ธารา บัวคำศรี
เหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองในอินโดนีเซียแว่วมาถึงเชียงใหม่ในฤดูฝนพรำ ท้องฟ้ามีเมฆครึ้มทั้งวันคืน หากฟ้ากลางคืนเปิด ใครบางคนพยายามมองหาดาวประกายแสงสีม่วง ดวงดาวในนิยายจีนเรื่องหนึ่ง ที่ “สุธารา คะตุตตันตรี” ผู้ประพันธ์ Revolt in Paradise ได้ฟังเมื่อเยาว์วัยว่า
“ผู้ที่จะได้พบกับสันติสุขบริสุทธิ์ ก่อนอื่นต้องสละโลกียะและสมบัติทั้งหลายและดั้นด้นค้นหาดินแดนที่มีดวงดาวสีม่วง เฉพาะผู้เสียสละเท่านั้นจึงจะเห็น”
เมื่ออ่านถึงหน้าสุดท้าย ชีวิตที่โลดแล่นใน Revolt in Paradise ประดุจดังนิยาย หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย ผู้ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยเมื่อปี 2526 เขียนคำนำว่า เมื่อครั้งเดินทางไปดูงานที่อินโดนีเซีย มีเพื่อนชาวมาเลเซีย เชื้อสายจีนซื้อหนังสือเล่มนี้และขอร้องให้อ่าน ผู้แปลอ่านจบในคืนเดียว หนังสือเขียนขึ้นด้วยภาษาสละสลวย เนื้อเรื่องสนุกสนาน แฝงด้วยคุณธรรม
“สุธารา” ในภาษาอินโดนีเซียหมายถึง น้องหญิง (ความหมายที่ ดร.ซูการ์โนเรียกเธอ “คะตุตตันตรี” คือ “ตันตรีบุตรคนที่สี่” (ตันตรีเป็นวิสามัญนาม) ชื่อของหญิงชาวอังกฤษสัญชาติอเมริกันที่ไม่ยอมเปิดเผยชื่อจริง ตั้งแต่เริ่มแรกจนจบ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นชีวิตจริงของเธอ มนต์ขลังจากภาพยนตร์เรื่อง Bali : The Last Paradise เธอตัดสินใจเดินทางลงเรือสินค้าที่นิวยอร์คไปยังปัตตาเวีย ต่อไปยังบาหลีเพื่อวาดรูป ระหว่างทางเธอพบปีโต้ เด็กกำพร้าคู่หูที่คอยเป็นล่าม (ต่อมาเขาได้เป็นทหารยศร้อยตรีในกองกำลังปฏิวัติ) ขณะนั้นอินโดนีเซียอยู่ในการครอบครองของดัชท์สงครามโลกครั้งที่สอง สุธารา คุตุตตันตรีต้องตกค้างในบาหลี เธอเห็นใจและเข้าใจชาวอินโดนีเซียซึ่งดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ Merdeka Atau Mati – เสรีภาพหรือตาย คือคำขวัญของขบวนการเรียกร้องเอกราชอินโดนีเซีย ผ้าสีขาวแดงที่มีตัวอักษรเป็นคำขวัญนี้พันไว้ที่แขนของเธอตลอดเวลาที่เธอร่วมขบวนการปฏิวัติ
Revolt ในชื่อหนังสือของเธอหมายถึงการปฏิวัติต่อดัชท์ของประธานาธิบดีซูการ์โน และต่อการยึดครองอินโดนีเซียของญี่ปุ่นโดยขบวนการกู้ชาติในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองที่บาหลี ข้าหลวงชาวดัชท์ห้ามไม่ให้เธอคลุกคลีกับชาวพื้นเมือง บอกว่า บาหลีคือส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ศิลปินหลายคนมาที่นี่ไม่ช้าก็เบื่อ มีแต่อากาศร้อน ความสกปรกโสมมสารพัด เธอตอบกลับด้วยความโกรธ บอกว่า “ท่านปกครองเกาะบาหลีมาสามร้อยปีแล้ว รัฐบาลดัชท์นั่นแหละทำไม่ดี” เธอขับรถออกจากโรงแรม หนีอารยธรรมของชาวดัชท์ น้ำมันรถหมดที่หน้าวังของท้าวพระยาผู้ครอบแคว้นเกเด (ระตูเกเด) เขาพูดกับเธอ “พระเจ้าลิขิตให้เธอมาที่นี่ ลูกสาวของฉัน”
