ธาราบัวคำศรี แปลเรียบเรียงจาก Disposable Heroes : The ‘Fukushima 50′ are all but forgotten a year after a tsunami crippled one of Japan’s biggest nuclear facilities. By Takashi Yokota and Toshihiro Yamada. Newsweek, 12 March 2012

หมายเหตุ : บุคคลในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติเพื่อปกป้องพวกเขาจากการคุกคามของบริษัท TEPCO

 

ส่วนคนอื่น ๆ ก็บอกว่า พวกเขาถูกขู่ หรือโดนกดดันให้ทำงานต่อไปที่โรงไฟฟ้า เคนจิ ยามาโมโต เจ้าของร่วมของบริษัทวิศวกรรมไฟฟ้ากล่าวว่าหลังจากการระเบิด บริษัท TEPCO และผู้รับเหมาในเครือผลักดันให้ผู้ประกอบการธุรกิจในพื้นที่ส่งคนงานไปที่โรงไฟฟ้า “เทปโกต้องการคนงานเป็นอย่างมาก พวกเขาขู่บริษัทหลายแหล่งว่าจะไม่ได้ทำธุรกิจกับเครือเทปโกอีกหากปฏิเสธที่จะส่งคนงานไป” คำขู่นั้นเป็นเรื่องจริงสำหรับคนที่อยู่อาศัยและทำงานในจังหวัดฟูกูชิมา ซึ่งเศรษฐกิจในพื้นที่ผูกติดอยู่กับบริษัทด้านพลังงานอย่างเทปโก การประกอบการธุรกิจหลายประเภทจะอยู่ไม่ได้หากไม่มีบริษัทเทปโก

เช่นเดียวกับหลายๆ คน นากากาว่าซึ่งเติบโตขึ้นใต้เงนทะมึนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พ่อแม่ของเขาพยายามชักจูงให้เขาทำงานที่บริษัทเทปโกเมื่อเขาจบชั้นมัธยมปลาย แต่เขาปฏิเสธเพราะว่า ความใหญ่โตและก้าวร้าวของมัน แต่เขาเองก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงอิทธิพลของบริษัทเทปโกได้ บริษัทไฟฟ้าขนาดเล็กที่เขาทำงานก็ยังคงขึ้นกับเทปโกในทางธุรกิจ นากากาว่าบอกว่า “ผมคิดจะเปลี่ยนงาน แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราไม่มีอุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ผมต้องหาเลี้ยงครอบครัว ผมไม่มีทางเลือก”

อย่างน้อยที่สุด เมื่อนากากาว่ากลับมาทำงานที่โรงไฟฟ้าครั้งที่สองในเดือนเมษายน(2554) เขาได้รับชุดป้องกันภัยและเครื่องตรวจระดับรังสี แต่ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ตอนที่เขาออกจากโรงไฟฟ้าในเดือนสิงหาคม (2554) ร่างกายของเขาได้รับปริมาณรังสีเกินขนาด สามเท่าของระดับที่จำเป็นต้องมีการตรวจร่างกายอย่างสมบูรณ์ การตรวจสภาพร่างกายของคนงาน กว่ารัฐบาลจะดำเนินการนั้นก็เป็นช่วงฤดูในไม้ร่วง

ตามกฎหมาย คนงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องบันทึกปริมาณการรับรังสีของเขาลงในสมุด แต่คนงานอย่างเช่น จุนจิ โทมิตะและอินาดะนั้นไม่ได้รับอุปกรณ์เหล่านั้นตั้งแต่ที่พวกเขาทำงานที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมาไดอิชิ โทมิตะไม่รู้เลยว่ามีปริมาณรังสีสะสมอยู่ในร่างกายของเขาเท่าไร “ผมไม่เคยเข้าไปในด้านในของโรงไฟฟ้า ไม่มีใครบอกผมเรื่องสมุดบันทึกจนกระทั่งถึงเดือนมิถุนายน ผมรู้สึกถูกปฏิบัติเหมือนคนงานที่ไร้ค่า”

ในขณะที่คนงานหลายคนไม่รู้เรื่องขั้นตอนเรื่องความปลอดภัย คนงานอื่น ๆ หลายคนก็ดูเหมือนไม่ใส่ใจ ขีดจำกัดการรับรังสีต่อปีของคนงานที่ทำงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตั้งไว้ที่ 50 มิลลิซีเวอร์ส หรือ 100 มิลลิซีเวอร์สต่อ 5 ปี ใครที่รับรังสีเกินระดับนี้จะถูกห้ามทำงานในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตามคำให้การของอินาดะ คนงานหลายคนถอดเครื่องมือวัดปริมาณรังสีออกเพื่อที่ตนเองจะได้ทำงานมีรายได้ต่อไป คนงานหลายคนถอดหน้ากากป้องกันรังสีออกเพื่อจุดไฟสูบบุหรี่

บริษัท TEPCO บอกว่า ความปลอดภัยมาก่อนทุกสิ่งทุกอย่าง สองสามเดือนหลังจากเกิดอุบัติภัย TEPCO ทำการบรรยายเรื่องความปลอดภัยให้กับคนมาใหม่อย่างอินาดะ ผู้บรรยายคนหนึ่งกล่าวว่า “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของเรามีความปลอดภัยเพราะว่าปกป้องด้วยผนังคอนกรีตหลายชั้น” อินาดะกล่าวว่า “ปลอดภัย ? โรงไฟฟ้านรกนั่นมันระเบิดไปแล้ว ล้อเล่นกันรึ”

(โปรดติดตามตอนจบ)