แปลเรียบเรียงจาก https://www.globalwitness.org/en/blog/everything-you-need-know-about-cop/?utm_source=hootsuite&utm_medium=twitter_ เขียนโดย Mark Normington Communications Officer mnormington@globalwitness.org
การประชุมเจรจาสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของ UN ในปี 2565 ที่อียิปต์จะเน้นที่แผนงาน การเงิน และเชื้อเพลิงฟอสซิล
การประชุมเจรจาสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ
COP ย่อมาจาก ‘Conference of the Parties’ ซึ่งเป็นวลีทั่วไปที่ใช้ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ – หมายถึง คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาหลังจากมีการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ โดยมีภารกิจในการตัดสินใจว่าจะมีการดำเนินงานภายใต้สนธิสัญญานั้นอย่างไร
มี COP ทุกประเภทสำหรับความตกลงระหว่างประเทศต่างๆ ตั้งแต่อาวุธเคมีไปจนถึงการต่อกรกับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย แต่คำว่า COP นั้นเกี่ยวข้องกับการประชุมของคณะกรรมการชุดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)

154 ประเทศลงนามใน UNFCCC ในเดือนมิถุนายน 2535 โดยตกลงที่จะจัดการกับผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศจากกิจกรรมของมนุษย์ ตั้งแต่นั้นมา การประชุม COP ได้จัดขึ้น (เกือบ) ทุกปีเพื่อหารือว่าควรบรรลุผลสำเร็จอย่างไร และติดตามความคืบหน้าที่เกิดขึ้น โดยทั่วไปแล้ว COP แต่ละครั้งจะอ้างอิงตามตัวเลขตามลำดับ เช่น COP26 เป็นการประชุม COP ครั้งที่ 26
ในแต่ละปี แต่ละประเทศจะกลายเป็นประธาน COP ซึ่งมีหน้าที่จัดและดำเนินการประชุมในปีนั้น โดยทั่วไป หมายความว่าเมืองเจ้าภาพจะย้ายในแต่ละปี ความตกลงใหม่ใด ๆ ที่ทำขึ้นที่ COP มักจะตั้งชื่อตามเมืองเจ้าภาพ เช่น ความตกลงปารีสปี 2558 หรือความตกลงด้านสภาพอากาศที่กลาสโกว์ปี 2564
ใครเกี่ยวข้องกับ COP
นักการเมือง นักการทูต และตัวแทนของรัฐบาลระดับประเทศอาจเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม COP แต่ไม่เพียงพวกเขากลุ่มเดียวเท่านั้น ผู้คนจำนวนมากเข้าร่วมเพื่อพยายามโน้มน้าวให้เกิดผลลัพธ์ ตัวอย่างเช่น กลุ่มนักหว่านล้อมของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมากเข้าร่วมการเจรจาเพื่อพยายามปกป้องอุตสาหกรรมของตนจากการปฏิบัติการที่จำเป็นอย่างยิ่งในการเก็บถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซฟอสซิลไว้ใต้ดิน ที่ COP26 เราพบว่าหากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นประเทศ จะมีผู้แทนเข้าร่วมมากที่สุดในการประชุม
อีกด้านหนึ่ง มีผู้ปกป้องที่ดินและสิ่งแวดล้อมและชนพื้นเมืองเรียกร้องให้มีการปกป้องผืนแผ่นดินของตนให้มากขึ้นจากการแสวงประโยชน์จากอุตสาหกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น การตัดไม้ การทำเหมือง และธุรกิจการเกษตรเชิงอุตสาหกรรม องค์กร Global Witness มักจะส่งตัวแทนเข้าร่วม COP เพื่อสนับสนุนการดำเนินการอย่างรวดเร็วและทะเยอทะยานเพื่อจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
อย่างไรก็ตาม มักจะมีอุปสรรคเกิดขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ กฎหมาย และทางกายภาพ ซึ่งขัดขวางไม่ให้นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและองค์กรภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ การประชุม COP26 ที่กลาสโกว์ปี 2564 ผู้เข้าร่วมหลายคนถูกปิดกั้นจากความไม่เท่าเทียมกันของวัคซีน ข้อจำกัดในการเดินทางและค่าใช้จ่ายที่สูง ผู้ที่สามารถเข้าร่วมได้ต้องเจอกับปัญหาด้านลอจิสติกส์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการประชุม ตั้งแต่การรอคิวที่ยาวเหยียดไปจนถึงการขาดแคลนใบอนุญาตในการเข้าร่วมการประชุม
โดยพิจารณาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดูเหมือนว่า COP27 ที่อียิปต์จะแย่กว่าในแง่ของการเข้าร่วมการประชุม เสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการรวมตัวกันนั้นถูกจำกัดอย่างมากในอียิปต์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน องค์กรภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนอิสระตกเป็นเป้าหมายการกดขี่อย่างต่อเนื่องในรูปแบบของการสอบสวนทางอาชญากรรมที่ไร้หลักฐาน การหน่วงเหนี่ยวกักขัง การห้ามเข้าประเทศ และมาตรการจำกัดอื่นๆ

สิ่งที่ตกลงกันใน COP26 ปี 2564
เป็นครั้งแรกที่ “เชื้อเพลิงฟอสซิล” ได้รับการกล่าวถึงในการประชุม COP26 ผู้เข้าร่วมเห็นพ้องที่จะเร่งเลิกใช้ถ่านหินและเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล ประเทศต่างๆ ยังได้ปรับปรุงแผนการดำเนินงานของตนเองในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่แผนการของอีกหลายประเทศยังไม่สอดคล้องกับสิ่งที่คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุถึงความจำเป็นเพื่อคงระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
ทุกประเทศที่เข้าร่วมเห็นพ้องต้องกันในความตกลงด้านสภาพภูมิอากาศของกลาสโกว์ที่จะแก้ไขแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วง 12 เดือนหลังจาก COP26 สอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5 °C หรือไม่อย่างไร ดังนั้นในทางทฤษฎี แล้วประเทศต่างๆ ควรไปที่อียิปต์ด้วยแผนการที่มีความมุ่งมั่น อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นสงสัย…

ว่าด้วยการตัดไม้ทำลายป่า ผู้นำโลกจาก 137 ประเทศซึ่งคิดเป็น 91% ของพื้นที่ป่าไม้ทั่วโลกมุ่งมั่นที่จะหยุดและฟื้นฟูการสูญเสียป่าภายในปี 2573 บริษัทและธนาคารจำนวนมากให้คำมั่นว่าจะบรรลุห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2568 แต่นี่เป็นเพียงคำปฏิญาณโดยสมัครใจโดยไม่มีกลไกบังคับใช้ในทางกฎหมายหากล้มเหลวในการปฏิบัติตามคำสัญญา
ในด้านการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ ประเทศที่ร่ำรวยกว่าตกลงที่จะให้เงิน 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยมลพิษในประเทศที่ยากจนกว่าภายในปี 2566 เป็นอย่างช้า นอกจากนี้ ยังมีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มระดับของเงินทุนที่มอบให้กับประเทศต่างๆ เพื่อช่วยให้พวกเขาปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นภายในปี 2568 เมื่อเทียบกับระดับกองทุนในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อตกลงในแผนการว่าจะจัดหากองทุนนี้ได้อย่างไร
สิ่งที่จะเจรจากันที่ COP27 ในปี 2565 นี้
ถ้า COP26 มุ่งเน้นไปที่ ‘จะทำอะไร’ COP27 จะมุ่งเน้นไปที่ ‘จะทำอย่างไร’ มากขึ้น อียิปต์ซึ่งประเทศเจ้าภาพและประธาน COP ประจำปี 2565 นี้กล่าวว่า ต้องการเปลี่ยนจาก “การเจรจาและการวางแผน” ไปสู่ “การลงมือดำเนินการ”

คำมั่นสัญญาหลายอย่างที่เกิดขึ้นใน COP26 ปี 2564 ค่อนข้างคลุมเครือโดยไม่มีแผนที่แน่ชัดว่าจะบรรลุผลสำเร็จได้อย่างไร คาดว่าการพูดคุยในปี 2565 นี้จะเน้นรายละเอียดที่ชัดเจนถึงวิธีทำให้คำสัญญาเหล่านี้เป็นจริง หาก COP ก่อนหน้านี้เป็นสิ่งที่ต้องทำ ประเทศต่างๆ จะไม่เต็มใจที่จะเห็นด้วยกับแผนงานที่ชัดเจนพร้อมหมุดหมายหลักที่เป็นรูปธรรม ซึ่งต่างจากเป้าหมายปี 2573 ที่อาจจะดิ้นได้ในภายหลัง
การเงินด้านสภาพภูมิอากาศจะเป็นหัวข้อสำคัญของการอภิปรายถกเถียงใน COP27 นี้ โดยวันพุธที่ 9 พฤศจิกายนกำหนดให้เป็น “วันการเงิน” ในกำหนดการ COP27 การเงินด้านสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นการเจรจาที่ยาวนานตลอดการประชุม COP ก่อนหน้านี้ การให้คำมั่นสัญญามูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีแก่ประเทศยากจนที่กล่าวถึงในหัวข้อข้างต้นนั้นตกลงครั้งแรกในปี 2552 โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2563 ดังนั้น อียิปต์และประเทศที่พัฒนาน้อยกว่าอื่นๆ จะกระตือรือร้นที่จะลงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไม่ต้องสงสัยเพื่อให้แน่ใจว่ากำหนดเวลาที่ตั้งไว้จะไม่ถูกบิดพริ้วอีกครั้ง
สุดท้าย มีความเสี่ยงที่ COP ในปี 2565 นี้จะถูกบดบังด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามที่ดำเนินไปในยูเครน วิกฤตการณ์พลังงานและอาหาร และการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังคงเป็นเส้นแบ่งหลักระหว่างกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า ผู้เข้าร่วมประชุม COP27 อาจทุ่มพลังด้านการทูตของพวกเขาไปที่อื่น

ประเด็นที่ถกเถียงกันใน COP ปีนี้คืออะไร?
การอภิปรายเกี่ยวกับการเงินด้านสภาพภูมิอากาศน่าจะเป็นประเด็นถกเถียง เนื่องจากกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยและยากจนมักจะมีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันมากว่าสิ่งนี้ควรมีลักษณะอย่างไร เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควรเป็นเท่าใด เมื่อเทียบกับการช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการปรับตัวเข้ากับระบบสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น
การบรรเทาหนี้เป็นประเด็นหลัก : ในปี 2562 44 ประเทศในแอฟริกาใช้เงิน 75,000 ล้านดอลล่าร์เพื่อชำระดอกเบี้ยจากหนี้เงินกู้ ซึ่งเกินระดับของการเงินด้านสภาพภูมิอากาศที่พวกเขาคาดว่าจะได้รับในเร็วๆ นี้มาก การจ่ายเงินสำหรับ “ความสูญเสียและความเสียหาย(Loss and Damage) หรือที่เรียกว่า ‘การชดเชยสภาพภูมิอากาศ’ อาจจะพิสูจน์ให้เห็นถึงการเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศที่มีความแตกแยก
ความสูญเสียและความเสียหาย(Loss and Damage) คือแนวคิดที่รับรองโดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากในแง่ที่ว่า กลุ่มประเทศที่มีภาระรับผิดชอบมากที่สุดต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศควรจ่ายค่าชดเชยให้กับกลุ่มประเทศที่เผชิญกับผลกระทบที่เลวร้ายที่สุด ไม่น่าแปลกใจที่แนวคิดนี้ไม่เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ และถูกปัดตกอย่างไม่ใยดีที่ COP26 แต่จะเป็นประเด็นหลักอันหนึ่งที่ COP27

ชะตากรรมของก๊าซฟอสซิล จะเป็นประเด็นสดใหม่ อียิปต์เป็นผู้ผลิตก๊าซฟอสซิลรายใหญ่เป็นอันดับสองในแอฟริกา และเป็นหนึ่งในหลายรัฐในแอฟริกาที่ประเทศในยุโรปเข้ามาพัวพันเพื่อหาแหล่งสำรองก๊าซฟอสซิลหลังจากการรุกรานของยูเครนโดยรัสเซีย
อาจเป็นเรื่องยากที่จะบรรลุความตกลงเพื่อลดการผลิตก๊าซฟอสซิล แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศโลก และแม้ว่าภาคประชาสังคมในแอฟริกาจะร่วมใจกันต่อต้านก๊าซฟอสซิลก็ตาม