ก่อนญี่ปุ่นขึ้นฝั่งบาหลีในเดือนกุมภาพันธ์ 2485 สุธารา คุตุนตันตรีคือแหม่มผิวขาวแต่ตัวเป็นสาวบาหลี ใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้าน เป็นที่รักใคร่ของคนทุกกลุ่ม เธอรับฟังความคิดของคนรุ่นใหม่ที่กำลังก่อหวอดเพื่อปฏิวัติล้มล้างอำนาจปกครองของชาวดัชท์ รับรู้เรื่องราวของนักโทษการเมืองที่ค่ายกักกันในเกาะนิวกินีจากระเด่นนูรา(บุตรชายหัวก้าวหน้าของระตูเกเด) นักโทษการเมืองหนึ่งในนั้นรวมถึง ดร.ซูการ์โน ชายหนุ่มผู้เฉลียวฉลาด กล้าหาญ เอาจริงเอาจังเมื่อญี่ปุ่นรุกรานหมู่เกาะอินโดนีเซีย บาหลีซึ่งคุตุตตันตรีถือเป็นสรวงสวรรค์ของเธอหลุดจากเงื้อมมือดัชท์เพียงเพื่อไปตกอยู่ในเงื้อมมือผู้พิชิตคนใหม่
ระเด่นนูราพาเธอข้ามมายังเกาชะวาเพื่อความปลอดภัย ต่อมาเธอช่วยเป็นล่ามให้กับคณะกรรมาธิการฝ่ายทหารสหรัฐ ญี่ปุ่นรุกเกาะชวาจนทหารฝ่ายพันธมิตรถอยร่นไปยังออสเตรเลีย คะตุตต้นตรีซึ่งรักอินโดนีเซียเป็นชีวิตจิตใจได้สิ้นเชิง ไม่ยอมหนี ขบวนการใต้ดินเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นได้แผ่ขยายจนมีสาขาทั่วหมู่เกาะและเธอตัดสินใจเข้าร่วมการทำงานให้ดินร่วมกับขบวนการปฏิวัติทำให้เธอถูกทหารญี่ปุ่นจับตัวไปสอบสวนและ ทรมานอย่างโหดร้ายทารุณจวนเจียนตายโดยหน่วยเค็มเปไตที่เมืองสุราไบย่า
จวบจนญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามและวันที่ 17 สิงหาคม 2488 กลุ่มผู้รักชาติในอินโดนีเซียในเกาะชะวาผลักดันให้เกิดการประกาศอิสรภาพ และแต่งตั้งให้ ดร.ซูการ์โนเป็นประธานาธิบดีร่างกายของคะตุตตันตรีบางส่วนยังเป็นอัมพาต ผอมซีดไม่ผิดจากซากศพ น้ำหนัก 30 กิโลกรัม เมื่อถูกปล่อยตัว เพื่อนชาวอินโดนีเซียที่ทำงานในกองกำลังซุ่มโจมตีพาเธอไปฟื้นฟูที่บ้านพักบนภูเขาจนเธอหายเป็นปกติ
ปีโต้-อดีตเด็กกำพร้าคู่หูของเธอเดินทางมาเยี่ยม และเป็นครั้งที่สามที่เธอเลือกเดินไปตามเส้นทางแห่งชีวิตเพื่อประชาชนชาวอินโดนีเซียคือเข้าร่วมขบวนการกู้ชาติ เธอพูดกับปีโต้ว่า “ฉันจะเป็นตาให้ท่านมองเห็น เป็นลิ้นให้ท่านพูดได้ คอยดูว่าท่านได้รับเงินทอนถูกต้องหรือไม่ ฉันจะนำทางให้ท่าน ถ้าทำไม่ได้ฉันจะยอมตาย” เมื่อแรกที่เธอมาถึงอินโดนีเซีย ปีโต้ในฐานะล่ามเคยพูดกับเธอเช่นนี้
