ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานที่ก่อให้เกิดมลภาวะมากที่สุด ทั้งยังเป็นแหล่งสำคัญที่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) อีกด้วย โดยในแต่ละปีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 11,000 ล้านตันทั่วโลก มีที่มาจากการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหิน ในปี 2548 การผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินมีส่วนก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลประมาณร้อยละ 41 และหากยังมีการเดินหน้าก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ๆ ขึ้นต่อไป ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากถ่านหินจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 ภายในปี 2573
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อมและเป็นความท้าทายด้านมนุษยธรรมและทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดที่โลกเราเผชิญมา ผู้คนนับล้านทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศแล้ว ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากผลกระทบดังกล่าวถึง 150,000 คน ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมไปถึงภัยแล้งที่กระจายตัวอย่างกว้างขวาง อุทกภัย และการอพยพย้ายถิ่นของประชากรจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เราจำต้องทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นไม่มากไปกว่า 2 องศาเซลเซียส(เมื่อเทียบกับระดับอุณหภูมิสมัยก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม)เท่าที่จะทำได้ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Intergovernmental Panel on Climate Change:IPCC) จึงได้ระบุในรายงานการประเมินฉบับที่ 4 ว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศจะเพิ่มขึ้นสูงสุดภายในปี 2558 และจะต้องลดลงหลังจากนั้น
ทั้งนี้วิธีการรับมือกับการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินมีความสำคัญต่อการตั้งเป้าหมายดังกล่าวมาก เจมส์ แฮนเซ็น(James Hansen) นักวิทยาศาสตร์ระดับสูงแห่งองค์การนาซ่าได้ระบุว่า การดำเนินการอย่างหนึ่งที่สำคัญที่สุดและจำเป็นเพื่อรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก คือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากถ่านหิน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกเห็นพ้องกับความคิดเห็นดังกล่าว
———-
จาก ต้นทุนจริงของถ่านหิน : ผู้คนและโลกต้องจ่ายให้กับเชืิ้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในโลกอย่างไร
จัดพิมพ์ภาษาไทยโดยกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คณะผู้เขียน: ดร.อีเรก้า เจอร์บาย, มาไรกา บริทเทน, ไอริช เชง, มาร์ธา คาเมียสกา, เออร์เนส มีแซค, วิคเตอร์ มุนนิค, จายาชรี นานดี, ซารา เพนนิงตัน, เอมิลี โรชอน, นีนา ชลูลซ์, นาฮิญา ชาฮับ, จูเลียน วินเซนต์และเมง ไว เรียบเรียงโดย: รีเบคกา ชอต แอนด์เดอะไรเตอร์
บรรณาธิการแปลและเรียบเรียงภาคภาษาไทย : ธารา บัวคำศรี