40 กิโลเมตรจากหาดใหญ่ไปสงขลาระหว่าง “Quit Coal Ship Tour 2008”
เส้นทางที่ถักทอเป็นข่ายใยในหุบเขาเชียงใหม่ – ลำพูน เลียบผ่านหมู่บ้านเก่าแก่ เรือกสวนไร่นาไปสู่เมืองครั้งหนึ่งเคยเป็นวิถีพเนจรบนหลังอานจักรยานภูเขา แต่ละฉากของการเคลื่อนไหวในกระแสลมและอาบเหงื่อไคลมิได้ผ่านเข้าไปในภูมิทัศน์ที่ชาวต่างแดนหลายคนชมว่างามที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเท่านั้น แต่ละช่วงทางผมรู้สึกได้ถึงความสอดคล้องระหว่างร่างกายและจิตใจด้วย
เมื่ออ่านหนังสือ Bicycle : Vehicle for a Small Planet ของ Marcia D. Lowe นักวิจัยด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมและการจัดการพลังงานเพื่อการพัฒนาแห่ง Worldwatch Institute ซึ่งนิยามจักรยานว่าเป็นพาหนะไร้เครื่องยนต์ (สามล้อแรงคน รถเข็น ล้อเลื่อน และคนเดินเท้า) วิพากษ์วิจารณ์นโยบายคมนาคมขนส่งของรัฐที่เน้นสร้างถนน ระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ราคาแพงและสิ้นเปลือง ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่มในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งถูกทิ้งให้เดินและไม่มีความสะดวกในการไปทำงานและใช้บริการต่างๆทำให้ผมเกิดคำถามในใจว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่จะพัฒนาระบบคมนาคมเมืองเชียงใหม่โดยผนวกการเดินทางด้วยจักรยานให้เป็นทางเลือกหนึ่งของชีวิตเมือง
กระแสรณรงค์ให้กลับมาใช้จักรยานในเมืองเชียงใหม่ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างเมื่อไม่นานมานี้กลุ่มผลักดันที่สำคัญคือ กลุ่มชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางในเมืองประสานเข้ากับบทบาทของตำรวจจราจรที่มีความคิดก้าวหน้า กิจกรรมสำคัญคือการขี่จักรยานรอบคูเมืองในวันอาทิตย์และขยายผลในลักษณะการท่องเที่ยวด้วยจักรยาน ใครไปเยี่ยมเชียงใหม่ เมื่อสังเกตดีๆ จะเห็นป้ายรณรงค์อยู่ทั่วไปการรณรงค์ดังกล่าวส่งผลสะเทือนต่อสังคมในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่า กระแสนิยมจักรยานทุกวันนี้เป็นผลพวงของความก้าวหน้าของเทคโนโลยีวัสดุและธุรกิจอุตสาหกรรม ปรากฏเป็นจักรยาน ที่มีหน้าตาต่างไปจากที่เราเคยเห็น ความนิยมจักรยานปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าเป็นแฟชั่น อุปกรณ์ อะไหล่ เครื่องประดับและชุดแต่งกายแต่ละชิ้นของจักรยานรุ่นใหม่ๆ ล้วนแต่มีราคาแพงทั้งสิ้น การรณรงค์เรื่องจักรยานต้องไปให้พ้นจากมายาภาพเหล่านี้
ครั้งแรกที่จักรยานเข้ามาเมืองไทย เป็นที่นิยมในหมู่เจ้านาย ต่อมาจักรยานถูกขนานนามว่าเป็นพาหนะของคนจน ถึงยุคโลกไร้พรมแดน ดูเหมือนว่าจักรยานกลายเป็นของเล่นของชนชั้นกลางในเมือง แท้ที่จริง จักรยานจัดเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบคมนาคมขนส่งมานานแล้ว
เมืองเชียงใหม่และอาณาบริเวณมีผู้สันทัดกรณีเรื่องจักรยานหลายคน เช่น คุณจุลพร นันทพานิชซึ่งผมเรียกว่านักเลงจักรยานแห่งตีนดอยขุนตาล สนับสนุนการใช้จักรยานในชุมชนเล็กอย่างเต็มที่และพยายามขยายผลโดยอาศัยเครือข่ายนักจักรยานที่อยู่ตามซอกมุมต่างๆ ของเมืองลำพูน คืน ญางเดิมและครอบครัวบ้านพันไม้ใช้จักรยานเป็นวิถีชีวิตและการเดินทางท่องโลก คุณปลิว เจ้าของร้านเช่าจักรยานในอำเภอปาย แม่ฮ่องสอนผันตัวเองจากเครื่องยนต์รถบรรทุกมาอยู่กับสองล้อมหัศจรรย์ที่ขับเคลื่อนด้วยแรงถีบ เป็นต้น
