
คำเบิกความคดีน้ำมันรั่ว ปตท. ปี 2556
ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการประจำประเทศไทย มูลนิธิเพื่อสันติภาพเขียว (กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ซึ่งเป็นองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นอิสระ จดทะเบียนเป็นมูลนิธิเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ และจดทะเบียนเป็นสมาคมกรีนพีซ เซาอีสท์เอเชียในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ ๑๓๗๑ อาคารแคปปิตอล ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพฯ
มูลนิธิและสมาคม ได้ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสันติภาพในโลกในรูปแบบซึ่งปราศจากความรุนแรงและการแบ่งแยกโดยใช้วิถีที่สร้างสรรค์เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยและทั่วโลกและนำเสนอทางออก
หลักการและคุณค่าหลักที่เป็นรากฐานของกรีนพีซสะท้อนออกมาในงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก รวมถึงการเป็นประจักษ์พยานของการทำลายสิ่งแวดล้อม การเผชิญหน้าแบบสันติวิธี เพื่อยกระดับความเข้มข้นและคุณภาพของการโต้เถียงของผู้คนในสังคม ความเป็นอิสระทางการเงินโดยไม่พึ่งพาผลประโยชน์ของรัฐบาลหรือธุรกิจ การค้นหาและส่งเสริมการสนทนาถึงทางเลือกด้านสิ่งแวดล้อมที่เปิดเผยและเป็นวิทยาศาสตร์ และความเคารพโดยแท้จริงต่อหลักการประชาธิปไตยและเพื่อแสวงหาวิธีแก้ปัญหาที่จะส่งเสริมความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย
ข้าพเจ้าได้ติดตามและศึกษากรณีท่อน้ำมันดิบของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (พีทีทีจีซี) รั่วไหลลงสู่ทะเลในพื้นที่จังหวัดระยอง นับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุการณ์ คือเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้น้ำมันดิบจำนวนมากกระจายปนเปื้อนครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง และในเวลาต่อมาน้ำมันดิบส่วนหนึ่งได้ถูกพัดพาเข้าสู่ชายหาดบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล การท่องเที่ยว และวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่
ทะเลอ่าวไทยซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญถูกคุกคามมาโดยตลอดจากการรั่วไหลของน้ำมันตามเส้นทางขนส่งน้ำมันกลางทะเล ในบริเวณที่มีการขนถ่ายของเรือบรรทุกน้ำมัน หรือจากการดำเนินการขุดเจาะน้ำมัน การรั่วไหลของน้ำมันในครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ล่าสุดในเหตุน้ำมันรั่วไหลกว่า 200 ครั้ง ที่เกิดขึ้นในทะเลไทย (ทั้งในเขตอ่าวไทยและทะเลอันดามัน)ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
ในทันทีหลังจากข้าพเจ้าทราบถึงเหตุการณ์ ในฐานะเป็นตัวแทนองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ได้มีข้อเรียกร้องไปยัง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ให้แสดงภาระความรับผิด (Accountability) ต่อหายนะทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการรั่วไหลของน้ำมัน โดยที่ภาระความรับผิดมิใช่ครอบคลุมเพียงการดำเนินการขจัดคราบน้ำมันรั่วไหลตามข้อกำหนดและมาตรการที่กำหนดไว้ในแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติซึ่งระบุว่า การแก้ปัญหาและขจัดคราบน้ำมันนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน ถ้าการขจัดคราบน้ำมันนั้นอยู่นอกเหนือความสามารถของประเทศไทยที่จะจัดการได้ก็สามารถขอความช่วยเหลือจากองค์กรสากลที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ได้ แต่รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้กับระบบนิเวศทางทะเล ชุมชนชายฝั่งทะเลและการท่องเที่ยวของไทยโดยทันที และที่สำคัญ ภาระความรับผิดต้องครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่ตามมาในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และควรต้องมีการดำเนินการตรวจสอบโดยคณะอนุกรรมการว่าด้วยการฟื้นฟูและการประเมินความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดจากมลพิษจากน้ำมัน
