แปลเรียบเรียงจาก https://www.wri.org/insights/loss-damage-climate-change, April 6, 2022 เขียนโดย Preety Bhandari, Nate Warszawski, Deirdre Cogan and Rhys Gerholdt

อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส (2 องศาฟาเรนไฮต์) เนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ ปัจจุบัน ผู้คนหลายล้านกำลังเผชิญกับผลกระทบในชีวิตจริงจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น พายุที่รุนแรงขึ้น และปริมาณน้ำฝนที่คาดเดาไม่ได้ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วมีความสำคัญเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกและสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับเราทุกคน เช่นเดียวกับการลงทุนครั้งสำคัญเพื่อปกป้องชุมชนจากผลกระทบร้ายแรงที่จะเลวร้ายลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป
ทว่า ความพยายามร่วมกันในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวนั้นยังไม่เพียงพอที่จะต่อกรกับความเร็วและขนาดของผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ นั่นหมายความว่า การสูญเสียและความเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
“การสูญเสียและความเสียหาย(loss and damage)” เป็นคำทั่วไปที่ใช้ในเวทีเจรจาสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ เกี่ยวข้องกับผลกระทบที่ตามมาจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกินกว่าผู้คนจะสามารถปรับตัวได้ หรือในกรณีที่มีทางเลือกในการปรับตัวแต่ชุมชนไม่มีทรัพยากรในการเข้าถึงหรือใช้ประโยชน์ การสูญเสียและความเสียหายยังเป็นและจะยังคงเป็นอันตรายต่อชุมชนที่เปราะบางมากที่สุด การแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องของความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ(Climate Justice)
นับตั้งแต่การก่อเกิดกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 กลุ่มประเทศยากจนเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วให้ความช่วยเหลือทางการเงินที่สามารถช่วยจัดการกับการสูญเสียและความเสียหาย แต่ข้อเสนอของพวกเขาถูกปฏิเสธ
อย่างไรก็ตาม มีแรงผลักเพิ่มมากขึ้นในการจัดหาเงินทุนเพื่อต่อกรกับการสูญเสียและความเสียหาย(loss and damage) ในระหว่าง COP26 ที่กลาสโกว์ในปี 2564 และต่อเนื่องไปถึงเวทีเจรจาย่อยว่าด้วยสภาพภูมิอากาศที่กรุงบอนน์ เยอรมนีในเดือนมิถุนายน 2565 จนถึงขณะนี้ มีบางประเทศที่พัฒนาแล้วได้ส่งสัญญาณในระดับหนึ่งเพื่อสนับสนุนทางการเงินสำหรับการสูญเสียและความเสียหาย รวมถึงแคนาดา เดนมาร์ก เยอรมนี นิวซีแลนด์ สกอตแลนด์ และจังหวัด Wallonia ของเบลเยียม ในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP27 ในอียิปต์ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ประเทศต่างๆ จะมีโอกาสสร้างกลไกเพื่อจัดการกับความต้องการที่สำคัญนี้ในที่สุด (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่กลุ่มประเทศเปราะบางนำเสนอที่ COP27 ว่าด้วย Call for Enhanced Implementation ของ ACT2025)
นี่คือสิ่งที่คุณควรทราบว่าด้วยประเด็นการสูญเสียและความเสียหาย :
ตัวอย่างของการสูญเสียและความเสียหาย
