ธารา บัวคำศรี จากการนำเสนอในการเสวนาเรื่อง “องค์กรประชาชนกับการมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมลำน้ำพอง” ณ โรงเรียนกัลยาณวัตร จังหวัดขอนแก่น วันที่ 4 ตุลาคม 2546

my3rdbook

กราบคารวะดวงวิญญาณของคุณสำเนา ศรีสงคราม ประธานชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลำน้ำพอง สวัสดี ผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่าน และขอขอบคุณผู้จัดงานสำหรับการแลกเปลี่ยนที่มีความหมายยิ่งต่อการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของภาคประชาชนในวันนี้

เวลาได้ยินคำว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อม แรกๆ เราจะรู้สึกดี มีความหวัง เหมือนกับคำว่า “ประชาธิปไตย” แต่หลายครั้งหลายครา คำนี้ถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมเชิงสถาบันและสถานะที่ดำรงอยู่ของโครงสร้างอำนาจ เราคิดกันแค่ว่า ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งแล้วก็จบ ดูตัวอย่างจากคนกรุงเทพเลือกผู้ว่าฯ ปรากฏว่าไปๆ มาๆ ผู้ว่าคนนี้ไม่ค่อยได้ทำอะไรสักเท่าไร วันๆ ก็ “ชิมไปบ่นไป” วันดีคืนดีก็พาเทศกิจ พาตำรวจมาช่วยคนของรัฐบาลทักษิณรื้อเต็นท์สมัชชาคนจนหน้าทำเนียบ เร็วๆ นี้ก็บอกว่าจะเก็บสนามหลวงไว้รับการประชุมเอเปค ไม่ใช่พื้นที่เพื่อรำลึกเหตุการณ์สำคัญในทางการเมืองภาคประชาชน

ความหมายของการมีส่วนร่วมของประชาชนถูกช่วงชิง อาจจะตั้งแต่เราแปลมาจากคำว่า People Participation แล้วก็ได้…แต่สุดท้ายกลับหัวเป็นหาง ดังจะเห็นว่า การปกป้องระบบนิเวศลำน้ำพองของชุมชนต้องจบลงด้วยความตายของคุณสำเนาทั้งในฐานะผู้นำชุมชนและหัวหน้าครอบครัว

การมีส่วนร่วมของประชาชนขณะนี้เหลืออยู่มิติเดียว คือการเป็นตราประทับให้กับคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นเต็มไปหมดโดยหน่วยงานของรัฐ การทำประชาพิจารณ์ก็เป็นกระบวนการที่มีแต่บทเรียนแห่งความเจ็บปวดอย่างที่เราทราบกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณสำเนาและผู้นำชุมชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในบ้านเรา คือปรากฏการณ์สากล เกิดขึ้นทั่วโลก

การสังหารคุณสำเนา ศรีสงคราม คือปฏิกิริยาโต้กลับเพื่อที่จะสลาย/ทำลายหรือทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมและตัวนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมเองอ่อนกำลังลง ไม่ว่าจะเป็นในอเมริกาเหนือ ละตินอเมริกา ยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์-แปซิฟิค คล้ายกันหมด ไม่ว่าจะเป็นชนเผ่าโอโกนีในลุ่มน้ำไนเจอร์ ประเทศไนจีเรียที่โดนรัฐบาลเผด็จการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ถูกจับไปทรมาน และผู้นำกลุ่มคนสำคัญถูกจับไปแขวนคอประจานโทษฐานที่ไปต่อต้านบริษัทน้ำมันข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงที่กระทำต่อชนเผ่าในบราซิลที่พยายามปกป้องระบบนิเวศของผืนป่าอะเมซอน เป็นต้น การเคลื่อนไหวเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมคือการต่อสู้จนถึงชีวิต

มีผู้ศึกษาแบบแผนของการโต้กลับที่มีต่อขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและสิ่งแวดล้อมทั่วโลกอยู่เหมือนกัน โดยวิเคราะห์เจาะลึกผ่านเหตุการณ์ต่างๆ แล้วมีข้อเสนอที่น่าสนใจทีเดียว

แต่มันไม่ง่ายนัก ประการแรกคือว่า สำหรับตัวขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมเอง มันมีความหลากหลายเป็นแถบซ้อนกันอยู่ ถ้าเราจะนิยามขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมอย่างกว้าง ก็อาจหมายถึงขบวนการซึ่งใครสักคนหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง – จากนักวิชาการในมหาวิทยาลัยจนถึงคนชายขอบ/คนรากหญ้า – ออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อม ประการที่สองคือการนิยามคำว่า “การโต้กลับเพื่อทำลาย/สลายให้ขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมและนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมอ่อนกำลังลง(GreenBacklash)” ยิ่งเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยง

แต่ถ้าเราใช้สามัญสำนึกพิจารณา คำว่า GreenBacklash ก็คือขบวนการที่ใครสักคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทำงานอย่างแข็งขันเพื่อทำลาย/สลายกลุ่มที่ทำงานปกป้องสิ่งแวดล้อมนั่นเอง วันทนา ศิวะ นักกิจกรรมทางสังคมชาวอินเดียบอกว่า “เมื่อการทำงานของเรามีประสิทธิภาพ การโต้กลับก็จะเกิดขึ้น การโต้กลับเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพราะมันแสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น”

