TARAGRAPHIES

A Conversation With Society

ประวัติศาสตร์โดยสังเขปของมลพิษอุตสาหกรรมในประเทศไทยจนถึงปี 2540

ธารา บัวคำศรี – เขียน

มลพิษอุตสาหกรรม (Industrial Pollution) กลายเป็นปรากฎการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นความเสี่ยงและภัยคุกคามต่อชีวิตและสุขภาพของคนไทยโดยตรง งานเขียนด้านสิ่งแวดล้อมหลายต่อหลายชิ้น ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยคือสรวงสวรรค์ของมลพิษ (Pollution Heaven) แห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ [1] และควรกล่าวในที่นี้อีกว่า มลพิษอุตสาหกรรมในประเทศไทยมิได้เพิ่งเกิดขึ้น หากเป็นลักษณะที่โดดเด่นของภูมิทัศน์ทางสังคมนับตั้งแต่เรามุ่งพัฒนาประเทศไปสู่อุตสาหกรรม ผลกระทบจาก มลพิษยังได้ทวีความรุนแรงขึ้นตามระดับการพัฒนาอุตสาหกรรม ดังจะเห็นได้จากรายงานสถานการณ์ มลพิษของประเทศไทยที่หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐและเอกชนตีพิมพ์เผยแพร่เป็นประจำทุกปี [2]

ผลกระทบจากมลพิษนับเป็นปัญหาอันใหญ่หลวงและทิ้งบาดแผลให้กับสังคมที่เจริญรุดหน้าทางด้านอุตสาหกรรมและสังคมที่มุ่งพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม ในประเทศญี่ปุ่น มีคำว่า kogai แปลตรงตัวว่า “สาธารณภัย” [3] ซึ่งต่อมากินความหมายกว้างถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษทั้งหมด [4] ในสหรัฐอเมริกา ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากมลพิษอุตสาหกรรมเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่พัฒนาไปพร้อมกับวาทกรรมใหม่ เช่น “ผู้รับเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Victim)” และ “ความยุติธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (Social and Environmental Justice)” [5] ในแวดวงสังคมศาสตร์ มีการค้นคว้าเพื่ออธิบายปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น “สังคมเสี่ยงภัย (Risk Society)” ซึ่งอธิบายถึงสังคมที่มุ่งอุตสาหกรรมจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ๆ มากมายโดยเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมาจากการตัดสินใจของผู้อื่นเป็นส่วนมาก [6] ในประเทศกำลังพัฒนาที่ซึ่งปัญหามลพิษอุตสาหกรรมมีผลกระทบโดยตรงกับคนงานในกระบวนการผลิตและชุมชน มีการเรียกร้องถึงกลไกใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยอยู่บนหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการรับมือกับอันตรายและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตและการกำจัดของเหลือทิ้งในภาคอุตสาหกรรม [7]

ในสังคมไทย มีข้อสังเกตต่อการรับรู้เรื่องมลพิษอุตสาหกรรมในหลายแง่มุมด้วยกัน เช่นสภาพสังคมไทยอยู่ในระยะการเปลี่ยนผ่านทางระบาดวิทยา คือ การเปลี่ยนแปลงจากการที่ต้องเผชิญกับโรคขาดอาหาร ท้องร่วง และโรคติดเชื้อต่าง ๆ เป็นต้น อันเป็นลักษณะของสังคมด้อยพัฒนา มาเป็นสังคมที่มีความเจริญทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น ผู้คนเผชิญกับโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคแพ้สารพิษ และเผชิญอันตรายกับอุบัติเหตุมากขึ้น ชีวิตสมัยใหม่ของผู้คนต้องสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมทางเคมีมากขึ้นทั้งในอากาศ น้ำ กากสารพิษและสารเคมี [8]

การรับรู้ปัญหามลพิษอุตสาหกรรมในสังคมไทยอยู่ในช่วงที่นักวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์บางท่าน เรียกว่า สังคมมีการผลิตและสร้างผลลัพธ์อันมีพิษภัยและมีการทำอันตรายต่อตนเองอย่างมีระบบแต่ทว่ายังไม่มีการตระหนักรู้ถึงลักษณะสาเหตุด้านระบบเช่นนี้ และสิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้เป็นปัญหาสาธารณะและมิได้เป็นประเด็นต่อสู้ขัดแย้งทางการเมือง ในสภาพที่สังคมมุ่งหน้าไปในทิศทางการขยายตัวและรุ่งเรืองด้านอุตสาหกรรม หากมีพิษภัยหรือเหตุการณ์ร้ายแรงที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ก็มักจะมีการกล่าวว่า เป็นการเสี่ยงภัยที่ต้องยอมเสียสละกันบ้าง เพราะเป็นผลเสียสืบเนื่องมาจากการตัดสินใจจะมุ่งประเทศให้พัฒนาอันเป็นเป้าหมายสูงส่ง [9]

ผลกระทบจากมลพิษต่อสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานในสังคมไทย เป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามเพราะเห็นเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องเฉพาะตัวและไม่เป็นผู้ถูกกระทบก็ไม่รู้ แต่ถ้าได้ประโยชน์ก็ได้ไปด้วยโดยไม่ได้เข้าร่วมต่อสู้เรียกร้อง (free rider) ขณะเดียวกัน การพัฒนาที่มุ่งอุตสาหกรรมเป็นทางออกหนทางเดียวในการสร้างรายได้ การมีงานทำและอาชีพโดยปราศจากการประเมินผลกระทบการพัฒนาระบบที่มีประสิทธิภาพมารองรับและการแสวงหาทางเลือกที่เหมาะสมและเป็นการพัฒนาที่ทำให้เกิด “ผู้รับเคราะห์” จึงเป็น “ต้นทุน” ที่สังคมไทยต้องจ่ายแทบทุกปีในรูปการเสียชีวิตอย่างฉับพลัน ความเจ็บป่วยที่เรื้อรังและพิการตลอดชีวิต เป็นต้นทุนที่ไม่อาจประเมินค่าได้ [10]

มลพิษอุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่ท้าทายสติปัญญาของสังคมไทยอย่างยิ่ง รายงานนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอภาพรวมและมุมมองเชิงประวัติศาสตร์ของปัญหามลพิษอุตสาหกรรมในประเทศไทย พร้อมกันนี้ได้หยิบยกกรณีศึกษาและทางออกขึ้นมาอภิปราย

การเกิดขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจนับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 (2504-2509) เป็นต้นมา ทำให้กรุงเทพและปริมณฑลขยายตัวอย่างรวดเร็วและขาดการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าปัญหามลพิษอุตสาหกรรมยังไม่เด่นชัด แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีอุบัติเหตุเกี่ยวกับสารเคมีเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น โรคพิษแมงกานีสของคนงานในโรงงานถ่านไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครเมื่อปี พ.ศ. 2507 [11]

ช่วงทศวรรษ 2510 การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยขาดมาตรการป้องกันผลกระทบที่ตามมาทำให้ความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมสั่งสมมากขึ้นเป็นลำดับ ปัญหาน้ำเสียในแม่น้ำแม่กลองในปี พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นมลภาวะทางน้ำที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมยุคแรก ๆ ของไทย อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งคุณูปการสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมา คือ การเแตกตัวทางชนชั้นในสังคมไทยโดยเป็นอิสระจากระบบราชการ เช่น คนงานภาคอุตสาหกรรม พนักงานบริษัท นักธุรกิจ นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน โดยเฉพาะนักศึกษา[12] นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เปลี่ยนแปลงจากเผด็จการเป็นประชาธิปไตย ถือเป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันกระแสสิ่งแวดล้อมในระดับโลกโดยเฉพาะการประชุมสิ่งแวดล้อมโลกครั้งแรก (UN Conference on Human Environment) ซึ่งมีขึ้นที่กรุงสตอคโฮล์ม ประเทศสวีเดน[13] เหตุการณ์ทั้งสองดังกล่าวก่อให้เกิดคุณูปการสำคัญต่อการขับเคลื่อนขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมของไทย ทั้งภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนและสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะภาครัฐได้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในด้านกฎหมาย องค์กร และเครื่องมือใหม่ๆที่นำมาใช้ในการจัดการสิ่งแวดล้อม  โดยเฉพาะพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2518 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการวางมาตรการของรัฐที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นมีการนำเอาเครื่องมือใหม่ๆ มาใช้เช่นรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment)[14] นอกจากนี้ได้มีจัดการตั้งสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สถาบันวิจัยสภาวะสิ่งแวดล้อม, โครงการศึกษาวิจัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล[15]

วิกฤตการณ์น้ำมันรวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองในภูมิภาค ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 2520 ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทย เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้นโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกในระยะแรกไม่ประสบความสำเร็จ เช่นในกรณีโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เป็นต้น ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมจึงยังไม่ปรากฎอย่างรุนแรงมากนัก อย่างไรก็ตาม ปัญหาการกระจุกตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำเสีย ควันพิษ การเปลี่ยนแปลงที่ดินเกษตรกรรมเป็นที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมและ   ที่พักอาศัย และปรากฏโรคจากสารพิษที่มีความรุนแรงขึ้น เช่น โรคพิษตะกั่วเรื้อรัง และโรคพิษแอสเบสตอส เป็นต้น

บทเรียนราคาแพงที่ภูเก็ต

ภายหลังอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ในอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งทั่วโลกรับรู้ถึงภัยคุกคามจากพิษกัมมันตภาพรังสี ส่งผลทำให้ประชาชนเกิดการตื่นตัวทางด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ได้เกิดการประท้วงของมวลชนเพื่อต่อต้านโรงงานถลุงแร่แทนทาลัมที่จังหวัดภูเก็ต เหตุการณ์บานปลายจบลงเป็นโศกนาฎกรรมโดยโรงงานถูกเผาในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2529 นอกเหนือจากเป็นเหตุการณ์แรก ๆ ที่ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านโครงการของรัฐ ยังเป็นบทเรียนของปัญหามลพิษอุตสาหกรรมที่มีราคาแพงของสังคมไทย ประสบการณ์ที่ภูเก็ตแสดงให้เห็นว่า การแสดงออกถึงความรุนแรงของมวลชน บ่อยครั้งมาก จะมาก่อนการรับรู้ถึงสิทธิในการแสดงออกอย่างเป็นประชาธิปไตย (Violent expressions of collective will all too often precede recognition of the right to express democratically this will) และยังแสดงให้เห็นอีกว่า สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นหากกลไกการมีส่วนร่วมถูกกีดกันออกจากกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรม การมีส่วนร่วมในระดับรากฐานซึ่งชุมชนต้องอยู่กับความเสี่ยงจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเผชิญกับอันตราย

