แผน Net Zero ของไทยขึ้นสู่สายตาชาวโลกอย่างเป็นทางการโดย รมว.ทส.วราวุธ ที่ COP27

แผน Net Zero บอกว่าภาคการใช้ที่ดิน การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและป่าไม้ (Land Use Land Use Change and Forestry) หรือเรียกในภาษาทางเทคนิคว่า “ลูลูซีเอฟ” จะมีศักยภาพดูดซับก๊าซเรือนกระจก 120 ตัน ภายในปี พ.ศ.2608

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูล “ลูลูซีเอฟ” จนถึงปัจจุบันดูดซับก๊าซเรือนกระจกของไทยไปแล้ว 100 ล้านตัน ยังเหลือคาร์บอนไดออกไซด์อีก 20 ล้านตันซึ่งตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี บอกว่า ต้องการพื้นที่ป่าธรรมชาติเพิ่ม 11.29 ล้านไร่ และป่าเศรษฐกิจเพิ่ม 15.99 ล้านไร่

ข้อมูลแบบนี้ดูราบเรียบเกินไป มันแค่นี้เหรอจริงหรือ

คือคุณบอกว่าจนถึงปี 2608 ภาคพลังงาน ภาคเกษตรกรรม(เชิงเดี่ยว) กระบวนการอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ และภาคของเสียปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกัน 120 ล้านตัน จากนั้น คุณก็เอาอีก 120 ล้านตันจาก “ลูลูซีเอฟ” มาหักออก

โลกธรรมชาติไม่ได้เป็นแบบบัญชีหักลบกลบหนี้ง่ายๆ แบบนั้น

ข้อมูลจาก global forest watch “เมื่อคิด >30% tree canopy and tree cover gain ระหว่างปี 2544 ถึง 2564 ป่าไม้ในไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 60.8 MtCO₂e/ปี และดูดซับก๊าซเรือนกระจก 65.8 MtCO₂e/ปี ผลสุดท้ายการดูดซับก๊าซเรือนกระจกเป็น 5.04 MtCO₂e/ปี”

“เมื่อคิด >50% tree canopy and tree cover gain ระหว่างปี 2544 ถึง 2564 ป่าไม้ในไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 56.9 MtCO₂e/ปี และดูดซับก๊าซเรือนกระจก GHG 58.7MtCO₂e/ปี ผลสุดท้ายการดูดซับก๊าซเรือนกระจกเป็น 1.86 MtCO₂e/ปี”

“เมื่อคิด >75% tree canopy and tree cover gain ระหว่างปี 2544 ถึง 2564 ป่าไม้ในไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 39.6 MtCO₂e/ปี และดูดซับก๊าซเรือนกระจก GHG 36.7 MtCO₂e/ปี ผลสุดท้าย เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.85 MtCO₂e/ปี”

สรุป พื้นที่ป่าของไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีศักยภาพในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกเพียง 1.86-5.04 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

และในกรณีที่เรือนยอดไม้ 75% พื้นที่ป่าของไทยจากเดิมที่เป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก(sink) กลายเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก(source) 2.85 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

ถ้ารวม “Land Use และ Land Use Change” ของไทยเข้าไป ดูแล้วไม่น่าจะมีดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 120 ล้านตัน

ดังนั้น เป้าหมาย Net Zero ของไทย ก็จะเป็นเป้าหมายที่ล่องลอยในสายลม