เธอร่วมปฏิบัติการในหน่วยซุ่มโจมตีของการกำลังปฏิวัติ เขียนบทความลงใน The Voice of Free Indonesia ร่วมงานกับเจ้าหน้าที่ของวิทยุ Pemberontakan ต่อมาได้เป็นเพื่อนร่วมงานกับประธานาธิบดีซูการ์โนและ หัวหน้าคณะปฏิวัติหลายคน เธอเขียน “มีคนบอกว่าซูการ์โนเจ้าชู้ ปากหวาน เลียมผู้หญิงไม่เลือกว่าแก่หรือสาว สวยหรือไม่สวย เธอก็เชื่อว่าที่ได้ยินมานั้นไม่ใช่เรื่องเหลวไหลเมื่อได้พบกับตัวจริง แต่ใครก็ตามเมื่อได้พบก็อดไม่ได้ ที่ต้องชื่อชอบเขา เขาเป็นคนมีอารมณ์สำรวล และชอบพูดตลกล้อเลียนให้คู่สนทนาเพลิดเพลิน เข้าเป็นทั้งนักจิตวิทยาและนักแสดง เขาจับจุดได้ว่า ชาวบ้านทั่วไปไม่ค่อยรู้เรื่องดีนักเกี่ยวกับทฤษฏีปฏิวัติและเสรีภาพ บอลรีเวียร นักปฏิวัติชาวอเมริกันสมัยอาณานิคมอังกฤษเป็นคนเขานิยมเป็นพิเศษเขาจึงใช้วิธีเล่าเรื่องโดยยกตัวอย่างแทน” ซูการ์โนเคยบอกเธอว่าเขาเป็นเผด็จการชั้นดีไม่ได้ “เพราะหัวใจของเขาไม่มีธาตุของผู้เผด็จการอยู่เลย”
สถานการณ์หลังจากอินโดนีเซียเป็นสาธารณรัฐ สร้างความสับสนให้เธอพอสมควร ปิโต้แจ้งข่าวว่า ระเด่นนูราถูกยิงเสียชีวิตจากกองซุ่มโจมตีของกลุ่มปฏิวัติบาหลีหัวรุนแรง เพราะไม่เห็นด้วยกับวิธีการป่าเถื่อนโดยการประกาศล้างโคตรชาวดัชท์เพราะชาวบาหลีถูกจับโกนหัวประจานเย้ยหยันคำขวัญ Merdeka ของอินโดนีเซีย เธอเองได้รับการติดต่อจาก ตัน มะละกาหัวหน้าใหญ่ของพวกคอมมิวนิสต์ในชะวา เธอเห็นว่า แม้ตัน มะละกาจะเป็นคอมมิวนิสต์จริง เขาก็ต่อสู้เพื่อ Merdeka ของอินโดนีเซียเช่นเดียวกับซูการ์โนซึ่งเป็นนักสังคมนิยม หลักจากฝ่าแนวปราการของดัชท์ไปยังสิงคโปร์และออสเตรเลีย ทำงานประชาสัมพันธ์และติดต่อกลุ่มต่างๆ เพื่อขอความช่วยเหลือ สื่อมวลชนต่างประเทศรู้จักเธอในนาม “สุราไบย่าซู” จนกระทั่งดัชท์แพ้มติโลก ยอมปล่อยอินโดนีเซีย เธอจึงมีโอกาสกลับสหรัฐฯ เวลานั้นเธอมิอาจล่วงรู้ว่าอีก 20 ปีต่อมา บุงซูการ์โน (บุงหรือบังหมายถึงพี่) ผู้เรียกเธอว่าน้องหญิง ถูกซูฮาร์โต นายพลหนุ่มก่อรัฐประหารยึดอำนาจ และอินโดนีเซียอยู่ภายใต้อำนาจไร้เทียมทานของเขามาถึงปัจจุบัน(ปี 2535)
หากสุธารา คะตุตตันตรี ยังมีชีวิตอยู่ ข่าวเหตุการณ์ต่อต้านรัฐบาลซูฮาร์โตของประชาชนอินโดนีเซียและทำลายพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่มีนางเมฆาวดีบุตรสาวของซูการ์โนเป็นผู้นำ เธอคงเปิดอ่านจดหมายของระเด่นนูรา เพื่อนสนิทชาวบาหลีที่เขียนไว้ก่อนเขาเสียชีวิตอีกครั้ง
“…ตราบที่เรามี Merdeka อยู่ในหัวใจของเรา เราก็เป็นคนที่มีหวัง เมื่อเราเป็นมนุษย์เสรีแล้ว เราจะเอาแสงสว่างนั้นส่องเข้าไปในตัวเราเพื่อค้นหาวิญญาณของเรา ขจัดความเห็นแก่ตัวและความคิดเลวทรามออกไปให้หมดสิ้นจากจิตใจเพื่อจะได้เดินเชิดหน้าไปบนผิวโลกอย่างมีศักดิ์ศรีเช่นเสรีชนทั้งหลาย”
สูงลิบล้ำขึ้นไปบนท้องฟ้าอินโดนีเซีย ดวงดาวซึ่งส่องแสงเป็นประกายสีม่วงดวงหนึ่งลอยเด่น สุธารา คะตุตตันตรีกลับมาสู่ฝั่งบาหลีและชาวบาหลีที่เธอรักอย่างปลอดภัย การปฏิวัติในสรวงสวรรค์จะเริ่มต้นอีกครั้ง