เหตุการณ์สารเคมีรั่วเป็นกลิ่นเหม็นรุนแรงทำให้ชุมชนในเขตอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ต้องอพยพออกจากพื้นที่ (ในวันที่ 7 และ 9 มิถุนายน 2557) และเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ภายใน บริษัท ผลิตปิโตรเคมี IRPC ที่ตั้งอยู่ ณ ตำบลเชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง กลายเป็นอุบัติภัยสารเคมีร้ายแรงที่ต้องจารึกลงในบัญชีรายชื่ออันยาวเหยียดของอุบัติภัยทางอุตสาหกรรมจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกหรืออีสเทอร์นซีบอร์ดอีกครั้งหนึ่ง
อุบัติภัยทางอุตสาหกรรมสองเหตุการณ์นี้มีความแตกต่างในแง่ที่ว่า ในเหตุการณ์แรก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือการนิคมอุตสาหกรรมยังไม่สามารถหาต้นตอของกลิ่นสารเคมีอันรุนแรงที่ทำให้ชาวบ้านและคนงานต้องล้มป่วยและจำต้องอพยพไปอยู่ที่ปลอดภัย ส่วนในเหตุการณ์หลัง เรารู้ชื่อและทำเลที่ตั้งของการเกิดอุบัติภัยจากเหตุระเบิดและเพลิงไหม้
ความเหมือนกันของเหตุการณ์ทั้งสองคือ เราไม่ค่อยพบการรายงานข่าวในสื่อกระแสหลักมากนัก โดยเฉพาะเหตุระเบิดที่บริษัทผลิตปิโตรเคมี IRPC นอกเหนือไปจากการชี้แจงของหน่วยงานและบริษัทถึงที่มาที่ไปของการเกิดเหตุและภาระรับผิด (liability) ที่ควรจะเป็นจากผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชีวิตทรัพย์สินของประชาชนและการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม
แนวทางจัดการกับอุบัติภัยสารเคมีแนวทางหนึ่งที่กรีนพีซเรียกร้องคือให้มีการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษหรือ Pollutants Release and Transfer Register (PRTR) ในประเทศไทย โดยภาคประชาสังคม อย่างเช่น มูลนิธิบูรณะนิเวศ กำลังผลักดันให้เป็นกฎหมาย เพื่ออย่างน้อยที่สุด สังคมไทยน่าจะพอได้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์อยู่บ้าง และเมื่อเร็วๆ นี้เอง กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การความร่ว มมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) จัดให้มีโครงการนำร่องทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษในจังหวัดระยองเป็นแห่งแรกโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลการจัดการมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทต่างๆสู่สาธารณชน ลดและแก้ไขปัญหาการปลดปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทโรงงานอุตสาหกรรม และเพื่อติดตามและประเมินความก้าวหน้าในการดำเนินนโยบายลดและขจัดมลพิษจากแหล่งกำเนิดของหน่วยงานราชการ รวมทั้งการติดตามตรวจสอบมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทต่างๆ
การดำเนินการให้มีทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษยังเป็นไปตามแผนการดำเนินงาน ภายใต้ยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการจัดการสารเคมีและมลพิษทั้งในและระหว่างประเทศ อาทิเช่น แผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2550-2554) แผนปฏิบัติการที่ 21 (Agenda 21) อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants: POPs) ยุทธศาสตร์การดำเนินงานระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการสารเคมี (Strategic Approach to International Chemicals Management : SAICM)
และประเด็นสำคัญที่ควรจะกล่าวไว้ ณ ที่นี้คือ โครงการนำร่องนี้เป็นไปตามข้อเรียกร้องจากภาคประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ให้มีการนำ PRTR มาใช้เป็นเครื่องมือส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหามลพิษในจังหวัดระยอง
เรามาดูกันว่าทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษทำงานอย่างไร
อันดับแรกเป็น URL ของทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษโดยคลิกที่ http://prtr.pcd.go.thหน้าแรกของเว็บไซต์ ประกอบด้วยเมนูต่างๆ ได้แก่ หน้าหลัก PRTR ประเทศไทย แหล่งกำเนิดมลพิษ รายงานปลดปล่อยมลพิษ แผนที่ PRTR ตลอดจนรายการสารเคมี 107 รายการ กำหนดขึ้นตามระเบียบ PRTR ให้โรงงานหรือสถานประกอบการต้องรายงานข้อมูลการปลดปล่อย
