แผนที่โลกแสดงอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิว ชี้ให้เห็นว่า พื้นที่สีดำคือบริเวณที่ร้อนเกินกว่าที่มนุษย์จะอยู่อาศัยได้ในปัจจุบัน ส่วนพื้นที่แรเงาสีดำ คือพื้นที่ที่จะร้อนเกินไปสำหรับมนุษย์ภายในปี พ.ศ. 2613 พื้นที่ดังกล่าวจะรวมถึงภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุดบางส่วนของโลก ที่มา: “Future of the human climate niche”, Xu et al, PNAS 2020

สรรพชีวิตมีความเหมาะสมทางสิ่งแวดล้อมของตน ถึงแม้จะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่มนุษย์ก็ไม่น่าจะได้รับการยกเว้น ในที่นี้ ทีมวิจัยแสดงให้เห็นว่า เป็นเวลานับพันปีมาแล้วที่ประชากรมนุษย์อาศัยอยู่ในเขตภูมิอากาศจำเพาะที่มีอยู่ทั่วโลกโดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยรายปี(mean annual temperature-MAT) ประมาณ 11 °C ถึง 15 °C

ผลสรุปจากงานวิจัยเรื่อง “Future of the human climate niche” ที่ตีพิมพ์ใน PNAS (Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America) ฉบับวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 แสดงให้เห็นว่า เป็นเวลาหลายพันปีที่มนุษย์อาศัยตั้งถิ่นฐานกระจุกตัวอยู่ในเขตย่อยเล็กๆ ของสภาพภูมิอากาศที่มีอยู่ของโลกอย่างน่าประหลาดใจ เขตสภาพภูมิอากาศเหล่านี้มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีประมาณ 13 °C

การกระจายตัวของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ดังกล่าวนี้น่าจะสะท้อนถึงช่วงอุณหภูมิเหมาะสมที่มนุษย์อาศัยอยู่ได้ตามข้อจำกัดขั้นพื้นฐาน ทีมนักวิจัยแสดงให้เห็นว่า ตามฉากทัศน์ของการเพิ่มประชากรและการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกในอีก 50 ปีข้างหน้า คาดว่าผู้คน 1 ถึง 3 พันล้านคนจะถูกปล่อยทิ้งอยู่นอกเขตพื้นที่สภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อมนุษยชาติได้ดีในช่วง 6,000 ปีที่ผ่านมา

อุณหภูมิที่เหมาะสมกับมนุษย์ (A) ความหนาแน่นของประชากรมนุษย์ในปัจจุบันและในอดีต(ค่าเฉลี่ย) และอุณหภูมิที่เหมาะสมกับมนุษย์ตามแบบจำลอง (เส้นประสีน้ำเงิน) อุณหภูมิที่คาดการณ์ไว้ในปี 2070 (เส้นโค้งสีแดง) เราพิจารณาประชากรและสภาพอากาศที่คาดการณ์ไว้ตาม RCP8.5 และ SSP3 (B)

หากไม่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือการวางแผนการปรับตัว เช่น การย้ายถิ่น เป็นต้น ส่วนสำคัญของมนุษยชาติจะต้องเผชิญกับอุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีที่ร้อนกว่าที่ใดๆ ในปัจจุบัน