การติดตามตรวจสอบของข้าพเจ้าโดยอาศัยข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งจากใบแถลงข่าวของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด คำสัมภาษณ์และการรายงานข่าวของสื่อมวลชน มีข้อสังเกตว่า หายนะทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการรั่วไหลของน้ำมันครั้งนี้ เกิดจากความบกพร่องและประมาทเลินเล่อของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) โดยตรง กล่าวคือ จากการให้สัมภาษณ์พิเศษในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2556 ของนายบวร วงศ์สินอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) นั้น นายบวร วงศ์สินอุดม ยอมรับว่าเขาเชื่อว่าการรั่วไหลของน้ำมันสามารถควบคุมได้เมื่อมีการลงพื้นที่ตรวจสอบในวันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2556 และได้ทำการยกเลิก War Room และปฏิบัติการเฝ้าระวังคราบน้ำมันรั่วเวลา 1 ทุ่มของวันที่ 28 กรกฎาคม 2556
ข้อมูลจากแถลงการณ์ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) วันที่ 28 กรกฎาคม 2556 ฉบับที่ 5 เรื่องความคืบหน้าเหตุท่อรับน้ำมันดิบรั่วในทะเลห่างจากชายฝั่งประมาณ 20 กิโลเมตร ที่ระบุว่า “ตามที่ได้เกิดเหตุท่อรับน้ำมันดิบขนาด 16 นิ้ว รั่วที่บริเวณทุ่นรับน้ำมันดิบ (Single Point Mooring) ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร ขณะกำลังมีการส่งน้ำมันมายังโรงกลั่นน้ำมันของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เมื่อเวลา 06.50 น. วันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ซึ่งมีน้ำมันดิบรั่วออกมาประมาณ 50 ตันหรือ 50,000 ลิตรนั้น พ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน พบว่า ขณะนี้ปริมาณคราบน้ำมันได้มีปริมาณน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนของน้ำมันดิบได้ถูกสลายอย่างมีประสิทธิภาพ เหลืออยู่ประมาณ 5,000 ลิตร ในขณะที่เรือพ่นน้ำยาสลายคราบน้ำมันยังคงทำการพ่นน้ำยาสลายคราบน้ำมันบนผิวน้ำต่อไป โดยเรือของกองทัพเรือ กรมเจ้าท่า บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ที่ส่งมาร่วมกับเรือของ PTTGC และเมื่อเวลา 15.00 น. เครื่องบิน C-130 ของบริษัท ออยล์ สปิล เรสปอนส์ จำกัด (Oil Spill Response Limited) ได้ขึ้นบินจากสนามบินอู่ตะเภาและทำการฉีดพ่นน้ำยาสลายคราบน้ำมัน หลังจากนั้น บริษัทฯ จะส่งเรือและเจ้าหน้าที่ไปทำการวางทุ่นดักน้ำมันความยาว 1,200 เมตร ห่างจากชายฝั่งของเกาะเสม็ด ประมาณ 1,000 เมตร เพื่อป้องกันกรณีที่อาจมีคราบน้ำมันหลุดรอดเข้าไปใกล้ชายฝั่งอีกชั้นด้วย ทั้งนี้ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างใกล้ชิด
เวลา 16.00 น. เครื่องบิน C-130 ของบริษัท ออยล์ สปิล เรสปอนส์ จำกัด (Oil Spill Response Limited) ได้บินวนสำรวจในทะเลเพิ่มเติม หากพบคราบน้ำมันหลงเหลือจะทำการฉีดพ่นน้ำยาสลายคราบน้ำมันอีก 1 รอบ นอกจากนี้ หน่วย PTT SEAL Group ได้ใช้เครื่องร่อนขนาดเบาจำนวน 4 ลำ บินตามชายฝั่งเพื่อถ่ายวิดีโอและภาพนิ่งบริเวณเขาแหลมหญ้า และเกาะเสม็ด พร้อมทั้งส่งเรือเร็วตรวจการณ์ ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานได้ทำการถ่ายภาพในทะเล แต่ไม่พบมีคราบน้ำมันตามบริเวณใกล้ชายฝั่งแต่อย่างใด บริษัทฯ ได้จัดเตรียมบุคลากรกว่า 100 คน เพื่อติดตามและสำรวจตามชายฝั่งบริเวณเขาแหลมหญ้าและเกาะเสม็ด ขณะเดียวกัน บริษัทจะยังทำการตรวจสอบวิเคราะห์น้ำทะเลและตัวอย่างสัตว์น้ำต่างๆ ต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่า การขจัดคราบน้ำมัน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล”
