เป็นวิธีการดั้งเดิมสำหรับเปลี่ยนชิ้นไม้ให้เป็นเยื่อกระดาษ เส้นใยจะถูกแยกจากเนื้อไม้โดยการใช้หินบดบดไม้ซุงที่ลอกเปลือกไม้ออกแล้วเพื่อให้ได้เยื่อบด (Groundwood pulp) ปัจจุบันมีการปรับปรุงวิธีการทำเยื่อเชิงกลโดยการใช้แผ่นโลหะหมุนที่เรียกว่าเครื่องย่อย (Refiners) แทนหินบด ทำให้สามารถผลิตเยื่อกระดาษที่มีความแข็งแรงกว่าเยื่อบดเล็กน้อย
โรงงานผลิตเยื่อเคมีนั้น เกือบจะพึ่งตนเองได้ในเรื่องพลังงานที่ใช้ในการผลิตซึ่งได้มาจากการเผาไม้ ในขณะที่โรงงานผลิตเยื่อเชิงกลต้องการพลังงานไฟฟ้าจำนวนมากจากแหล่งพลังงานภายนอกโรงงาน แต่ในอีกด้านหนึ่งแล้ว เยื่อกระดาษที่ได้จากการทำเยื่อเชิงกลมีปริมาณสูงกว่าเยื่อที่ได้จากการทำเยื่อเคมีมาก คือจะได้เยื่อเชิงกลถึงร้อยละ 95 จากวัตถุดิบเนื้อไม้ เปรียบเทียบกับการทำเยื่อคราฟท์ซึ่งได้เยื่อคราฟท์เพียงร้อยละ 45 ถึง 50 ของวัตถุดิบ ดังนั้นการผลิตเยื่อเชิงกลจึงมีต้นทุนต่ำกว่าการผลิตเยื่อเคมี และสิ้นเปลืองต้นไม้น้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม เยื่อเชิงกลมีคุณภาพต่ำกว่าเยื่อเคมี เนื่องจากหินบดจะบดเซลลูโลสจนฉีกขาด รวมทั้งจะมีลิกนินหลงเหลืออยู่ภายในและรอบๆ เส้นใย ด้วยเหตุนี้กระดาษซึ่งผลิตจากเยื่อเชิงกลจึงไม่สู้จะทนทาน ฉีกขาดได้ง่าย ดังนั้น เยื่อกระดาษชนิดนี้ส่วนใหญ่จึงใช้ในการพิมพ์หนังสือพิมพ์ สมุดโทรศัพท์ และผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องการความแข็งแรงและคุณภาพสูง ปริมาณลิกนินที่เจือปนอยู่สูงทำให้ผลิตภัณฑ์มีสีเข้มเมื่อโดนแส
ยังมีวิธีการทำเยื่อเชิงกลอีกวิธีหนึ่งซึ่งเรียกว่า การทำเยื่อความร้อน-เชิงกล (Thermo-Mechanical Pulping: TMP) ซึ่งลดปริมาณการใช้พลังงานได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยทำให้ชิ้นไม้สับอ่อนตัวด้วยไอน้ำก่อนที่จะผ่านเข้าไปสู่เครื่องย่อย โดยสามารถนำความร้อนที่ได้จากไอน้ำทำให้เยื่อกระดาษแห้งได้อีกด้วย
ถ้าทำให้ชิ้นไม้สับอิ่มตัวด้วยสารเคมีที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบก่อนอบไอน้ำจะเรียกว่า การทำเยื่อเคมี-ความร้อนเชิงกล (Chemo-thermo Mechanical Pulping: CTMP) สารเคมีช่วยแยกลิกนินและยางไม้บางส่วนออกจากไม้ได้ ผลลัพธ์ก็คือเยื่อมีความแข็งแรงขึ้น เยื่อเคมี-ความร้อน เชิงกล สามารถใช้ทดแทนเยื่อเคมีในการผลิตกระดาษที่ไม่ต้องการคุณภาพสูงมากนัก เช่น ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอนามัย กระดาษเขียนหนังสือ และกระดาษนิตยสารอาบมันหรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ วิธีการทำเยื่อแบบนี้ใช้ได้ทั้งกับไม้เนื้ออ่อนและไม้เนื้อแข็ง ในขณะที่วิธีการทำเยื่อความร้อน-เชิงกลใช้ได้เฉพาะไม้เนื้ออ่อนเท่านั้น
การทำเยื่อเชิงกลมีข้อด้อยอยู่ที่ต้องใช้พลังงานมาก โรงงานทำเยื่อเชิงกลและเยื่อเคมี-ความร้อน-เชิงกล มักจะทิ้งสารเคมีในไม้ที่ถูกแยกออกมา มากกว่าการนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงเหมือนในโรงงานทำเยื่อเคมี และเนื่องจากมีการใช้กำมะถันในกระบวนการผลิต จึงมีการปลดปล่อยสารที่เป็นปัญหาออกมาเช่นกัน ในปัจจุบันปริมาณการใช้กำมะถันยังคงน้อยเกินกว่าที่ธุรกิจระบบบำบัดของเสียในเชิงพาณิชย์จะหันมาให้ความสนใจ
สารประกอบกำมะถันที่เป็นพิษ กรดยางไม้และของเสียจากไม้ที่ปล่อยจากโรงงาน ทำให้การทำเยื่อเคมี-ความร้อน-เชิงกล เป็นวิธีที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ นอกจากนี้แล้วของเสียดังกล่าวยังย่อยสลายได้ยาก การใช้วิธีการบำบัดทางชีวภาพทั้งชนิดใช้แบคทีเรียที่ต้องการออกซิเจนและไม่ต้องการออกซิเจน (Aerobic และ Anaerobic biological treatment) ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด