16406709_1395848307113116_4649200861465065526_nภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลยั่งยืนและเป็นธรรม แถลงข่าว “บทบาทภาคธุรกิจและประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาแรงงานและสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมประมงไทย” โดยสะท้อนเสียงจากผู้ได้รับผลกระทบจากทั้งในภาคแรงงานและทรัพยากรทะเล โดยมีตัวแทนภาคีเครือข่ายฯ ภาคประชาสังคม อาทิ นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย นายสมพงษ์ สระแก้ว ผอ.มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) นางสาวสุธาสินี   แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานองค์กรสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) นายสะมะแอ  เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และนายสามารถ เสนาสุ อดีตแรงงานบนเรือประมง นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผจ.สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ร่วมแถลง ณ ห้องไลบรารี่ เวลา 10.00 น. วันที่ 31 มกราคม 2560 โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ

ในช่วงปีที่ผ่านมา ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความไม่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมประมงของไทยยังตกเป็นประเด็นร้อนที่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงได้  ความไม่ยั่งยืนในสายพานการผลิตส่งผลกระทบโดยตรงทั้งต่อชีวิตลูกเรือแรงงานและความหายนะทางสิ่งแวดล้อม ปรากฎการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้วต้องปรับตัวจากการที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคตกต่ำ นอกจากนี้ในปี 2554 สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไทย ได้ออกประกาศอย่างเป็นทางการ โดยจัดให้ไทยตกอยู่ในบัญชีประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unregulated and Unreported Fishing : IUU Fishing) ซึ่งจนถึงขณะนี้ ไทยยังไม่สามารถปลดสถานะใบเหลืองนี้ได้                            ในขณะเดียวกัน ไทยยังคงอยู่เทียร์ 2 Watchlist ที่ต้องจับตาด้านการค้ามนุษย์จากการจัดลำดับของสหรัฐอเมริกา

ภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลยั่งยืนและเป็นธรรม หรือ “The Thai Civil Society’s Coalition for Sustainable and Ethical Seafood” คือเวทีแรกที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และองค์กรภาคประชาสังคมไทยด้านแรงงาน และด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำงานใกล้ชิด มีความเชี่ยวชาญกับสภาพปัญหา รวม 14 องค์กร ได้จับมือร่วมทำงานกันในรูปแบบเครือข่าย โดยทางเครือข่ายมีภารกิจในการชี้วิเคราะห์สาเหตุ นำเสนอทางออกอย่างสร้างสรรค์ สร้างความตระหนัก รณรงค์และส่งเสริม เพื่อยุติการทำประมงที่ไม่ยั่งยืนและ ไม่เป็นธรรมตลอดกระบวนการผลิต (จากทะเลสู่จานผู้บริโภค) ภาคีเครือข่ายฯต้องการสนับสนุนภาครัฐและเอกชนให้เปลี่ยนแปลงการดำเนินงานด้านนโยบายและการปฎิบัติ เพื่อการคุ้มครองสิทธิแรงงานและระบบนิเวศน์ทางทะเล รวมทั้งนำเสนอทางออกอย่างมีส่วนร่วมและมีบทบาทในการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

ที่ผ่านมา ทางภาคีเครือข่ายฯ ได้เห็นถึงความพยายามของภาครัฐและเอกชนขนาดใหญ่ในการพยายามแก้วิกฤติดังกล่าว แม้จะน่ายินดีแต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และเมื่อปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที แรงงานในอุตสาหกรรมประมงและครอบครัวชาวประมงพื้นบ้าน กลับตกเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด

“ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญที่จะสามารถแก้ไขปัญหาในห่วงโซ่อุปทาน เช่นซุปเปอร์มาร์เก็ตฐานะที่เป็นปลายทางห่วงโซ่การผลิต ธุรกิจเองอาจไม่ได้รับรู้มาก่อนว่าสินค้าที่นำมาขายผู้บริโภคมาจากแรงงานทาส แต่เมื่อรู้แล้วต้องร่วมแก้ไข รวมถึง มีบทบาทในการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และนโยบายของเอกชนรายอื่นๆ ในธุรกิจเดียวกันด้วย” นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าว

ทั้งนี้ การประชุม “Seafood Task Force” ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มธุรกิจชั้นนำของโลก ทั้ง ผู้ซื้อ ในประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา และ ผู้ส่งออก รายใหญ่ของไทย ที่กำลังมีการจัดประชุมกันระหว่างวันที่ 30 มกราคม ถึง 2 กุมภาพันธ์ 2560 ในประเทศไทย ทางภาคีเครือข่ายฯ จึงตัดสินใจเข้าเข้าหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล และเสนอแนวทางการแก้ปัญหาและความร่วมมือในช่วงค่ำของวันที่ 30 มกราคม ที่ผ่านมา โดยการพบปะกันครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของโลก ที่กลุ่มองค์กรซึ่งมีความสำคัญยิ่งในการแก้ปัญหาสองฝั่ง คือภาคประชาสังคมและภาคเอกชนระดับโลกได้พบปะหารือกัน

