ผู้เขียน : ประสงค์ ปาณศรี - เครือข่ายคนรักษ์นครนายกมรดกธรรมชาติ
สืบเนื่องจากประเด็นร้อนแรง เรื่องแท่งเหล็กเครื่องตรวจวัดระดับที่มีส่วนประกอบของสารกัมมันตรังสีซีเซี่ยม 137 หายไปจากโรงไฟฟ้าที่ปราจีนบุรี และมีความพยายามหากันอยู่สักระยะหนึ่งแต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ แล้วจู่ๆก็มีการแถลงข่าวเรื่องพบสารกัมมันตรังสี ซีเซี่ยม 137 ในฝุ่นเหล็กของโรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่งที่ปราจีนบุรี ซึ่งข้อสรุปส่วนหนึ่งของการแถลงข่าวคือ ไม่แน่ใจว่า สารกัมมันตรังสี ซีเซี่ยม 137 ที่ตรวจพบนั้นมาจากอุปกรณ์ที่หายไปจากโรงงานไฟฟ้านั้นหรือไม่
นั่นหมายความว่า เรื่องนี้มีสองประเด็นที่ชัดเจน คือ
- โรงงานหลอมเหล็ก มีกากฝุ่นเหล็กที่มีสารกัมมันตรังสี ซีเซี่ยม 137 ปนเปื้อนจำนวนหนึ่ง
- แท่งตรวจวัดควันที่มีสารกัมมันตรังสี ซีเซี่ยม 137 เป็นองค์ประกอบที่หายไปยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน
มีหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องกับการใช้สารกัมมันตรังสี อยู่ 3 หน่วยงานที่อยากจะกล่าวถึงกล่าวคือ 1.โรงไฟฟ้า/โรงงานหลอมเหล็ก 2.สำนักงานปรมณูเพื่อสันติ (ปส.) และ 3. สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ สทน. ทั้ง 3 หน่วยงานมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
โรงไฟฟ้าคือผู้ใช้อุปกรณ์วัสดุรังสี มีหน้าที่ต้องดูรักษาและรายงาน ปส. ตามช่วงระยะที่ ปส. ออกใบอนุญาตมาตามกฏหมาย ขั้นตอนนี้สำคัญ เพราะมีบทลงโทษระบุไว้หากปล่อยปะละเลย และ ปส. ก็ต้องตรวจสอบอุปกรณ์วัสดุรังสีดังกล่าวนั้น และรายงานเป็นช่วงตามระยะที่กำหนดในใบอนุญาต
ในฐานะผู้กำกับดูแล กิจกรรมด้านนิวเคลียร์และรังสีทั่วประเทศ หากเกิดความเสียหายใดๆ ทั้งสองหน่วยงานนี้ต้องรับผิดชอบ เช่นกรณี โคบอลค์ 60 ที่สมุทรปราการเมื่อปี พ.ศ. 2534 ซึ่ง ปส. และบริษัทเอกชนต้องชดใช้ค่าเสียหายจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
กรณีโรงหลอมเหล็ก เรียกได้ว่าแทบจะเป็นคนละเรื่องกับเรื่องเครื่องแท่งเหล็กตรวจวัดระดับของโรงไฟฟ้า โดยมี “ซีเซี่ยม 137” เป็นตัวเชื่อม
ในขบวนการหลอมเหล็กเองก็มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นสารกัมมันตรังสี ซีเซี่ยม 137 เท่านั้น สารกัมมันตรังสีอื่นๆ ก็สามารถปนเปิ้อนได้ การปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในระบบหลอมเหล็กมาได้ 3 ช่องทาง คือ กากกัมมันตรังสีที่ใช้แล้ว กากกัมมันตรังสีตามธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ทั่วไปเช่นเครื่องตรวจจับควัน เป็นต้น (ตามภาพ) อาจจะนำเข้าจากต่างประเทศหรือภายในประเทศ
การหลอมเหล็กจะใช้อุณหภูมิที่สูงราว 1,000-1,200 องศาเซลเซียส วัสดุอื่นๆที่มีจุดหลอมเหลวต่ำกว่าก็จะกลายเป็นไอ และถูกกรองด้วยห้องดักจับ เมื่อปริมาณเยอะขึ้นเกิดเป็นฝุ่นสีแดง ซึ่งเรียกว่าฝุ่นเหล็ก และฝุ่นเหล็กดังกล่าว มีองค์ประกอบแร่ธาตุอื่นๆด้วยเช่นสังกะสี
ฝุ่นดังกล่าวจะถูกส่งไปยังโรงงานแปรสภาพเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป แต่หากปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีก็จะกระทบไปทั้งล๊อตที่หลอมนั้น ก็จะถูก ปส. ดำเนินการให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินิวเคลียร์ในฐานผู้ก่อกัมมันตรังสี โดยส่งต่อไปยังหน่วยผู้รับผิดชอบนั่นคือ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ สทน.