แม้ว่า UNFCCC ไม่ได้ระบุการสูญเสียและความเสียหายไว้อย่างชัดเจน โดยทั่วไปแล้วเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นผลมาจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น พายุไซโคลน ความแห้งแล้ง และคลื่นความร้อน และการเปลี่ยนแปลงที่ก่อตัวช้าๆ เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การแปรสภาพเป็นทะเลทราย การหดตัวของธารน้ำแข็ง การเสื่อมโทรมของผืนดิน การกลายเป็นกรดของมหาสมุทร และการรุกของน้ำเค็ม ในบางกรณี ความเสียหายอาจเปลี่ยนแปลงพื้นที่อย่างถาวร เช่น ทะเลที่เพิ่มขึ้นรุกล้ำเข้าไปในเกาะที่มีที่ราบต่ำ หรือความแห้งแล้งทำให้ทรัพยากรน้ำจืดหดตัวลง และเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมที่เคยมีผลิตภาพให้กลายเป็นพื้นที่แห้งแล้งกันดาร
ชุมชนที่มีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศมักจะประสบกับความสูญเสียและความเสียหายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาเผชิญกับผลกระทบที่เกินกว่าพวกเขาสามารถปรับตัวได้ ไม่ว่าจะเนื่องมาจากขาดการเข้าถึงเงินทุนเพื่อใช้กับมาตรการปรับตัวหรือเพราะไม่มีมาตรการใดที่เป็นไปได้ในการนำไปปฏิบัติ
ความเสียหายจากผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเหล่านี้สามารถแบ่งออกเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจและความสูญเสียที่ไม่ใช่ทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีการซ้อนทับกันระหว่างทั้งสอง
การสูญเสียและความเสียหายทางเศรษฐกิจคือสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากร สินค้าและบริการที่มีการซื้อขายกันทั่วไปในตลาด กล่าวอีกนัยหนึ่ง การสูญเสียและความเสียหายทางเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อภาคส่วนต่างๆ เช่น เกษตรกรรม ป่าไม้ การประมง และการท่องเที่ยว หรือที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ทรัพย์สิน และทำให้ห่วงโซ่อุปทานปั่นป่วน
ตัวอย่างเช่น ตามแนวชายฝั่งทะเลของบังกลาเทศ การทำนาเกลือเป็นแหล่งจ้างงานหลัก ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พายุไซโคลนซึ่งเกิดถี่ขึ้น คลื่นทะเลกระทบฝั่งและฝนตกหนักนั้นเป็นอุปสรรคต่อการผลิตเกลือ บั่นทอนการพึ่งพาตัวเอง และต้องนำเข้าเกลือเพื่อจัดการกับการขาดแคลนตลาดในประเทศ
การสูญเสียที่ไม่ใช่ทางเศรษฐกิจอาจเป็นความหายนะขั้นสุด เช่น การสูญเสียสมาชิกในครอบครัว การเลือนหายไปของวัฒนธรรมและวิถีในการดำรงชีวิต หรือความบอบช้ำจากการถูกบังคับให้อพยพออกจากถิ่นกำเนิด
ยกตัวอย่างชุมชนใน Kosrae ไมโครนีเซีย ที่สูญเสียพื้นที่ฝังศพเนื่องจากการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และการสูญเสียน้ำแข็งในทะเลในแถบอาร์กติกส่งผลกระทบต่อเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและวิถีการล่าสัตว์เพื่อยังชีพในชุมชนชาวอินูต์
แม้ว่าจะยากในการประเมินขนาดและตัวเลข แต่การสูญเสียที่ไม่ใช่ทางเศรษฐกิจก็ลักษณะที่รุนแรงและส่งผลเสียต่อความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ
ความแตกต่างระหว่างการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับตัว การสูญเสียและความเสียหาย
ภายใต้ความตกลงปารีส ประเทศต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญของการ “หลีกเลี่ยง ลด และจัดการ” การสูญเสียและความเสียหาย
การสูญเสียและความเสียหายสามารถ “หลีกเลี่ยง” และ “ลดให้เหลือน้อยที่สุด” ได้โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation) และดำเนินการป้องกันไว้ก่อนเพื่อปกป้องชุมชนจากผลที่ตามมาของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (adaptation)
“การจัดการ” การสูญเสียและความเสียหายเป็นเสาหลักที่สามที่สำคัญของการดำเนินนโยบายสภาพภูมิอากาศ : การช่วยเหลือผู้คนหลังจากที่พวกเขาประสบกับผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