นายสะมะแอ  เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เพื่อจัดการระบบนิเวศน์ทางทะเลอย่างเร่งด่วน ทางภาคีได้มีข้อเสนอเร่งด่วน 2 ประการต่อภาคเอกชน คือ 1) “ยุติการใช้เครื่องมือและวิธีการทำประมงทำลายล้าง โดยต้องไม่จับ ไม่ใช้ และไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ประมงที่ได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)  การใช้อวนลาก และวิธีปั่นไฟล่อจับปลา     แม้กฎหมายไทยไม่ได้ห้ามไว้  รวมถึงต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ทำให้ทราบแหล่งที่มาและวิธีการจับสัตว์น้ำที่ทำการประมงได้ และบังคับใช้ระบบนี้กับซัพพลายเออร์  นอกจากนี้ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติในการจัดซื้อจัดหาสินค้าหรือวัตถุดิบสัตว์น้ำในธุรกิจของตนให้สาธารณชนได้รับทราบด้วย” 

นอกจากนี้ต่อประเด็นที่เกี่ยวข้อง นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ชี้ว่า “ต้องยุติการซื้อหรือใช้ปลาป่นที่ได้มาจากการทำประมงอย่างไม่ยั่งยืน/ทำลายล้าง เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ ภาคเอกชนต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของปลาป่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ  การจัดซื้อจัดจ้างต้องโปร่งใส เปิดโอกาสให้หน่วยงานภายนอกตรวจสอบได้  และขอให้เปิดเผยข้อมูลสัดส่วนวัตถุดิบโปรตีนในปลาป่นที่มาจากปลาเป็ดที่ใช้อยู่ว่ามากน้อยเพียงใด  รวมถึงลงทุนในการศึกษาวิจัย พัฒนาทางเลือกวัตถุดิบโปรตีนทดแทนในอาหารสัตว์เพื่อลดความต้องการปลาป่นจากการทำประมงอย่างไม่ยั่งยืน”

ส่วนด้านสังคมและแรงงานนั้น นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล   ผู้ประสานงานองค์กรสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) เสนอว่า “1) เอกชนต้องยุติการใช้แรงงานบังคับในภาคการประมงอย่างเร่งด่วน โดย ผลักดันมาตรการและแนวปฏิบัติของผู้ประกอบกิจการเรือประมงในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานและความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานประมง และที่สำคัญ 2) ต้องส่งเสริมสิทธิในการรวมตัวและการได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและการทำงานที่มีคุณค่าของแรงงานประมง โดยการบริหารจัดการแรงงานประมงในประเทศไทย ต้องเป็นไปตามหลักสิทธิในการทำงาน สิทธิในการรวมตัวและเสรีภาพในการต่อเจรจาต่อรองของคนงานประมง ตลอดจนการส่งเสริมให้คนงานประมงได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมและการทำงานที่มีคุณค่า

ทั้งนี้ ภาคเอกชนควรกำหนดอัตราค่าจ้างค่าตอบแทนและสวัสดิการให้สอดคล้องกับความเสี่ยงภัยของแรงงานประมง อีกทั้ง ให้มีการชดเชยเป็นค่าตอบแทนในส่วนที่นอกเหนือจากจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ตกลงกันไว้ โดยกำหนดการลงอวนไม่เกิน 3 ครั้งต่อการทำงาน (24 ชั่วโมง) ระบบการจ่ายเงินค่าจ้างและ/หรือค่าส่วนแบ่งรายได้จากการจับสัตว์น้ำให้คนงานประมงต้องมีหลักฐานและตรวจสอบได้

“แม้แต่การนำเสนอรายงานประจำปีต่อสาธารณะ ว่าแต่ละบริษัทดำเนินการส่งสริมคุ้มครองอย่างไร ก็อาจเป็นก้าวสำคัญที่ยืนยันความก้าวหน้า ความจริงใจที่ภาคธุรกิจมี ในการแก้ปัญหาในระยะยาว” สมพงษ์สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)

หลังจากการหารือระหว่างภาคีเครือข่ายฯและ Seafood Task Force ทางภาคเอกชนใน Seafood Task Force เห็นว่าเรามีเป้าหมายเดียวกัน และเห็นด้วยในหลักการร่วมกัน ซึ่งทางภาคีเครือข่ายฯยินดีกับท่าทีของ Seafood Task Force อย่างไรก็ตามทางภาคีเครือข่ายฯเห็นว่าการมีเป้าหมายร่วมกันเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เราจึงขอเสนอให้ Seafood Task Force มีกลไกเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมและประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพและมีส่วนร่วม โดยหลังจากการหารือด้วยวาจาแล้ว ทางภาคีเครือข่ายฯ จะยื่นหนังสือแนวทางแก้ไข้ปัญหาในรายละเอียด พร้อมทั้งเสนอวง Seafood Task Force ให้เปิดเผยแผนและกรอบเวลาการแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาประมงอย่างยั่งยืนร่วมกัน

ทั้งนี้  ทางภาคีเครือข่ายฯ เรียกร้องให้สื่อมวลชนและสาธารณะ ได้ร่วมกันติดตาม จับตามองการแก้ปัญหา ไม่เฉพาะแต่ภาครัฐ แต่รวมทั้งการแก้ปัญหาของภาคเอกชนและภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่การส่งเสริมในระยะยาวหรือยั่งยืนต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ วิรดา  อนุเทียนชัย 08 1804 5493 // อภิสรา กฤตาวาณิชย์ 08 3298 2266 หรือ รภัสสา ไตรรัตน์ ผู้ช่วยด้านความยั่งยืน องค์กรอ็อกแฟมในประเทศไทย Rtrirath@oxfam.org.uk โทรศัพท์ 026320033 ต่อ 171