้ลูกของเราเล่นกับเด็กคนอื่นอีกต่อไป”) สร้างตัวตนใหม่ (“ฉันรู้สึกเหมือนเป็นเหยื่อ” ) สร้างค่านิยมใหม่: (“เราจะเสียสละเพื่อช่วยผู้อื่น” – ความเป็นสากล) หรือสร้างอารมณ์ (การผุดขึ้นของความโลภ ความกลัว ความเหงา หรือความกตัญญู)
ความยุ่งเหยิง → การจัดกระบวนใหม่(Disorientation -> Reorientation)
ความพลิกผันอาจทำให้ผู้คนสับสนไร้ทิศทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มต้นของวิกฤต หรือเมื่อมีการสั่นสะเทือนที่ไม่คาดคิดครั้งใหม่หลังจากภัยพิบัติ (เช่น การติดเชื้อระลอกที่สองที่รุนแรง หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจขั้นทุติยภูมิ) ความสับสนไร้ทิศทางนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความแปลกใหม่ หรือที่มากกว่านั้นคือความคาดไม่ถึงของเหตุการณ์ ในความสับสนไร้ทิศทางนี้ กรอบการตัดสินใจของเราพังทลายลงในแง่ที่ว่าวิธีการแก้ปัญหาที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีแนวทางหรือกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนตายตัว(heuristics) ของเราจะไม่ทำงานอีกต่อไป เมื่อคู่มือประสบการณ์ของเราใช้ไม่ได้อีกแล้ว การทำความเข้าใจชีวิตประจำวัน การคาดการณ์คุณค่า และผลกระทบของการกระทำของเราจะเป็นไม่ได้ หรือจะกลายเป็นเรื่องยาก ปัจจุบันและอนาคตของเราเริ่มรู้สึกไม่แน่นอน และความรู้สึกในการควบคุมและความเป็นตัวของเราจะลดลง
ความสับสนไร้ทิศทางนั้นยากที่จะอยู่ในสภาพสัมบูรณ์ ส่งผลกระทบต่อโลกทัศน์ของบุคคลเพียงบางส่วนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม มนุษย์มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะฟื้นคืนความแน่นอนโดยเร็วที่สุด ดังนั้น การรับรู้ของเรื่องนี้จึงเป็นแบบภาวะวิสัยและไม่จำเป็นต้องสะท้อนถึงความเป็นจริง (ดู ทฤษฎีสมคบคิด) หมายความว่า ผู้คนกำลังมองหาคำอธิบายเพื่อทำให้ตนเองรู้สึกดีขึ้น – ไม่ใช่เพื่อค้นหาความจริง ด้วยเหตุนี้ จะต้องพิจรณาว่าการปรับทิศทางใหม่เป็นกระบวนการเชิงอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเชิงตรรกะ
การเล่าเรื่องใหม่จำเป็นต้องตอบคำถามที่สร้างขึ้นจากวิกฤต แต่ผู้คนยังค้นหาความสอดคล้องกับเรื่องเล่าเดิม ดังนั้น เรื่องเล่าใหม่ต้องสอดประสานกับผู้รับสารหากต้องการคงไว้ซึ่งค่านิยมหลัก คนร้ายและฮีโร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกท้าทายโดยตรงจากความพลิกผัน ตัวอย่างเช่น ผู้รับสารจะไม่เปลี่ยนจุดยืนในเรื่องการทำแท้งหรือสิทธิเกย์เพราะว่าภัยพิบัติสภาพภูมิอากาศหรือโรคระบาด ผู้คนที่สงสัยอย่างมากเกี่ยวกับพลังของบริษัทเทคโนโลยีมีแนวโน้มจะยอมรับว่า อุตสาหกรรม 5G เป็นตัวการหลักในการระบาดของ COVID 19 เหมือนกับที่ชาวฮินดูสายแข็งในอินเดียมักจะเชื่อทฤษฎีสมคบคิดที่ระบุว่าชาวมุสลิมแพร่เชื้อไวรัส
การต่อรองของชุดความคิดร่วม