ตามที่นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2556 ว่า เขาแทบตั้งตัวไม่ทันเมื่อคราบน้ำมันสีดำเข้าสู่หาดทรายสีขาวของหาดพร้าวบนเกาะเสม็ดในวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 และย้ำอีกครั้งในช่วงที่มีการตรวจสอบความเสียหายจากคราบน้ำมันบนเกาะเสม็ดว่า ทีมงานจัดการคราบน้ำมันรั่วของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) พิจารณาว่าสถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมในวันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2556 จากนั้นมีการยกเลิก War Room และปฏิบัติการเฝ้าระวังคราบน้ำมันรั่วเวลา 1 ทุ่มของวันที่ 28 กรกฎาคม 2556 และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการก็ได้เก็บกระเป๋าสัมภาระเดินทางกลับกรุงเทพฯ
ในคำสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2556 นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ยังระบุด้วยว่า ทีมงานทางอากาศ (เครื่องบิน C-130 ของบริษัท ออยล์ สปิล เรสปอนส์ จำกัด ) การฉีดพ่นน้ำยาสลายคราบน้ำมันทั้งหมดและไม่มีร่องรอยคราบน้ำมันหลงเหลืออยู่ หลังจากที่เขาเห็นน้ำทะเลเปลี่ยนสีน้ำตาลซึ่งแสดงถึงน้ำยาสลายคราบน้ำมันได้กำจัดคราบน้ำมันเป็นอย่างดี ทีมงานจึงได้ยกทุ่นดักน้ำมัน (ความยาว 1,200 เมตร ห่างจากชายฝั่งของเกาะเสม็ดประมาณ 1,000 เมตร) ขึ้น และปฏิบัติการกำจัดคราบน้ำมันรั่วของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้เสร็จสมบูรณ์
ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า การตัดสินใจยกเลิก War Room และปฏิบัติการเฝ้าระวังคราบน้ำมันรั่วของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในเวลา 1 ทุ่มของวันที่ 28 กรกฎาคม 2556 และทำการยกทุ่นดักน้ำมันขึ้น (ตามคำสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2556 ของนายบวร วงศ์สินอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)) เป็นการตัดสินใจที่ประมาทเลินเล่อ จนเป็นเหตุให้คราบน้ำมันได้ถูกพัดพาเข้าสู่ชายหาดบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด และพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลเขาแหลมหญ้า-เกาะเสม็ด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล การท่องเที่ยวและวิถีชีวิตของชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ยังไม่นับถึงการปนเปื้อนจากน้ำมันและสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดน้ำมันที่อาจสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศน์และสุขภาพของประชาชนในระยะยาว
จากบันทึกสถิติการเกิดน้ำมันรั่วในประเทศไทยโดยกรมเจ้าท่า ในระหว่าง พ.ศ. 2516 – พ.ศ. 2554 มีน้ำมันรั่วเกิดขึ้นทั้งหมด 215 ครั้ง โดยเหตุน้ำมันรั่วของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) แม้ว่าจะเป็นการรั่วไหลของน้ำมันในระดับกลาง(Medium Spill หรือ Second Tier) แต่ระดับและขอบเขตของผลกระทบนั้นมีรุนแรงและกว้างขวาง ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายต่อธุรกิจการท่องเที่ยวของอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด และจังหวัดระยอง เป็นมูลค่ามหาศาลเท่านั้น แต่ยังก่อความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม แหล่งอาหาร ทรัพยากร และระบบนิเวศในทะเลอ่าวไทย ซึ่งผลกระทบดังกล่าวมีความเป็นไปได้ว่าจะมีความรุนแรง และอาจส่งผลต่อเนื่องไปอีกนานเป็นปี
