การประชุมสุดยอดของโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Summit on Sustainable Development – WSSD) จะเริ่มขึ้น ณ นครโยฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ ระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม – 2 กรกฎาคม 2545 ข้อมูลองค์การสหประชาชาติ ระบุว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้จะเป็นการรวมตัวกันของประมุขแห่งรัฐ หัวหน้าคณะรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากทั่วโลก เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ขององค์การสหประชาติ รัฐบาลท้องถิ่น นักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ องค์กรพัฒนาเอกชนและสื่อมวลชนจากมากกว่า 65,000 คน ถือได้ว่าเป็นการประชุมที่มีผู้นำโลกร่วมมากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับจากการประชุมสุดยอดสิ่งแวดล้อมโลกเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่นครริโอ เดอ จาเนโร บราซิล
คำถามที่ตามมาคือ สังคมโลกจะได้อะไรจากการประชุมสุดยอดครั้งนี้ จะเป็นเพียงความทรงจำของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในการประชุมที่ริโอ เดอ จาเนโร เมื่อ 10 ปีที่แล้วหรือไม่? หรือจะเป็นเพียงการกลับมาทบทวนข้อตกลงต่างที่ยังไม่มีอะไรคืบหน้าและส่วนใหญ่ล้มเหลวจากการประชุมที่ริโอ ? หรือจะเป็นเพียงแค่วาระของการเฉลิมฉลองแล้วก็เลิกรากันไป ?
นายโคฟี อันนัน เลขาธิการใหญ่ของยูเอ็น เรียกการประชุมสุดยอดครั้งนี้ว่าเป็น Millennium Summit และการประชุมว่าด้วยการเงินและการพัฒนาที่จัดขึ้นที่เมืองมอนเทอเรย์ เม็กซิโก ในเดือนมีนาคม 2545 เขาเสนอให้มี “ข้อตกลงระดับโลก” ระหว่างประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนาบนหลักการของภาระและสิ่งที่มีร่วมกันแต่ความรับผิดชอบแตกต่างกัน ประเทศเดนมาร์กผลักดันข้อเสนอที่คล้ายคลึงกันนี้ในปี 2544 โดยประเทศซีกโลกเหนือจะต้องลดแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยลง มีภารกิจในการบรรเทาหนี้สินของประเทศยากจนและความช่วยเหลือทางสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ประเทศซีกโลกใต้ต้องเห็นชอบในการปรับปรุงดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และให้คำมั่นสัญญาต่อสนธิสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานทางการค้า “ข้อตกลงระดับโลก” จะกลายเป็นวาระใหญ่ที่จะมีการถกเถียงกันในการประชุมสุดยอดของโลกครั้งนี้
องค์การสหประชาชาติระบุว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้มุ่งไปที่ประเด็นที่ท้าทายและความยุ่งยากที่โลกทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในโลกที่มีประชากรเพิ่มมากขึ้น รวมถึงความต้องการน้ำ อาหาร ที่อยู่อาศัย สุขอนามัย พลังงาน การบริการด้านสาธารณสุขและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ก็เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ เสนอประเด็นที่น่าสนใจไว้ใน “The Jo’burg Memo : Fairness in a Fragile World. Memorandum for the World Summit on Sustainable Development” ว่า สิ่งที่ท้าทายและที่เป็นอันตรายสำหรับการประชุมที่โยฮันเนสเบอร์กคือจะเดินหน้าต่อหรือจะถอยหลังกลับเมื่อเทียบกับการประชุมที่ริโอเมื่อ 10 ปีที่แล้ว การประชุมที่ริโอมุ่งเน้นถึงวิกฤตหลักสองประการคือ วิกฤตของระบบนิเวศและวิกฤตของความเป็นธรรม และมุ่งที่จะผนวกเอาประเด็นสิ่งแวดล้อมและประเด็นของการพัฒนาเพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายไปพ้นจากทางสองแพร่งที่ต้องเลือกระหว่างการพัฒนาที่ก่อวิกฤตสิ่งแวดล้อม หรือ การมุ่งแต่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแต่ละเลยความเป็นธรรม
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทวิลักษณ์ของสิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เผยโฉมหน้าอย่างชัดเจน แม้ว่าการประชุมที่ริโอประสบผลในแง่การเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันขึ้นจำนวนหนึ่งหากแต่ปราศจากรูปธรรมที่จับต้องได้ ที่สำคัญ เศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ก่อผลสะเทือนอย่างมากในทุกส่วนย่อยของสังคม การพัฒนาเศรษฐกิจแบบขูดรีดยังคงแพร่กระจายไปทั่วโลก
ที่โยฮันเนสเบิร์ก ประเด็นที่จะมีการถกเถียงกันคือ การไปให้พ้นจากการลอกเลียนแบบการพัฒนากระแสหลัก การลดแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยของประเทศร่ำรวย การรับประกันต่อสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของผู้ด้อยโอกาส และการก้าวกระโดดไปสู่ยุคพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ทั้งหมดนี้ คำถามคือ “อะไรคือความเป็นธรรมภายในพื้นที่ทางสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่จำกัด ?”
ในด้านหนึ่ง เราพูดถึงความเป็นธรรมในแง่ของการเรียกร้องให้ขยายและรับรองสิทธิของคนจนในการดำรงชีวิต ในอีกด้านหนึ่ง เราพูดถึงการลดสิทธิที่เหนือกว่าในการเข้าถึงทรัพยากรของประเทศอุตสาหกรรม ผลประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่นและสิทธิในการดำรงชีวิต มักจะขัดกับผลประโยชน์ของชนชั้นผู้บริโภคในเมืองและบรรษัทซึ่งแสวงหากำไร ความขัดแย้งทางทรัพยากรเหล่านี้จะไม่ยุติลงตราบเท่าที่แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ทำลายล้างในโลกนี้ยังเป็นไปตามเดิม
ควรต้องกล่าวว่า วิถีชีวิตไม่อาจดำรงอยู่ได้ถ้าคนไม่มีโอกาสเข้าถึงที่ดิน เมล็ดพันธุ์ ป่าไม้ ทุ่งหญ้า แหล่งทำประมง และแหล่งน้ำ ยิ่งกว่านั้น มลพิษทางอากาศ ดิน น้ำ และในอาหาร คือบ่อนทำลายอย่างเรื้อรังต่อสุขภาพของคนจนโดยเฉพาะคนจนเมือง ดังนั้น การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมมิได้ขัดแย้งกับการขจัดความยากจน หากเอื้อต่อกัน สำหรับคนจนแล้ว จะไม่มีความเป็นธรรมโดยปราศจากนิเวศวิทยา และเมื่อพูดถึงการปกป้องดูแลทรัพยากรบนฐานของสิทธิชุมชนที่เข้มแข็ง ก็จะไม่มีนิเวศวิทยาโดยปราศจากความเป็นธรรม
เช่นเดียวกัน เมื่อเราพูดถึงการขจัดความยากจน ก็มิอาจละเลยการยกระดับความมั่งคั่งได้ ในฐานะที่พื้นที่ทางสิ่งแวดล้อมของโลกถูกแบ่งไม่เท่าเทียมกัน การทำให้ผู้ด้อยโอกาสเข้าถึงฐานทรัพยากรได้มากขึ้นหมายความถึง ต้องลดการอ้างสิทธิในทรัพยากรของผู้บริโภคที่บริโภคเกินจำเป็นทั้งในซีกโลกเหนือและใต้ ความมั่งคั่งต้องเป็นรูปแบบความมั่งคั่งที่ลดการใช้ทรัพยากร ซึ่งมิใช่เรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หากแต่เป็นเรื่องของความเป็นธรรม หาไม่แล้ว คนส่วนใหญ่ในโลกยังคงถูกกีดกันออกจากส่วนแบ่งที่เป็นธรรมของมรดกทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ยังมีข้อเสนอต่อการประชุมที่โยฮันเนสเบอร์กให้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงสถาบันระหว่างประเทศเพื่อเสริมสร้างการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิในการดำรงชีวิต ระบบธรรมาภิบาลที่เปิดกว้างและโปร่งใสอาจเป็นแนวทางที่ดีที่สุดอันหนึ่ง มีข้อเสนอให้อภิปรายถึงกรอบอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิทางทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่นซึ่งรวมเข้ากับสิทธิของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ที่ทรัพยากรธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์ ขณะเดียวกัน วิถีชีวิตในพื้นที่ดังกล่าวยังคงถูกคุกคามจากการทำเหมืองแร่ การขุดเจาะน้ำมัน การทำไม้ และอุตสาหกรรมที่ขูดรีดกอบโกยทรัพยากรอื่น ๆ ที่สำคัญ สิทธิทางสิ่งแวดล้อมต้องรวมถึงสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิผู้บริโภค หลักการป้องกันไว้ก่อน และผู้ก่อมลพิษต้องจ่ายต้องเข้าไปอยู่ในกฎหมายทุกระดับ
นอกจากนี้ มีการพูดถึงการยกระดับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาติ(UNEP) ให้เป็นองค์การสิ่งแวดล้อมโลก(Global Environment Organization) และประเด็นที่น่าสนใจอื่น ๆ ที่ประเทศไทยควรจับตามอง (นอกเหนือไปจากการถกเถียงว่าควรจะให้สัตยาบันในอนุสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ หรือไม่) เช่น การสถาปนาองค์การพลังงานทดแทนระหว่างประเทศที่มีลักษณะกระจายอำนาจ และศาลระหว่างประเทศเพื่อไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งทางสิ่งแวดล้อมและการค้า เป็นต้น
รัฐบาลไทยพร้อมหรือยังสำหรับ ”ข้อตกลงระดับโลก (Global Deal)” ที่โยฮันเนสเบอร์ก นอกเหนือจากการทบทวนว่าทำอะไรไปบ้างภายใต้กรอบของระเบียบวาระที่ 21 และปฏิญญาริโอ ท่ามกลางการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ดำเนินไปอย่างอิหลักอิเหลื่อและอึมครึม
หมายเหตุ – บทความนี้ เขียนไว้ครั้งที่มีการประชุมสุดยอดว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (WSSD) ในปี พ.ศ. 2545 ณ นครโจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ โดยนำเอาประเด็นในรายงาน Jo’ burg Memo : Fairness in a Fragile World – Memorandum for the World Summit on Sustainable Development มานำเสนอ สถานการณ์ของโลกหลายอย่างได้เปลี่ยนไป เป็นต้นว่า การเสนอให้มีการสถาปนาองค์กรพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน เรามีองค์กรที่ชื่อว่า International Renewable Energy Agency(IRENA) http://www.irena.org/ ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ กรุงบอนน์ เยอรมนีในปี พ.ศ.2552.