พวกเขาคือปัจเจกชนเล็กๆ ที่ปฏิวัติตนเอง แต่ส่งผลสะเทือนทางความคิดต่อผู้คนชนิดที่ไม่อาจมองข้ามไปได้เลยเท่าที่ทราบ จักรยานคันที่เก่าแก่ที่สุดในเชียงใหม่อายุร่วม 70 ปี ยี่ห้อซัมบิน เป็นหนึ่งในจำนวนจักรยานที่หลวงอนุสารสุนทรสั่งเข้ามาจากอังกฤษ 12 คัน ในราว พ.ศ. 2469 ส่วนจักรยานที่ถือว่าเป็น “เสือภูเขา”คันแรกของเชียงใหม่ มีอายุราว 15 ปี เป็นของคุณมงคล คธาทอง
รอยอดีตของเชียงใหม่มีผู้คนขี่รถถีบการจ้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเมือง คนเชียงใหม่รุ่นก่อนเคยใช้จักรยานบรรทุกส่งผักไปขายในตลาด ส่งลูกหลานไปโรงเรียนใช้บรรทุกไม้ออกจากป่า บรรทุกหญ้าและอุปกรณ์การเกษตร ตำรวจสมัยก่อนยังใช้จักรยานขี่ตรวจท้องที่และเยี่ยมชาวบ้าน พ่อค้าบางคนขี่จักรยานบรรทุกผ้าสำเร็จรูปส่งขายตามอำเภอรอบนอกของเชียงใหม่ แพทย์แผนโบราณขี่จักรยานใส่กระเป๋าแพทย์ไปรักษาคนไข้ จักรยานรุ่นแรกที่ใช้กันในเชียงใหม่มีหลายหลายยี่ห้อ เช่น ฮัมเบอร์ ราเลย์ฟิลลิป เฮอคิวลิส เบเลเฟลด์ ฮัฟฟ ไทรอัม และมาราธอน เป็นต้น ตัวถังประกอบขึ้นจากเหล็กกล้า หนักและแข็งแกร่งจนเมื่อรถยนต์มีบทบาทหลัก จักรยานหลายคันถูกทิ้งร้าง…
ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีและการจัดการ สวิสเซอร์แลนด์ (SKAT) ตีพิมพ์หนังสือชื่อEnvironmental Limits to Motorisation (2536) เขียนถึงกรุงเทพฯ ว่ารถติดมหันต์ และคนรวยแก้ปัญหาโดยใช้รถยนต์เป็นสำนักงาน มีโทรศัพท์มือถือ โทรสาร คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค กาลเวลาที่เมืองเชียงใหม่จะกลายเป็นฝันร้ายเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ อาจยังมาไม่ถึง แต่ทุกวันนี้ รถยนต์ส่วนตัวและรถมอเตอร์ไซค์ที่เพิ่มจำนวนอย่างมหาศาลทำให้การจราจรในเชียงใหม่ติดขัดอย่างร้ายกาจ
ตัวอย่างอันน่าเศร้าคือ ชั่วโมงเร่งด่วนภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีรถราแออัดและควันพิษ ทางเดินเท้ามีต้นหญ้าขึ้นรกเพราะไม่มีใครเดิน พื้นที่ว่างหลายแห่งมีรถยนต์จอดอยู่เต็ม ชุมชนปัญญาชนคือกระจกเงาสะท้อนสังคมฉันใดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็คือภาพสะท้อนสังคมเชียงใหม่ฉันนั้น เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ
ความเชื่อสองประการที่ผู้บริหารเมืองเชียงใหม่ใช้แก้ปัญหาคือ หนึ่ง–สร้างระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ สอง–การจราจรติดขัด ปัญหาสุขภาพจากมลพิษและอุบัติเหตุจากยานยนต์เป็นผลข้างเคียงของเทคโนโลยีปัญหาของรถยนต์ไม่ใช่ผลข้างเคียง กลับเป็นผลตรงข้ามกับจุดมุ่งหมายของรถยนต์โดยตรง แทนที่จะประหยัดเวลาคนในเมืองเชียงใหม่มีแนวโน้มใช้เวลาอยู่บนถนนมากกว่าคนสมัยก่อนที่เดินทางด้วยเท้าและเกวียน
รถยนต์มีประโยชน์ยากจะปฏิเสธ แต่การคมนาคมด้วยรถยนต์ขยายตัวมากเกินไปทั้งปริมาณและความเร็วก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทั้งทางสังคมและนิเวศ จนไม่อาจแก้ไขด้วยเทคโนโลยีหรือวิธีการเดิมๆ อีกต่อไป