ในขณะที่วิกฤตสร้างประสบการณ์ร่วมและการเปลี่ยนแปลงชุดความคิดของแต่ละคน การเปลี่ยนกรอบความคิดทางสังคมจำเป็นต้องมีการสื่อสารเพื่อเจรจาและปรับความคิดใหม่ให้เป็นบรรทัดฐาน การเจรจาของชุดความคิดใหม่สามารถแบ่งคร่าวๆ ได้เป็น 3 ระยะหลัก
ตั้งแต่การโฆษณาชวนเชื่อไปจนถึงโซเชียลมีเดียและการสนทนาส่วนตัว การสื่อสารทุกรูปแบบในท้ายที่สุดส่งผลให้การเล่าเรื่อง บรรทัดฐาน อารมณ์ ตัวตน และค่านิยมเป็นปกติในระหว่างขั้นตอนเหล่านี้ เมื่อนำปัจจัยทางความคิดใหม่มาใช้ ผู้คนมักจะปรับทิศทางตนเองกับเพื่อนและคนรอบข้าง
ไม่เพียงแต่มีการเล่าเรื่องและบรรทัดฐานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความรู้สึกและตัวตนด้วย ความเกลียดกลัวผู้มีชาติพันธุ์แตกต่างจากตนเองและ ‘คนอื่น’ – ซึ่งกำหนดว่าใครจะอยู่ใครจะไป – นั้นมักเป็นผลมาจากวิกฤต ความเกลียดกลัวผู้มีชาติพันธุ์แตกต่างจากตนเองขยายขอบเขตไปไกลกว่าเอกลักษณ์ของฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่รุนแรง (เช่น สงคราม การโจมตีของผู้ก่อการร้าย) ตัวอย่างเช่น ความหวาดกลัวชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกาพบหลังจากเหตุการณ์เพิร์ลฮาร์เบอร์และ การต่อต้านอิสลาม (หรือความหวาดกลัวชาวต่างชาติทั่วไป) ถูกพบในสหรัฐอเมริกาและยุโรปหลังการโจมตีของผู้ก่อการร้าย ความเกลียดกลัวผู้มีชาติพันธุ์แตกต่างจากตนเองยังสามารถเข้าถึงผู้คนในประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง หากรู้สึกว่าค่านิยมหลักของตนเอง เช่น ความมั่นคงของชาติ กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง
คุณค่า/ค่านิยมก็ยังสามารถต่อรองใหม่ได้ ความกลัวได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นแรงจูงใจที่ทรงพลังสำหรับผู้คนในการเปลี่ยนค่านิยมหลักหรือส่งเสริมการถดถอยของบรรทัดฐาน (“ความตายของบรรทัดฐาน”) รัฐบาลได้ใช้วิธีนี้เพื่อเปลี่ยนการรับรู้และผ่านกฎหมายที่ละเมิดค่านิยมที่ถือไว้ก่อนหน้านี้ (เช่น การถดถอยของบรรทัดฐานเรื่องการทรมานและสิทธิพลเมือง หรือการยอมรับการสังหารนอกเขตอำนาจศาล) บรรทัดฐานได้รับการรับรองผ่านการเล่าเรื่อง (แม้ว่าการทรมานจะไม่เป็นที่ยอมรับ แต่ก็กลายเป็นการป้องกันการโจมตีของผู้ก่อการร้าย) จากนั้นถูกขยายเพิ่มผ่านโซเชียลมีเดียและอุตสาหกรรมบันเทิง
การเจรจาชุดความคิดใหม่ในสังคมไม่ใช่กระบวนการที่เท่าเทียม มันได้รับอิทธิพลจากแคมเปญโฆษณาชวนเชื่อที่นำโดยกลุ่มผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มเหล่านี้ใช้สื่อและโซเชียลมีเดีย รวมถึง เกรียนคีย์บอร์ด(trolls) เพื่อเผยแพร่ข้อมูลหรือบิดเบือนข้อมูลเพื่อโน้มน้าวจิตใจมนุษย์ ตัวอย่าง ได้แก่ การต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์ระหว่างจีนและไต้หวันในช่วงการระบาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับสถานะของประเทศใน WHO กระบวนการเจรจาชุดความคิดใหม่สามารถแบ่งแยกกลุ่มต่างๆ ในสังคม นำไปสู่การแยกขั้วและการแตกแยกที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถลดความแตกแยกทางการเมืองหรือเปลี่ยนพันธมิตร ซึ่งบางครั้งส่งผลกระทบต่ออำนาจที่มีอยู่และโครงสร้างทางสังคม
