จนถึงกลางทศวรรษ 1990 สื่อมวลชนก็ยังไม่ค่อยสนใจเรื่องภาวะโลกร้อน จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) จำนวนบทความเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ (The New York Times) เดอะ วอชิงตัน โพสต์ (The Washington Post) ลดลงจาก 70 บทความในปี 1989 เหลือเป็น 20 บทความในปี 1994 แม้กระทั่งการเปิดตัวรายงานการประเมินของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(IPCC) ในปี 1995 มีสื่อมวลชนให้ความสนใจทำข่าวน้อยมาก

ไม่เพียงแต่กลุ่มเจราจาหว่านล้อมและหน่วยงานระดับมันสมองที่มีบทบาทในการโต้แย้งเรื่องภาวะโลกร้อน รัฐบาลหลายประเทศพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะยุติหรือชะลองานวิจัยและข้อคิดเห็นของนักวิทยาศาสตร์ของตนที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณชน ในเดือนมิถุนายน 2005 เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ (The New York Times) รายงานว่า ผู้ได้รับการแต่งตั้งทางการเมืองของประธานาธิบดีจอร์จ บุช (George W. Bush) ได้ทบทวนรายงานด้านสภาพภูมิอากาศหลายฉบับอย่างเข้มงวด รวมถึงรายงานประจำปีเรื่อง ‘ภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของเรา (Our Changing Climate)’ ตัวอย่างเช่นในคำประกาศที่ระบุว่า “โลกกำลังอยู่ภายใต้ช่วงของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (The Earth is undergoing a period of rapid change)” มีการเปลี่ยนคำว่า “is” ไปเป็นคำว่า “may be” หลังจากนั้นเขาได้ลาออกจากทำเนียบขาวและทำงานให้กับบริษัทเอ็กซอนโมบิล (ExxonMobil) นายริค พิลท์ (Rick Piltz) บรรณาธิการของรายงานประจำปี ผู้ทำงานมายาวนานก็ได้ลาออกจากโครงการวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ ในปี 2005

เช่นเดียวกับนักวิจัยหลายคนที่องค์การนาซา (NASA) และองค์การว่าด้วยมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ(NOAA) พวกเขาอ้างว่าถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงขึ้นไปในกรณีการให้ข่าวกับสื่อมวลชนถึงการค้นพบล่าสุดในประเด็นที่มีความขัดแย้งอย่างสูง เช่น ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อพายุเฮอร์ริเคน เป็นต้น เจมส์ ฮันเสน (James Hansen) แห่งองค์การนาซา บอกกับ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ (The New York Times) และบีบีซี (BBC) ในปี 2006 ว่าเขาได้รับคำเตือนถึงผลที่จะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง หากเขาไม่ยอมปฏิเสธคำขอสัมภาษณ์ของสื่อมวลชนกับสำนักงานใหญ่ของนาซา คำเตือนนั้นมาจากผู้แต่งตั้งทางการเมืองอายุ 24 ปี ผู้ซึ่งในที่สุดต้องลาออกไปหลังจากพบว่ามีข้อมูลเท็จในประวัติการทำงานของเขาที่ว่าเขาจบปริญญาด้านสื่อสารมวลชน  หลังจากเกิดเรื่องขึ้น ทั้งองค์การนาซา (NASA) และโนอา (NOAA) ต่างยืนยันถึงพันธะที่มีต่อประชาชนอย่างเปิดเผยและตรวจสอบได้

โดยธรรมเนียมแล้ว หน่วยงานของรัฐในสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้นักวิทยาศาสตร์ของตนมีสิทธิ์พูดได้ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ในกรณีที่เป็นทางการ พวกเขาได้รับอนุญาตให้อภิปรายงานวิจัยกับสื่อมวลชนได้ แต่ห้ามเสนอความคิดเห็นที่มีต่อนโยบายของรัฐบาลกลาง ในปี 2004 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่ได้รับรางวัลโนเบลออกแถลงการณ์ระบุว่า “วิทยาศาสตร์กำลังถูกละเลยโดยนักการเมืองของสหรัฐ…ระบบของโลกนั้นเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายต่างศึกษาเพื่อทำความเข้าใจ ประชาชนสมควรได้รับการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลบนพื้นฐานของคำแนะนำทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดว่าน่าจะเกิดอะไรขึ้น มิใช่เพราะการเมืองบอกว่าอยากให้เกิดอะไรขึ้น”

อีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก รายงานเชิงสืบสวนของสำนักข่าวเอบีซี (The Australian Broadcasting Corporation :ABC) ของออสเตรเลียในปี 2006 ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์อย่างน้อย 3 คนซึ่งทำงานที่องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมในเครือจักรภพแห่งออสเตรเลีย (Australia’s Commonwealth Scientific and Industrial Organisation:CSIRO) ถูกห้ามออกอากาศในการแสดงความเห็นของพวกเขาต่อนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งที่ CSIRO กล่าวว่า ความเห็นของเขาต่อนโยบายเช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล จะส่งผลต่อประเด็นการอพยพของประชากรจากหมู่เกาะแปซิฟิกใต้มายังออสเตรเลีย แต่สิ่งที่เป็นความเสียหายใหญ่คือ การที่ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของ CSIRO นั้นเคยทำหน้าที่เป็นโฆษกของอุตสาหกรรมบุหรี่ของออสเตรเลีย

ในสหราชอาณาจักรก็เช่นกัน ถึงแม้ประเทศจะเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกพิธีสารเกียวโต ก็มีกรณีที่คล้ายคลึงกัน เซอร์ เดวิด คิง (Sir David King) หัวหน้าที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลได้แถลงในเดือนมกราคม 2004 ว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่รุนแรงที่สุดที่เราเผชิญในปัจจุบัน รุนแรงมากกว่าการคุกคามของการก่อการร้าย” หลังจากนั้นอีก 2-3 สัปดาห์ต่อมา นักข่าวอเมริกันคนหนึ่งค้นพบแผ่นดิสก์ถูกทิ้งไว้ในห้องแถลงข่าวในที่ประชุมวิทยาศาสตร์เมืองซีแอตเติล (Seattle) สหรัฐอเมริกา ซึ่งเซอร์ เดวิด คิง เข้าร่วมงาน ในแผ่นดิสก์เป็นบันทึกของอีวาน โรเจอร์ส (Ivan Rogers) หัวหน้าเลขานุการส่วนตัวของโทนี่ แบลร์ (Tony Blair) ซึ่งขอร้องให้เซอร์ เดวิดหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน การค้นพบนี้นำไปสู่การเขียนบทความลงในวารสารไซเอนซ์ (Science) ตามมาด้วยพาดหัวข่าวลง ดิ อินดีเพนเดนท์ (The Independent) ในลอนดอน

»»อ่านเพิ่มเติม
การเมืองเรื่องโลกร้อน (1) : จุดเริ่ม
การเมืองเรื่องโลกร้อน (2) : จุดเปลี่ยน
การเมืองเรื่องโลกร้อน (3) : โศกนาฏกรรมของส่วนรวม
การเมืองเรื่องโลกร้อน(4) : กลุ่มผู้มีความสงสัย
การเมืองเรื่องโลกร้อน(5) : ชั้นเชิงผู้มีความสงสัย