ธาราบัวคำศรี แปลเรียบเรียงจาก Disposable Heroes : The ‘Fukushima 50′ are all but forgotten a year after a tsunami crippled one of Japan’s biggest nuclear facilities. By Takashi Yokota and Toshihiro Yamada. Newsweek, 12 March 2012
หมายเหตุ : ชื่อบุคคลในบทความนี้ใช้ชื่อสมมุติเพื่อปกป้องแหล่งข่าวจากการคุกคามของบริษัท TEPCO
หลังจากที่เตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 1 ระเบิด นากากาว่ารับโทรศัพท์จากหัวหน้าของเขาซึ่งถามด้วยความแตกตื่นว่า “เอ็งมัวทำอะไรอยู่ว่ะ ออกมาจากที่นั่นได้แล้ว” ในชั่วขณะนั้น ทุก ๆ คนโดยรอบต่างพูดถึงหายนะของวันสิ้นโลกหากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั่ง 6 หน่วย ระเบิดขึ้นมา นากากาว่าบอกว่า “ผมรับกับเรื่องนี้ไม่ได้อีกแล้ว” เขารู้ว่ามีคนจับตาอยู่สองสามคน เขาค่อย ๆ แอบออกมาจากอาคารและขับรถกลับบ้าน
แต่บ้านที่เขาอยู่กลายเป็นเมืองร้างไปแล้ว ครอบครัวของเขาและเพื่อนบ้านต่างอพยพออกไปกันหมด แต่รถยนต์ของเขาไม่มีน้ำมันพอที่จะขับไปถึงศูนย์อพยพได้ มีอาหารเหลือทิ้งไว้ในบ้านอยู่เล็กน้อย แม้ว่าจะมีไฟฟ้าอยู่ ต่อมาหัวหน้าของเขาโทรศัพท์มาอีกพร้อมข้อเสนอเพิ่มเงินเดือนให้อีก 10 เท่า ถ้าเขากลับไปที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมา นากากาว่าโทรศัพท์หาคนรู้จักที่บริษัทเทปโกเพื่อขอให้มารับเขากลับไป
นั่นอาจเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ วันต่อมา นากากาว่าได้เห็นกลุ่มเมฆทรงดอกเห็ดสีชมพูอยู่เหนืออาคารเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 3 ที่เกิดการระเบิดขึ้น เขากำลังซ่อมสายไฟฟ้าบริเวณด้านใต้ของพื้นที่โรงไฟฟ้าและยังคงสวมชุดพนักงานที่เป็นผ้าฝ้าย
ถึงแม้จะมีการกล่าวขานเรื่องความเป็นวีรบุรุษของคนงาน ณ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมาหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ คนงานแต่ละคนนั้นก็มีแรงจูงใจที่แตกต่างกันไป ในกรณีของนากากาว่า บริษัทรับเหมาที่เขาทำงานอยู่นั้นผูกติดอยู่บริษัทเทปโก จากปากคำของผู้ให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ ยังมีคนงานรายวันจากย่านคนจนในเขตโตเกียวและโอซากาที่มาฟูกูชิมาเพราะอยากได้เงิน บางคนเป็นสมาชิกของแก๊งยากูซ่ากิจกรรมเหล่านั้นดำเนินสืบเนื่องไปจนถึงฤดูร้อนซึ่งมีการผ่านกฎหมายที่ระบุว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายหากบริษัทมีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาชญากรรม คนงานที่ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า ตราบเท่าที่ คนเหล่านี้ประสงค์จะทำงาน ก็ไม่ต้องสนใจว่าพวกเขามาจากไหน
จริง ๆ แล้ว มีคนงานนับร้อยที่ไม่รู้ว่ามาจากไหน คิมูรากล่าวว่า “เดิมก่อนเกิดอุบัติภัย เรามีการตรวจสอบคนงานแต่ละคนอย่างเข้มงวด แต่หลังจากอุบัติภัย กฎเกณฑ์ที่ใช้อยู่ก็รวนไปหมด เราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และมีคนงานกี่คนที่ทำงานที่นี่”
แม้กระทั่งพนักงานตามกฎหมายที่ทำงานที่โรงไฟฟ้าก็ได้รับคำสัญญาว่าพวกเขาจะไม่มีอันตรายใด ๆ มาโกโต อินาดะ ซึ่งทำงานเป็นวิศวะกร ณ โรงไฟฟ้ามาเป็นเวลาหลายปี ได้รับโทรศัพท์จากหัวหน้าของเขาสองสามสัปดาห์หลังจากเกิดอุบัติภัยวันที่ 11 มีนาคม ให้เข้าร่วมภารกิจกอบกู้โรงไฟฟ้าฟูกูชิมาไดอิชิ
อินาดะกล่าวว่า ทั้งหมดที่เขาต้องทำ เขาถูกสั่งให้ทำการจ่ายไฟฟ้าเข้าไปในโรงไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหาย นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาคิด เมื่ออินาดะโผล่หน้ามาที่โรงไฟฟ้าในเดือนเมษายน เขาถูกสั่งให้เข้าไปในอาคารเตาปฏิกรณ์สองหน่วยที่ได้รับความเสียหายเพื่อซ่อมแผงคอมพิวเตอร์ในห้องควบคุมหลัก “ผมร้องเรียนหัวหน้า เขาจึงขึ้นเงินเดือนให้ผมเป็นสองเท่า หัวหน้าดีกับผมตลอดมา และผมเองก็คิดว่าต้องมีคนที่ทำงานนั้น”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)