1

ลมหนาวเดือนมกราคมแผ่คลุมแดนสูงท่ีลาดลงสู่แอ่งที่ราบลุ่มตวลเลสาบ อุณหภูมิต่ำสุดยามเช้าที่อำเภออรัญประเทศวัดได้ราว 12 – 13 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิยามเที่ยงวันสูงพรวด อากาศร้อนอ้าว ความแตกต่างนี้ดุจเดียวกับสถานการณ์ท่ีไม่แน่นอนและสับสนอลหม่าน นับแต่สงครามที่ไม่มีวันสิ้นสุดได้อุบัติขึ้นในปรอเตะกัมปูเจีย

เสียงตึงตังเหมือนฟ้าร้องแว่วมา ผู้คนถิ่นนี้ต่างคุ้นเคยกับมัน

“เสียงระเบิด”

พ่อหันมาบอกขณะพาผมเดินทางเลียบแนวพรมแดนจากตัวอำเภอ(อรัญประเทศ)ไปเยี่ยมโรงเรียนในเขตเสี่ยงภัยแห่งหนึ่ง

พรชัย บัวคำศรี (2486-2564)

“ฉนวนไทย หรือ Thai Corridor” เป็นชื่อเรียกอาณาบริเวณกว้างใหญ่เชื่อมต่อกันระหว่างพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงกับห้วยหนองคลองบึงที่ลาดลงสู่ตวลเลสาบ – แอ่ง อารยธรรมขอมโบราณ– ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ภาคพื้นทวีป เสมือนกิ่วขนาดมหึมาของแนวพนมดงเร็กทางด้านเหนือและพนมบรรทัดทางด้านใต้หรือพื้นที่ของจังหวัดพระตะบองกับจังหวัดสระแก้ว

ฉนวนไทย คือ ปราการด้านหนึ่งของฝ่ายโลกเสรีที่ต้านทานการไหลบ่าของกระแสปฏิวัติสังคมนิยมจากฮานอย ปักกิ่ง และมอสควา กรุงเทพฯ–อรัญประเทศ 300 กิโลเมตร ภูมิรัฐศาสตร์อันโดดเด่นและยุทธศาสตร์ที่ล่อแหลม

จากอดีต ถิ่นแถบนี้เป็นทางผ่านของขุนศึกและนักรบ ผู้หลงไหลอารยธรรมโบราณ เป็นเส้นทางการค้า ฐานที่มั่นแห่งเขมรแดง ค่ายผู้ลี้ภัย ตลาดมืด ฯลฯ และยังเป็น “บ้าน” ที่พำนักของคนหลากเผ่าพันธุ์ ไทย เขมร เวียดนาม ลาว ผู้รักสงบสันติ

แต่ฉนวนทางการเมืองการทหารกลายเป็น “ตัวนำ” ให้ทุนนิยมหลังสงครามทะลวงลึกเข้าไป ช่วงชีวิตของคนบนพรมแดนแห่งนี้ ต่างเห็นคลื่นมนุษย์และเม็ดเงินไหลไปมา แต่ความยากไร้นั้นเกินกว่าจะบรรเทา และบาดแผลสงครามยากจะเยียวยา นอกจากหยาดฝนและสายน้ำ ยังมีเลือดนองไหลลงตวลเลสาบ

ตวลเลสาบ ตวลเลธมหรือแม่น้ำโขง ที่ราบลุ่มและแม่น้ำในห้วงประวัติศาสตร์ คือเป้าหมายการรุกรานของพวกจาม ถัดจากนั้น ไทยและเวียดนาม ละทิ้งความเสื่อมโทรมของมหาอำนาจเขมรยุคเมืองพระนครไว้เบื้องหลัง

อรัญประเทศ ตาพระยา คลองหาด เรื่อยไปถึงจันทบุรีและตราด อาจจะไม่เป็นพรมแดน ถ้าหากมหาอำนาจฝรั่งเศสไม่เข้ามาแทรกแซงในคริสตทศวรรษที่ 19 เขมรจะถูกแบ่งออกเป็นไทยและเวียดนามโดยมี แม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่ง

แต่กงล้อประวัติศาสตร์ลิขิตให้ชาวเขมรมีชีวิตอยู่ ยากไร้ ทนทุกข์ และตายไปกับตวลเลสาบ พวกเขาผ่อนหนักให้เป็นเบาด้วยภาษิตที่ว่า “เรือลอยผ่านไป ริมฝั่งน้ำยังอยู่ – ความทุกข์ยากผ่านไป ชีวิตยังดำรงอยู่

2

รถตู้เก่าๆ วิ่งโขยกเขยกไปตามถนนลาดยางแคบขรุขระออกไปทางด้านใต้ของอรัญประเทศ – อำเภอชายแดน ด้านบูรพทิศแห่งราชอาณาจักรไทย พ่อนั่งหลังพวงมาลัย เล่าย้อนเรื่องชีวิตแต่หนหลัง

