ผืนป่าเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสรรพชีวิต ป่าให้ความชื้น ความร่มเย็นและถ่ายเทออกซิเจน รวมถึงรักษาสมดุล วัฏจักรคาร์บอน ต้นไม้ช่วยกันลมและกันแดด ต้นไม้หยั่งรากลงบนผืนดิน ดูดซับและชะลอการไหลของน้ำ ป่าไม้เป็นแหล่งอาหาร ยารักษาโรค เชื้อเพลิงและวัสดุก่อสร้างที่มนุษย์นำมาใช้เพื่อดำรงชีวิต ป่าไม้เป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดบนผืนแผ่นดิน ประมาณว่ามีผู้คนกว่า 1.6 พันล้านคน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 2,000 กลุ่มวัฒนธรรมทั่วโลกนั้นมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาป่าไม้โดยตรง

ทุกๆ วันที่ 21 มีนาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติจัดให้มีการเฉลิมฉลองวันป่าไม้โลก ในปี 2560 นี้ เน้นถึงบทบาทที่ไม่แยกขาดจากกันของป่าไม้และน้ำ ถือเป็นปีแรกของการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals)

เรามีความท้าทายหลายด้านในเรื่องนโยบายป่าไม้ทั้งที่โยงกับวิกฤตน้ำและวิกฤตทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในระดับประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่เมื่อพินิจในระดับภูมิภาคแล้ว ความท้าทายดังกล่าว ยิ่งซับซ้อนและโยงใยถึงห่วงโซ่อุปทานของสินค้าโภคภัณฑ์ระดับโลกไม่ว่าจะเป็น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ผลิตภัณฑ์ไม้และพืชเศรษฐกิจที่ป้อนอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์

จากฐานข้อมูลจับตาป่าไม้โลก(Global Forest Watch) เราสามารถจัดลำดับการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ระหว่างปี พ.ศ. 2544-2557 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ดังนี้คือ 1. อินโดนีเซีย (126 ล้านไร่) 2. มาเลเซีย(38 ล้านไร่) 3. เมียนมาร์ (14.6 ล้านไร่) 4. ลาว(12 ล้านไร่) 5.เวียดนาม(10.8 ล้านไร่) 6.กัมพูชา(10.7 ล้านไร่) 7. ไทย(8.6 ล้านไร่) และ 8.  ฟิลิปปินส์ (5 ล้านไร่)

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์และ Global Forest Watch ของสถาบันทรัพยากรโลก(World Resources Institute) ซึ่งใช้ข้อมูลจากดาวเทียมแลนด์แซท เพื่อติดตามอัตราการสูญเสียป่าไม้ในระดับโลก พบว่า กัมพูชาเป็นหนึ่งในหลายประเทศ ที่มีอัตราการทำลายป่าไม้เร็วที่สุดในโลก ในขณะที่หลายประเทศสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในอัตราที่รวดเร็ว เช่น อินโดเซีย ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่า กัมพูชานั้นมีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้อย่างรวดเร็วมากเช่นกัน

จากภูมิทัศน์ที่มีป่าไม้หนาแน่น  — รวมถึงพื้นที่ป่าอนุรักษ์ — ผืนป่าของกัมพูชาในปัจจุบันถูกแผ้วถางกลาย เป็นสวนยางพาราและสวนอุตสาหกรรมป่าไม้ขนาดใหญ่

ระหว่างปี พ.ศ. 2544 และ 2547 อัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ต่อปีในกัมพูชาเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 หรืออีกนัยหนึ่ง กัมพูชาสูญเสียป่าไม้รวมกัน 14,400 ตารางกิโลเมตร ประเทศต่างๆ ที่มีอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้อย่างรวดเร็ว รวมถึง เซียราเลโอน(ร้อยละ 12.6) มาดากัสการ์ (ร้อยละ 8.3) อุรุกวัย (ร้อยละ 8.1) และปารากวัย (ร้อยละ 7.7 )

santuk_etm_2000366.jpg

ภาพถ่ายดาวเทียมแลนด์แซท 7 วันที่ 31 ธันวาคม 2543

santuk_oli_2015303.jpg

ภาพถ่ายดาวเทียมแลนด์แซท 8, วันที่ 30 ตุลาคม 2558

การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ป่าไม้ในกัมพูชาดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง จากภาพถ่ายดาวเทียมสองภาพ ที่เปรียบเทียบกันด้านบน ภาพแรกบันทึกโดยเครื่องมือบนดาวเทียมแลนด์แซท 7 ในวันที่ 31 ธันวาคม 2543 แสดงพื้นที่ป่าไม้สมบูรณ์ดั้งเดิมบริเวณเขตรอยต่อจังหวัดกัมปงธมและกัมปงจาม ในวันที่ 30 ตุลาคม 2558 เครื่องมือบนดาวเทียมแลนด์แซท 8 บันทึกภาพที่แสดงให้เห็นถึงแนวถนนที่ตัดเป็นตาราง และพื้นที่สวนยางขนาดใหญ่ ชายขอบพื้นที่ป่าไม้ดั้งเดิม (สีเขียวเข้ม) ถูกแผ้วถางออกและแทนด้วยหน้าดิน พืชเศรษฐกิจและพื้นที่ป่าละเมาะ(สีน้ำตาลและเขียวอ่อน)

เมื่อผนวกเข้ากับข้อมูลด้านเศรษฐกิจก็พบว่า การเปลี่ยนแปลงราคายางในระดับโลก และ การขยายตัวอย่างมหาศาลของการเช่าสัมปทานพื้นที่ คือตัวการสำคัญที่เร่งเร้าให้มีอัตราการทำลายป่า อย่างรวดเร็วมากขึ้นในกัมพูชา รัฐบาลกัมพูชาเปิดให้มีการเช่า พื้นที่สัมปทาน แก่นักลงทุนท้องถิ่นและกลุ่มทุน ข้ามชาติเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร การผลิตไม้ซุงและอื่นๆ ข้อมูลจากการวิจัยพบว่า การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่เช่าสัมปทานมีอัตราสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ร้อยละ 29-105

cambodia_oli_2014_lrg.png

แผนที่การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ระหว่างปี 2543 และ 2557 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป

cambodia_oli_2014.png

แผนที่การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ระหว่างปี 2543 และ 2557 ในกัมพูชา

เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปิดเผยให้เห็นถึงขอบเขตของการทำลายป่าไม้ ในปี พ.ศ. 2556 มีการตีพิมพ์ แผนที่โลกว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้เป็นครั้งแรกแผนที่ด้านบนแสดงถึงขอบเขต การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ของกัมพูชาทั้งประเทศ ระหว่างปี 2543 และ 2557 การสูญเสียส่วนมากเกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ความร่วมมือระหว่างสถาบันทรัพยากรโลก และห้องปฏิบัติการ Global Land Analysis and Discover แห่งมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ในการพัฒนาระบบแจ้งเตือนรายสัปดาห์ โดยจะตรวจจับกิจกรรม การทำลายป่าไม้ด้วยดาวเทียมพร้อมกับภาพถ่ายใหม่ ผู้ใช้สามารถสมัครเพื่ออัพเดทข้อมูลผ่านอีเมล ระบบแจ้งเตือนการทำลายป่าไม้ที่เข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายนี้เกิดขึ้นแล้วในคองโก ยูกันดา อินโดนีเซีย เปรูและบราซิล และกำลังนำไปใช้ในกัมพูชาและพื้นที่ป่าเขตร้อนอื่นๆ ในปี 2560 นี้

—————–

คุณรู้หรือไม่?