สทน. ก็นำเข้าสู่ขบวนการจัดการกากกัมมันตรังสีกันต่อไปซึ่งมีวิธีการที่หลากหลาย
ในการจัดการกากกัมมันตรังสี วิธีคือการลดปริมาณโดยการเผา บีบอัด แล้วปิดผนึก ขึ้นอยู่กับประเภทของกากกัมมันตรังสี ความเข้ม และค่าครึ่งชีวิตของสารกัมมันตรังสีแต่ละประเภทแล้วนำไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัย โดยจะรอให้ระยะเวลาที่จะทำให้กากกัมมันตรังสีหมดสภาพในที่สุดตามค่าครึ่งชีวิต เช่น ซีเซี่ยม 137 ค่าครึ่งชีวิต 30 ปีก็คิดง่ายๆคือคูณ 10 ก็ราว 300 ปี วัสดุปนเปื้อนนั้นก็จะหมดสภาพการเป็นวัสดุกัมมันตรังสี
ในปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีใดๆ ที่จะสามารถจัดการสารกัมมันตรังสีให้หมดไปได้ มีเพียงใช้ระยะเวลาให้เสื่อมไปตามค่าครึ่งชีวิตเท่านั้น สารกัมมันตรังสีบางชนิดมีครึ่งชีวิตสั้น แต่บางชนิดยาวนานมาก เช่นโคบอลค์ 60 ครึ่งชีวิต 5.3 ปี กล่าวคือทุกๆ 5.3 ปีสารกัมมันตรังสีจะลดลงครึ่งหนึ่งไปเรื่อยๆ แต่บางชนิดยาวนานมากเช่น ยูเรเนียมทอเรียม กลุ่มนี้มีครึ่งชีวิตเป็นหลายพันล้านปีขึ้นไป
ดังนั้นความรับผิดชอบทั้งสามหน่วยงานคือ ผู้ใช้สารกัมมันตร้งสี (โรงงาน) ผู้กำกับดูแลกิจกรรมนิวเคลียร์และกัมมันตรังสี (ปส.) และหน่วยงานจัดการกากกัมมันตรังสี (สทน.) ต้องมีความรับผิดชอบสูงมาก โดยเฉพาะหน่วยงานกำกับดูแลต้องมีความรับผิดชอบสูงเป็นพิเศษ
ในประเทศไทย กากกัมมันตรังสีถูกนำมาเก็บเพื่อรอเวลาให้หมดสภาพความเป็นสารกัมมันตรังสีอยู่ทั้ง 3 พื้นที่ของ สทน. ได้แก่ สำนักงานบางเขน 2 อาคาร สำนักงานเทคโนธานีคลองห้า 2 อาคารสำนักงานใหญ่องครักษ์ 1 อาคาร ข้อสังเกตหนึ่งคือ อาคารกากฝุ่นเหล็กกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ถูกสร้างขึ้นไม่กี่ปีที่ผ่านมา อ้างอิงจากเอกสารรายงานประจำปีของ สทน. ในปี 2563 หน้า 88
ข้อสังเกตหนึ่งที่พบคือ การจัดเก็บในพื้นที่ 2 แห่ง คือ สำนักงานเทคโนธานีคลองห้า และสำนักงานใหญ่องครักษ์ ดำเนินการโดยไม่มีใบอนุญาตจาก ปส. ซึ่งโดยตามหลักการแล้วต้องมีใบอนุญาต 3 ใบได้แก่
- ใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานที่ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี
- ใบอนุญาตก่อสร้างสถานที่ให้บริการกากกัมมันตรังสี
- ใบอนุญาตให้ดำเนินการให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี
อ้างอิงตามมาตรา 80 พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ซึ่งหากมองลึกลงไป กฏหมายดังกล่าวสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 58 ซึ่งกล่าวไว้บางส่วนว่า
“การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียส่วนใดของประชาชนหรือชุมชนรือสิ่งแวดล้อมอย่างสำคัญอื่น รัฐต้องเร่งดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ”