การเปลี่ยนแปลงที่ยืนยาว
หลังวิกฤต ชุดความคิดใหม่ต้องแข่งขันกับตรรกะและความสะดวกสบายของชุดความคิดเดิม ในระดับปัจเจก ความเต็มใจที่จะคงไว้ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นขึ้นอยู่กับประโยชน์ของมัน และแต่ละผู้กระทำการที่คงไว้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตาม ความยั่งยืนของการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้มีอำนาจในการรักษาระบบใหม่ ตัวอย่างเช่น การทำงานจากที่บ้านต้องได้รับการอนุมัติจากนายจ้าง
การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และความสนใจของสาธารณชนมักมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและระยะเวลาที่พฤติกรรมเหล่านี้คงอยู่หลังจากวิกฤต เช่น การใช้ระบบขนส่งสาธารณะหรือเครื่องบินหลังจากที่มีการโจมตีของผู้ก่อการร้ายหรือโรคระบาด เป็นต้น เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างยั่งยืน วิกฤตจะเร่งแนวโน้มที่กำหนดไว้ เช่น การทำงาน และการพาณิชย์ดิจิทัล แทนที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเงื่อนไขเชิงกฎเกณฑ์และสภาวะเศรษฐกิจกลับสู่สถานะก่อนวิกฤต
จากชุดความคิดไปสู่ผลกระทบเชิงระบบ
แม้ว่ามีความพยายามประเมินวิกฤตในแง่ของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและอำนาจ เราขอแนะนำว่าต้องมองหาผลกระทบที่แท้จริงของวิกฤตในการเปลี่ยนแปลงชุดความคิด การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกหรือเชิงลบจะส่งผลกระทบต่อระบบเป็นเวลาหลายปี และมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบแม้หลังจากวิกฤตสิ้นสุดลง
โดยทั่วไป ทุกคนโดยเฉพาะผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอคติในการรับรู้ เมื่อเกิดวิกฤต เรามักคิดว่าหากวิกฤตมีนัยสำคัญ ผลกระทบก็ควรจะเท่าเทียมกัน หรือถ้ามันเกิดขึ้นเร็ว ผลของมันก็จะเร็วเช่นเดียวกัน สมมติฐานทั้งสองนี้ผิด ระบบและสังคมมีความยืดหยุ่นในระยะสั้นอย่างไม่น่าเชื่อและมีการต่อต้านโดยธรรมชาติเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน การตกอยู่ในสมมติฐานเหล่านี้เป็นสิ่งที่อันตราย เนื่องจากมันทำให้ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงประเมินผลกระทบที่แท้จริงของวิกฤตต่ำไป
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า : “จากโรคระบาดของจัสติเนียนและกาฬโรคไปจนถึงการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในปี 2461 ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยตัวอย่างการระบาดของโรคที่สะท้อนเงาสะท้อนทางสังคมอันยาวนาน: กำหนดการเมือง บ่อนทำลายระเบียบทางสังคม และในที่สุดก็ทำให้เกิดความวุ่นวายทางสังคมในที่สุด”