ประสบการณ์ที่ภูเก็ตยังแสดงให้เห็นว่า การรับรองถึงความปลอดภัยทางอุตสาหกรรมโดยบรรษัทและรัฐนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป แม้ว่าจะมีแถลงการณ์จากรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม แม้จะมีคำแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของไทยยืนยันว่าโรงงานจะไม่สามารถดำเนินการได้เว้นแต่จะมีการทดสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับความปลอดภัยและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นที่น่าพอใจ แต่ผู้ประท้วงไม่สนใจ พวกเขาไม่ใส่ใจกับข้อกล่าวอ้างที่ว่าโรงงานแทนทาลัมแห่งนี้น่าจะเป็นหนึ่งในโรงงานที่ดีที่สุดในโลกเท่าที่มีการควบคุมมลพิษ

แต่นั่นอาจเป็นผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของเจ้าหน้าที่ – ระดับชาติและระดับนานาชาติ – ปฏิเสธที่จะเอาใจใส่ต่อความต้องการของชาวภูเก็ตต่อการเลือกทำเลที่ตั้งของโรงงาน โรงงานแทนทาลัมตั้งอยู่ในรัศมี 700 เมตรจากวิทยาลัยครูขนาดใหญ่ การคัดค้านโดยนักศึกษาและคณาจารย์จากวิทยาลัยถูกเพิกเฉยเช่นเดียวกับการคัดค้านที่คล้ายกันจากชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ ในระหว่างการก่อสร้างความเป็นปรปักษ์ค่อยๆทวีความรุนแรงขึ้นโดยไม่มีการสื่อสารที่มีความหมายและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชน จนกระทั่งในที่สุด ก็มาถึงจุดเดือดในวันแห่งโชคชะตาในเดือนมิถุนายน 2529

โรงงานแทนทาลัมที่ภูเก็ตเป็นโครงการสร้างสร้างผลกำไรของบริษัทเงินทุนระหว่างประเทศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารโลก เงินลงทุนมากกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐก็สูญไป ถือเป็นบทเรียนราคาแพงในการเรียนรู้ถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น

การลงทุนจากต่างประเทศ

มีงานวิจัยทางวิชาการจำนวนมากในอดีตที่ผ่านมา ศึกษาถึงลักษณะและผลกระทบของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนหนึ่งชี้ให้เห็นว่า การเคลื่อนย้ายทุนระหว่างประเทศจากประเทศทุนนิยมที่พัฒนาแล้วสู่ประเทศทุนนิยมด้วยพัฒนาเกิดขึ้นด้วยกลไกของบรรษัทข้ามชาติ [16] แม้ว่าข้อเขียนทางเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่อ้างถึงแรงจูงใจของการลงทุนต่างประเทศว่า เป็นผลกำไรสุทธิที่สูงกว่าการลงทุนภายในประเทศของตนเอง การใช้วัตถุดิบและทรัพยากร การใช้แรงงานที่มีค่าจ้างต่ำ การรักษาตลาดและสิทธิพิเศษที่ได้รับจากประเทศที่ไปลงทุน แต่สาเหตุจูงใจของการย้ายฐานการผลิตที่สำคัญคือ การเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมและกระบวนการผลิตที่เสี่ยงอันตรายสุงมาสู่ประเทศกำลังพัฒนา โดยที่กลยุทธดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยความเห็นชอบจากรัฐบาลเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือการต่อต้านทางการเมืองในประเทศของตน

การลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทยซึ่งเพิ่มจาก 1,014 ล้านบาทใน พ.ศ. 2513 เป็น16,735 ล้านบาทใน พ.ศ.2527 [17] เฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศในภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้นจาก 1,609 ล้านบาท ใน พ.ศ.2528 เป็นจำนวนเท่าตัวทุกปี จนเป็น 8,868 ล้านบาทใน พ.ศ.2531 อันเป็นผลจากการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป รวมทั้งกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเชียเข้ามาสู่ประเทศไทย อุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายการลงทุนของประเทศเหล่านี้เป็นการลงทุนโดยตรงโดยย้ายฐานการผลิตเข้ามาสู่ประเทศไทยและเกี่ยวข้องกับกากของเสียอันตราย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเคมี อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โลหะ อโลหะ มีปริมาณเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ พ.ศ. 2513

รายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2533) ชี้ให้เห็นว่า การส่งเสริมอุตสาหกรรมของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนทำให้สัดส่วนการผลิตกากของเสียอันตรายเพิ่มจากร้อยละ 25 ใน พ.ศ. 2530 เป็นร้อยละ 55 ใน พ.ศ.2532 ภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ผลิตกากของเสียออกมา มีประมาณร้อยละ 90 มาจากอุตสาหกรรมโลหะ อุตสาหกรรมชุบและกลึงโลหะ อุตสาหกรรมซ่อมประกอบทำอุปกรณ์ขนส่ง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมเคมี ตัวเลขจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ปริมาณการเกิดของเสียอันตรายเพิ่มขึ้นจาก 0.9 ล้านตันในปี 2533 เป็น 1.48 ล้านตันในปี 2539 และในปี 2543 มีปริมาณของเสียอันตรายเกิดขึ้นประมาณ 1.65 ล้านตัน[18] ของเสียอันตรายที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ ของเสียประเภทตะกอนและของแข็ง โลหะหนัก กรดด่างที่มีโลหะหนักปนเปื้อน กากน้ำมันและอื่นๆ [19]

นิคมอุตสาหกรรมขยายตัว

ทศวรรษ 2530 ถือเป็นยุคทองของการส่งเสริมการส่งออก และอาจเรียกได้ว่าไทยกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ จำนวนโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจาก 67,145 โรง ในปี พ.ศ. 2530 เป็น 122,885 โรง ในปี พ.ศ. 2539[20] ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2530 ทำให้ในปี 2538 มีนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม 56 แห่งทั่วประเทศ[21] เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับกลับแลกมาด้วยชีวิตของแรงงาน, ความร่อยหรอเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ,การก่อตัวของมลพิษที่แพร่กระจายไปตามการกระจายตัวของอุตสาหกรรมในภูมิภาค

การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ก่อให้เกิดการกว้านซื้อที่ดินนำไปสู่ ปรากฎการณ์การแย่งชิงและเปลี่ยนแปลงการใช้ทรัพยากร การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในภูมิภาคเสมือนธุรกิจจัดสรรที่ดินเพื่อรองรับอุตสาหกรรมโดยขาดการศึกษาถึงความเหมาะสมและศักยภาพของพื้นที่ รวมทั้งการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน

การขยายตัวของอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกกระจุกตัวอยู่ที่การผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นเช่น อุตสาหกรรมเครื่องจักร อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมโลหะขั้นมูลฐาน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมกระดาษและอุตสาหกรรมการพิมพ์ เป็นต้น

โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาของปัญหามลพิษอุตสาหกรรมของไทย โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมหนักที่มีมลพิษสูง เช่น ปิโตรเคมี ปุ๋ยเคมี เหล็กกล้า เป็นต้น ทำให้โครงการนี้ส่งผลกระทบทั้งต่อระบบนิเวศและสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระยะเวลาก่อสร้างจนถึงปัจจุบัน ปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชนรอบเขต       อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมัน การบุกรุกพื้นที่สาธารณะเพื่อทำการก่อสร้างท่าเทียบเรือ การถมทะเล  ป่าชายเลนเสื่อมโทรม หาดทรายพังทลาย การลักลอบทิ้งกากขยะอุตสาหกรรม การสะสมสารปรอทและโลหะหนักในสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล และการเกิดอุบัติเหตุทางอุตสาหกรรมอย่างสม่ำเสมอ

ผลกระทบจากการกระจายอุตสาหกรรมไปสู่ภูมิภาคเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนนับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2530 อาทิ ปี พ.ศ. 2535 การปล่อยของเสียจากโรงงานน้ำตาล โรงงานไม้อัด และโรงงานผลิตกระดาษของบริษัทฟินิกส์พัลพ์แอนเพเพอร์ ลงสู่บึงโจดและลำน้ำพองได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง กรณีแม่น้ำพองเน่าเสีย และต่อมาในระหว่างปี 2540-2542 แม่น้ำพองได้เกิดการเน่าเสียซ้ำรอยขึ้นอีกครั้ง

ในกรณีการขยายตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ปัญหาการเสียชีวิตของคนงานด้วยโรคพิษตะกั่วเรื้อรังในโรงงานซีเกท (ประเทศไทย) จ.สมุทรปราการ ระหว่างปี พ.ศ. 2533-2534 และโรคพิษอะลูมินาที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ระหว่างปี พ.ศ. 2536-2538

ประชาชนมีส่วนร่วม ชุมชนเข้มแข็ง ประชาสังคม

ปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐทำให้ไม่สามารถจัดการปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสียงดังที่ไม่เท่ากันของคนแต่ละกลุ่มในสังคม ทำให้รัฐบาลตอบสนองต่อปัญหามลพิษนานับประการจากโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในภูมิภาคหรือเขตรอบนอก ได้รับการตอบสนองจากรัฐค่อนข้างช้าหรือไม่ก็ถูกละเลย ปัญหาที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงการขาดแรงผลักดันทางการเมืองที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจังเพราะมีกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มีอำนาจทางการเมือง ส่วนชาวบ้านที่เดือดร้อนเป็นพวกที่ด้อยโอกาสทางการเมือง [22]

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกัน กลางทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา เป็นช่วงที่การเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมไทยมีความตื่นตัวตอบรับกระแสสิ่งแวดล้อมในระดับโลกอย่างมาก ทั้งแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และการประชุมสิ่งแวดล้อมโลกในปี 2535 ที่บราซิล (United Nations Conference on Environment and Development)  มีอิทธิพลต่อการจัดการสิ่งแวดล้อมของไทย (เป็นที่น่าสังเกตว่า จุดเปลี่ยนที่สำคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อมไทยทั้ง 2 ครั้ง เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย และเกิดขึ้นภายหลังการประชุมสิ่งแวดล้อมโลกทั้ง 2 ครั้ง) เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง กฎหมาย  องค์กรที่ดูแลรับผิดชอบทางด้านสิ่งแวดล้อม   เช่น การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2518 ที่มีข้อจำกัดในหลายๆด้านทั้งกลไกการแปลงแผนและนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การขาดระบบการติดตามตรวจสอบ การขาดอำนาจในการลงโทษ โดยเฉพาะการไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจึงนำไปสู่พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535