ต่อมาทาง สทน. มีความพยายามก่อสร้างอาคารเก็บฝุ่นเหล็กกัมมันตรังสี ซึ่งมีรายงานว่ามีปริมาณราว 2,000 ตัน ที่ สทน.สำนักงานเทคโนธานีคลองห้า ด้วยบทบัญญัติทางกฏหมายนิวเคลียร์ถูกบังคับใช้แล้วในมาตรา 80 พรบ.นิวเคลียร์เพื่อสันติ เมื่อทาง สทน. จะก่อสร้างอาคารดังกล่าว ทาง ปส. ได้ทำหนังสือ ที่ อว. 0504/2924 ลงวันที่ 30 กรกฏาคม 2563 ตอบกลับมายัง สทน. ว่าเมื่อจะก่อสร้างให้ปฏิบัติตามมาตรา 80 นั่นคือต้องขออนุญาตตามขั้นตอนที่ระบุในกฏหมาย แต่ในที่สุดแล้ว อาคารดังกล่าวก็สร้างเสร็จราวต้นปี พ.ศ. 2565 โดยไม่ขอใบอนุญาตตามที่ระบุในกฏหมายด้วยซ้ำ บ่งบอกว่า ปส. เองก็ไม่ได้บังคับใช้กฏหมาย หรืออาจจะถูกล้วงลูกจากสายงานระดับที่สูงขั้นไป
นั่นหมายถึงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน หน่วยงานของรัฐกลับละเมิดกฏหมายเสียเอง อีกทั้งเป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชนอีกด้วย
สืบเนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแลคือ ปส. และผู้ปฏิบัติคือ สทน. เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยทั้งสองหน่วยงานขึ้นอยู่กับสำนักงานปลัด อว. จึงกล่าวได้ว่าสายบังคับบัญชาเดียวกัน มีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้เกิดการครอบงำทั้งสองหน่วยงาน เพราะขาดความเป็นอิสระ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ สทน. สามารถดำเนินการโดยไม่ต้องมีใบอนุญาตตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยปราศจากการบังคับใช้กฏหมายของหน่วยงานกำกับดูแลตามกฏหมาย (ปส.) ที่สำคัญ เลขาธิการ ปส. กลับมีตำแหน่งในบอร์ดบริหารของ สทน. โดยตำแหน่ง ก็บ่งบอกถึงความสัมพันธ์พิเศษมากระหว่าง ผู้กำกับดูแลและหน่วยงานผู้ปฏิบัติ
ในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีการออกกฎกระทรวง “ศักยภาพของผู้ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสีการอนุญาตและการเลิกดำเนินการให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี” ออกมาโดย ปส. ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นกฏหมายนิรโทษกรรมให้ สทน. ก็ว่าได้เพราะตลอดระยะที่ผ่านมาดำเนินการโดยไม่มีใบอนุญาตในการจัดการกากกัมมันตรังสีทั้ง 3 ใบ ซึ่งระบุไว้ในบทเฉพาะกาลข้อ 55 ดังนี้
บทเฉพาะกาล : ข้อ 55 ผู้ใดให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสีอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตดำเนินการให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสีภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับโดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานที่ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสีและใบอนุญาตก่อสร้างสถานที่ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสีและเมื่อได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตแล้วให้ดำเนินการให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสีต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตจากเลขาธิการ
จะเห็นได้ว่า บทเฉพาะกาลให้อำนาจเลขาธิการในการตัดสินใจบนเงื่อนไขหรือดุจพินิจใดไม่อาจจะทราบได้ แต่ที่แน่ๆ กฏกระทรวงนี้ขัดกับกฏหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 58 อย่างชัดเจน
อีกประเด็นหนึ่งคือ สทน. ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 ในมาตรา 14 ระบุว่า
บรรดารายได้ขององค์การมหาชน ไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
นอกจากนี้ สทน. มีความพยายามจะจัดทำโครงการเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยขนาด 20MW ซึ่งอยู่ในการทำ EHIA ครั้งที่ 3 แต่ก็ติดปัญหาต่างๆนานา ทั้งผลกระทบโควิด และแรงต้านจากภาคประชาชนถึงความไม่ชอบมาพากลต่างๆ เช่น มีความพยายามก่อสร้างในพื้นที่เดิมที่เคยมีกรณีข้อพิพาทในการก่อสร้างครั้งที่แล้วแต่ไม่สามารถก่อสร้างได้อันเนื่องมาจากสารพัดปัญหา จนเกิดการฟ้องร้องระหว่างผู้รับจ้างคือเจนเนอรัลอะตอมมิค(GA) และหน่วยงานของรัฐ มูลค่าฟ้องร้องสูงเกือบหมื่นล้านบาทในขณะนั้น ตลอดจนความฉ้อฉลจากบุคลากรภายในหน่วยงานของรัฐจนเกิดการฟ้องร้องอีกมากมาย ส่วนคดี GA ที่อยู่ในชั้นอนุญาโตตุลาการ
นั่นหมายความว่า หน่วยงานสามารถบริหารจัดการรายได้ของตนเองได้โดยไม่ต้องส่งคืนรัฐ แต่กลับใช้งบประมาณสนับสนุนจากรัฐ และใช้ทรัพยากรของรัฐในการดำเนินการ จึงเป็นช่องทางที่ส่อให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ได้ ซึ่งหากดูรายงานประจำปีในส่วนรายได้ ค่อนข้างมีมูลค่าสูงมากยกตัวอย่างรายได้ประจำปี 2563 (เอกสารอ้างอิง)
แม้ว่า สทน. เป็นหน่วยงานของรัฐไม่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อแสวงหาผลกำไรเป็นหลักแต่หากสังเกตจากรายได้ตามรายงาน เงื่อนไขการยกเว้นภาษีเพราะเป็นหน่วยงานของรัฐ ข้อนี้มีความพิเศษเพราะหน่วยงานของรัฐ แสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรที่ตนมี เช่นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ระบุไว้ในมาตรา 8 “ทรัพย์สินของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐซึ่งใช้ในกิจการของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐ หรือในกิจการสาธารณะ ทั้งนี้ โดยมิได้ใช้หาผลประโยชน์” ดังนั้น สทน. ต้องเสียภาษีตามกฏหมายนี้ และปฏิบัติตามกฏหมายด้านภาษี อย่างเคร่งครัด เป็นแบบอย่างที่ดีของหน่วยงานรัฐ
ในเวลาต่อมา มีรายงานการประชุมสภานโยบาย อว. ออกมาว่า “GA นำเสนอข้อเสนอเพื่อยุติคดีโดยมีข้อแลกเปลี่ยน” ในเวลาเดียวกับก็มีความพยายามจาก รัฐมนตรี อว. ส่งหนังสือ ที่ นร. 0505/850 ลงวันที่ 13 มกราคม 2565 ไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หนังสือนั้น มีความพยายามดึงโครงการเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเดิมเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ขึ้นมาใหม่อีกครั้งแต่มีขนาดกำลังที่ใหญ่ขึ้นโดยขอให้มีข้อยกเว้นแบบพิเศษ
