Net zero กลายเป็น megatrend เป็นจุดขายของประเทศต่างๆ และบริษัทและหน่วยธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก ไทยก็ติดเทรนด์กับเขาด้วย ลืมตาก็ net zero หลับตาก็ net zero

คำถามคือ แม้เราจะบรรลุ net zero ในปี 2608 แต่หายนะสภาพภูมิอากาศหยุดไม่อยู่ ไม่ว่าจะเป็น extreme สุดๆ หรือแบบ slow onset ระบบภูมิอากาศมันสะสมโมเมนตัมไว้เยอะ กว่าจะเหยียบเบรกได้ มันวิ่งทะลุขีดจำกัดความปลอดภัยไปเรียบร้อยแล้ว และเกิดการสูญเสียและความเสียหาย(loss and damage) อย่างไม่หวนกลับคืนดังเดิมได้

เมื่อเร็วๆ นี้ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทั้งหลายระบุไปในทางเดียวกันว่า การละลายของพืดน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์จะทำให้ระดับน้ำทะเลโลกเพิ่มอย่างน้อย 27 ซม. ไม่ว่าเราจะลดการปล่อย GHG แค่ไหน net zero เพียงใดก็เลี่ยงไม่ได้

ผมคิดว่า climate policy ของไทยมันดูทะแม่งๆ กล่าวคือ ไทยเสี่ยงกับหายนะโลกร้อนอันดับ 9 ของโลก แต่นโยบายที่มีอยู่พูดถึง Loss and Damage น้อยมากถึงมากที่สุด ลองไปกาง policy ที่มีอยู่ก็ได้ ถ้าไม่เชื่อ

เราตะบี้ตะบันตอบโจทย์เรื่องการลดการปล่อย GHG (mitigation) เสียจนนโยบายการปรับตัว(adaptation) แทบจะไร้ความหมาย จริงๆ แล้วมันควรจะสมดุลกัน

การลดการปล่อย GHG นั้นจำเป็น แต่รัฐชอบสับขาหลอก ยังปล่อยให้ขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม สร้างเขื่อนไฟฟ้า และเปิดให้นำเข้าก๊าซฟอสซิลเหลว(LNG) เพิ่ม กว่าระบบพลังงานหมุนเวียนจะมีบทบาทหลักเกือบเต็มร้อยก็โน่นปี 2593 ช้าไปครับ ถึงตอนนั้น ไม่มีใครรู้หรอกว่า สมดุลใหม่ของระบบภูมิอากาศโลกจะเป็นอย่างไร มันจะเป็นไปตามแบบจำลองสภาพภูมิอากาศที่คาดการณ์ไว้หรือไม่อย่างไร

การลดการปล่อย GHG ยิ่งหน้าไหว้หลังหลอก เมื่อมีแผน net zero – ปล่อยเท่าไรก็ดูดกลับเท่านั้น เอาอะไรมาดูดกลับล่ะ ก็ผืนป่ากับที่ดินไง เอามาจากไหนล่ะเพราะป่าเมืองไทยก็สร้างสมดุลวัฐจักรคาร์บอนอยู่แล้วที่ประมาณ 90-100 ล้านตัน

งั้นขอพื้นที่ป่าอีกสัก 11-12 ล้านไร่เพื่อดูด GHG กลับราวๆ อีก 20 ล้านตัน (รวมกับศักยภาพการดูดกลับเดิมก็จะเป็นราว 120 ล้านตัน) มันจะได้หักลบกลบหนี้กลับที่ยังจะต้องปล่อยอีก 120 ล้านตัน

ปริมาณที่ปล่อย 120 ล้านตันในปี 2608 ก็มาจากธุรกิจที่ดำเนินไปตามปกติของอุตสาหกรรมฟอสซิล(ถ่านหิน ก๊าซ น้ำมัน) ปล่อยได้ เดี๋ยวหักลบออกจากการดูดกลับของพื้นที่ป่า หรือไม่ก็ชดเชยด้วยคาร์บอนเครดิตที่ซื้อขายกันในตลาด หรือไม่ก็ใช้เงินลงทุนดักจับ CO2 ไปฝังในธรณีใต้ทะเล ลุยไปเลย Geo-engineering

กลับมาที่คำถาม ถ้าเราบรรลุแผน Net Zero ของไทยหรือของโลกได้ภายในปี 2593 หรือปี 2608 แต่วิกฤตสภาพภูมิอากาศกลายเป็นหายนะ โอกาสตอนนี้น้อยกว่าครึ่งที่จะชะลอโมเมนตัมของความฉิบหาย

เราปรับตัวให้เข้ากับสภาพธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปก็แล้ว เข้ากับอุณหภูมิพื้นผิวที่เพิ่มขึ้น กับพายุหน้ามรสุมที่หนักหน่วงและคาดการณ์ยากก็แล้ว ก็ยังมีผลกระทบที่การสูญเสียและความเสียหายเกิดขึ้น

ผู้ที่มีทรัพยากรมากกว่าอาจจะรอด แต่ก็จะอยู่รอดท่ามกลางเศษซากปรักหักพังของสังคมที่เรารู้จัก เมืองที่เราอยู่ บ้านที่เรารัก ในวันที่ต่อให้เรามีน้ำใจต่อกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน เราก็ไม่อาจเหลือใคร

ดังนั้น การเตรียมรับมือกับหายนะสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่การสร้างความกลัว แต่คือความหวัง

การสร้างความหวัง ต้องเริ่มต้นจาก Real Zero ลดจริงที่แหล่งกำเนิด การหยุดฟอกเขียว (ไล่คนออกจากป่า หรือสร้างอาณานิคมคาร์บอน เพื่อซื้อขายคาร์บอน ไปจนถึงสร้างเขื่อน) ทะลายอำนาจผูกขาดของอุตสาหกรรมฟอสซิลในระบบพลังงานไทย และสร้างระบบพลังงานแบบกระจายศูนย์/ประชาธิปไตยทางพลังงาน ออกแบบระบบเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่น เกิ้อกูล ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ฯลฯ

ที่สำคัญ ร่วมกับประชาคมโลกที่เปราะบาง/เสี่ยงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศในการจัดตั้งกองทุน Loss and Damage ที่ COP27

นี่ไม่มากไป หากรัฐบาลไทยมี political will

เรามีรักษาการณ์นายกรัฐมนตรี ผู้ที่มีหลายบทบาท เช่น ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ฯลฯ

คนนี้แหละ ที่ผมจะรอดูในช่วง COP27 ที่อียิปต์