กองทุนการเงินระหว่างประเทศสรุปว่า: “โรคระบาดอาจมีผลกระทบทางสังคม ทำให้เกิดความไม่สงบในสังคมเพิ่มขึ้น โรคระบาดอาจมีผลกระทบในเชิงบรรเทา ระงับความไม่สงบโดยการห้ามปรามกิจกรรมทางสังคม” มีการปลุกเร้าอารมณ์ขึ้นเมื่อประสบกับความอยุติธรรมในช่วงวิกฤต ความไม่สงบทางสังคมสามารถหลีกเลี่ยงได้ในขณะที่เน้นไปที่การต่อกรกับวิกฤต (เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม) แต่จะเกิดขึ้นทันทีที่จิตใจของผู้คนเคลื่อนตัวออกจากเป้าหมายที่มุ่งเน้น เช่น การปกป้องสุขภาพ เป็นต้น ความไม่สงบทางสังคมในโคลอมเบียเป็นตัวอย่างเบื้องต้นของเหตุการณ์นี้ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19
ในที่สุด การปลุกเร้าอารมณ์ (เช่น ความโกรธ ความกลัว การมองโลกในแง่ดี หรือ การมองโลกในแง่ร้าย) การเล่าเรื่อง (เช่น ความร่วมมือระหว่างบุคคลหรือประชาชาติ) การเติบโตของความสงสัยและ “ความเป็นอื่น” และแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงในอัตลักษณ์หรือค่านิยม (เช่น ความรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติมากขึ้น) จะพิสูจน์ได้ว่ามีความสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและระบบเชิงบวกหรือเชิงลบมากกว่าผลกระทบทางปฏิบัติและพฤติกรรมในระยะสั้น (เช่น การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การบริโภคพลาสติกที่เพิ่มขึ้น หรือนิสัยด้านสุขอนามัยที่ได้มาใหม่) ด้วยเหตุนี้ จะไม่สามารถตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้ การเปลี่ยนแปลงเป็นผลจากช่วงวิกฤตและผลที่ตามมา ตัวอย่างเช่น แนวร่วมที่กว้างขวาง หลากหลาย และมองเห็นได้ที่ต่อสู้เพื่อให้สามารถเข้าถึงวัคซีนทั่วโลกได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่เพียงแต่สร้างเรื่องเล่าที่ให้ความสำคัญกับผู้คนก่อนกำไรเมื่อมีการเรียกร้องให้ยกเลิกสิทธิบัตรเกี่ยวกับนวัตกรรมวัคซีน แต่ยังเป็นการเรียกร้องให้นานาประเทศมองข้ามผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อแก้ไขวิกฤตโลก เรื่องเล่าดังกล่าวจะมีความสำคัญในการสร้างความหวังและขยายจินตนาการของผู้นำและสังคมในการแก้ไขวิกฤตในอนาคต เช่น วิกฤตสภาพภูมิอากาศ
ในทำนองเดียวกัน ผลกระทบทางเศรษฐกิจระยะกลางจากการใช้จ่ายภาครัฐที่มีต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของผู้คนหลายล้านคน จะเป็นตัวกำหนดแนวความคิดของผู้นำทางการเมืองและเศรษฐกิจว่าจะใช้มาตรการที่คล้ายกันเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตที่คล้ายคลึงกันในอนาคต ซึ่งจะช่วยกำหนดประเภทของความเป็นผู้นำและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่จะเป็นที่ยอมรับของสาธารณชน
ดังนั้น เรื่องราวและความทรงจำของวิกฤต จะถึงรูปร่างสุดท้ายหลังจากคนส่วนใหญ่ของโลกได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้น สุดท้าย ชุดความคิดใหม่ที่จะผุดขึ้น ที่จะกำหนดความสามารถของเราในการรับมือกับความท้าทายในอนาคต ยังคงมีความเปราะบางอ่อนไหว
ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงสามารถทำอะไรได้บ้าง?