หากเรื่องนี้ได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี นั่นหมายถึงบรรยากาศเดิมๆ อาจจะกลับมาอีกครั้ง แต่หากมองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแล้วการเลือกใช้พื้นที่เดิมคืออำเภอองครักษ์นั้น ถือว่าเป็นการใช้หลักการและเหตุผลที่ใช้ไม่ได้ เพราะบริบทมิติทางภูมิศาสตร์ ประชากร การขยายตัวของเมืองเปลี่ยนไปมาก แตกต่างจากเมื่อ 30 กว่าปีก่อนจะใช้ข้อมูลการเลือกพื้นที่ไว้แล้วกว่า 30 ปีมาตัดสินใจโดยไม่มองบริบทปัจจุบันดูไม่สมเหตุสมผล อีกทั้งพื้นที่สำนักงานองครักษ์ มีขนาดที่เล็กเกินไปไม่เป็นไปตามมาตรฐานทบวงพลังงานนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ(IAEA)
หน่วยงานของรัฐ ผู้มีหน้าที่กำกับดูแล (ปส.) หรือหน่วยงานปฏิบัติ (สทน.) ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมา แล้วหาทางออกที่เหมาะสม เพราะ “หากไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นย่อมไม่พัฒนา” ในส่วนกำกับดูแลต้องมีความใส่ใจในรายละเอียดให้มาก
ระบบติดตาม ระบบเตือนภัยต่าง เมื่อวัตถุกัมมันตรังสีหายไปจากพื้นที่หรือระบบ ต้องนำเทคโนโลยี่มาช่วย บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างแผนเผชิญเหตุ บังคับใช้กฏหมายให้รัดกุมส่วนผู้ใช้งานหรือโรงงานต้องมีความรับผิดชอบตามกฏหมาย หาไม่แล้ว “ประชาชน” คือผู้รับกรรม ผลกระทบในวงกว้าง เมื่อสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนสู่สภาพแวดล้อม ยากที่เยียว หรือเรียกว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้สภาพแวดล้อมเป็นปกติเหมือนเดิม
ท้ายที่สุดหน่วยงานกำกับดูแลกิจกรรมด้านนิวเคลียร์และกำมันตรังสีของประเทศและหน่วยงานผู้ปฏิบัติสมควรมีความเป็นอิสระต่อกันปราศจากการครอบงำใดๆ แน่นอนประเทศเราต้องมีหน่วยงานเหล่านี้ในการดำเนินงาน แต่การดำเนินการนั้นต้องมีประสิทธิภาพ ไม่เป็นเฉกเช่นปัจจุบัน พอเกิดเรื่องที ก็ตื่นตัวที
ต้องสร้างวัฒธรรมความปลอดภัย มาตราฐานความปลอดภัย แผนเผชิญเหตุ ที่สามารถปฏิบัติได้จริง ความเข้มข้นในการตรวจติดตามก็เป็นเรื่องสำคัญมาก ของทุกหน่วยงาน และประชาชนเองก็ควรมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจว่ากิจกรรมเหล่านั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน อันจะนำมาซึ่งความสงบสุข ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในการอยู่ร่วมกันในสังคม
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
กฎกระทรวง ศักยภาพของผู้ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสีฯ
พระราชบัญญัติ องค์การมหาชน พ.ศ. 2542 http://web.krisdika.go.th/data/lawabout/lawdetail/lawdetail_002.htm
การแถลงข่าวของรองประธานาธิบดี กามาลา แฮริส http://bit.ly/3ZaAjhZ0
หนังสือ นร. 0505/850 https://resolution.soc.go.th/?prep_id=405587
รายงานประจำปี พ.ศ. 2563 (สทน.) http://bit.ly/40q36zZ0
รายงานการประชุมนโยบาย อว. (เสนอยุติคดี GA)http://bit.ly/3FHx0aQ0
โครงสร้างการบริหาร อว.
https://www.mhesi.go.th/images/2562/0008.jpg
มาตราฐานเชิงพื้นที่ (IAEA)