นอกจากนี้ยังมีการแบ่งแยกองค์กรที่จัดการด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ อย่างคือ สำนักงานนโยบายและแบบแผนสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษและกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มีการนำเอาหลัก “ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย”  (Polluter Pay Principles) ซึ่งมีมาตรการให้โรงงานอุตสาหกรรมและโครงการต่างๆที่ก่อมลภาวะต้องมีการนำเอาเทคโนโลยีบำบัดมาใช้ ซึ่งได้ระบุหลักการนี้ไว้ในแบบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (2535-2539)[23] อย่างไรก็ตาม ภายหลังผ่านการบังคับใช้มาแล้วเกินครึ่งทศวรรษ เป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงสัมฤทธิผลของพรบ. ฉบับนี้ ทั้งด้านการบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติตามกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้ง การนำเอามาตรการทางเศรษฐศาสตร์มาบังคับใช้[24] โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมและรับรู้ข่าวสารข้อมูลของประชาชน เหตุการณ์การประท้วง การก่อสร้างโรงกำจัดกากอุตสาหกรรมที่อ. ปลวกแดง จ. ระยอง เป็นกรณีศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน ซึ่งแม้ว่าในพรบ.สิ่งแวดล้อม 2535 มาตรา 6 จะมีการรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนแต่ก็มีลักษณะกำกวมไม่ชัดเจนว่าเป็นสิทธิตามกฎหมายของประชาชนโดยแท้จริงหรือไม่ [25]

กระแสการปฏิรูปการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ส่งผลต่อขบวนการสิ่งแวดล้อมไทยอีกครั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ซึ่งได้กำหนดสิทธิและหน้าที่กับประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมให้สิทธิการรับรู้ข่าวสารของทางราชการ รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นก่อนการตัดสินใจของรัฐอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต [26]

มลพิษอุตสาหกรรมที่สมุทรปราการ

เมืองโรงงาน

กล่าวได้ว่า จังหวัดสมุทรปราการเป็นอุตสาหกรรมแห่งแรกในประเทศไทย ที่ชี้ให้เห็นถึงรูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งแม้จะทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจังหวัดสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านมลพิษตามมา ทั้งความเสื่อมโทรมของคุณภาพน้ำ อากาศ และปัญหาในการจัดการขยะมูลฝอย กากของเสียและสารอันตราย อันเป็นผลมาจากการพัฒนาที่ขาดการควบคุม โดยเฉพาะการบังคับใช้ที่ดินนับตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยมีนโยบายลดความแออัดของกรุงเทพมหานครในปี พ. ศ. 2502 มีการย้ายโรงงานฟอกหนังและโรงงานทอผ้าจากบริเวณเขตพระโขนงมาตั้งที่อำเภอเมือง สมุทรปราการ จำนวนโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากจำนวน 23 โรงงานในปี 2512 เป็น 597 โรงงานในปี 2519 [27] โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประเภทสิ่งทอมีสัดส่วนมากที่สุดโดยเป็นการลงทุนจากญี่ปุ่น [28]

เมื่อเข้าสู่ต้นทศวรรษ 2520 ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองได้ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นน้อยลง โดยในปี 2521 จังหวัดสมุทรปราการมีโรงงานทั้งสิ้น 1,520 โรงงาน ส่วนใหญ่อุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมดัดแปลงเครื่องจักรกล เครื่องยนต์ โลหะและผลิตภัณฑ์จากโลหะ จนถึงช่วงกลางทศวรรษ 2520 คือนับตั้งแต่ปี 2525 เมื่อการเมืองเริ่มมีเสถียรภาพและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และรัฐบาลมีนโยบายกระจายอุตสาหกรรมสู่ภูมิภาค ทำให้ในปี 2532 อำเภอพระประแดงมีโรงงานรวมทั้งสิ้น 1,059 โรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กและอุตสาหกรรมครอบครัว[29] ขณะเดียวกัน โรงงานอุตสาหกรรมในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปูได้เพิ่มขึ้นถึง 128 โรงงาน มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 22,896 คน [30]

ในช่วงทศวรรษ 2530 โรงงานอุตสาหกรรมเริ่มขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากอำเภอเมืองและอำเภอพระประแดง ไปยังบริเวณอำเภอบางพลีและบางบ่อ ทำให้ในปี พ.ศ. 2533 มีจำนวนโรงงานที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมบางพลี 326 โรงงาน ขณะที่โรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมบางพลีที่เป็นของรัฐ มีอยู่ 109 โรงงาน[31]

จนถึงทศวรรษ 2540 โรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการมีจำนวน 6,188 โรง เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2535 ซึ่งมีจำนวนโรงงาน 3,806 โรง มากถึง 2,382 โรง คิดเป็นอัตราเพิ่มเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 10.2 [32]ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานประเภทสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์โลหะ  ยางและพลาสติก เครื่องยนต์ เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และการผลิตอาหาร

ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปู ปี 2544 มีผู้ประกอบการ 237 ราย โดยเป็นผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออกจำนวน 42 ราย[33] โรงงานส่วนใหญ่ประกอบกิจการเคมีภัณฑ์ อิเลคทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์โลหะ ฟอกหนัง อุปกรณ์รถยนต์ ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมบางพลี มีผู้ประกอบการทั้งสิ้น 123 ราย[34] ส่วนใหญ่ประกอบกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ ผลิตภัณ์โลหะและยานยนต์

มลพิษงอกเงย

การขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมที่ขาดการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ขณะเดียวกันโรงงานส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็กและกระจัดกระจาย มีกระบวนการผลิตที่ล้าสมัยและมีการระบายน้ำทิ้งที่ไม่ผ่านการบำบัด ได้ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเสียอย่างรุนแรง[35] โดยเฉพาะย่านอุตสาหกรรมพระประแดงโดยในปี 2513-2514 จากการวัดคุณภาพน้ำของกองอนามัยสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข บริเวณพระประแดง พบว่า ค่า DO หรือปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำมีค่าต่ำกว่าบริเวณสะพานนนทบุรี[36] ซึ่งชี้ให้เห็นถึงควาทรุนแรงของปัญหาน้ำเสียในพื้นที่ นอกจากนี้ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คือในระหว่างปี พ.ศ.2513-2519 ได้เกิดการแพร่กระจายของตะกั่วทั้งระดับผิวดินและใต้ดินบริเวณอำเภอพระประแดง ทำให้เกิดโรคพิษตะกั่วขึ้นที่ตำบลบางครุ ซึ่งมีโรงงานหลอมตะกั่วจากหม้อแบตเตอรี่รถยนต์เก่า ทำให้มีเด็กผู้หญิง อายุ 2 ขวบเสียชีวิต[37]

ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทำให้รัฐบาลมีแนวคิดในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ใน พ.ศ. 2517 มีแนวคิดในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่คลองด่าน ซึ่งจะประกอบด้วยอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม เคมี ฟอกย้อม กระดาษ หนังสัตว์[38] แต่แนวคิดนี้ไม่ได้มีการนำไปปฏิบัติ อย่างไรก็ตามในปี 2520 นิคมอุตสาหกรรมบางปูก็ได้เริ่มเปิดดำเนินการ  

ในปี พ.ศ. 2530 (1987)สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีการศึกษาถึงการวางแผนจัดการและควบคุมมลพิษอุตสาหกรรมเขตจังหวัดสมุทรปราการ ระบุว่า ย่านอุตสาหกรรมหลักในจังหวัดสมุทรปราการ 3 แห่ง (บริเวณถนนปู่เจ้าสมิงพราย ถนนสุขสวัสดิ์และถนนสุขุมวิทตอนล่าง) ซึ่งประกอบไปด้วย โรงงานอาหาร โรงงานทอผ้าและโรงงานกระดาษ รวมทั้งสิ้น 356 โรงงาน มีน้ำทิ้งปริมาณ วันละ 41,330 ลุกบาศก์เมตร โดยมีตะกอนแขวนลอยประมาณ 39,900 กิโลกรัมต่อวัน[39]

ขณะเดียวกันการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในเขตบางพลี บางบ่อ ดังกล่าวได้ส่งผลต่อทั้งแหล่งน้ำ และชีวิตความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่น โดยเฉพาะเกษตรกร จากการสำรวจพบว่า คุณภาพน้ำในคลองของอำเภอบางพลีและบางบ่อ โดยค่า DO และค่า BOD มีค่าเฉลี่ยที่สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานสูงสุด[40] นอกจากนี้ค่าโลหะหนัก โดยเฉพาะค่าปรอทและตะกั่วมีปริมาณเกินค่ามาตรฐานต่ำสุดที่จะยอมรับได้[41] สิ่งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก มีข้อจำกัดด้านงบประมาณในการลงทุนก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน และจากการสำรวจของ Watson Hawksley and SISAT (1987) ได้ชี้ว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้สร้างระบบน้ำทิ้งโดยขาดความรู้ความเข้าใจใน วิศวกรรมสุขาภิบาลขั้นพื้นฐาน แม้แต่ในนิคมอุตสาหกรรมบางพลี ซึ่งมีโรงงานบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง แต่ทางการนิคมไม่สามารถตรวจสอบหรือบำบัดโลหะหนักได้ ดังนั้นน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดขั้นสุดท้ายจะถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำผิวดิน[42]

ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู  สถานการณ์มลพิษที่เกิดขึ้นไม่แตกต่างกันเมื่อมีการปล่อยน้ำเสียลงทะเลซึ่งน้ำเสียมีค่าBOD เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดถึง 5 เท่า[43] และกรมควบคุมมลพิษได้ลงพื้นที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งของนิคมอุตสาหกรรมบางปู พบว่า คุณภาพน้ำเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดถึง 15 เท่า[44]ส่งผลกระทบต่อชุมชนบางปูใหม่ซึ่งตั้งอยู่ใกล้นิคมบางปู ชาวบ้านต้องหันไปใช้น้ำบาดาลที่มีคุณภาพไม่ดี และต้องซื้อน้ำดื่มเป็นส่วนใหญ่[45] ชาวบ้านในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมบางปูเล่าว่า “พวกเขาไม่เคยเห็นต้นบัวและสาหร่ายนานแล้ว ตั้งแต่มีนิคมอุตสาหกรรมบางปู ปลาเล็กๆ เช่น ปลากระดี่ ปลาซิว ไม่เคยเห็นอีกเลย ปลาช่อนพอเห็นบ้างแต่มันมักมีแผลตามผิวหนังแดงๆ หรือไม่ก็มีครีบกุด บางทีปลาช่อนมันว่ายเหมือนกับมันบ้า ว่ายพุ่งขึ้นผิวน้ำและเอาหัวชนตลิ่งเหมือนกับต้องการหายใจ”[46] นอกจากนี้ปัญหากากสารพิษอุตสาหกรรมก็มีความรุนแรงเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่ออุตสาหกรรมส่วนใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมชุบและกลึงโลหะ อิเลคทรอนิคส์ อุตสาหกรรมเคมี สิ่งทอ เป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง เช่น กากอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมบางปูในปี พ.ศ.2539 มีปริมาณขยะอุตสาหกรรมและขยะทั่วไปวันละ 45,000 กิโลกรัม แม้ว่าทางนิคมบางปูจะมีการติดตั้งเตาเผาขยะไว้บริการ แต่โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่กลับไม่ได้ใช้บริการและมีการได้มีการลักลอบทิ้งตามพื้นที่สาธารณะ[47]

ผู้เสียสละกับการริเริ่มที่ปลายเหตุ

ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เข้าขั้นวิกฤตของจังหวัดสมุทรปราการ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2536 กำหนดให้ท้องที่เขตจังหวัดสมุทรปราการเป็นเขตควบคุมมลพิษ[48]

ความร่วมมือในการผลักดันโครงการระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่านระหว่างธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) นักการเมือง ข้าราชการนักวิชาการสิ่งแวดล้อม (กรมควบคุมมลพิษ) โดยขาดการศึกษาความเหมาะสมศักยภาพของพื้นที่ ความเหมาะสมของรูปแบบระบบบำบัด ความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ประชาชนผู้ไม่ได้ก่อมลพิษ ซึ่งกลับกลายเป็นผู้ที่ต้องเสียสละ รับผิดชอบกับสิ่งที่พวกเขาไม่ได้ก่อและ นำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่

ที่ผ่านมาการพัฒนาโครงการต่างๆของรัฐดำเนินไปบนฐานคิดในลักษณะได้อย่างเสียอย่าง เป็นที่รับรู้และยอมรับโดยทั่วไปว่า เมื่อมีการพัฒนาเพื่อส่วนร่วมก็ย่อมมีผู้เสีย ระบบการคิดแบบนี้ ทำให้คนที่อ่อนแอ ด้อยโอกาส ไร้อำนาจ กลายเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ โครงการคลองด่านนี้ก็ดำเนินไปบนฐานคิดเดียวกันนี้ ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรรมลดลง การปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมทำให้แหล่งน้ำทั้งคลองและแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดสมุทรปราการมีคุณภาพต่ำกว่าค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะการปนเปื้อนและสะสมของโลหะหนัก ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของชาวประมงในบริเวณนี้อย่างมาก

ระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่านจะมีน้ำจืดเข้าสู่ระบบบำบัดและปล่อยลงสู่ทะเลวันละ 525,000 ลูกบาศก์เมตร23ซึ่งน้ำที่ปล่อยออกมาจะปนเปื้อนไปด้วยสารโลหะหนัก สารเคมี และสารแขวนลอยต่างๆ ที่ระบบบำบัดนี้ไม่สามารถกำจัดได้ จะส่งผลกระทบต่อการประมง การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านในพื้นที่และระบบนิเวศชายฝั่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณคลองด่านมีลักษณะเป็นอ่าวปิด นักวิชาการประมงได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภาว่า การปล่อยน้ำจืดที่ผ่านการบำบัด 525,000ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะทำให้ความเค็มของน้ำลดลงต่ำกว่า 15 ส่วนในพันเป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน สัตว์น้ำไม่สามารถปรับตัวและดำรงชีวิตอยู่ได้ ความขุ่นของน้ำจะบังแสงที่จำเป็นในการสังเคราะห์แสงของแพลงค์ตอนพืชจะส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อาหาร ทำให้สัตว์น้ำในบริเวณนี้ไม่สามารถนำไปบริโภคได้[49] นอกจากนี้ปัญหาเรื่องกากตะกอนที่เกิดจากการบำบัดวันละ 60-80 ตัน ซึ่งมีการปนเปื้อนโลหะหนักและกลิ่นเหม็นจากระบบบำบัดน้ำเสีย จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของชาวบ้านและเด็กนักเรียน รอบบริเวณโครงการในชุมชน

แม้ว่าทางกรมควบคุมมลพิษจะยืนยันว่าในการดำเนินโครงการจะมีระบบการควบคุมโลหะหนักและสารพิษอื่นๆตั้งแต่ โรงงาน ,มีการติดตั้งระบบตรวจจับโลหะหนัก การระบายน้ำทิ้งเฉพาะในฤดูฝน  การติดตั้งระบบม่านน้ำดักกลิ่นและการปกคลุมบ่อบำบัดเบื้องต้นและระบบการกำจัดและใช้ประโยชน์จากกากตะกอนก็ตาม[50]

คำถามต่อธรรมาภิบาล

ถึงแม้ว่าสังคมไทยจะให้ความหมายและคำแปลของคำว่า Good Governance ว่าอย่างไรก็ตามทั้งธรรมรัฐในช่วงต้นหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและช่วงหลังที่เปลี่ยนมาเป็นธรรมาภิบาล26 แต่การดำเนินโครงการระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่านไม่ได้เป็นไปตามแนวคิด Good Governance แต่อย่างใดทั้งเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน และเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินโครงการ ทั้งๆทีธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย พยายามส่งเสริมและผลัดดันแนวคิดนี้มาโดยตลอด ชาวบ้านในพื้นที่รับรู้ข่าวสารข้อมูลของโครงการหลังจากที่บริษัทผู้รับเหมาจัดซื้อที่ดินและเริ่มวางท่อรวบรวมน้ำเสียแล้ว กรมควบคุมมลพิษอธิบายว่า โครงการนี้ไม่ได้ทำประชาพิจารณ์เนื่องจากได้มีการทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างโครงการก่อนที่จะมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 [51]

ปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสของโครงการ/เมื่อการย้ายพื้นที่ก่อสร้างโครงการมีเงื่อนงำและผลประโยชน์มหาศาล โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อที่ดิน จากเดิมซึ่งจะมีการก่อสร้างระบบเป็น 2 ฝั่งคือ ตะวันตกและฝั่งตะวันออก มารวมเป็นแห่งเดียวในฝั่งตะวันออก การที่ผู้รับเหมาจัดซื้อที่ดิน 1,900 ไร่ ในราคา 1,956,600,000 บาท ซึ่งแพงกว่าความเป็นจริง จากบริษัทที่มีนักการเมืองในพื้นที่เป็นผู้ถือหุ้น[52] ขณะที่บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง คือ บริษัท NVPSKG มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับบรรดาสมาชิกในพรรคร่วมรัฐบาล[53]

นอกจากนี้การดำเนินโครงการที่ผ่านมา ไม่มีการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย คือ โครงการนี้ดำเนินการตั้งแต่การลงนามในสัญญาการก่อสร้างจนมีการดำเนินการก่อสร้างไปบางส่วน ก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานจากเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน 2535และโครงการนี้ไม่ได้มีการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ด้วย[54]

บำบัดมลพิษแบบรวมศูนย์

ดร.สุจินต์  พนาปวุฒิกุล นักวิชาการด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมได้กล่าวว่า “เราติดกับการใช้ไฮเทคแก้ปัญหาโดยการเอาน้ำเสียใส่ท่อแล้วไปบำบัดไกลๆ ซึ่งไม่เหมาะกับประเทศเรา เพราะลงทุนสูงทั้ง ๆ ที่เราสามารถแก้ไขปัญหาน้ำเสียได้โดยเทคโนโลยีที่ไม่ต้องบำบัด [55]

ประสบการณ์และบทเรียนที่ผ่านมาในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียของไทย ที่เน้นการแก้ไขปัญหาที่ปลายท่อ โดยการก่อสร้างระบบบำบัดขนาดใหญ่ค่อนข้างประสบความล้มเหลว เป็นการสูญเสียงบประมาณแผ่นดินอย่างมหาศาล จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฏรในปี 24542 พบว่าประเทศไทยมีโครงการระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนกระจายอยู่ทั่วประเทศ 22 พื้นที่ จำนวน 26 ระบบ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 4,873 ล้านบาท และยังมีการก่อสร้างโครงการบำบัดน้ำเสียชุมชนของเทศบาลอยู่อีก 40 ระบบ ไม่นับรวมส่วนขยายระบบเดิมอีก 3 ระบบ ซึ่งต้องใช้งบประมาณอีก 42,393 ล้านบาท[56] ขณะเดียวกันระบบบำบัดที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่ไม่สามารถเดินระบบได้กลับกลายเป็นอนุสาวรีย์ประจำท้องถิ่น เนื่องจากท้องถิ่นไม่สามารถบริหารจัดการได้ ด้วยข้อจำกัดทางด้านงบประมาณและบุคลากรที่มีความรู้เพียงพอ และเช่นเดียวกับโครงการระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่านที่เป็นระบบขนาดใหญ่แบบทุติยภูมิ Extended Aeration Activated  Sludge หรือที่เรียกว่าแบบตะกอนเร่งชนิดเติมอากาศนาน ส่งผลให้งบประมาณในการก่อสร้างและค่าใช้จ่ายในการเดินระบบสูงมากจากเดิม 13,612 ล้านบาท เป็น 23,701 ล้านบาท นอกจากนี้ระบบบำบัดตามแบบนี้ยังไม่สามารถกำจัดสารพิษ ,โลหะหนักจากโรงงานอุตสาหกรรมได้และเป็นระบบที่ก่อให้เกิดกากตะกอน(Sludge) โดยที่ไม่มีการแยกตะกอนอินทรีย์และตะกอนที่มีสารพิษโลหะหนักอีกด้วย