พูนพล อาสนจินดา ศาสตราจารย์ภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับห้วงเวลาภายหลังจากมหาวิทยาลัยเปิดดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.2507 เป็นระยะเปลี่ยนผ่านทางนิเวศวิทยาเมืองเชียงใหม่ ท่านบันทึกไว้ใน พ.ศ.2525 ว่า “เชียงใหม่เคยมีน้ำค้างมากภายในเมืองในฤดูหนาวเมื่อประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา แต่บัดนี้มีไม่มากเช่นก่อนอากาศภายในเมืองร้อนมากขึ้นทั้งเวลากลางวันและกลางคืน แต่ในฤดูหนาวจะหนาวจัดในบางวัน…”
“…การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระดับท้องถิ่น เกิดจากการใช้เครื่องยนต์น้ำมันในการขับดันพาหนะ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถไฟ เครื่องบิน ทำให้บรรยากาศได้รับทั้งคาร์บอนไดออกไซด์และคาร์บอนมอนนอกไซด์ตลอดจนบรรดาธาตุที่เป็นโลหะคือตะกั่ว เป็นต้น เข้าสู่บรรยากาศ บรรดายานยนต์ยังเพิ่มฝุ่นในขณะแล่นไปตามถนนของเมืองเชียงใหม่ ฝุ่นละอองและก๊าซเป็นตัวรวมไอน้ำในอากาศได้เป็นอย่างดีซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเม็ดฝนดังนั้น ฝนจึงตกมาในบางฤดู และการที่ฝนไม่ตกที่อำเภอสันกำแพงในบางปีเพราะอยู่ทางตะวันออกของอำเภอเมืองและอยู่ทางปลายกระแสลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ก็เป็นที่สงสัยว่าอาจเป็นเพราะฝุ่นละอองและก๊าซที่ออกจากยานยนต์ในเชียงใหม่…” และ “…เคยปรากฏว่า งานฤดูหนาวของเมืองเชียงใหม่ ได้มีการใช้เครื่องเสียง ไฟฟ้า เพื่อแสงสว่างและมียานยนต์เข้าออกเป็นจำนวนมากในบริเวณงานทุกคืนเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ตลอดจนฝุ่นละอองที่กระจายจากการเดินของคนในบริเวณงาน ทำให้เกิดฝนตกในฤดูหนาว…”
แม้ว่าการเดินทางด้วยจักรยานจะไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปตายตัวของการแก้ปัญหาคมนาคมขนส่งในเมืองแต่จักรยานน่าจะช่วยเชียงใหม่มีอากาศสะอาดขึ้น ก่อนที่ปัญหามลพิษของเมืองจะร้ายแรงกว่าที่เป็นอยู่ ข้อมูลความรู้เงินทุน ทรัพยากรบุคคลจำนวนมากที่ทุ่มเทให้กับการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ควรเน้นความสำคัญของจุดนี้เพียงแต่การรณรงค์ให้ผู้คนหันมาขี่จักรยานนั้น ไม่อาจบรรลุเป้าหมายได้เลยหากปราศจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารเมืองที่เห็นความสำคัญของการคมนาคมอันหลายหลาก และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับจักรยาน
แต่โครงการจักรยานทั้งหลายที่มีอยู่และจะเกิดขึ้น เช่นทางจักรยาน ที่จอดจักรยาน ระบบ Bike and Ride เป็นต้น จะไร้ซึ่งชีวิต หากผู้คนยังไม่เห็นคุณค่าอันแฝงเร้นของมัน การทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองน่าอยู่โดยมีจักรยานเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ต้องไม่จำกัดเฉพาะคนชั้นกลางในเมืองกับรถจักรยานราคาแพงเท่านั้น แต่รวมถึงคนทุกระดับชั้นที่เดินเท้า ขี่จักรยานรุ่นเก่าหรือไฮเทค และสามล้อแรงคน ด้วยการรณรงค์เรื่องจักรยาน ต้องเปลี่ยนผ่านจากรูปแบบเชิงเทคนิค ไปสู่เนื้อหาแห่งสุนทรียภาพ อันเป็นหนึ่งในวาทกรรมที่ตอบโต้การครอบงำของความคิดและการพัฒนากระแสหลัก ท่ามกลางยุคสมัยที่คนเรารู้จักถนนแต่อับจนหนทางในท้ายที่สุด