ในกรณีประเทศอุตสาหกรรมอย่างสหรัฐอเมริกา แบบแผนของการโต้กลับที่มีต่อขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมมีลักษณะเด่นชัดมากดังนี้

  • มันเชื่อมโยงเข้ากับกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาจัด พวกนี้พยายามทำให้การอภิปรายถกเถียงทางสิ่งแวดล้อมพร่าเลือนกระจัดกระจายและห่างไกลออกไปจากการร่วมกันหาทางออก และมีการเผชิญหน้าโดยตรงมากขึ้น ใช้ความรุนแรงมากขึ้น
  • การให้เงินสนับสนุนกลุ่มต่อต้าน/ทำลายนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อม และการผ่อนคลาย/ยกเว้นกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็ใช้เงินมหาศาลในการทุ่มประชาสัมพันธ์เพื่อพยายามลดทอนพละกำลังของขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม กลยุทธที่มีการนำไปใช้ทั่วโลก เช่น
  • ทุนนิยมอุตสาหกรรมได้เข้ายึดกุมและประดิษฐคำต่างๆ ขึ้นเพื่อสนับสนุน “กิจกรรมที่ดำเนินไปตามปกติ” ของตน ไม่ว่าจะเป็นคำว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน วิทยาศาสตร์ที่เข้าท่า เศรษฐกิจที่สมเหตุสมผล ความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม ดูแลด้วยความรับผิดชอบ
  • หาวิธีการทำให้นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมถูกมองว่าเป็นพวกนิยมความรุนแรง สุดขั้ว และชอบก่อเรื่องเพื่อตัดกำลังขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมแบบสันติวิธี
  • ตั้งชื่อกลุ่มให้ดูดี เช่น กลุ่มแนวร่วมเพื่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม(Alliance for Environmental Resources) มูลนิธิสิ่งแวดล้อมอเมริกัน(American Environmental Foundation) แนวร่วมนักสิ่งแวดล้อมที่รับผิดชอบ (Coalition of Responsible Environmentalist) กลุ่มป่าตลอดกาล(Forest Forever) สมาคมแผ่นดินของเรา(Our Land Society) เป็นต้น
  • เรียกนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมว่าเป็นพวกคลั่งศาสนา เช่น ในสหรัฐอเมริกามีการพูดว่า “เราอยู่ภายใต้สงครามทางจิตวิญญาณในระดับที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน สงครามระหว่างผู้ที่เชื่อว่าพระเจ้าส่งเรามาบนโลกนี้กับผู้ที่เชื่อว่าพระเจ้าคือธรรมชาติ”
  • ป้ายสีนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เช่น กล่าวหาว่าเหมือนแตงโม “ข้างนอกสีเขียว ข้างในสีแดง” หรือเปรียบเทียบขบวนการสิ่งแวดล้อมว่าเป็นเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นต้น
  • เรียกนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมว่าพวกนาซี
  • เรียกนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมเป็นพวกชนชั้นนำ
  • สร้างภาพให้เห็นว่าขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมมีวาระซ่อนเร้น
  • ลดทอนภาพนักสิ่งแวดล้อมให้เห็นว่าเป็นพวกสุดขั้ว
  • บอกว่านักสิ่งแวดล้อมออกมาเพื่อทำลายเศรษฐกิจ การจ้างงาน ทำลายอารยธรรมและระบบทุนนิยม
  • บอกว่านักสิ่งแวดล้อมเป็นพวกต่อต้านวิทยาศาสตร์
  • บอกว่านักสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรง

การที่เราสูญเสียคุณสำเนา ศรีสงครามและนักต่อสู้เพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอีกหลายท่าน สะท้อนให้เห็นถึงแบบแผนการโต้กลับเพื่อสลายขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในสังคมไทยหรือไม่? อย่างไร? เป็นคำถามที่ผมอยากตั้งเอาไว้เพื่อการถกเถียง พูดคุยและแลกเปลี่ยนในโอกาสต่อไป

คุณสำเนา ศรีสงครามถูกสังหารเพราะว่าเขามีบทบาทสูงในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องระบบนิเวศลำน้ำพองซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อทุนนิยมของบรรษัทที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐ (โรงงานเยื่อและกระดาษของบริษัทฟินิกซ์พัลแอนด์เพเพอร์) และอุดมการณ์ทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับมัน เพื่อมิให้การจากไปของเขาสูญเปล่า เราจำเป็นต้องสรุปบทเรียนอย่างจริงจัง เราอาจจะไม่จำเป็นต้องตอบคำถามเพื่อแก้ข้อกล่าวหาจากปฏิกิริยาโต้กลับข้างต้น แต่เราต้องยืนยันในความชอบธรรมของการเมืองภาคประชาชน ยืนยันในสิทธิชุมชน สิทธิในการปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สิทธิของพลเมืองที่จะดื้อแพ่งต่อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เรายังต้องมองโลกในแง่ดี ทำงานสร้างสรรค์ แบ่งปัน สร้างเครือข่ายภาคประชาชนให้กว้างขวางออกไปพร้อม ๆ กับการเสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างศานติสุขในสังคม