ความจริงประการหนึ่งของผลิตภัณฑ์พีวีซีคือปลายทางของมันคือขยะ นี่ไม่ใช่เพราะธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ที่ราคาถูกซึ่งผลิตจำนวนมากและไม่สามารถซ่อมได้ แต่เป็นเพราะสูตรที่หลากหลายและมีการเติมสารเติมแต่งหลากชนิดเข้าไป ทำให้การนำพีวีซีกลับมาใช้ใหม่เป็นไปไม่ได้
กระทั่งผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพีวีซีที่นำกลับมาใช้ใหม่ก็ตาม ไม่ช้าก็เร็วมันก็ต้องถูกทิ้งลงถังขยะ
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์พีวีซีนับล้านตันถูกกำจัดด้วยการเผาและฝังกลบ ผลักภาระทั้งแง่เม็ดเงินและความเสียหายด้านสุขภาพให้แก่สาธารณชน
สภาผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อมเยอรมันได้สรุปในรายงานการจัดการขยะปี 2534 ว่า
“การใช้พีวีซีซึ่งเป็นวิธีการกำจัดคลอรีน ได้รับการอุดหนุนจากผู้บริโภคและสาธารณชนผ่านค่าใช้จ่ายในการกำจัด”
การฝังกลบ ไม่มีสถานที่เหลือพออีกแล้ว
ในสหราชอาณาจักรขยะส่วนใหญ่ถูกนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบ แม้ว่าอุตสาหกรรมเคมีได้อ้างว่าพีวีซีสามารถที่จะนำไปฝังกลบอย่างปลอดภัย แต่สารเติมแต่ง จำนวนมากโดยเฉพาะ Plasticisers สามารถที่จะรั่วออกมาโดยปฏิกิริยาของจุลชีพหรือการกัดกร่อนโดยตรงของของเหลวที่มีฤทธิ์กัดกร่อนในหลุมฝังกลบ
ผลการทดสอบแสดงว่า สารพิษที่ใช้สำหรับการทำให้คงตัว (Stabilisers) อย่างแบเรียมหรือแคดเมียม สามารถออกจากพลาสติกพีวีซีที่อยู่ใต้หลุมฝังกลบ และสารเหล่านี้สามารถดูดซึมเข้าไปในพืช นั่นหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่มีสารเหล่านี้อยู่ไม่ควรจะถูกนำไปฝังกลบในหลุมฝังกลบทั่วไป
แม้ในหลุมฝังกลบที่มีการจัดการเป็น “อย่างดีเยี่ยม” ส่วนผสมของน้ำปนเปื้อนที่ออกมาจากหลุมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถที่จะคาดเดาได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับธรรมชาติของขยะในหลุมฝังกลบ ปริมาณฝน อุณหภูมิและเจ้าของโรงงาน น้ำปนเปื้อนเหล่านี้สามารถทำปฎิกิริยากับพีวีซีซึ่งมีสาร Plasticisers มากถึง 60 ร้อยละโดยน้ำหนัก ไม่รวมกับสารเติมแต่ง อื่น ๆ เช่นสารเพิ่มความคงตัว สารหล่อลื่น สารทนไฟ ซึ่งมีอยู่ในปริมาณที่ต่างกันออกไป
ขณะที่ปริมาณขยะพีวีซีที่จะถูกนำไปฝังกลบเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ เป็นความจริงที่ไม่มีแผ่นเยื่ออะไรที่สามารถป้องกันการรั่วซึมของน้ำปนเปื้อนไม่ให้ออกไปสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกได้ ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสที่จะทำให้เกิดการปนเปื้อนของแหล่งน้ำดื่มในอนาคตได้
โรงงานเผาขยะ แหล่งกระจายสารพิษออกสู่อากาศ ดิน และน้ำ
หลายประเทศเผาขยะชุมชนที่เป็นของแข็งจำนวนมาก บางครั้งก็เผาด้วยพลังงานที่ได้จากกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ อุตสาหกรรมเคมีได้สนับสนุนหลักการกำจัดขยะเช่นนี้ด้วยการใช้พลาสติกเป็นเชื้อเพลิง ด้วยค่าความร้อนที่ได้จากพลาสติกนั้นเหมาะสมเพียงพอที่จะใช้สำหรับเตาเผาขยะ ความจริงพลังงานจากพีวีซีเพียง 10 ร้อยละเท่านั้นที่สามารถนำมาใช้งานได้