มลพิษอุตสาหกรรมที่อีสเทอร์นซีบอร์ด

กำเนิดโชติช่วงชัชวาลย์

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า ผลจากโครงการ Eastern Seaboard  (ESB)ทำให้รายได้ต่อหัวของประชาการจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทราใน ESB เพิ่มขึ้น 6,11และ 17  ของประเทศเป็นลำดับที่ 4,6และ11  ตามลำดับ โดยรายได้ที่คิดเป็นเงินเพิ่มขึ้น 4.5 , 6.7 และ 4.7 เท่าตามลำดับ [57] ตัวเลขเหล่านี้ยืนยันถึงความสำเร็จอันเกิดจากความร่วมมือของรัฐบาลไทย (นักการเมือง, ขุนนางนักวิชาการ) บรรษัทข้ามชาติ องค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะญี่ปุ่น)  ผลักดันให้อุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาก และก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมเป็นพิษ เช่น ปิโตรเคมี เหล็ก เหล็กกล้า ปุ๋ยเคมี เคมีภัณฑ์ เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออก ตั้งแต่ปี 2524 แต่ก็มาประสบความสำเร็จอย่างงดงามภายหลัง ปี 2528 เมื่อการย้ายฐานผลิตขนานใหญ่ของบรรดาประเทศเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

ตามแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่  3 จังหวัด(ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) ที่ได้ระบุไว้ใน แผนพัฒนาฉบับที่ 5 (2525-2529) อันเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันและเป็นการกระจายความแออัดจากกรุงเทพฯและปริมณฑล ได้กำหนดให้นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักของแผนเป็นเขตอุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมที่มีปัญหาด้านมลภาวะสูงโดยโรงงานที่เข้าไปตั้งเป็นโรงงานที่ใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย  ส่วนนิคมอุตสาหกรรมแหลงฉบังเป็นพื้นที่ ที่ตั้งของอุตสาหกรรมเบาและอุตสาหกรรมส่งออก เช่น การแปรรูปอาหารสัตว์ อิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมประกอบยนต์

ปัจจุบันในพื้นที่ ESB มีบริเวณพื้นที่อุตสหกรรมที่ได้เปิดดำเนินการและที่ได้มีการวางแผนพัฒนาทั้งหมด 36 Area ซึ่งประกอบด้วย 13 Industrial Estate 9 Industrial Park   7 Assembly area 4 Industrial Commentaries 3 Industrial Groups[58]

โดยอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีศูนย์กลางอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง  ซึ่งในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวมี นิคมอุตสาหกรรมติดกันอยู่ 3 นิคมอุตสาหกรรม คือ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมตะวันออก นิคมอุตสาหกรรมปลวกแดง  รวมทั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมของบริษัท TPI อุตสาหกรรมหลักในพื้นที่นี้คือ โรงแยกก๊าซ  โรงกลั่นน้ำมัน  อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลาสติกเคมีภัณฑ์[59]

อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันมีศูนย์กลางอยู่ที่อ่าวอุดม อำเภอศรีราชา จ.ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อุตสาหกรรมเหล็ก มีศูนย์กลางอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์,อุปกรณ์ไฟฟ้า มีศูนย์กลางอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง (ชลบุรี) , นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ (ฉะเชิงเทรา) สวนอุตสาหกรรมสยามอีสเทอร์น และนิคมอุตสาหกรรมอีสเทอร์นซีบอร์ด จ.ระยอง และนิคมอุตสาหกรรมชลบุรี(บ่อวิน) อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์และเครื่องไฟฟ้า มีการลงทุนในจังหวัดชลบุรี โดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินอินดัสเตรียลปาร์ค 2 [60]

อย่างไรก็ตามจากการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักที่ทำให้เกิดมลพิษสูง และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และชุมชนรอบข้าง รวมทั้งมาตรการป้องกันผลกระทบ ของภาครัฐที่ไร้ประสิทธิภาพและการขาดการบังคับใช้กฎหมาย  ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ และวิถีชีวิต สุขอนามัยของประชาชน ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ในช่วงแรกโดยเฉพาะช่วงการก่อสร้างเกิดการเปลี่ยนแปลงของชุมชนรอบนิคม มีการขยายตัวการบริการสาธารณูปโภค  สาธารณูปการ ส่งผลต่อรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากพื้นที่เกษตรกรรมเป็นโรงงานอุตสาหกรรม มีการกว้านซื้อที่ดินเพื่อการเก็งกำไร ทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น มีการเวนคืนที่ดิน หลังจากนั้นภายหลังจากเปิดดำเนินการในช่วงกลางทศวรรษ 2530 เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินหลายครั้ง คือช่วงปี พ.ศ. 2537-2539  บริษัทเอกชนมีการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยบริษัท TPI จากที่ดินประเภทอยู่อาศัยหนาแน่นน้อย(สีเหลือง) เป็นที่ดินอุตสาหกรรม (สีม่วง)[61] การปรับเปลี่ยนพื้นที่กันชนเป็นการใช้ก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียมจำกัด และได้ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนิคมอุตสาหกรรม[62] หรือการเพิ่มพื้นที่ถมทะเลจำนวน 1,200ไร่ ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพื้นที่นิคมทำให้แนวกันชนทางด้านตะวันออกของนิคมกับชุมชนลดลง เป็นผลให้ชุมชนอ่าวประดู่(บ้านตากวน)อยู่ติดกับโรงกลั่นน้ำมันระยอง

หลายๆกรณีที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นความขัดแย้งด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน การขยายตัวของอุตสาหกรรมได้รุกล้ำพื้นที่สาธารณะ พื้นที่เกษตรกรรม การประมง ชุมชน จนเกิดผลกระทบทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมตามมา โดยเฉพาะมลภาวะทางอากาศที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม โรงกลั่นน้ำมันและโรงงานพลาสติก โรงไฟฟ้า โรงผลิตเหล็ก จากการสำรวจพบว่า ในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดทั้ง 3 แห่ง มีปล่องโรงงานปล่อยของเสียทางอากาศทั้งสิ้น 186 ปล่อง[63] ทำให้คุณภาพอากาศบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมีสารอินทรีย์ระเหยอยู่ทั่วไป 16 ชนิด สารบางชนิดเป็นวัตถุดิบของกระบวนการผลิตของโรงงาน เช่น Acrylotrile, Styrene,Toluene,Benzone  ทำให้ชุมชนที่อยู่รอบข้างนิคมฯมาบตาพุดในระยะ 5 กิโลเมตร จำนวน 17 หมู่บ้าน ประชากรมีอาการทางระบบทางเดินหายใจและระบบประสาทส่วนกลางโดยเฉพาะประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนโสภณวนาราม และซอยร่วมพัฒนา[64]

นิเวศล่มสลายชายฝั่งทะเล

ปี 2540  กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ได้ทำการตรวจวัดปริมาณสารปรอทในบริเวณแล่งน้ำ 3 แห่งรอบๆ บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัลไทย จำกัด(TPI) ทั้งบริเวณบ่อน้ำมันของ TPI บ่อน้ำของประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณโรงงานและบริเวณบ่อบาดาลของวัดเนินพุทธา พบว่า ทั้ง 3 จุดมีค่าของสารปรอทเกินค่ามาตรฐานทั้งหมด[65]

นอกจากนี้กรณีปริมาณโลหะหนักในน้ำทะเลโดยเฉพาะปรอท ทั้งบริเวณนิคมอุตสาหกรรมแหลงฉบังและมาบตาพุด การสะสมของสารปรอท  จากการศึกษาของกรกช วิเชฎฐพิทยาพงษ์ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2532-กรกฎาคม 2531 พบว่า สารปรอทในน้ำและดินตะกอนบริเวณอ่าวระยองมีค่าเฉลี่ย อยู่ในช่วง 0.28-13.50 ppb และ 0.16-1.65 mg/kgตามลำดับ[66] ปี 2541 กรมควบคุมมลพิษได้ศึกษาความเข้มข้นของปรอทบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดทั้งในน้ำทะเล ตะกอนดินและสัตว์ทะเล พบว่า ค่าความเข้มข้นของปรอททั้งหมดในน้ำทะเล และตะกอนดินส่วนใหญ่ไม่เกินค่ามาตรฐาน รวมทั้งปริมาณสารปรอทในเนื้อเยื่อสัตว์ทะเลก็ยังคงไม่เกินค่ามาตรฐาน [67]

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจวัดปริมาณโลหะหนักรวมในเนื้อเยื่อสัตว์น้ำบางชนิด เช่น หอยแมลงภู่ ปู พบการปนเปื้อนของโลหะหนัก เช่น แคดเมียม ทองแดง อาร์เซนิก ปรอทรวม สังกะสี และปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน  มีค่าไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด[68]

ในด้านการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดในส่วนที่ 1 ตั้งแต่ปี 2536 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศหาดทรายอย่างมากเนื่องจากกระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง ชายหาดถูกน้ำทะเลกัดเซาะ โดยเฉพาะในฤดูมรสุม ร่องน้ำตื้นเขิน ส่งผลกระทบทำให้ชาวประมงออกเรือหาปลาลำบากขึ้น[69] และในปี 2540 การถมทะเลระยะที่ 2 ส่งผลเสียต่อปะการังชั้นกลางจำนวนมากโดยเฉาะพทางด้านทิศตะวันออกของเกาะเสม็ด[70]

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอุบัติเหตุเกี่ยวกับสารเคมีต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิตในปี 2531 โรงงานTPI เกิดเหตุไฟไหม้และระเบิด ทำให้มีผู้บาดเจ็บสาหัส 4 คน ผู้เสียชีวิต 2 คน เตากลั่นน้ำมันขอโรงงานโอเลฟินส์ ที่นิคมฯมาบตาพุด เกิดเพลิงลุกไหม้ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 คนและเสียชีวิตทันที 3 คน ปี 2532 เกิดสารปรอทรั่วที่โรงแยกก๊าซในนิคมฯ มาบตาพุด ทำให้คนงานและเจ้าหน้าที่ของโรงงานจำนวน 62 คนล้มป่วย ปี 2541 รถพ่วง 18 ล้อ บรรทุกสารโทลูอีน 24,000 ลิตร ประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำ และเกิดเหตุเพลิงไหม้ในนิคมฯ[71] ปี2543เกิดการรั่วไหลของก๊าซคาร์บอนิลคลอไรด์(ฟอสจีน)ของบริษัทไทยโพลีคาร์บอเนต จำกัด ทำให้ประชาชนในชุมชนมาบชลูดและบริเวณข้างเคียงจำนวน 743 รายได้รับสารพิษต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล[72]