มาตรการปรับตัว(Adaptation) รวมถึงการปกป้องชุมชนจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นโดยเอื้อให้พวกเขาย้ายไปอยู่ในที่สูง การเตรียมพร้อมสำหรับภัยพิบัติจากสภาพอากาศที่รุนแรงโดยการลงทุนในระบบเตือนภัยล่วงหน้า การปกป้องเสบียงอาหาร การเปลี่ยนไปใช้พืชผลที่ทนแล้ง และอื่นๆ อีกมากมาย
การสูญเสียและความเสียหายเกิดขึ้นเมื่อความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่มุ่งมั่นมากพอ และเมื่อความพยายามในการปรับตัวไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่สามารถนำไปใช้ได้อันเนื่องมาจากทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่อย่างจำกัด
รายงานชุดที่สองของการประเมินครั้งที่ 6 ของ IPCC ซึ่งเผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 รับรู้ว่า เมื่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศขยายมากขึ้น โอกาสที่จะเกินขีดจำกัดในการปรับตัวก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ความแตกต่างระหว่างข้อจำกัด “แบบอ่อน” คือเมื่อมีตัวเลือกในการปรับตัว แต่ชุมชนไม่มีทรัพยากรทางการเงินที่จำเป็นที่จะลงมือทำ และข้อจำกัด “แบบแข็ง” คือ “ไม่มีโอกาสที่สมเหตุสมผลในการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่เกิดขึ้น” ข้อจำกัดเหล่านี้รุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนที่เปราะบางซึ่งขาดทรัพยากรที่จำเป็นในการปรับใช้ตัวเลือกการปรับตัวที่มีประสิทธิภาพ
แนวปะการังเป็นตัวอย่างที่ดีของการปรับตัวที่มีแนวโน้มว่าจะถึงขีดจำกัด IPCC พบว่าแนวปะการังเขตร้อน 70 ถึง 90% จะตายในช่วงกลางศตวรรษแม้ว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจะถูกจำกัด ไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส (และการสูญเสียเกือบทั้งหมดภายใต้สถานการณ์ 2 องศาเซลเซียส) สิ่งนี้จะนำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างถาวร และมีผลกระทบสำคัญต่อชุมชนชายฝั่งที่บริโภคและใช้ประโยชน์สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการัง
ในขณะที่จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจข้อจำกัดของการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศอย่างถ่องแท้ เป็นที่ชัดเจนว่าการสูญเสียและความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว และชุมชนจำนวนมากขาดทรัพยากรในการจัดการกับสิ่งเหล่านี้ แผนและนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศควรคำนึงถึงความสูญเสียและความเสียหายควบคู่ไปกับการลดและการปรับตัว
ปฏิบัติการที่ประชาคมโลกดำเนินการในเรื่องการสูญเสียและความเสียหาย
เมื่อ UNFCCC ถูกร่างขึ้นในปี 2534 วานูอาตู (ในนามของ Alliance of Small Island States) เสนอให้สร้างโครงการประกันภัยเพื่อจัดหาทรัพยากรทางการเงินให้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น แต่ละประเทศจะมีส่วนร่วมโดยอิงจากสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติระดับโลก
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธ และไม่มีการกล่าวถึงประเด็นการสูญเสียและความเสียหายในเนื้อหาของอนุสัญญา UNFCCC ที่ได้รับการรับรองในปี 2535