ใช้ช่วงที่มีความสับสนวุ่นวายสร้างเรื่องเล่าที่จับใจผู้คน
ในช่วงเวลานี้ผู้คนต่างสับสน โหยหาคำอธิบาย และต้องการความมั่นใจ คุณสามารถแนะนำเรื่องเล่า/เรื่องราวใหม่ๆ แบบถอนรากถอนโคนได้ แต่เรื่องราวเหล่านั้นต้องสร้างความหมายใหม่ โยงกับความเชื่อแบบเดิม และคุณต้องกระจายเรื่องเล่า/เรื่องราวให้กว้างขวางและรวดเร็วเพื่อให้สามารถประชันแข่งขันกับเรื่องเล่า/เรื่องราวอื่นๆ ได้
จับเซ้นส์ สังเกต วางแผนฉากทัศน์เพื่อเร่งการเล่าเรื่อง
ผู้ที่สามารถประเมินสถานการณ์ได้เร็วที่สุดจะสามารถลงมือก่อน โดยมีแนวทางในทางปฏิบัติว่าจะทำอย่างไรและสิ่งที่ควรเน้นเมื่อประเมินแนวโน้มที่ควรจะเป็นของวิกฤต
ช่วยก่อรูปประสบการณ์ช่วงวิกฤตของผู้รับสาร
ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงไม่เพียงแต่จับคู่ “สาร” ของการเปลี่ยนแปลงเข้ากับประสบการณ์ช่วงภาวะวิกฤตที่มีอยู่เท่านั้น แต่ยังสร้างประสบการณ์เชิงกลยุทธ์ที่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงชุดความคิดที่ต้องการสร้างอีกด้วย
มุ่งมั่นท่ามกลางการพลิกผันที่รวดเร็ว : สร้างการเปลี่ยนแปลงในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง
วิกฤต เช่น โรคระบาดใหญ่ในปัจจุบัน เป็นต้น ได้แสดงให้เห็นว่ามุมมองที่แตกต่างกันของชุดความคิดของแต่ละบุคคลสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในช่วงเหตุการณ์พลิกผัน เหตุการณ์ประเภทนี้สามารถถอดรื้อและสร้างเรื่องเล่าใหม่ (‘ในทุกวันนี้โรคระบาดเกิดขึ้นเฉพาะในแอฟริกาและเอเชีย’) สร้างบรรทัดฐานใหม่ (‘เราไม่ปล่อยให้ลูกของเราเล่นกับเด็กคนอื่นอีกต่อไป’) กำหนดอัตลักษณ์ใหม่ (‘ฉันรู้สึกเหมือนเหยื่อ’) สร้างค่านิยมใหม่ (‘เราจะเสียสละเพื่อช่วยผู้อื่น’ – ความเป็นสากล) หรือขยายอารมณ์ (ความกลัว ความโกรธ ความคลั่งไคล้ ความเหงา หรือความกตัญญู) หลังจากที่ความพลิกผันส่งผลต่อชุดความคิดของแต่ละคน สังคมก็จะเจรจาต่อรองชุดความคิดร่วมที่ปรับใหม่ เช่น เรื่องเล่า บรรทัดฐาน และค่านิยม เป็นต้น ผ่านกระบวนการสร้างความรู้สึกร่วม สิ่งนี้เกิดขึ้นผ่านการสื่อสารที่หลากหลายและส่วนใหญ่เป็นการสื่อสารที่ไร้โครงสร้าง ตั้งแต่วาทกรรมทางการเมืองไปจนถึงการพูดคุยในโซเชียลมีเดีย เมื่อประสบการณ์ชีวิตของเราได้รับความหมายและคำอธิบายทางสังคมที่กว้างขึ้น การเปลี่ยนแปลงชุดความคิดเหล่านี้สามารถกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่ยืนยาวได้
ท่ามกลางประสบการณ์วิกฤตที่โกลาหลและผันผวนรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงชุดความคิดอาจดูเหมือนเกิดขึ้นแบบสุ่มหรือมีความโกลาหลในตัวเอง สิ่งนี้นำไปสู่ความเชื่อที่ว่าผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นผู้กระทำการ(agency)เล็กน้อยในอันที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
แต่ดังที่เราได้แสดงให้เห็นในบทความนี้ การเปลี่ยนแปลงชุดความคิดในช่วงวิกฤตพลิกผันจะถูกกระตุ้นโดยกลไกที่เรารับรู้ได้ และแบบแผนที่แยกแยะได้เฉพาะ สิ่งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้เราคาดการณ์ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงใดจะเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตครั้งใดและเมื่อใด แต่ยังช่วยให้ผู้สร้างเปลี่ยนแปลงก่อผลสะเทือนทางสังคมวัฒนธรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลง