เขียนโดย Nathan Cogswell, David Waskow, Rebecca Carter, Jamal Srouji, Nate Warszawski, Preety Bhandari, Nisha Krishnan and Maria Lemos Gonzalez https://bit.ly/3SAXnnj 

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญา UNFCCC ครั้งที่ 27 หรือ COP27 ในปี 2565 นี้จะเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตการณ์ทั่วโลก

ผลกระทบจากโควิด-19 และการรุกรานยูเครนของรัสเซียส่งผลให้ราคาอาหารและพลังงานพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่ภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกำลังส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางและทำลายล้าง พายุฝน ความร้อน ภัยแล้ง ไฟล้างผลาญ และพายุหมุนที่ส่งผลกระทบแทบทุกมุมของโลก

หายนะจากสภาพภูมิอากาศในปากีสถานคร่าชีวิตผู้คนกว่า 1,000 คน และหลายสิบล้านคนต้องพลัดถิ่น น้ำท่วมและพายุในทางตอนใต้ของแอฟริกาใต้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 คร่าชีวิตผู้คนไปหลายร้อยคนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลงในทันที ผู้คนนับล้านในเขตจะงอยแห่งแอฟริกา(Horn of Africa)กำลังอดอยาก ความแห้งแล้งรุนแรงส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารและพลังงานของจีน ระบบการผลิตไฟฟ้าขัดข้อง ต้องมีการแบ่งปันพลังงานและน้ำ และยุโรปกำลังเผชิญกับภัยแล้งครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 500 ปี พร้อมกับคลื่นความร้อนที่แผดเผา

วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นเหล่านี้ตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศต่างๆ ในการทำงานร่วมกันที่ COP27 เพื่อเร่งปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศและสร้างความเชื่อมั่นขึ้นใหม่ว่าการดำเนินการร่วมกันทั่วโลกสามารถแก้ปัญหาความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติได้

COP27 จัดขึ้นที่เมืองชาร์ม เอล ชีค-อียิปต์ ตั้งแต่วันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565 ผู้มีอำนาจตัดสินใจต้องดำเนินการตามภารกิจหลัก 6 ด้านเพื่อเดินหน้าและสนับสนุนปฏิบัติการกอบกู้สภาพภูมิอากาศของโลก

1. จัดตั้งกองทุนเพื่อรับมือกับการสูญเสียและความเสียหาย(Loss and Damage)

ช่วงปิดจบ COP26 ที่กลาสโกว์ในปี 2564 หนึ่งในคำถามโดดเด่นคือประเทศต่างๆ จะจัดการกับความต้องการทางการเงินในเรื่องการสูญเสียและความเสียหายอย่างไร ผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเหล่านี้ซึ่งรุนแรงและชุมชนไม่อาจปรับตัวได้ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเสนอให้จัดตั้ง “กลไกทางการเงิน” หรือ “กองทุนว่าด้วยการสูญเสียและความเสียหาย” เป็นการเฉพาะ

ข้อเสนอนี้ถูกตีกลับโดยประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป และตกลงให้จัดเวทีคุยเรื่องนี้(ที่เรียกว่า the Glasgow Dialogue on Loss and Damage) เพื่ออภิปรายถึงความเป็นไปได้ในการตระเตรียมกองทุนและเริ่มดำเนินการในปี 2567 การเจรจาเกิดขึ้นครั้งแรกในเวทีเจรจาที่บอนน์ เยอรมนีในเดือนมิถุนายน 2565 ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศบอกชัดเจนว่าการพูดคุยดังกล่าวต้องนำไปสู่การตั้งกลไกของกองทุน และกองทุนว่าด้วยการสูญเสียและความเสียหายดังกล่าวนี้ไม่ควรต้องรอให้เกิดขึ้นในปี 2567 แต่ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศแย้งว่ามีกลไกทางการเงินอยู่แล้วที่จะจัดสรรเพื่อหลีกเลี่ยง ลดและต่อกรกับการสูญเสียและความเสียหาย เช่น กองทุนภูมิอากาศสีเขียว(Green Climate Fund : GCF ซึ่งในปัจจุบันยังไม่รวมเรื่อง Loss and Damage) กองทุน Global Shield กองทุน InsuResilience หรือกลไกภายใต้สำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (the United Nations Office for Disaster Risk Reduction : UNISDR) ประชาคมโลกควรที่จะสร้างความเข้มแข็งของกลไกดังกล่าวนี้แทนที่จะจัดตั้งกลไกใหม่

กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและผู้เชี่ยวชาญภาคประชาสังคมแย้งว่า กลไกการเงินที่มีอยู่ไม่เพียงพออย่างยิ่ง ความจำเป็นของกลไกทางการเงินว่าด้วยการสูญเสียและความเสียหายนั้นแตกต่างออกไป และเพิ่มเติมจากกลไกทางการเงินเพื่อการปรับตัว ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม หรือความช่วยเหลือด้านการพัฒนา

อย่างน้อยที่สุด COP 27 ควรเริ่มต้นกระบวนการในการจัดเตรียมเงินทุนอย่างเป็นทางการเพื่อรับมือกับประเด็นการสูญเสียและความเสียหายภายใต้ UNFCCC ในขณะเดียวกัน การริเริ่มที่อยู่นอกเหนือการเจรจาอย่างเป็นทางการของ UN ก็มียังมีบทบาทสำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งกองทุนที่มีขนาดตามความจำเป็น

เดิมทีประเทศต่างๆ ไม่ได้ถูกกำหนดให้หารืออย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการตระเตรียมกองทุนด้านการสูญเสียและความเสียหายที่ COP27 แต่กลุ่มประเทศ G77 และจีน (ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว หมายถึงประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด) ได้ขอให้เพิ่มวาระนี้เข้าไป ซึ่งจะต้องมีฉันทามติจากทุกรัฐภาคี ทั้งกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ในวันแรกของการเจรจา หากประเทศต่างๆ ไม่เห็นด้วยกับวาระนี้ การเดินหน้าการประชุม COP27 อาจล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้น

ในเรื่องข่าวดี จากคำมั่นสัญญาของสก๊อตแลนด์และวอลโลเนีย(เบลเยียม) และองค์กรการกุศลของกลุ่มมหาเศรษฐีใจบุญในช่วง COP26 เดนมาร์กประกาศให้เงินทุน 100 ล้านโครนเดนมาร์ก (ประมาณ 13 ล้านดอลลาร์) ในเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา ให้กับการสูญเสียและความเสียหาย ประเทศต่างๆ ในกลุ่ม Climate Vulnerable Forum และ the Vulnerable Twenty (V20) Group จะเปิดตัวแคมเปญระดมทุนว่าด้วย “การสูญเสียและความเสียหาย” ในต้นเดือนตุลาคม 2022 สิ่งเหล่านี้เป็นการพัฒนาเชิงบวกที่เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการยกระดับประเด็นการสูญเสียและความเสียหายในการประชุม COP27

นอกเหนือจากการอภิปรายที่เป็นไปได้เกี่ยวกับการตระเตรียมกองทุนด้านการสูญเสียและความเสียหาย ที่ประชุม COP27 คณะผู้เจรจายังติดพันกับการดำเนินการเครือข่าย Santiago ว่าด้วยการสูญเสียและความเสียหาย เครือข่ายนี้สร้างขึ้นในปี 2562 เพื่อให้ความรู้และความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่ประเทศต่างๆ ในการจัดการกับการสูญเสียและความเสียหาย การที่คณะผู้เจรจาดำเนินการอย่างเต็มที่ในเครือข่าย Santiago นั้นเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จอีกประการหนึ่งของ COP27

2. เพิ่มการสนับสนุนทางการเงินด้านการปรับตัว

เนื่องจากมีหลายๆ ประเทศจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติ(National Adaptation Plan, NAPs) ของตน และให้คำมั่นที่มีรายละเอียดและความมุ่งมั่นมากขึ้นในองค์ประกอบด้านการปรับตัวภายใต้แผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจก(NDC) ของพวกเขา จุดสนใจทั่วโลกกำลังเปลี่ยนจากการวางแผนไปสู่การลงมือทำ รายงานล่าสุดของ IPCC ระบุว่าผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นนั้น จำเป็นต้องมีการดำเนินการด้านการปรับตัวให้เร็วขึ้นและขยายขนาดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศและชุมชนที่เปราะบาง

เงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศต้องขยายเพิ่มขึ้นอย่างมากเพื่อรับมือกับความต้องการในการปรับตัว ในช่วง COP26 กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วตกลงที่จะเพิ่มเงินทุนอย่างน้อยสองเท่าสำหรับการปรับตัวจากระดับปี 2562 ภายในปี 2568 ในราว 40,000 ล้านดอลลาร์ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากเรียกร้องให้มีการจัดหาเงินทุนเพื่อการปรับตัวในระดับที่สูงขึ้น และสำหรับการเงินเพื่อการปรับตัวให้สอดคล้องกับความทุ่มเทในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รายงานล่าสุดจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) แสดงให้เห็นว่าการเงินเพื่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึงปี 2563 (ปีล่าสุดที่มีข้อมูล) จาก 20,300 ล้านดอลลาร์เป็น 28,600 ล้านดอลลาร์ แต่การขยายเงินทุนจะต้องดำเนินการต่อหากต้องการบรรลุเป้าหมาย 40,000 ล้านดอลลาร์และมากกว่านั้น

ที่ COP27 ประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องระบุด้วยว่าพวกเขาจะรับประกันว่าการเงินด้านการปรับตัวนี้จะไปถึงผู้ที่ต้องการมากที่สุดได้อย่างไร อาจหมายถึงการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมสำหรับการปรับตัวที่นำโดยท้องถิ่น เพื่อให้มั่นใจว่าคนในท้องถิ่นและกลุ่มคนที่มักจะเสี่ยงต่อผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากกว่าจะมีสิทธิ์ตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรทางการเงิน และสามารถเข้าถึงเงินทุนและทรัพยากรอื่น ๆ ที่พวกเขาต้องการเพื่อสร้างศักยภาพภูมิคุ้มกันจากวิกฤต(resilience)

ประเทศต่างๆ จะถูกกดดันให้ดำเนินการตามเป้าหมายระดับโลกในการปรับตัว หรือที่เรียกว่า the Global Goal on Adaptation-GGAใน COP27 ที่อียิปต์ ภายใต้มาตรา 7.1 ของความตกลงปารีสในปี 2558 เป้าหมายนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีกรอบการทำงานเพื่อกำหนดกระบวนการ การดำเนินการ และการสนับสนุนที่จำเป็นในการเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน(resilience) และลดความเปราะบาง ในขณะเดียวกันก็มีส่วนช่วยในการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อช่วยกำหนดเป้าหมายและวิธีการวัดและประเมินผล ประเทศต่างๆ จัดตั้งงานโปรแกรมกลาสโกว์-ชาร์ม เอล-ชีค (GlaSS) ว่าด้วยเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวที่ COP26 เพื่อดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 ถึง 2566 โดย COP27 จะเป็นเจ้าภาพการประชุมเชิงปฏิบัติการสี่ปีภายใต้งานโปรแกรมดังกล่าว ในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการ GlaSS ที่จะเกิดขึ้น ประเทศต่างๆ จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ กลุ่มผู้นำของประเทศรัฐภาคีจะต้องรับรองว่า การตั้งเป้าหมายที่มุ่งมั่นด้วยกลไกการติดตามที่แข็งแกร่งนั้นมีความสำคัญทางการเมืองอย่างสูง

การอภิปรายในงานโปรแกรม GlaSS ยังให้โอกาสในการช่วยขับเคลื่อนแนวทางการปรับตัวที่นำโดยท้องถิ่นอย่างเท่าเทียม GGA อาจรวมตัวชี้วัดสำหรับการติดตามความคืบหน้าในการปรับตัวที่นำโดยท้องถิ่น รวมถึงปริมาณและคุณภาพของการเงินที่เข้าถึงชุมชนท้องถิ่น งานโปรแกรม GlaSS ยังสามารถกำหนดคำจำกัดความทั่วไปของ “ท้องถิ่น” และ “นำโดยท้องถิ่น” ยอมรับอย่างเป็นทางการถึงหลักการเพื่อการปรับตัวที่นำโดยท้องถิ่น และทำให้มั่นใจว่าชุมชนและองค์กรในท้องถิ่นสามารถมีส่วนร่วมในการอภิปรายเกี่ยวกับเป้าหมายระดับโลก

การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการติดตามและประเมินการปรับตัวก็มีความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากหลายประเทศหันมาดำเนินการรายงานแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติ(National Adaptation Plan) ที่เพิ่งเสร็จสิ้นและแผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจก(NDC) ที่มีความมุ่งมั่นมากขึ้น หลายประเทศกำลังพัวพันกับวิธีการสร้างตัวชี้วัดระดับชาติและระบบการติดตามตรวจสอบ ที่ COP27 ความคืบหน้าของ GGA ควรรวมถึงการพิจารณาถึงวิธีเชื่อมโยงเป้าหมายการปรับตัวทั่วโลกกับความพยายามของประเทศต่างๆ ในการติดตามการนำ NAP และ NDC ไปปฏิบัติ

3. ตั้งเป้าหมายที่มุ่งมั่นมากขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับประเทศ

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของปฏิญญากลาสโกว์ที่ COP26 ประเทศต่างๆ ได้รับการร้องขอให้ “ทบทวนและเสริมสร้าง” เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2573 หรือที่เรียกว่า “แผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจก(Nationally determined contributions-NDCs) ภายในปี 2565 ตามเป้าหมายความตกลงปารีสเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส (2.7 องศาฟาเรนไฮต์) จนถึงตอนนี้ มีเพียง 23 ประเทศเท่านั้นที่เสนอ NDC ใหม่หรืออัปเดตนับตั้งแต่ COP26

กลุ่มประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่เสนอแผนการสภาพภูมิอากาศที่มีความทะเยอทะยานมากขึ้น รวมถึง อินเดีย ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และอียิปต์ ประเทศอื่นๆ เม็กซิโก ตุรกี เวียดนาม และชิลี คาดว่าจะเผยแพร่ NDC ฉบับปรับปรุงหรือฉบับขยายในปลายปีนี้ แม้ว่าพวกเขาจะพลาดกำหนดเส้นตายในการรวมไว้ในรายงานการสังเคราะห์ของสหประชาชาติที่จะเผยแพร่ก่อน COP27 ทุกประเทศที่เข้าร่วมเจรจา COP27 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปล่อยมลพิษรายใหญ่ ควรเสริมสร้างเป้าหมายการปล่อยมลพิษในปี 2030 เป้าหมายเหล่านี้ยังต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายและการลงทุนที่สำคัญ เพื่อเปลี่ยนเป้าหมายเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติ

ในขณะที่ไม่มีที่ว่างในการถอยหลังต่อพันธกรณีด้านสภาพภูมิอากาศ ในปี 2565 ประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่หลายประเทศดูเหมือนจะทำอย่างนั้นเพื่อตอบสนองต่อวิกฤตพลังงานที่เกิดจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย การต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนก๊าซฟอสซิล หลายประเทศในสหภาพยุโรปหันกลับมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกครั้งและติดต่อประเทศในแอฟริกาและที่อื่น ๆ ในการจัดหาแหล่งก๊าซฟอสซิลใหม่ Ember Climate ซึ่งเป็นองค์กร Think Tank ประมาณการว่ารัฐบาลในยุโรปจะใช้เงินมากกว่า 48,000 ล้านดอลลาร์ในฤดูหนาวนี้สำหรับโครงสร้างพื้นฐานและแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ขยายเพิ่มขึ้น หรือแหล่งฟอสซิลแห่งใหม่

เวลาจะบอกว่าหากการลงทุนเหล่านี้เป็นสัญญาณชั่วคราวหรือจะบ่อนทำลายเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศ ในขณะเดียวกัน เราตระหนักดีว่ายุโรปกำลังดำเนินการตามขั้นตอนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเพื่อขยายขนาดพลังงานหมุนเวียน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และลดการใช้พลังงาน

สำนักเลขาธิการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติจะเผยแพร่รายงานในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งรวบรวมข้อผูกพันของประเทศต่างๆ ใน NDCs และยุทธศาสตร์ระยะยาว เนื่องจากยังขาดความคืบหน้า รายงานของ UN จะแสดงช่องว่างระหว่างเป้าหมายและแนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันของประเทศต่างๆ และระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จำเป็นต่อการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส

ปฏิญญากลาสโกว์(The Glasgow Climate Pact) จัดตั้งงานโปรแกรมเพื่อ “ขยายความมุ่งมั่นและการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วนในทศวรรษที่สำคัญนี้” เมื่อต้นปีนี้ ประเทศต่างๆ เริ่มเจรจาว่าแผนงานนี้จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งรวมถึงวัตถุประสงค์ ขอบเขต ผลลัพธ์ การเตรียมการและระยะเวลา ตัวอย่างเช่น งานโปรแกรมมุ่งไปที่การกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซในภาคส่วนสำคัญภายในปี 2573 อย่างไรก็ตาม ในอียิปต์ ประเทศต่างๆ จะเริ่มการเจรจาเหล่านี้ตั้งแต่ต้น และคาดว่าจะเสร็จสิ้นการตัดสินใจเกี่ยวกับงานโปรแกรมซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ COP27

4. รับรองถึงคำสัญญาว่าด้วยการเงินด้านสภาพภูมิอากาศ 100,000 ล้านดอลลาร์จะบรรลุผล

การเงินว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นหัวข้อสำคัญอีกครั้งในการประชุม COP27 โดยมีการอภิปรายตามกำหนดการจำนวนมากและการเชื่อมโยงกับวาระส่วนใหญ่ กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะถูกกดดันเพื่อสร้างความมั่นใจในการสนับสนุนทางการเงินที่เพียงพอแก่ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่เปราะบางต่อผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ในปี 2552 กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมุ่งมั่นที่จะระดมเงินทุน 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีไปยังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านสภาพอากาศ ทั้ง UNFCCC และรายงานอิสระแสดงให้เห็นอย่างสม่ำเสมอว่าประเทศที่พัฒนาแล้วยังไปไม่ถึงเป้าหมายมูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ตัวอย่างเช่น การประเมินเมื่อเร็วๆ นี้จาก OECD พบว่าประเทศที่พัฒนาแล้วระดมทุนได้เพียง 83,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2563

ก่อนการประชุม COP26 รัฐมนตรีจากเยอรมนีและแคนาดาได้นำเสนอแผนส่งมอบ Climate Finance ซึ่งให้รายละเอียดเกี่ยวกับความล้มเหลวของประเทศพัฒนาแล้วในการปฏิบัติตามพันธกรณีและแสดงความมั่นใจว่าจะมีการบรรลุ 100,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 การปรับปรุงแผนการกระจายเงินทุนก่อนประชุม COP27 และตั้งเป้าให้กระจ่างเกี่ยวกับความคืบหน้าในความมุ่งมั่นในการจัดหาเงินทุนเพื่อการปรับตัวแบบทวีคูณภายในปี 2568 การส่งมอบการเงินมีความสำคัญเนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั่วโลกและเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความไว้วางใจในความร่วมมือแบบพหุภาคี และเร่งแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศในประเทศกำลังพัฒนา

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคี (MDBs) สามารถทำอะไรได้มากกว่าด้วยโครงสร้างเงินทุนในปัจจุบัน ตามคำเรียกร้องในปฏิญญากลาสโกว์ และล่าสุดผ่านการทบทวนกรอบเงินทุนของธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคีอิสระ (ริเริ่มโดยกลุ่มประเทศ G20 ธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคียังคงเป็นส่วนสำคัญของสถาปัตยกรรมการเงินด้านสภาพภูมิอากาศและปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการปรับตัว การจัดหาเงินทุนของธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคีเป็นมากกว่า “การเงินว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ” ดังนั้นเงินทุนทุกประเภทที่พวกเขาจัดหาจะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายอุณหภูมิโลกและช่วยสร้างภูมิคุ้มกันจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

COP27 จำเป็นต้องทำให้เกิดความแน่นอนเกี่ยวกับการส่งมอบเงินทุน 100,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2566 รวมถึงการบรรลุคำมั่นสัญญาที่เกิดขึ้นในกลาสโกว์ไปจนถึงกองทุนด้านการปรับตัว การสื่อสารคำมั่นสัญญาใหม่และเพิ่มเติมแก่กองทุนแบบพหุภาคีและในการสนับสนุนแบบทวิภาคี COP27 ยังต้องส่งสัญญาณว่าการเงินเพื่อสนับสนุนด้านการปรับตัวจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการเงินเพื่อการปรับตัวยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับการสนับสนุนในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บทบัญญัติเพิ่มเติมของการเงินสาธารณะ การระดมภาคเอกชน การเข้าถึงการเงินที่ดีขึ้น และความยั่งยืนของหนี้ ทั้งหมดจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการอภิปรายใน COP27 โดยมีเป้าหมายเปลี่ยนผ่านเงินหลายล้านล้านดอลลาร์เพื่อปิดช่องว่างการลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายระยะยาวของความตกลงปารีส

ประเทศต่างๆ กำลังเตรียมร่างเป้าหมายทางการเงินโดยรวมที่จะมีผลบังคับใช้หลังจากปี 2568 โดยมีการเจรจาของผู้เชี่ยวชาญกลุ่มต่างๆ ข้อตกลงเกี่ยวกับเป้าหมายทางการเงินใหม่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2567 โดยอิงจากการเจรจาทางเทคนิคและการเมืองในอีกสองปีข้างหน้า รวมถึงการหารือระดับรัฐมนตรีในระดับสูง บทเรียนที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดหาและการระดมเงินทุนตามเป้าหมาย 100,000 ล้านดอลลาร์เป็นเครื่องหมายสำคัญในเรื่องการปรับขนาด ขอบเขต คุณภาพ และความรับผิดชอบของการตั้งเป้าหมายกองทุนขึ้นใหม่ โดยอาจเพิ่มประเด็นการสูญเสียและความเสียหาย(Loss and Damage)ให้เฉพาะเจาะจง

นอกจากนี้ ในปี 2564 แอฟริกาใต้ได้ประกาศความร่วมมือครั้งใหม่กับฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เพื่อระดมเงิน 8,500 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมสู่เศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันด้านสภาพภูมิอากาศ ประเทศผู้บริจาคต้องแน่ใจว่าการเตรียมการด้านเงินทุนตอบสนองความต้องการทางการคลังของแอฟริกาใต้ และสำหรับแอฟริกาใต้ต้องระบุแผนการลงทุนซึ่งคาดว่าจะเปิดเผยที่ COP27

ในเดือนมิถุนายน 2565 กลุ่มประเทศ G7+ สนใจที่จะเป็นพันธมิตรด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่คล้ายคลึงกันกับอินเดีย อินโดนีเซีย เซเนกัล และเวียดนาม ความร่วมมือเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการส่งมอบการเงินและสนับสนุนชุมชนและคนงานในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น จะได้รับการจับตาอย่างใกล้ชิดที่ COP27

5. ยกระดับการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake)ในการปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ

ภายใต้ความตกลงปารีส Global Stocktake เป็นกระบวนการที่จะมีการดำเนินการทุก ๆ ห้าปีเพื่อประเมินความคืบหน้าโดยรวมสู่เป้าหมายระยะยาวของความตกลง Global Stocktake ครั้งแรกเริ่มขึ้นในปี 2564 ที่ COP26 และจะสิ้นสุดในปี 2566 ที่ COP28 ซึ่งจะจัดขึ้นในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ COP26 เปิด Global Stocktake ครั้งแรกโดยเรียกร้องให้ประเทศและหน่วยงานที่ไม่ใช่รัฐส่งข้อมูลที่สามารถป้อนเข้าสู่กระบวนการ การเจรจาทางเทคนิค โดยการประชุม COP27 จะมีการพิจารณาข้อมูลที่มีการรวบรวม

ในปี 2565 รูปแบบใหม่และเป็นนวัตกรรมของ Global Stocktake รวมถึงการจัดอภิปรายแบบ world cafe เพื่อเปิดให้มีการสนทนาที่น่าสนใจระหว่างประเทศต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้เล่นที่ไม่ใช่ภาครัฐ ทว่า Global Stocktake จะต้องใช้เวลาในปี 2566 ในการประเมินทางเทคนิคของความคืบหน้าโดยรวมสู่เป้าหมายของความตกลงปารีสก่อนที่จะสรุปที่การประชุม COP28 ด้วยแพ็คเกจทางการเมืองที่จะขับเคลื่อนการดำเนินการไปข้างหน้า ในขณะที่มีการพิจารณาการทำงานร่วมกันกับเวทีการเจรจาและกระบวนการอื่นๆ ซึ่งเปิดตัวที่ COP26 รวมถึงการอภิปรายเกี่ยวกับเป้าหมายระดับโลกในด้านการปรับตัว(Adaptation) การสูญเสียและความเสียหาย(Loss and Damage) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(Mitigation) และเป้าหมายทางการเงินใหม่(Finance) เพื่อรับรองถึงปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องและมุ่งมั่น

ในท้ายที่สุด ผลลัพธ์จาก Global Stocktake จะต้องมีความเกี่ยวข้องทางการเมือง ไม่ใช่แค่การฝึกแบ่งปันข้อมูลควบคู่ไปกับคำแนะนำที่คลุมเครือและไม่สามารถดำเนินการได้ COP27 จะต้องช่วยในการกำหนดทิศทางของ Stocktake โดยให้พื้นที่สำหรับประเทศต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้เล่นที่ไม่ใช่ภาครัฐในการพัฒนาวิสัยทัศน์ร่วมกัน

6. แปลงคำมั่นสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศที่กลาสโกว์ให้เป็นจริง

COP26 ที่กลาสโกว์ รัฐบาล ภาคธุรกิจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายให้คำมั่นสัญญาที่น่าตื่นเต้นหลายประการ — ควบคุมการปล่อยก๊าซมีเทน ยุติการสูญเสียป่าไม้ ปรับภาคการเงินให้สอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 เร่งการเลิกใช้ถ่านหิน เพิ่มระดับการเงินเพื่อการปรับตัวภายในปี 2568(เทียบกับระดับปี 2562) การขยายการปรับตัวที่ริเริ่มโดยท้องถิ่น และยุติการจัดหาเงินทุนระหว่างประเทศสำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น แต่คำมั่นสัญญาเหล่านี้ต้องแปลงเป็นการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม หลักฐานของความก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายที่มุ่งมั่นจะต้องปรากฏให้เห็น การอภิปรายเกี่ยวกับภาระความรับผิดชอบมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อมีการให้คำมั่นสัญญาเพิ่มเติม

ที่ COP27 ผู้ที่เคยประกาศคำมั่นสัญญาที่มุ่งมั่นหรือเข้าร่วมการริเริ่มต่างๆ ควรจัดการกับความคืบหน้าจนถึงปัจจุบันและเปิดเผยอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลต้องแสดงให้เห็นว่าได้ทำงานไปถึงไหนแล้วและมีความคืบหน้าหรือไม่

เมื่อต้นปีนี้ เลขาธิการสหประชาชาติได้แต่งตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(High-Level Expert Group on Net-zero Emissions) จากผู้เล่นที่ไม่ใช่ภาครัฐ เพื่อระบุมาตรฐานที่เข้มงวดและชัดเจนสำหรับคำมั่นสัญญาที่จะเพิ่มการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ กลุ่มนี้ได้รับการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก รวมถึงวิธีการกำหนด Net Zero การกำกับดูแลเป้าหมาย การปรับให้สอดคล้องกับเป้าหมายระยะสั้น และการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ตลอดจนหัวข้ออื่นๆ กลุ่มจะนำเสนอข้อเสนอแนะต่อเลขาธิการสหประชาชาติในปลายปีนี้ แต่ต้องยกระดับการสนทนาเรื่องภาระความรับผิดชอบที่ COP27

ความสำเร็จของ COP27

COP27 กำลังจะเกิดขึ้นโดยมีฉากหลังเป็นโลกอันโกลาหล แต่ก็ถือเป็นโอกาสแห่งความเป็นไปได้ที่จะส่งเสริมความร่วมมือของประชาคมโลกที่มากขึ้นในช่วงเวลาที่โลกต้องการมากที่สุด เป็นโอกาสที่ผู้นำทั้งหลาย รัฐบาลต่างๆ และภาคธุรกิจควรคว้าไว้