การสูญเสียและความเสียหายปรากฏขึ้นครั้งแรกในผลการเจรจา COP ในปี 2550 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการบาหลี(Bali Action Plan) จนกระทั่งปี 2556 ประเด็นดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างแท้จริงใน COP เมื่อประเทศภาคีร่วมจัดตั้งกลไกระหว่างประเทศแห่งวอร์ซอว่าด้วยการสูญเสียและความเสียหาย(the Warsaw International Mechanism on Loss and Damage-WIM) เพื่อหลีกเลี่ยง ลดขนาด และจัดการกับการสูญเสียและความเสียหาย WIM ได้รับมอบหมายให้แบ่งปันความรู้ เสริมสร้างความเข้มแข็งในการสนทนาระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และระดมความเชี่ยวชาญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการและการสนับสนุนเพื่อจัดการกับการสูญเสียและความเสียหาย แต่ทั้ง WIM และกลไกที่จัดตั้งขึ้นอื่น ๆ ไม่ได้ส่งมอบเงินทุนเพื่อช่วยประเทศต่างๆ ในการจัดการกับการสูญเสียและความเสียหาย
กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาประสบความสำเร็จในการกำหนดเป้าหมายเพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสในความตกลงปารีสและในเนื้อหา – มาตรา 8 ของความตกลง – ว่าด้วยการสูญเสียและความเสียหาย แต่ยังเผชิญกับข้อจำกัดบางประการที่ความตกลงไม่ได้กล่าวถึงการเงินที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียและความเสียหาย และกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วกำหนด “ภาษา” ในเอกสาร COP ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า การสูญเสียและความเสียหาย “ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่เป็นพื้นฐานสำหรับภาระรับผิดหรือการชดเชยใดๆ” การสนทนาว่าด้วยการสูญเสียและความเสียหายจะมีศูนย์กลางอยู่ที่ “ความเป็นธรรมด้านสภาพอากาศ” แม้ว่าบางประเทศที่พัฒนาแล้วยังคงใช้ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับภาระรับผิดชอบและการชดเชย
ที่ COP26 กลุ่มแนวร่วมของประเทศที่เปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศได้สนับสนุนให้ตั้งกองทุนใหม่ว่าด้วยการสูญเสียและความเสียหาย ข้อเสนอเร่งด่วนของพวกเขาเกิดจากความคับข้องใจกับการรับมือที่ไม่เพียงพอต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศของประชาคมโลก ซึ่งรวมถึงการขาดความมุ่งมั่นของพันธกรณีใหม่เพื่อจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส การดำเนินการที่ไม่เพียงพอตามพันธกรณีที่มีอยู่ กองทุนการปรับตัวที่จำกัดและเข้าถึงได้ยาก ภัยคุกคามและผลกระทบที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กลุ่มประเทศที่เปราะบางเผชิญอยู่
อีกครั้งหนึ่งที่ข้อเสนอในการจัดตั้งกองทุนว่าด้วยการสูญเสียและความเสียหาย(Loss and Damage Financing)นี้ถูกปฏิเสธอีกครั้งโดยกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
ที่ COP26 ประเทศต่างๆ จัดตั้งเวทีสนทนากลาสโกว์สองปี(a two-year Glasgow Dialogue) เพื่อหารือเกี่ยวกับการเตรียมการที่เป็นไปได้สำหรับเงินทุนว่าด้วยการสูญเสียและความเสียหาย และตกลงที่จะดำเนินการและให้ทุนต่อ Santiago Network on Loss and Damage (SNLD) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อจัดการกับการสูญเสียและความเสียหาย
