มีวิธีทำเยื่อแบบใหม่ที่น่าสนใจหลายวิธี และเริ่มมีการปฏิบัติเป็นการนำร่องแล้ว หนึ่งในวิธีการที่มีประสิทธิภาพเรียกว่าการทำเยื่อด้วยสารละลาย (Solvopulping) โดยการใช้แอลกอฮอล์ในการแยกเซลลูโลสออกจากลิกนิน แอลกอฮอล์ที่ใช้สามารถหมุนเวียนกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตได้ใหม่ และลิกนินที่ถูกแยกออกมาจะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ (ตัวอย่างเช่น การผลิตกาวสำหรับติดสันหนังสือ หรือสารที่มีประโยชน์และความสำคัญอย่าง วานิลลิน ( Vanillin: เป็นสารที่ให้กลิ่นวานิลา) ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีความซับซ้อนใช้ในการปรุงแต่งกลิ่นรส และใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม) เยื่อกระดาษที่ได้จากกระบวนการผลิตแบบนี้มีความบริสุทธิ์และต้องฟอกขาวเพียงเล็กน้อย
เป็นที่น่าเสียดายว่า ในปัจจุบันวิธีการนี้ใช้ได้เฉพาะกับไม้เนื้อแข็ง เช่น เบิร์ช แอสเพน หรือ บีช เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นในการบำบัดแอลกอฮอล์ซึ่งติดไฟง่ายอาจจะก่อให้เกิดปัญหาการระเบิดตามมา โรงงานทำเยื่อด้วยสารละลายสามารถดำเนินงานในเชิงพาณิชย์ได้ด้วยขีดความสามารถการผลิตเพียง 200 ตันต่อวัน ในขณะที่โรงผลิตเยื่อคราฟท์ จะผลิตเยื่อกระดาษได้ประมาณ 1,000 – 1,500 ตันต่อวัน ซึ่งต้องการปริมาณไม้ซุงมากกว่า
ในเยอรมนีได้พัฒนาการทำเยื่อด้วยสารละลายขึ้น โดยการใช้กรดอะซิติกร่วมกับกรดไฮโดรคลอริก ซึ่งประสบผลสำเร็จดีในห้องปฏิบัติการ
อีกโครงการหนึ่งของเยอรมนีคือการค้นคว้าเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการผสมผสานการใช้กระแสไฟฟ้าตามกรรมวิธีอิเลคโทรไลซิส (Electrolysis) มาใช้ร่วมกับวิธีการทำเยื่อด้วยสารละลาย วิธีนี้จะแยกลิกนินบริสุทธิ์ด้วยเมธานอลและโซดาไฟ ซึ่งสามารถหมุนเวียนกลับไปใช้ในกระบวนการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง
การทำเยื่อความร้อน-เชิงกลอีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจคือกระบวนการระเบิดเยื่อไม้ ชิ้นไม้สับจะถูกทำให้อิ่มตัวด้วยสารเคมี จากนั้นป้อนเข้าสู่เครื่องปฏิกรณ์ (Reactor) และอบไอน้ำความดันสูงในอุณหภูมิที่สูงมากคือประมาณ 6 เท่าของอุณหภูมิที่ใช้ในวิธีทำเยื่อเชิงกล เนื้อไม้จะถูกสลายลงไปสู่องค์ประกอบพื้นฐาน เยื่อจะอ่อนตัวและง่ายต่อการฟอกขาว
อีกวิธีหนึ่งเป็นการรวมวิธีการทำเยื่อเคมีและวิธีการทำเยื่อเชิงกลเข้าด้วยกันเรียกวิธีกึ่งเคมีโดยใช้ซัลไฟด์ที่เป็นกลาง (Neutral Sulphite Semichemical : NSS) โดยการต้มชิ้นไม้สับในสารประกอบกำมะถัน จากนั้นเข้าสู่กระบวนการทำเยื่อเชิงกล เยื่อกระดาษที่ได้ใช้สำหรับการผลิตกระดาษลูกฟูก กระดาษแข็งที่ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์