ตอนนี้เป็นเรื่องว่าด้วยความแตกต่างเชิงแนวทางของ “การผลิตที่สะอาด” กับ “การป้องกันมลพิษ” ครับ

การผลิตที่สะอาดก้าวไปไกลกว่า “การป้องกันมลพิษ” ซึ่งส่งเสริมให้ลดการใช้วัสดุมีพิษในกระบวนการผลิต การป้องกันมลพิษจะมุ่งไปที่การควบคุมมลภาวะที่ปลายท่อและเทคโนโลยีการกำจัดของเสียต่างๆ  เช่น เตาเผาขยะ  มาตรการควบคุมที่ปลายท่อเหล่านี้ไม่ได้แก้ปัญหาการเกิดของเสีย แต่เป็นเพียงการส่งผ่านอันตรายจากสิ่งแวดล้อมหนึ่งไปยังอีกสิ่งแวดล้อมหนึ่งเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ในกรณีของการเผากากของเสียอันตรายและขยะจะถูกรวบรวมจากโรงงานและที่พักอาศัย ของเสียทั้งหมดจะถูกเผาทำลายทำให้เกิดมลภาวะในอากาศและน้ำ สารพิษจะสะสมเข้มข้นมากขึ้นในขี้เถ้าซึ่งจะถูกนำไปฝังในหลุมฝังกลบ หรือในบางประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ นำขี้เถ้าจากการเผาขยะไปใช้สร้างถนน แต่นี่ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริงเพราะในที่สุดหลุมฝังกลบก็จะรั่วซึมและพื้นผิวถนนก็จะแตกออก

การป้องกันมลพิษมุ่งไปสู่กระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากและทำให้เกิดสารพิษน้อย การผลิตที่สะอาดมองการผลิตอย่างเป็นระบบและเป็นองค์รวม ปัจจุบันการผลิตที่สะอาดได้รับการพูดถึงในเวทีนานาชาติหลายแห่งด้วยกัน อย่างเช่น สนธิสัญญาออสโล-ปารีส (Oslo-Paris – OSPAR) สนธิสัญญาเพื่อแอตแลนติกตะวันออกเฉียงเหนือ (Convention for the Northeast Atlantic) ปฏิญญาทะเลเหนือ (The North Sea Declaration) และสนธิสัญญาบาร์เซโลนาเพื่อภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน (The Barcelona Convention for the Mediterranean Region)

หมายเหตุ : Series “การผลิตที่สะอาด” นี้ย่อยมาจากคู่มือประชาชนว่าด้วยการผลิตที่สะอาดซึ่งจะวิเคราะห์แนวคิดและยุทธศาสตร์ที่สำคัญ พร้อมกับเสนอแนวทางให้บุคคลและกลุ่มบุคคลร่วมกันทำให้การผลิตและบริโภคมีความปลอดภัยและยั่งยืนในอนาคต ทั้งนี้ไม่ได้ประสงค์ที่จะให้เป็นคู่มือที่ให้รายละเอียดในการนำไปปฏิบัติ  หากแต่สิ่งที่นำเสนอจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชน และให้สามารถลงมือกระทำได้ คู่มือดังกล่าวนี้เขียนขึ้นเพื่อผู้บริโภค ผู้เสียภาษี ผู้ค้าปลีก เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น องค์กรแรงงาน ผู้ผลิต และนักวางแผน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องกับการผลิต และพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ความรู้พื้นฐาน เป็นเครื่องมือและเครื่องสนับสนุนนักสิ่งแวดล้อมและนักกิจกรรมที่ต้องการหาวิธีการรณรงค์เชิงบวกแบบใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

-ธารา บัวคำศรี –