กากอุตสาหกรรม

โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ESB ส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน , อุตสาหกรรมเหล็ก, อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์, อุตสาหกรรมยางยนต์และชิ้นส่วน, อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ ซึ่งล้วนแต่เป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดกากสารพิษอันตรายอย่างมาก เช่นโลหะหนัก ,สารเคมี,น้ำมัน,สารละลาย โดยกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ปริมาณกากสารพิษอุตสาหกรรมในปี 2543 ภาคตะวันออกมีปริมาณ 0.061 ล้านตัน[73] ขณะที่มีศูนย์บริการกำจัดกากาอุตสาหกรรม GENCO ซึ่งสามารถกำจัดกากสารพิษอันตรายได้ประมาณ 77,000 ตัน แต่ยังมีการลักลอบทิ้งกากสารพิษอุตสาหกรรมนอกนิคมอุตสาหกรรมตามพื้นที่สาธารณะปะปนกับขยะมูลฝอยจากชุมชนทั่วไป เช่นในปี 2541 มีการพบขยะเคมีลักษณะเป็นสารสังเคราะห์สีเหลืองอ่อนที่ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี หรือบริเวณพื้นที่รกร้างของชุมชนหนองแฟป[74] ซึ่งกากสารพิษอุตสาหกรรมที่มีการลักลอบทิ้งนี้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนโดยเฉพาะปัญหาเรื่องกลิ่นรวมทั้งมีการปนเปื้อนของสารพิษสู่ระบบนิเวศ

การร้องเรียนของชาวบ้านโดยผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนภูมิภาค ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้ สะท้อนให้เห็นว่า หน่วยงานระดับท้องถิ่นไม่มีศักยภาพในการตอบสนองปัญหา[75] ทำให้จำเป็นต้องมีการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล อำนาจในการแก้ไขปัญหารวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง ข้อจำกัดทางเทคโนโลยีในการตรวจสอบมลพิษ ปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข การขาดการศึกษาถึงศักยภาพของพื้นที่ในการรองรับมลพิษ ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง ระหว่างหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบทางด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุขกับทางด้านอุตสาหกรรม

เหยื่อมลพิษ

ในทุกวันเด็ก (เสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม)ของทุกปี เราได้ยินเสมอกับคำขวัญที่ว่าเด็กคืออนาคตของชาติ แต่ถ้าหากกลับมาย้อนมอง เด็กนักเรียนที่โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคารได้ล้มป่วยลงด้วยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมเแล้ว อาจจะทำให้เรารู้สึกแปลกใจว่า ประเทศไทยรักเด็กจริงหรือไม่ เป็นห่วงอนาคตของชาติเหล่านี้เพียงไร

โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นอุตสาหกรรมหนักและก่อให้เกิดมลพิษสูง เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานพลาสติก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ทำให้ชุมชนรอบข้างได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพอย่างร้ายแรง ปัญหามลภาวะทางอากาศเริ่มมีการร้องเรียนนับตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา ในปี 2537 นักเรียนและอาจารย์ของโรงเรียนโปลิเทคนิคระยอง มีอาการปวดศรีษะและอาเจียรอย่างรุนแรง ล้มป่วยต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเนื่องจากกลิ่นจากโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก ABS และAS ของบริษัทไทยABS จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมิคัลไทย(TPI) จนกระทั่งปี 2539 จนถึงปัจจุบัน ประชาชนในพื้นที่เริ่มมีการร้องเรียนอย่างจริงจังเมื่อปัญหาที่ความรุนแรงโดยเฉพาะโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคารซึ่งอยู่ห่างจากโรงงานในนิคมฯระยะใกล้สุด 200 เมตร วัดโสภณวณาราม และชุมชนมาบตาพุด ปัญหานี้เกิดขึ้นเนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่กันชนระหว่างโรงงานกับชุมชน มาใช้ในการขยายโรงงาน ดังกรณีของโรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่งจำกัด และได้มีการผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนิคมอุตสาหกรรมและความบกพร่องในการควบคุมจัดการระบบการผลิตและบำบัดนย้ำเสียของผู้ประกอบการ ทำให้มีปัญหาเรื่องกลิ่นไอระเหย

สารพิษเหล่านี้ทำให้เด็กนักเรียน ครู  ชาวบ้าน มีอาการทางด้านระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ไอ คอแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน แสบคอ เจ็บคอ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก เยื่อบุตาแดง เยื่อโพรงจมูกซีด และมีการตรวจพบสารพิษสะสมปะปนอยู่ในเลือดของประชาชน

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นจากปัญหามลพิษทางอากาศ ไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น[76] การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาเป็นเพียงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การย้ายเด็กนักเรียนไปอาศัยเรียนชั่วคราวที่โรงเรียนอื่น,การติดเครื่องปรับอากาภายในโรงเรียน การจัดซื้อหน้ากากสารพิษให้กับโรงเรียน[77] กรณีปัญหานี้ เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโดยขาดการวางแผนการจัดการอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านสถานที่ตั้ง การควบคุมการใช้ที่ดินให้มีความเหมาะสม โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียว เขตกันชน ผุ้ประกอบการขาดการบำรุงรักษาอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมมลพิษ รวมทั้งระบบการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของโรงงานอุตสาหกรรมในการกำกับดูแลของภาครัฐ

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ไฮเทค เสี่ยงสูง

เหตุการณ์การเสียชีวิตของคนงานไทยในบริษัทซีเกท(ประเทศไทย)ด้วยโรคพิษตะกั่วเรื้อรังและโรคพิษอลูมินาในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือในช่วงปี 2533-2538 ตอกย้ำให้เห็นถึงชะตากรรมของแรงงานไทยราคาถูก  ที่บรรดาผู้กำหนดนโยบายไทยต่างยินดีต้อนรับการลงทุนของบรรดาบรรษัทข้ามชาติที่ย้ายฐานผลิตอุตสาหกรรมที่มีกระบวนการผลิตที่มีอันตรายมาสู่ประเทศไทย  เพียงเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการส่งออก เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ

อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ของไทย เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2504 (1961) และขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงหลังทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุดคือบรรษัทข้ามชาติจากญี่ปุ่น อเมริกา  และเอเชียนิกส์ โดยเฉพาะไต้หวัน  ในช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 1-2 (2504-2514 )ภายใต้นโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์จะเป็นการผลิตสินค้าอุปกรณ์บริโภคขั้นปลาย หรือสินค้าสำเร็จรูป ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตเครื่องรับโทรทัศน์  เครื่องใช้ไฟฟ้า  เครื่องรับวิทยุ ตู้เย็น  พัดลมไฟฟ้า เช่น Thai Toshiba  ,Sanyo,National,Kanyong โดยจะมีการนำเข้าชิ้นส่วนสำเร็จรูปเข้ามาประกอบ[78]

เมื่อเข้าสู่แผนพัฒนาฯฉบับที่ 3 (2515-2519) แม้ว่านโยบายการส่งเสริมการส่งออกจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีบรรษัทข้ามชาติจากอเมริกาเข้ามาลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมแผงวงจรรวมไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อการส่งออกเช่น บริษัท National Semiconductor ,Signetics และ Date general ในปี 2517 (1974) ซึ่งจะเป็นการประกอบแผงวงจรไฟฟ้าที่อาศัยแรงงานราคาถูก[79]

ภายหลังการปรับเปลี่ยนระบบการเงินระหว่างประเทศในปี 1985 ส่งผลให้อุตสาหกรรมไฮเทคที่ใช้แรงงานเข้มข้น ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยขนานใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ต่างอาศัยปัจจัยการผลิตทั้ง ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะแรงงานราคาถูกเพื่อการส่งออก electronic components เช่น hybrid IC, Floppy disk drive ,keyboard ,semi-conductor ,จอมอนิเตอร์ พรินเตอร์ เช่นบริษัท Minebea group ของญี่ปุ่นโดยมินิแบร์ไทย บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) บริษัทลูกของบริษัทซีเกท เทคโนโลยีอิงก์ (Seagate Technology Inc.) ของสหรัฐ บริษัท IBM ร่วมหุ้นกับสหวิริยา ผลิต disc drive ต้นทศวรรษ 2530[80]                            

จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ นั้บตั้งแต่ปีพ.ศ. 2528จนถึงช่วงปี 2535 สงผลดีต่ออุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น ชิ้นส่วนพลาสติกโลหะ จอภาพโทรทัศน์ หลอดภาพมอนิเตอร์ มีการใช้ชิ้นส่วนเหล่างนี้ในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิต Hard disc drive ทำให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิต HDD รายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ประมาณปลายปี 2540 IBM กลายเป็นผู้ผลิตและส่งออก HDD รายใหญ่ที่สุดของประเทศ ขณะที่ Seagate เทคโนโลยี และFujitsu ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามผลประโยชน์ที่ได้รับจากอุตสาหกรรมนี้ตกอยู่กับนักลงทุนต่างชาติโดยไทยได้รับประโยชน์เพียงค่าจ้างแรงงานเท่านั้น

กระบวนการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเลคทรอนิกส์ที่มีการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศกำลังพัฒนาเป็นอุะตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้สารเคมีโลหะหนัก โดยเฉพาะตะกั่ว สารทำละลายและสารทำความสะอาดชิ้นงานอื่นๆ ทำให้คนงานมีโอกาสได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย ตั้งแต่การหยิบจับวัตถุดิบที่เป็นตะกั่ว งานบัดกรีและงานชุบตะกั่ว ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อระบบสมองและระบบประสาท ระบบเลือด ไต และการขับถ่ายของเสีย อาการเหล่านี้เป็นอาการของพิษตะกั่วเรื้อรัง[81]

ความตายที่ซีเกท

นับตั้งแต่การเข้ามาลงทุนในไทยของบริษัทซีเกทในช่วงทศวรรษ 2530 จนเกิดกรณีการเสียชีวิตของแรงงานไทยในโรงงานด้วยพิษตะกั่วเรื้อรัง บรรดาผู้กำหนดนโยบายของไทย ต่างออกมาปกป้อง ยืนเคียงข้างนักลงทุนสัญชาติอเมริกันรายนี้เสมอมา มากกว่าการให้ความสำคัญกับชีวิตแรงงานราคาถูกๆของไทย

บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย)บริษัทลูกของบริษัทซีเกท เทคโนโลยีอิงค์ ของสหรัฐ ผู้ผลิต Hard Disc Drive รายใหญ่ของโลกได้ย้ายโรงงานผลิตจากสิงค์โปร์มายังประเทศไทยเมื่อปี 2532 อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตลาดโลก มีพนักงานกว่า 14,000 คน ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 100% เพื่อการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร และมีการใช้วัตถุดิบที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเกือบ 100 %เพื่อมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป[82]  แต่เพียงแค่เปิดดำเนินกิจการได้ 1 ปี คือในปี 2533 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีการเสียชีวิตของคนงานซีเกท อายุเฉลี่ย 20 ปีด้วยโรคไขกระดูกฝ่อ ซึ่งมีสาเหตุประการหนึ่งของโรคมาจากร่างกายได้รับปริมาณของตะกั่วในปริมาณที่มากเกินไป[83]

นอกจากนี้ในปี 2534 สำนักงานอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม กรมการแพทย์ ได้มีการตรวจสอบปัญหาสุขภาพของคนงานซีเกท พบว่าส่วนใหญ่จะมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร และมีการปวดศีรษะ[84] ที่สำคัญจากการสุ่มตัวอย่างคนงานจำนวน 1,175 คน พบว่าคนงานเหล่านี้มีสารตะกั่วในเลือดค่อนข้างสูง ตั้งแต่ระดับ 20 Mgt ต่อเลือด 100 มิลลิลิตร[85]

การเข้าไปตรวจสอบครั้งนี้มีผลทำให้สำนักงานอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมถูกสั่งปิด ส่งผลทำให้ปัญหาการเสียชีวิตของคนงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือซึ่งเกิดขึ้นในเวลาต่อมา ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและเป็นธรรม[86]

ความตายที่ลำพูน

2 ปีต่อมาภายหลังกรณีการเสียชีวิตของคนงานในโรงงานซีเกท ที่สมุทรปราการ ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยขึ้นอีกครั้งในช่วงระหว่างปี 2536-2538 เมื่อคนงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูนซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ได้เสียชีวิตด้วยโรคพิษอะลูมินา 

นิคมอุตสาหกรรภาคเหนือ เกิดขึ้นภายใต้นโยบายการกระจายความเจริญทางด้านอุตสาหกรรมไปสู่ภูมิภาคและเป็นการพัฒนาเมืองหลัก เมืองรองในช่วงแผนพัฒนาฉบับบที่ 3 เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรแต่ไม่ประสบความสำเร็จ[87] อย่างไรก็ตามนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ มาประสบความสำเร็จเมื่อมีการเข้ามาลงทุนโดยตรงของบรรษัทข้ามชาติทางด้านอิเลคทรอนิกส์ โดยเฉพาะนายทุนสัญชาติญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออก นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2530

นับตั้งแต่ปี 2533 ผลกระทบจากการทำงานในนิคมฯเริ่มปรากฎเมื่อคนงานในนิคมอุตสาหกรรม ประสบปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ[88] ต่อมาในเดือนมีนาคม 2536จนถึงปี 2538 มีคนงานหนุ่มสาวอายุระหว่าง 19-30 ปี เสียชีวิต 12 คน และบุตร 2 คนของคนงานรวมเป็น 14 คน[89] แต่แพทย์กระทรวงสาธารณสุขวินิจฉัยว่าส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยโรคภมูคุ้มกันบกพร่อง8รายและการเสียชีวิตของคนงานไม่เกี่ยวข้องกับภาวะการทำงานแต่อย่างใด[90] การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไม่มีการเปิดเผยสาเหตุการเสียชีวิตและได้ปฏิเสธว่าการเสียชีวิตไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงงานภายในนิคมฯ จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงสาเหตุและจำนวนผู้เจ็บป่วยและผู้เสียชีวิต[91] ปัญหาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคนงานเกิดจากแรงจูงใจด้านรายได้ทั้งค่าล่วงเวลา ค่าจ้างวันหยุด เบี้ยขยัน รายได้จากการทำงานพิเศษ ทำให้เพิ่มโอกาสการได้รับสารตะกั่ว  ประกอบกับบรรดานายทุนต่างชาติไม่เห็นความสำคัญในการป้องกันสุขภาพของคนงานอย่างจริงจัง[92] ทำให้กระบวนการผลิตไม่ได้มีเครื่องมืออุปกรณ์ใดๆที่จะปกป้องคนงานจากสารพิษ โลหะหนัก

นอกจากปัญหาการเสียชีวิตของคนงานแล้ว การปล่อยน้ำเสียซึ่งมีทั้งโลหะหนักและสารเคมีอื่นๆ จากนิคมอุตสาหกรรมส่งผลให้แม่น้ำกวง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาของจังหวัดลำพูนเน่าเสีย เริ่มส่งกลิ่นเหม็นตั้งแต่ปี 2532 ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพอนามัยของชาวบ้าน นอกจากนี้ปัญหาการลักลอบทิ้งกากสารพิษอุตสาหกรรม ซึ่งมาจากเขตอุตสาหกรรมส่งออก ทั้ง Alumina substrate ,waste resin ,ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ แผ่นฟิลม์ สายไฟ ใยแก้ว กากตะกอน[93] ทำให้เกิดการปนเปื้อน กระจายสารพิษโลหะหนักจากนิคมออกสู่ระบบนิเวศภายนอก          ปัญหาเสียชีวิตของคนงาน,น้ำกวงเน่าเสีย และปัญหากากอุตสาหกรรมเป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ได้ว่าความล้มเหลวหละหลวมในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันปัญหาสุขภาพอนามัยความปลอดภัยของคนงานและสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตภายในโรงงานอุตสาหกรรม   ที่สำคัญเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายการกระจายโรงงานอุตสาหกรรมสู่ส่วนภูมิภาคโดยไม่มีการศึกษาศักยภาพและความเหมาะสมของพื้นที่และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น


[1] เป็นต้นว่า John Laird, “ Money Politics, Globalisation, and Crisis : The Case of Thailand.” Graham Brash Pte Ltd, Singapore, 2000. P 315. Walden Bello, Shea Cunningham and Li Kheng Poh “Siamese Tragedy : Development & Disintegration in Modern Thailand” Zed Book Ltd. 1998, P 116.

[2] โปรดดู “บันทึกสีน้ำตาล : รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย” ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาในแต่ละปี ส่วนรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยฉบับอื่น ๆ ที่รวมปัญหามลพิษอุตสาหกรรม ได้แก่ รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมประจำปี ของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม หรือรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยของมูลนิธิโลกสีเขียว เป็นต้น

[3] Jun Ui “ Industrial Pollution in Japan” United Nations University Press, Japan, 1992, p.1.

[4] ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อม สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ชมรมนิเวศน์วิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล และกลุ่มศึกษา Pollution ในประเทศญี่ปุ่น “ สภาพแวดล้อม ฉบับบทเรียนจากญี่ปุ่น” 24 สิงหาคม 2516, หน้า 7-2.

[5] Christopher Williams “Environmental Victims” Earthscans Publication Ltd., UK, 1998.

[6] โปรดดูรายละเอียดในบทความทางวิชาการของ สุริชัย หวันแก้ว ใน “พิษเพลิงเคมี : บันทึก 10 ปี โศกนาฎกรรมคลองเตย”, จัดพิมพ์โดยกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม พ.ศ. 2544.

[7] อาจดูประเด็นเรื่องชุมชน แรงงานและสิทธิมนุษยชนและการเสริมความเข้มแข็งในการรับมือกับอันตรายจากอุตสาหกรรม ใน David Dembo, Clarence J. Dias, Ayesha Kadwani and Ward Morehouse (Edited) “Nothing to Lose But Our Lives : Empowerment to oppose Industrial Hazards in a Transnational World” , Arena Press, Hong Kong, 1987.

[8] เกษมศรี หอมชื่นและคณะ “ การทบทวนเบื้องต้น แนวโน้มการเสี่ยงอันตรายจากการอุตสาหกรรม” รายงานวิชาการ, 2534.

[9] อ้างแล้ว

[10] วรวิทย์ เจริญเลิศ จากบทนำใน “พ่ายพิษ : บันทึก 9 กรณีวิกฤตยุคสังคมเสี่ยงภัย” กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม 2544.

[11] https://sites.google.com/site/safetyengineering06/rokh-thi-keid-khun-cak-kar-thangan/rokh-cak-maengkanis-hrux-sarprakxb-khxng-maengkanis

[12] ผาสุก พงษ์ไพจิตร. (บรรณาธิการ) (2550). รายงานวิจัยฉบับสมบรณ์โครงสร้างและพลวัตทุนไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

[13] ดูรายละเอียดใน Mark F. Imber, “The Environment and the United Nations” in The Environment and

International Relation, ed. By John Vogler and Mark F. Imber, Routledge, London 1996.

[14] กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทย์ฯ, การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย, บริษัท แปลนพริ้นติ้ง จำกัด , กรุงเทพฯ, 2542, น. 64-69.

[15] อ้างแล้ว, หน้าเดิม.

[16] ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์ “ ปัญหาสุขภาพและสภาพการทำงานในสถานการณ์ความเป็นนิกส์” ในสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ ข่ายงานวิจัยพฤติกรรมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข, 2535

[17] อ้างแล้ว

[18] กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทย์ฯ, (ร่าง) “การจัดการของเสียอันตราย” ใน รายงานสถานการณ์มลพิษในรอบสิบปี (เอกสารอัดสำเนา).

[19] อ้างแล้ว.

[20] “ภาวะมลพิษ” ใน รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม 2540, สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, น. 173.

[21] บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ, “นิคมอุตสาหกรรม : บทเรียนที่ต้องทบทวน” ใน นิตยสารโลกสีเขียว, ตุลาคม-ธันวาคม 2539, น. 43.

[22] ชูศักดิ์ วิทยาภัค, “แนวการวิเคราะห์เชิงนิเวศวิทยาทางการเมือง” ใน แนวคิดและวรรณกรรมที่เกี่ยวกับสิทธิ์ในทรัพยากร : กับปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย ใน สถานภาพไทยศึกษา : การสำรวจเชิงวิพากษ์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ฉัตรทิพย์ นาถสุภาและคณะ, น. 265.

[23] กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, อ้างแล้ว, น. 155.

[24] ดูรายละเอียดใน กรมควบคุมมลพิษ, โครงการศึกษาข้อเสนอแนะและปรับปรุงกลไกการควบคุมและบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม, สิงหาคม 2540.

[25] พนัส ทัศนียานนท์ ,“พรบ.สิ่งแวดล้อม 2535 : ถึงเวลาต้องยกเครื่องใหม่แล้ว” ใน สิ่งแวดล้อมในรัฐธรรมนูญแปลงแนวคิดสู่ปฏิบัติ, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, น. 24.

[26] ดูรายละเอียดใน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, สิ่งแวดล้อมในรัฐธรรมนูญ แปลงแนวคิดสู่ปฏิบัติ.

[27] ปราณี นันทเสนามาตร์, “การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของอำเภอเมืองสมุทรปราการ”, วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต ภาควิชาผังเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,2522 น. 132.

[28] อ้างแล้ว, น. 164

[29] ดวงกมล ชัยมงคล, “วิวัฒนาการของย่านอุตสาหกรรมพระประแดงและแนวทางการพัฒนา”, วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534 น. 128.

[30] นิวัตร ชูสมุทร, “แนวทางการพัฒนาการใช้ที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมและพักอาศัยในเขตอำเภอเมืองสมุทรปราการ”, วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535 น.149.

[31] สิทธิพงษ์ ดิลกวนิช, “การขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิภีชีวิตของคนท้องถิ่นในอำเภอบางพลีและอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ”, วารสารนิเวศวิทยา Vol.21 No.2 May-Aug p.21.

[32] สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, “โครงการการจัดการสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรปราการโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน, ตุลาคม 2541, น.12.

[33] การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, “สรุปการใช้พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ” ,มิถุนายน 2544.เอกสารอัดสำเนา

[34] อ้างแล้ว

[35] ดวงกมล ชัยมงคล, อ้างแล้ว, น. 134.

[36] ศิริวรรณ ศิลาพัชรนันท์, “การศึกษาและบทวิเคราะห์เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาที่ตั้งและสภาพแวดล้อมของย่านอุตสาหกรรมในเขตสุขาภิบาลพระประแดง”, วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต ภาควิชาผังเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2522 น. 51.

[37] สุนีย์  มัลลิกะมาลย์, “การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนทดแทนความเสียหายต่อสุขภาพจากมลพิษ”(รายงานผลการวิจัย) คณะนิติศาสตร์และสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สิงหาคม น. 43.

[38] การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, “โครงการนิคมอุตสาหกรรมคลองด่าน”, น7-8,ไม่ระบุปีที่พิมพ์.

[39] ดวงกมล ชัยมงคล, อ้างแล้ว, น. 146.

[40] สิทธิพงษ์ ดิลกวณิช, อ้างแล้ว, น. 23.

[41] อ้างแล้ว, น. 24.

[42] อ้างแลว, น. 23.

[43] “จุดประกาย”, กรุงเทพธุรกิจ, 10 มิถุนายน 2539, น.3.

[44] “สรุปข่าวสิ่งแวดล้อมประจำปี 2540” ใน รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม 2540, น. 389.

[45] วรรณี พฤฒิถาวร และ สุบเดศ วามสิงห์, “การปรับตัวของชุมชนต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม: ศึกษากรณีโรงงานอุตสาหกรรม” (รายงานวิจัย) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ตลคม 2541 ,น. 3-28.

[46] สิทธิพงษ์ ดิลกวณิช, อ้างแล้ว, น. 28.

[47] “จุดประกาย”, กรุงเทพธุรกิจ, 9 กรกฎาคม 2539, น.1.

[48] คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา, “รายงานการพิจารณาการศึกษา เรื่อง โครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ”, น. 1.

23 ดูรายละเอียดโครงการได้ใน : กรมควบคุมมลพิษ, สถานการณ์และการจัดการปัญหามลพิษทางน้ำ ปี 2541-2542, น.81-83, ไม่ระบุปีที่พิมพ์

[49] คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา, “รายงานการพิจารณาการศึกษา เรื่อง โครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ”, น7-8.

[50] อ้างแล้ว, น. 9-10.

26 โปรดดูรายละเอียดของแนวคิดนี้ใน (1) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจและสถาบันธรรมรัฐ เพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม. ธรรมาภิบาล : การมีส่วนร่วมของประชาชนและกระบวนการทางด้านสิ่งแวดล้อม. สายธาร 2544.และ (2) Somrudee Nicro. Thinking Environmental Governance: Rethinking Thai Politics.Paper presented at the 7th International Conference on Thai Studies. Amsterdam, the Netherland , July 5,1999.

[51] คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา, “รายงานการพิจารณาการศึกษา เรื่อง โครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ”, น 16-17.

[52] ดูรายละเอียดได้ใน,  “Perspective”, Bangkok Post, Sunday, May 28,2000.

[53] ดูรายละเอียดได้ใน,  “Perspective”, Bangkok Post, Sunday, July 23,2000.

[54] อ้างแล้ว, น. 13-14.

[55] “โรงบำบัดน้ำเสีย การแก้ไขปัญหาน้ำเสียหรือการช่วงชิงผลประโยชน์หมื่นล้าน” ใน นิตยสารโลกสีเขียว, พฤศจิกายน-ธันวาคม 2542 น.58.

[56] อ้างแล้ว, น. 45.

[57] สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, “รายงานความก้าวหน้าและแนวทางการพัฒนาพื้น

ที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก”, กรกฎาคม 2544, น.3.

[58] Peter Burt , “Mucky Business : Industrial Waste Management in Thailand’s Eastern Seaboard”, Campaign for Alternative Industry Network (CAIN)

[59] เดชรัต สุขกำเนิด, “สรุปปัญหาทางสุขภาพเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก กรณีศึกษาการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง” (ร่างเอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องนโยบายสาธารณสุขกับสุขภาพประชาชน : กระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ), สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, 31 กรกฎาคม 2544 ณ โรงแรม รามา การ์เด้นท์, น. 3.

[60] สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, อ้างแล้ว, น. 7-8.

[61] สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทย์ฯ, รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม ปี 2537, น.177-178.

[62] สราวุธ ชโยวรรณ, “ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหามลภาวะอากาศในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน”, วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. 2540-2541.

[63] เดชรัต สุขกำเนิด, อ้างแล้ว, น. 3.

[64] ดูรายละเอียดใน (1) มัชฌิมา วัฒกะวงศ์, “ปัญหาที่มาบตาพุด : กลิ่นเหม็นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง” ใน สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย 2540-2541, มูลนิธิโลกสีเขียว, 2542, น. 350-367. และ (2) “มลพิษกับชุมชน” ในรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม 2540, สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, น. 299-311.

[65] “สรุปข่าวสิ่งแวดล้อม ปี 2540” ใน รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม 2540, น. 388.

[66] กรกช วิเชฏฐพิทยาพงษ์, “The Study on Distribution of Toxic Heavy Metal in Water and Sediment around the Maptaphut Industrial Estate”, วิทยานิพนธ์วิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534.

[67] กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทย์ฯ, สถานการณ์และการจัดการปัญหามลพิษทางน้ำ ปีพ.ศ. 2541-2542, น.110.

[68] กรมควบคุมมลพิษ, อ้างแล้ว, น. 121.

[69] เดชรัต สุขกำเนิด, อ้างแล้ว, น. 8.

[70] มูลนิธิโลกสีเขียว, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย 2540-2541, น. 365.

[71] เดชรัต สุขกำเนิด, อ้างแล้ว, น. 7.

[72] กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม, “พ่ายพิษ : 9 กรณีวิกฤตยุคสังคมเสี่ยงภัย”, 2544.

[73] กรมควบคุมมลพิษ, (ร่าง) “รายงานสถานการณ์มลพิษ ปี 2543” (เอกสารอัดสำเนา).

[74] มูลนิธิโลกสีเขียว, สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย 2540-2541, น. 243-245.

[75] สุริชัย หวันแก้วและคณะ, “ผลกระทบทางสังคมจากการพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออกต่อชุมชนท้องถิ่น” (รายงานวิจัย) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543, น. 95.

[76] เดชรัต สุขกำเนิด, อ้างแล้ว, น. 11.

[77] มัชฌิมา วัฒกะวงศ์, อ้างแล้ว, น. 361-362.

[78]สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย,ลู่ทางและโอกาสการส่งออกและผลกระทบจากการมีเขตการค้าเสรีอาเซียน : อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์, พฤศจิกายน 2539, น. 5.

[79] สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, โครงการสหัสวรรษใหม่กับการลงทุนอุตสาหกรรมไทยที่มีศักยภาพ : อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์, 28 กรกฎาคม 2543, น……

[80] อ้างแล้ว

[81] สมาคมแพทย์อาชีวศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการอาชีวศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งชาติครั้งที่ 7 และการประชุม4 ภาคี ป้องกันปัญหาอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมครั้งที่8 เรื่อง เทคโนโลยีอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมเพื่อศตวรรษที่ 21, น. 981.

[82] อ้างแล้ว, น. 771.

[83] อ้างแล้ว, น. 773.

[84] อ้างแล้ว.

[85] Tim Forsyth, “Shut Up or Shut Down”, Asia Inc,April 1994,p30-37.

[86] ธารา บัวคำศรี, “ลำพูนใต้เงาอุตสาหกรรม : บันทึกความเปลี่ยนแปลงแห่งชีวิตผู้คนและผลกระทบด้านต่างๆหลังนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือถือกำเนิดที่ลำพูน”, คณะกรรมการรณรงค์ป้องกันภัยจากสารพิษเคมี, ธันวาคม 2540, น. 94.

[87] สุนีย์ มัลลิกะมาลย์, “การบังคับใช้กฏหมายสิ่งแวดล้อม” (พิมพ์ครั้งที่ 2), สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2542, น.88.

[88] อ้างแล้ว, น. 92.

[89] ธารา บัวคำศรี,อ้างแล้ว,น.51.

[90] อ้างแล้ว,น.52

[91] อ้างแล้ว,น.55.

[92] อ้างแล้ว,น.92

[93] ธารา บัวคำศรี, อ้างแล้ว, น. 47.

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: