ตอนที่แล้ว มีการพูดถึงเรื่องของมาตรฐานต่างระดับเมื่อกล่าวถึงประเด็นการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การตั้งมาตรฐานไม่ใช่ทางออก เพราะการควบคุมมิให้มีการปล่อยไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ออกจากกระบวนการผลิตเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
ประมาณว่าร้อยละ 80 ของไดออกซินที่พบใต้ท้องน้ำแม่น้ำไรน์ในฮอลแลนด์ เกิดจากอุตสาหกรรมไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ในเยอรมนี กระบวนการผลิตและใช้งานของอุตสาหกรรมไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ปล่อยไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์มากถึง 330 ตันออกสู่สิ่งแวดล้อมในช่วงปี 2532 ในสวีเดน บริษัทพีวีซี Norsk Hydro ได้ปล่อยไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ออกมาก 140 ตัน และประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่มีการกำหนดมาตรฐานเข้มงวดในเรื่องนี้
ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าคือในสหราชอาณาจักร บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง ไอซีไอ(ICI) ออกมายอมรับว่าโรงงานของบริษัทในเมอร์ซี่ไซด์เพียงแห่งเดียว มีการปล่อยไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ออกสู่บรรยากาศมากถึง 1,700 ตันต่อปี
ดังนั้นในความเป็นจริงเราต้องยอมรับว่า สารเคมีที่นำมาผลิตพีวีซีนั้นเป็นสารพิษซึ่งยากที่จะควบคุมไม่ให้รั่วไหลออกจากกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะมีการควบคุมที่ซับซ้อนและหนาแน่นเพียงใด ยิ่งกว่านั้น หากมีการหกล้น เกิดอุบัติเหตุ หรือมีการจัดการที่ไม่ดีพอ จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ปัญหาการรั่วไหลทบทวีขึ้นไปอีก
มีรายงานระบุเหตุการณ์หกล้นของเอธิลีนไดคลอไรด์ และไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ เกิดขึ้นบ่อยครั้งในโรงงานพีวีซีฟอร์โมซา (Formosa) ในรัฐหลุยเซียน่า สหรัฐอเมริกา ทำให้คนงานเจ็บป่วยเนือง ๆ และน้ำใต้ดินเกิดการปนเปื้อน
ที่สำคัญ อย่าลืมว่าก่อนที่พีวีซีจะถูกนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้งานหลากหลายดังได้กล่าวมานั้น จำเป็นต้องมีการเติมสารเติมแต่งเข้าไปเพื่อให้ได้พลาสติกที่เหมาะแก่การใช้งานแต่ละประเภท และกระบวนการผลิตเช่นนี้กระจายไปทั่วโลก และการเติมสารเติมแต่งนี่เองที่ทำให้อุตสาหกรรมพีวีซีเป็นตลาดหลักของอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมเหมืองแร่
ดังนั้น นอกจากพลาสติกพีวีซีจะผูกแน่นอยู่กับสารประกอบอินทรีย์คลอรีนแล้ว อุตสาหกรรมพีวีซียังทำให้เกิดการใช้สารพิษมากมาย นี่ยังไม่รวมถึงการปล่อยสารพิษออกจากกระบวนการผลิตและใช้ นับได้ว่าไม่มีอุตสาหกรรมไหนจะเกี่ยวข้องกับสารพิษได้มากเท่านี้อีกแล้ว