เวทีสนทนากลาสโกว์ครั้งแรกเกิดขึ้นที่การประชุมเจรจาย่อย(Intersessional) ที่กรุงบอนน์ในเดือนมิถุนายน 2565 โดยจะมีการประชุมครั้งต่อไปใน Intersessional แต่ละครั้งซึ่งปกติจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนที่กรุงบอนน์ ไปจนถึงปี 2567 กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้ยกระดับความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับเงินทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ถูกทำลายจากการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และเรียกร้องให้มีการหาทางออกโดยทันที ในขณะที่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วรับทราบถึงความจำเป็นในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว พวกเขาล้มเหลวในการชี้แจงขั้นตอนดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา กลุ่มประเทศกำลังพัฒนายังแสดงความกังวลว่าเวทีการสนทนากลาสโกว์ จะไม่เชื่อมต่อกับการเจรจาอย่างเป็นทางการที่ COP27 และกังวลว่าจะเป็นเพียง “การคุยกัน” โดยไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนภายในปี 2567
ในทำนองเดียวกัน การเจรจาย่อยที่กรุงบอนน์ในเดือนมิถุนายน 2565 ก็มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยในการออกแบบ Santiago Network on Loss and Damage (SNLD) ข้อถกเถียงที่ใหญ่ที่สุดคือการสร้างสมดุลในการกำกับดูแลระหว่างกลไกของระบบราชการที่เทอะทะ และศักยภาพของ SNLD เพื่อมุ่งมั่นดำเนินการและสร้างผลสะเทือนสูงสุด
หลังจากขาดความคืบหน้าโดยรวมที่บอนน์ ประเด็นว่าด้วย “การสูญเสียและความเสียหาย” จะกลับมาเป็นศูนย์กลางอีกครั้งที่ COP27 โลกจะจับตาดูว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วใช้โอกาสนี้เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับกลุ่มประเทศที่เสี่ยงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศหรือไม่ โดยเห้นชอบที่จะจัดตั้งกลไกทางการเงินคุณภาพสูงเพื่อจัดการกับการสูญเสียและความเสียหาย (อ่านข้อเรียกร้องของ ACT2025 ในการจัดการกับการสูญเสียและความเสียหาย)
การสูญเสียและความเสียหายเป็นประเด็นว่าด้วยภาระรับผิดและการชดใช้ค่าใช้จ่ายหรือไม่
เหตุผลหนึ่งที่ประเด็น “การสูญเสียและความเสียหาย” เป็นที่ถกเถียงกันเนื่องจากความกังวลจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในแง่ที่ว่า การชดใช้การสูญเสียและความเสียหายที่เกิดจากผลกระทบที่เลวร้ายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศอาจถูกตีความว่าเป็นการยอมรับความรับผิดทางกฎหมาย กระตุ้นให้เกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและการเรียกร้องค่าชดเชยในวงกว้าง ดังนั้น กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจึงต่อสู้เพื่อรวมเอา “ภาษา” ในความตกลงปารีสเพื่อป้องกันจากการถูกบังคับในทางกฏหมายให้จ่ายเงินชดเชย
อย่างไรก็ตาม การเงินสำหรับการสูญเสียและความเสียหายไม่ควรถูกระงับโดยการอภิปรายเกี่ยวกับคำถามเกี่ยวกับภาระรับผิด(liability)และการชดเชย (compensation) กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วควรจัดหาเงินทุนเหล่านี้ไม่ใช่เพราะความรับผิดทางกฎหมาย แต่เพราะการสนับสนุนกลุ่มประเทศเปราะบางซึ่งกำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และมีอยู่จริงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่ควรทำ ในการสัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้ ดร. Saleemul Huq จาก International Center for Climate Change and Development และแนวร่วม ACT2025 กล่าวว่าสิ่งที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้องคือ “การเงินสำหรับการสูญเสียและความเสียหายด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน”
ที่ COP27 คณะเจรจาจะต้องหาแนวทางที่ใช้งานได้จริงและเริ่มช่วยเหลือชุมชนที่เผชิญวิกฤตสภาพภูมิอากาศและไม่มีกลไกในการสนับสนุนทางการเงิน
เม็ดเงินที่ถูกใช้ในการจัดการเรื่องการสูญเสียและความเสียหาย และต้องใช้อีกเท่าไร
มีการวิจัยอย่างจำกัดในการประเมินขนาดของเงินทุนที่จำเป็นในการจัดการกับการสูญเสียและความเสียหายทั่วโลก และจำเป็นต้องมีความรู้และความเป็นผู้นำในด้านนี้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีรายงานฉบับหนึ่งประมาณการว่าต้นทุนทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจากความเสียหายที่เหลือนอกเหนือจากการปรับตัวจะเพิ่มขึ้นจาก 116-435 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 เป็น 290-580 พันล้านดอลลาร์ในปี 2573 และอาจสูงถึงระดับ 1-1.8 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2593
เงินทุนสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(mitigation) และการปรับตัว(adaptation) ช่วยหลีกเลี่ยงและลดการสูญเสียและความเสียหาย แต่ไม่มีกลไกที่ชัดเจนในการจัดการกับองค์ประกอบที่สาม: การจัดการกับการสูญเสียและความเสียหายเมื่อเกิดภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศ (รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแบบคืบคลาน)
ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศชี้ไปที่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการประกันภัยว่าเป็นเงินทุนประเภทหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มความต้องการระดับโลกนี้สำหรับความช่วยเหลือหลังจากเกิดภัยพิบัติ แต่ในขณะที่การจัดหาเงินทุนประเภทนี้มีความสำคัญอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ได้เข้าใกล้กับการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มขนาดและขอบเขตของปัญหา ตัวอย่างเช่น ประเทศปาเลากังวลว่าปลาทูน่าจะอพยพออกจากพื้นที่จับปลาเมื่อน้ำทะเลอุ่นขึ้น หากไม่มีความสามารถในการจับปลาทูน่า ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกบางประเทศอาจสูญเสียรายได้โดยเฉลี่ย 37% ของรายได้ของรัฐบาล แต่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไม่ได้เตรียมพร้อมหรือกำหนดให้แก้ไขปัญหานี้ ซึ่งจะเลวร้ายลงเมื่อเวลาผ่านไป
นอกจากนี้ ปรากฎว่าแม้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะเหมาะสม ประชาคมโลกก็ยังไม่ตอบสนองต่อความต้องการอย่างเพียงพอ การวิจัยล่าสุดของ Oxfam พบว่าการอุทธรณ์ด้านเงินทุนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วนั้นสูงกว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วถึงแปดเท่า และในช่วงห้าปีที่ผ่านมาการอุทธรณ์เกือบครึ่งหนึ่งไม่ได้รับการตอบสนอง สิ่งนี้นำไปสู่การขาดแคลนเงินทุนสูงถึง 33 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาดังกล่าว
แม้จะมีการกล่าวถึงเมื่อเร็วๆ นี้ในรายงานของ IPCC WGII ว่าประมาณ 24% ของโครงการที่ได้รับอนุมัติของ Green Climate Fund คือเงินทุนเรื่องการสูญเสียและความเสียหาย ในขณะที่โครงการย่อยๆ ลงไปซึ่งคิดเป็น 16% ของโครงการที่ได้รับอนุมัติทั้งหมดระบุอย่างชัดเจนถึงการสูญเสียและความเสียหายที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมหลักของโครงการ เป็นเรื่องยากที่จะ ระบุจำนวนเงินทุนที่มีอยู่สำหรับการสูญเสียและความเสียหายอย่างชัดเจนและชัดเจน การขาดคำจำกัดความที่ตกลงกันไว้ทำให้ยากต่อการติดตามตรวจสอบโครงการที่อาจถือเป็นเรื่องของการสูญเสียและความเสียหาย และสร้างความคลุมเครือของความเชื่อมโยงระหว่างการปรับตัวและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ครั้งแรกที่เงินทุนถูกจัดสรรเพื่อแก้ไขปัญหานี้มาจากสกอตแลนด์และวัลโลเนีย (เบลเยียม) ในระหว่างการประชุม COP26 ในกลาสโกว์ โดยมอบเงิน 2 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2.6 ล้านดอลลาร์) และ 1 ล้านยูโร (ประมาณ 1.1 ล้านดอลลาร์) ตามลำดับ ( รวมถึงคำมั่นของกลุ่มองค์กรการกุศล) แม้ว่าเงินบริจาคเหล่านี้จะมีจำนวนค่อนข้างน้อย แต่ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากกลุ่มประเทศที่เสี่ยงต่อผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถูกมองว่าเป็นช่องทางให้ประเทศต่างๆ รวมตัวกันอยู่เบื้องหลังการสร้างกลไกภายใต้การเจรจาของ UNFCCC เพื่อจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมในอนาคต (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของการเงินว่าด้วยการสูญเสียและความเสียหาย)
กองทุนว่าด้วยการสูญเสียและความเสียหายทำงานอย่างไร
การจัดการกับการสูญเสียและความเสียหายอาจครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ และควรกำหนดรูปแบบโดยชุมชนที่กำลังประสบกับสิ่งเหล่านี้ ตัวอย่าง ได้แก่ การประกันภัยพืชผลตามดัชนีสภาพอากาศสำหรับเกษตรกร หรือการจัดสรรเงินทุนในเชิงรุกเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญขึ้นใหม่เมื่อเกิดภัยพิบัติ
นอกจากนี้ยังอาจนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทันทีหลังจากเหตุการณ์สภาพอากาศเลวร้าย โดยให้การบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟูผู้ประสบภัยผ่านการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน ทำให้ระบบการคุ้มครองทางสังคมสามารถโอนเงินฉุกเฉินไปยังผู้ยากไร้ และส่งเสริมสถาบันสินเชื่อรายย่อยเพื่อจัดหาเงินทุนสำหรับการฟื้นฟูการดำรงชีวิต
เงินทุนดังกล่าวยังสามารถใช้เพื่อช่วยเหลือผู้คนในการสร้างใหม่เมื่อบ้านของพวกเขาถูกทำลาย ตัวอย่างเช่น ในขณะที่ระบบเตือนภัยล่วงหน้าในบังกลาเทศช่วยลดการเสียชีวิตจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วได้อย่างมาก ผู้คนออกจากที่พักพิงจากพายุเพื่อค้นหาบ้านเรือนและวิถีชีวิตของพวกเขาที่ถูกทำลาย และด้วยเหตุนี้จึงประสบกับความสูญเสียและความเสียหายอย่างไม่ต้องสงสัย
สุดท้าย เมื่อจำเป็น เงินทุนสำหรับการสูญเสียและความเสียหายสามารถช่วยในการย้ายถิ่นและการย้ายถิ่นฐานของผู้พลัดถิ่นถาวร และหรือช่วยกระจายทักษะต่างๆ หากอาชีพเดิมของพวกเขาไม่มีอยู่อีกต่อไป
มุ่งสู่ COP27
มาตรการหลักเพื่อความสำเร็จในการประชุมสุดยอด COP27 คือ โลกจะยืนเคียงข้างผู้คนกว่า 3 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศหรือไม่ รายงานล่าสุดของ IPCC แสดงให้เห็นว่าผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดการหยุดชะงักในวงกว้างอยู่แล้ว และไม่มีทวีปใดที่ตกอยู่ในอันตรายมากไปกว่าแอฟริกา ซึ่งผลผลิตพืชผลหดตัวหนึ่งในสามนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
เป็นการเหมาะสมที่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะใช้การประชุม COP27 ซึ่งจัดในแอฟริกาโดยอียิปต์ เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับกลุ่มประเทศที่เปราะบางด้วยการสนับสนุนทางการเงินที่มากขึ้นเพื่อปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบของสภาพอากาศเพื่อลดความรุนแรงและในที่สุดก็ช่วยจัดการความสูญเสียที่ร้ายแรง และความเสียหายที่พวกเขากำลังประสบอยู่แล้ว ซึ่งทั้งสองอย่างนี้มีความสำคัญต่อการสร้างความยืดหยุ่นต่อผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่จะเลวร้ายลงต่อไป