เราจะเข้าไปดูในส่วนของพื้นที่จังหวัดระยองที่เกิดอุบัติภัยนี้ขึ้นเป็นตัวอย่าง เมนูที่เป็นประโยชน์คือ แผนที่ PRTR (prtr.pcd.go.th/location.php) เมื่อคลิกเข้าไปจะแสดงหน้ารายงานการปลดปล่อยมลพิษโดยมีเมนูค้นหา 1) ปีที่เก็บข้อมูล 2) การปลดปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมดิน น้ำและอากาศ 3) การเคลื่อนย้ายมลพิษในรูปของของเสีย น้ำเสีย 4) รายการสารเคมี 107 รายการโดยเราต้องเลือกทีละรายการ และ 5) ทำเลที่ตั้ง (จังหวัดและอำเภอ)
เมื่อเราคลิกปุ่มค้นหา จะแสดงผลเป็นแผนที่ซึ่งจะระบุขอบเขตสีแดงแสดงพื้นที่ที่มีการรายงานการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ เมื่อคลิกลงไปบนจุดใดจุดหนึ่งในพื้นที่สีแดง ปริมาณรวมของมลพิษที่เราต้องการค้นหาก็จะแสดงให้เห็นโดยมีหน่วยเป็นกิโลกรัม โดยเราสามารถค้นหาปริมาณของสารเคมี 107 รายการได้ในพื้นที่ดังกล่าว
ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นถึงประโยชน์ของทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR) หัวใจสำคัญของ PRTR คือสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แนวคิดในการจัดทำ PRTR เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ระเบิดและสารเคมีรั่วที่โรงงานยูเนียนคาร์ไบด์ที่เมืองโภปาล อินเดียใน พ.ศ. 2527 และสารเคมีรั่วไหลในรัฐเวสท์เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา คนงานและชุมชนที่มีโรงงานตั้งอยู่ใกล้เคียงต่างเรียกร้องให้โรงงานมีการเปิดเผยข้อมูลการใช้สารเคมีอันตรายให้กับสาธารณชน
หลายประเทศทั่วโลกมีการออกกฎหมายและนำเอา PRTR ไปประยุกต์ใช้ ประโยชน์ของ PRTR เป็นที่ยอมรับทั้งจากหน่วยงานรัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน ในการเป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม กำหนดแนวทางวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ การติดตามตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย การวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน การใช้สารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การลดการปล่อยมลพิษจากโรงงาน ความปลอดภัยด้านสารเคมีของผู้ประกอบการและคนงาน การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหามลพิษร่วมกับหน่วยงานรัฐ การเข้าถึงข้อมูลการจัดการสารเคมีเพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันตนเองจากมลพิษ เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับพนักงานดับเพลิง โรงพยาบาล ตำรวจ หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเมื่อเกิดอุบัติภัยสารเคมี
ทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษหรือ PRTR ของประเทศไทยยังอยู่ในขั้นตอนนำร่องในระดับพื้นที่ ฐานข้อมูลที่มีอยู่ยังไม่สามารถนำมาใช้ให้บรรลุวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์ตามที่กล่าวมาข้างต้นได้ในขณะนี้ เราจึงไม่สามารถระบุหาต้นตอของแหล่งกำเนิดสารเคมีรั่วไหลส่งกลิ่นเหม็น ส่งผลกระทบต่อชุมชนในเขตอำเภอบ้านฉางได้ ในกรณีของการระเบิดในโรงงานปิโตรเคมี IRPC ข้อมูลที่อยู่บน PRTR ของประเทศเป็นข้อมูลในปี 2554 ซึ่งไม่สะท้อนสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
เนื่องด้วยเป็นโครงการนำร่องในระดับพื้นที่ การรายงานมลพิษจึงเป็น “การสมัครใจ” ยังมิใช่ “การบังคับให้มีการรายงาน” ข้ออ้างประการสำคัญคือเพื่อมิให้เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อบรรยากาศการลงทุนทางอุตสาหกรรม และ PRTR ไม่ใช่ยาที่แก้สารพันมลพิษ
แต่สังคมไทยเดินทางมาไกลแล้ว การพัฒนาทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษจากโครงการนำร่องในระดับพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ และสนับสนุนให้เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเป็นธรรมและการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะที่ดีของคนทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษ เป็นเรื่องจริยธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่ผู้อำนาจปกครองประเทศทั้งหลายควรจะลงมือทำ มิใช่หรือ?