การติดตามตรวจสอบของข้าพเจ้าในฐานะกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการทำงานร่วมมือกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอีก ๓ องค์กร ได้แก่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมและสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และนักวิชาการอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมตัวกันก่อตั้ง “กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท. รั่ว” ขึ้นมาเป็นการเฉพาะกิจ และเรียกร้องผ่านสื่อมวลชน ให้รัฐบาลแต่งตั้ง “คณะกรรมการอิสระ” ขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน โดยคณะกรรมการอิสระชุดนี้ต้องมีขั้นตอนการดำเนินงานที่เปิดเผยโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความเป็นอิสระปลอดพ้นจากผลประโยชน์ทับซ้อนของธุรกิจในกลุ่มของฝ่ายผู้ก่อเหตุ รวมทั้งควรประกอบด้วยผู้มีความรู้ความสามารถในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยจาก ๕ ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคกฎหมายและภาคประชาชน โดยการเรียกร้องดังกล่าว ได้มีประชาชนร่วมเข้าชื่อผ่านทางเว็บไซต์ change.org กว่า ๓๐,๐๐๐ คน และได้ยื่นข้อเรียกร้องนี้ต่อรัฐบาลเมื่อวันอังคารที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๖ แต่ข้อเสนอนี้ก็ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ
การดำเนินงานติดตามตรวจสอบของข้าพเจ้าในฐานะ “กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท. รั่ว” เน้นไปที่การประเมินความเสี่ยงการปนเปื้อนและความเสียหายจากการใช้สารเคมีเพื่อให้คราบน้ำมันดิบแตกตัวเป็นสารเคมีที่มีอนุพันธ์ขนาดเล็กและจมสู่ใต้ทะเลบริเวณที่เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำรวมถึงแนวหินธรรมชาติที่เป็นปะการังซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศที่เป็นพื้นที่ผลิตอาหารหรือการทำประมงพื้นบ้าน โดยสารเคมีต่างๆ (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons; PAHs) ซึ่งโดยทั่วไป PAHs เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษเฉียบพลันต่ำ แต่ในสิ่งมีชีวิตชั้นสูงจะพบความเป็นพิษเรื้อรังและการได้รับอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดความเป็นพิษต่อระบบต่างๆ ของร่างกายได้
จากรายงานการทดลองเกี่ยวกับผลของสารกลุ่มนี้ต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะของสัตว์ทดลองได้ข้อสรุปว่าสารเคมีในกลุ่มโพลีไซคลิคอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons; PAHs) นี้เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (Probable Human Carcinogen) โดยการสำรวจภาคสนามระหว่างวันที่ 19-20 ตุลาคม 2556 มีระยะเวลาห่างจากการเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ราว 3 เดือน
พื้นที่ที่ทำการสำรวจภาคสนามเป็นแหล่งประมงที่สำคัญของจังหวัดระยองคือในบริเวณแนวหินเลียบชายฝั่งทะเลระหว่างจุดเกิดน้ำมันรั่วและด้านตะวันตกของเกาะเสม็ด ทีมวิจัยภาคสนามได้เก็บข้อมูลภาพถ่ายใต้ทะเล เก็บตัวอย่างตะกอนดิน และสำรวจความเสียหายของระบบนิเวศปะการังบริเวณแนวหินที่มีความสำคัญ ได้แก่ แนวหินใหม่(พิกัด N 12°30’8.44″ E 101°18’9.55”) หินญวน(พิกัด N 12°33’8.24″ E 101°21’1.97”) หินบุช(พิกัด N 12°34’6.45″ E 101°22’6.83”) ปะการังเทียม(พิกัด N 12°33’5.83″ E 101°24’6.12″) บ้านปลา (พิกัด N 12°33’1.60″ E 101°23’3.45” และ N 12°33’0.74″ E 101°20’3.30″) เพื่อนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานแก่ชุมชนและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนศึกษา ฟื้นฟูให้พื้นที่บริเวณนี้กลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนดังเดิม
การวิเคราะห์เบื้องต้นตามข้อมูลที่วิเคราะห์จากเครื่องมือตรวจปริมาณโลหะหนักแบบพื้นฐานบ่งชี้ว่าในจุดแนวหินญวน แนวหินบุช ปะการังเทียม บ้านปลา พบปริมาณปรอทและสารหนูในบริเวณดังกล่าวในน้ำที่ละลายตะกอนดินโดยปริมาณที่พบคือ สารปรอท 5 – 20 ส่วนในพันล้านส่วน(ppb) และสารหนู(Arsenic) 0.1-0.6 ไมโครกรัม/กิโลกรัม(µg/kg) อนึ่ง เกณฑ์มาตรฐานตะกอนดินทะเลและชายฝั่งสําหรับประเทศไทยที่ยกร่างโดยกรมควบคุมมลพิษในปี พ.ศ. 2549 พบว่า ค่า Effect range low (ERL หมายถึงระดับความเข้มข้นของสารอันตรายในตะกอนดินที่มีโอกาสพบผลกระทบต่อสัตว์หน้าดินน้อยมาก) และค่า Effect range median(ERM หมายถึง ระดับความเข้มข้นของสารอันตรายในตะกอนดินที่มีโอกาสพบผลกระทบต่อสัตว์หน้าดินปานกลาง) ของปรอทในตะกอนดินทะเลและชายฝั่งอยู่ที่ระดับ 15 และ 71 ส่วนในพันล้านส่วน(ppb) หรือไมโครกรัม/กิโลกรัม(µg/kg)น้ำหนักแห้ง ส่วนค่า Effect range low(ERL) ของสารหนู(Arsenic)ในตะกอนดินทะเลและชายฝั่งอยู่ที่ระดับ 820 ส่วนในพันล้านส่วน(ppb) หรือไมโครกรัม/กิโลกรัม(µg/kg)น้ำหนักแห้ง
ในขณะที่ผลการวิเคราะห์การปนเปื้อนสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนในตะกอนดินพบว่ามีสารโพลีไซคลิคอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนในระดับที่ต่ำกว่า 0.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักแห้ง ซึ่งแม้ว่าจะมีระดับไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพตะกอนดินที่กำหนดไว้ในทางสากล(มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักแห้ง) แต่ก็แสดงให้เห็นถึงร่องรอยการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มนี้ในตะกอนดินที่จำเป็นต้องมีการติดตามตรวจสอบเชิงลึกโดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไปเนื่องจากสารเคมีในกลุ่มโพลีไซคลิคอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน(Polycyclic Aromatic Hydrocarbons; PAHs) เป็นสารที่มีความคงตัวสูงสามารถสะสมตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อมเช่น ตะกอนดินและเนื้อเยื่อสิ่งมีชีวิตได้
การสำรวจภาคสนามระหว่างวันที่ 19-20 ตุลาคม 2556 ได้บันทึกข้อมูลผลกระทบเชิงประจักษ์ เช่น ปะการังฟอกขาว และการหายไปของสัตว์น้ำก่อนและหลังจากเหตุน้ำมันรั่วของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และนำเสนอว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขฟื้นฟูและเฝ้าระวังการปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารที่เป็นผลมาจากจากการรั่วไหลและกระจายตัวของคราบน้ำมันดิบซึ่งรวมถึงมวลน้ำมัน (oil slick) ที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นพิษซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั้งในทะเลและบนบก
ข้อสังเกตุเรื่องความประมาทเลินเล่อของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จากการตัดสินใจยกเลิก War Room และปฏิบัติการเฝ้าระวังคราบน้ำมันรั่ว และการสำรวจภาคสนามเพื่อประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดังที่ข้าพเจ้าได้เรียนมานี้ เป็นภาพสะท้อนส่วนหนึ่งของเหตุน้ำมันรั่วที่ส่งผลเสียหายในวงกว้าง และบทบาทของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ที่ยังขาดความโปร่งใสและปัดภาระรับผิดดังสะท้อนให้เห็นจากการแถลงต่อสาธารณะว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่น่ากังวลและบริษัทฯ สามารถจัดการปัญหาได้ โดยไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของน้ำมันดิบและสารเคมีที่ใช้ในการสลายน้ำมันดิบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและสุขภาพประชาชน ตลอดจนไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนและมาตรการในการจัดการปัญหาการปนเปื้อนทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อสาธารณะ ทำให้ประชาชนไม่อาจทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและไม่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนการและมาตรการในการจัดการปัญหาของบริษัทฯ รวมทั้งไม่สามารถติดตามตรวจสอบได้ว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแผนและมาตรการที่กำหนดไว้อย่างถูกต้องครบถ้วนได้