ธารา บัวคำศรี

ไม่ได้มีแค่แพขยะใหญ่แปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch) แต่ประเทศเราก็ไม่น้อยหน้า มีแพขยะอ่าวไทยด้วย และแพขยะดังกล่าวนี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของวิกฤตขยะประเทศไทย

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์  ได้เผยแพร่ภาพแพขยะขนาดยักษ์กลางอ่าวไทย ยาว 10 กิโลเมตร จากข้อมูลของพี่ชาวประมง “ป๊ะป๋า วงเวียน” ผู้พบแพขยะยาว 10 กิโลเมตร ในทะเลนอกชายฝั่งชุมพร

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้วิเคราะห์ข้อมูลคาดการณ์ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ระบุว่า “มวลขยะทะเลดังกล่าว มีทิศทางจะถูกพัดพาออกสู่ทะเล ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะง่าม ไม่ส่งผลกระทบกับแนวปะการัง ชายหาด และระบบนิเวศที่เปราะบางบริเวณใกล้ฝั่ง”

screen-shot-2560-02-12-at-11-11-14-pm

เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศช่วยให้เราสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนผิวโลกได้ในแบบเวลาจริง (real-time) แต่การมีแพขยะขนาดใหญ่ลอยอยู่กลางทะเลนั้นก็ไม่ควรวางใจ เพราะ

1) นี่คือส่วนเล็กๆ น้อยของพลาสติกราว 1 ล้านตันที่อยู่ในมหาสมุทรของโลก อันมาจากกิจกรรมของมนุษย์บนฝั่ง โดยขยะที่เรามองไม่เห็นน้ำจมอยู่ใต้ท้องมหาสมุทร ไม่ได้ลอยขึ้นมาบนผืนน้ำ

2) ไทยติดอันดับประเทศที่มีการปล่อยขยะพลาสติกลงในมหาสมุทรมากที่สุด 

3) หากไม่จัดการให้ดี เศษพลาสติกทั้งหลายที่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยอาจกลายเป็นอาหารของปลาผิวน้ำ มีการศึกษากระแสวงวนใหญ่แปซิฟิกเหนือ (North Pacific Ocean Subtropical Gyre) ซึ่งมีขนาดราวสองเท่าของรัฐเท็กซัส สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มีปลาผิวน้ำขนาดเล็กจะมาอยู่รอบๆ มีความหนาแน่นของปลาหนึ่งตัวต่อหนึ่งตารางเมตร และพวกมันก็กินพลาสติกเป็นอาหาร ตัวกินพลาสติกจะเป็นปลาผิวน้ำในเขตมหาสมุทรลึกอย่างปลาผิวน้ำ (Lanternfish) หรือปลาผิวน้ำอื่น ๆ ที่ว่ายสู่ผิวน้ำตอนกลางคืนเพื่อหาอาหาร

อ่าวไทยไม่มีกระแสน้ำอุ่นมาเจอกระแสน้ำเย็นแบบมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการรวมตัวของขยะกลางมหาสมุทรลึกถึงแม้จะมีปฏิบัติการกวาดแพขยะขึ้นฝั่ง แต่วิกฤตขยะในทะเลไทยคงไม่คลี่คลายได้โดยง่าย

พลาสติกไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แต่จะแตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ และคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลาหลายร้อยปี ซึ่งพลาสติกที่อยู่ในทะเลชิ้นเล็ก ๆ เหล่านี้มีลักษณะคล้ายกับอาหารของสัตว์ทะเล และแน่นอนว่าอาจจะส่งผลย้อนกลับมาหามนุษย์ในที่สุดในรูปแบบของอาหารทะเลปนเปื้อนมลพิษพลาสติก

ภาพกระแสน้ำวนมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ บริเวณจุดรวมแพขยะใหญ่แปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch)

การทำความสะอาดขยะในทะเลและมหาสมุทรอย่างมีประสิทธิภาพนั้นไม่ต่างอะไรกับการเข็นครกขึ้นภูเขา และต้องเสียเวลาและทรัพยากรอย่างมหาศาล นี่คือความท้าทายของวาระแห่งชาติอย่างแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ ว่าจะเน้นถึงการคลี่คลายรากเหง้าของปัญหาซึ่งยึดโยงอย่างแนบแน่นกับการบริโภคที่ล้นเกินและการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของคนในสังคมได้หรือไม่เพียงใด