นี่ยังไม่มีการคำนึงถึงความจริงที่ว่าเตาเผาขยะเป็นแหล่งปล่อยสารพิษออกสู่อากาศ ดินและน้ำเนื่องจากขยะพีวีซีมีการเติมสารเติมแต่ง จำนวนมาก
ส่วนผสมของคลอรีนในพีวีซีเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ขยะพีวีซีไม่เหมาะแก่การนำไปกำจัดด้วยเตาเผา เมื่อไรที่คลอรีนถูกเผาก็จะเกิดก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์ขึ้นมา ก๊าซพิษซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อนนี้ต้องถูกแยกออกไปก่อนที่ก๊าซจากเตาเผาจะถูกปล่อยออกไปสู่บรรยากาศเพื่อหลีกเลี่ยงมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้ต้องมีการลงทุนราคาแพงในการแยกนี้ ไม่รวมกับค่าลงทุนในการเฝ้าติดตามสภาพมลพิษอย่างมีประสิทธิภาพและการใช้พลังงานจำนวนมาก และนี่ก็เป็นเหตุผลที่อุตสาหกรรมพีวีซีและคลอรีนไปตั้งเตาเผากลางมหาสมุทราเพื่อจะได้ไม่ต้องติดตั้งเครื่องดักจัดสารพิษแต่ปล่อยให้มันออกมาจับที่ผิวน้ำทะเลแทน
พีวีซียังเป็นแหล่งกำเนิดสารพิษไดออกซินแหล่งใหญ่ที่สุดแหล่งหนึ่ง การเผาพีวีซี 1 กิโลกรัมจะปล่อยสารไดออกซินออกมาราว 50 ไมโครกรัม ซึ่งสามารถทำให้สัตว์ทดลอง 50,000 ตัวเกิดมะเร็งได้
เร็ว ๆ นี้มีหลักฐานระบุว่าพิษของไดออกซินสามารถทำให้ครอบครัวที่ได้รับไดออกซินระดับต่ำเกิดปัญหาต่อระบบสืบพันธุ์ได้ การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความผิดปกติต่อโครโมโซมเพศของสัตว์ป่า
นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากทำนายว่าความผิดปกติดังกล่าวจะเกิดกับมนุษย์ด้วย
ขี้เถ้าจากเตาเผาขยะควรถูกนำไปฝังกลบอย่างถูกวิธี ในกรณีของพีวีซีจะมีขี้เถ้าเกลือมากถึง 0.9 ตันออกมาจากการเผาพีวีซี 1 ตัน เนื่องจากส่วนผสมของโลหะหนักและสารเติมแต่ง ที่เป็นส่วนประกอบในพีวีซี ต้นทุนสำหรับการบำบัดขี้เถ้าเหล่านี้อย่างปลอดภัยจะสูงกว่าต้นทุนในการผลิตพีวีซีใหม่ด้วยซ้ำ
ในเยอรมัน สภาผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อมได้จัดทำรายงานพิเศษเรื่องการจัดกากของเสียในปี 2533 สรุปว่า
“แม้จะสมมุติว่าเตาเผาพีวีซีสามารถที่จะกำจัดมลพิษออกได้หมดด้วยกรรมวิธีต่างๆ แต่ยังคงเหลือกรดไฮโดรคลอริกที่จะออกมากับก๊าซที่ปล่อยออกมาจากเตาเผาซึ่งต้องได้รับการจัดการด้วยการทำให้เป็นเกลือหรือเก็บไว้ในที่ปลอดภัย ดังนั้นปริมาณกากของเสียที่ต้องมีการเก็บก็จะไม่สามารถลดลงได้ด้วยการใช้เตาเผา”
ท้ายที่สุด อุตสาหกรรมพีวีซีได้ตระหนักถึงภาพลักษณ์ที่แย่ของผลิตภัณฑ์พีวีซีจึงได้จัดโครงการ”ประชาสัมพันธ์” ชื่อ Close Chlorine Cyle ขึ้นมา
ภายใต้โครงการนี้ ก๊าซกรดที่ออกมาจะถูกทำให้เป็นเกลือโดยการปล่อยสารที่มีฤทธิ์เป็นด่าง (Caustic Soda) เข้าไป ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มการผลิตคลอรีนและพีวีซีมากขึ้น เพราะในความเป็นจริงในเชิงเทคโนโลยีการผลิต Caustic Soda นั้นจะผลิตคลอรีนออกมาในปริมาณที่เท่ากัน
ยิ่งไปกว่านั้นเกลือที่ได้จากการจัดการกรดดังกล่าวส่วนใหญ่ยังปนเปื้อนด้วยโลหะหนักและสาร Addttives อื่นๆ ด้วย ทำให้เกลือที่ได้ไม่บริสุทธิ์พอที่จะนำไปใช้ในงานอื่นได้
เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า มีเพียงทางออกทางเดียวสำหรับปัญหาซับซ้อนจากการกำจัดขยะพีวีซี คือการหยุดการผลิตพีวีซีตั้งแต่แรกนั่นเอง