แม่ของพ่อ(ย่า) มีเชื้อสายจีนเกิดที่จังหวัดพระตะบอง พ่อของพ่อ(ปู่) เป็นชาวย้อ–ชนเผ่าไทย–ลาวกลุ่มหนึ่งท่ีหมู่บ้านคลองน้ำใส อรัญประเทศ

“ปู่เป็นครูไปสอนที่พระตะบอง เมื่อครั้งอยู่ในเขตไทย” พ่อเล่า

คุณครูพรชัย บัวคำศรี เล่าถึงกลุ่มชาติพันธุ์ญ้อ ในสื่อวีดีทัศน์ที่ผลิตขึ้นโดยกระทรวงวัฒนธรรม

อรัญประเทศอยู่บนพรมแดนอีกครั้งเมื่อเสียมเรียบ-พระตะบอง คืนสู่อ้อมกอดของตวลเลสาบ คนเชื้อสายไทยอพยพกลับแต่ยังคงมีเหลือตกค้างอยู่จนบัดนี้

ภูมิประเทศเริ่มลาดชันกว่าช่วงที่ผ่านมา พนมหมากฮึน–ขุนเขาเทือกหนึ่งไกลลิบอยู่ฟากฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ เราผ่านด่านตรวจของทหารและตำรวจตระเวนชายแดนไทยเป็นระยะๆ ทุกครั้งที่เราผ่านมาทางนี้ เรามองไม่ออกว่าพรมแดนไทย–เขมรอยู่ตรงไหน ที่คลองลึกและปอยเปต ถ้าไม่มีธงชาติปักไว้ และมีทหารทั้งสองฝ่ายยึดถือปืนน่าเกรงขามอยู่ที่ป้อมรักษาการณ์และบังเกอร์ กั้นถนนด้วยรั้วลวดหนาม ผมสามารถเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้อง ดูนครวัด–นครธม ไปเยือนตวลเลสาบ พนมเปญ และเดินทางทะลุไปถึงสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงได้

โลกไร้พรมแดนก็จริง แต่พรมแดนทุกด้านทุกแห่งกีดกั้นกักขังความฝันของคนเล็กๆ ผู้ตกเป็นเหยื่อชะตากรรม

พ่อสอนหนังสือมาตลอดชีวิต และย้ายโรงเรียนหนีกระสุนปืนใหญ่ที่พลัดหลงมาตกในหมู่บ้านหลายครั้ง เล่าต่อ “แถวนี้มีคลองน้ำใสหรือซะตึงห้วยใส เป็นแนวพรมแดน น้ำไหลมาจากเขาตาง็อกไปจบกับลำห้วยพรหมโหสถที่บ้านโคกสะแบงไหลเข้าเขมรไปลงทะเลสาบ กุ้งหอยปูปลาแถวนี้เคยชุกชุม ขึ้นมากับน้ำหลาก เดี๋ยวนี้ไม่เหลือแล้ว…พ่อเคยข้ามไปเยี่ยมคนไทยในพระตะบอง” พ่อชี้ไปทางพนมหมากฮึด “จากนี้ไปเป็นเขตเขมรแดง”

3

เด็กชายเขมรสองคนท่ีผมเข้าไปคุยด้วยมีท่าทางหวาดหวั่น ผมยิ้มใหเ้ขา “ไทยแขมร์บองพะโอน –เราพี่น้องกัน”

มีเด็กหญิงชายรวมสิบกว่าคนท่ีโรงเรียนประถมในเขตเสี่ยงภัยแห่งนี้มาจากหมู่บ้านมะพร้าว – ชุมชนพลเรือนชาวเขมรในเขตยึดครอบของเขมรแดง – เธอคือมวลเด็กผู้บริสุทธิ์ อนาคตของปรอเตะกัมปูเจีย ?

เด็กชายคนหนึ่งบอกผมว่าพี่ชายคนโตถูกเกณฑ์เข้าสู่สงครามและกลับมาด้วยร่างไร้วิญญาน กระสุนปืนเจาะทะลุหัวจากการปะทะกับทหารฝ่ายรัฐบาลในเขตปอยเปต

“อายุ 16 – 17 ก็ไปรบแล้ว ผมไม่อยากรบ ผมจะเรียนหนังสือครับ” เขาพูดไทยชัดเจน

พ่อเล่าว่า “เด็กข้ามฝั่งมาเรียน เราก็รับ ไม่สนใจว่าไทยหรือเขมร เราสอนเหมือนกัน ให้เขารู้จักกัน”

“อยู่ไม่ไกล” เด็กชายเขมรชี้มือไปทางทิศตะวันออกเมื่อผมถามถึงหมู่บ้านของเขา “คนไทยเข้าไปได้แต่ต่างชาติห้ามเข้า ทหารไม่อนุญาต”

ทางฝุ่นแยกจากถนนลาดยางสายแคบตัดผ่านทุ่งนาแห้งเข้าไปไม่ไกล ตะวันสีแดงลอดต่ำ ไม้ใหญ่ไร้ใบที่ ยืนต้นเดียวดายกลายคงหญ้าห่างออกไป 

พ่อหยุดรถตู้เก่าหน้าป้อมรักษาการณ์ของนักรบดำจากค่ายปักธงชัย ผมเห็นหมู่บา้นมะพร้าว ชุมชนขนาดใหญ่หลายร้อยหลังคาอยู่บนตลิ่งสูงชันอีกฝั่งคลอง เราไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายรูป

กลางสะพานข้ามซะตึงห้วยใสคือพรมแดนขีดแบ่งโลก หญิงสาวชาวเขมรนั่งซักผ้าอยู่กับเด็กน้อยสองสามคนอยู่ข้างล่าง มองลงไปเหมือนพวกเขาอยู่ในหุบเล็กๆ สิบก้าว สิบก้าวของผมเท่านั้น โลกเปลี่ยนแปลง 

หนุ่มเขมรชุดสีเขียวไม่ผิดแผกจากชุดนักรบปฏิวัติถิ่นอื่นในเขตอินโดจีนส่งยิ้มแห้ง ๆ เมื่อเราผ่านเข้าไป

เด็กเล็กสิบกว่าคนกำลังเล่นฟุตบอลอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่สนใจใยดีคนแปลกหน้าอย่างเราแม้แต่น้อย ต่างจากตลาดปอยเปต ตลาดโรงเกลือ คลองลึกและตลาดมืดหลายแห่งที่เกิดแล้วดับอยู่บนพรมแดน มวลเด็กผู้ยากไร้นับร้อยรุมล้อมขอเงินจนผมรู้สึกว่าตัวเองโหดร้าย

ที่นี่อาจเป็นทางด่านเข้าไปสู่ผลประโยชน์ปิดลับและซับซ้อนมูลค่ามากกว่าการค้าชายแดนแบบเป็นทางการหลายร้อยเท่า แต่สำหรับผมแล้ว มะพร้าวคือหมู่บ้านเขมรติดชายแดนไทยที่เด็กๆ วิ่งเล่นอย่างสนุกสนาน

บ้านไม้ปลูกอยู่ห่างกัน เกือบทั้งหมดยกใต้ถุนสูง มีลวดลายสวยงามแปลกตาบนหน้าต่างบ้านทุกหลัง ปลอกกระสุนปืนใหญ่ ปืน ค.วางเรียงไว้ตามรั้ว เสาอากาศรับสัญญานทีวีไทยโผล่พ้นหลังคา คนที่นี ดูเกมโชว์ โฆษณา และละครไทยบนจอแก้ว

“ผมชอบดูเปาบุ้นจิ้น” เด็กชายเขมรที่ผมคุยด้วยท่ีโรงเรียนในเขตเสี่ยงภัยเปลี่ยนตัวเองเป็น ไกด์พาผมเดินเที่ยวไปตามถนนในหมู่บ้าน หญิงสูงวัยคนหนึ่งขี่ “โรแตะก๊อง” หรือ “จักรยาน” ซ้อนเด็กน้อยผ่านมา เธอยิ้มกับคำทักทายด้วยภาษาสำเนียงเขมรกระท่อนกระแท่นของผม “ชัวเวดีย โตวตีนา – สวัสดีครับ จะไปไหนหรือ” 

บ้านทุกหลังมีแต่คนแก่และเด็ก คนหนุ่มที่เราเห็นส่วนมาก ไม่แขนก็ขาพิการ บ้านหลังหนึ่งมีหญิงสาวสองคนโผล่ออกมาที่หน้าต่างและหญิงชรากับหลานนั่งสานเสื่ออยู่ใต้ถุน เราตกเป็นเป้าสายตาทุกคู่ที่มองมาอย่างเงียบสงบ

ป้ายสีแดงตัวอักษรเขมรเด่นอยู่ที่ทางแยกกลางหมู่บ้าน เด็กชายเขมรอ่านออกเสียงให้เราฟัง

“แปลเป็นไทยได้ไหม” ผมถามเด็กชาย เขาส่ายหน้าตอบ

บนป้ายอีกข้างหนึ่งเป็นภาพทุ่งนาและภูเขา ชาวนาในชุดสีเขียวถือจอบเสียมขุดดิน ฉากด้านหน้ามีไม้แหลมปักอยู่ที่พื้นเรียงเป็นแถว

มันคือขวาก หลุมดักศัตรู กับดักอันเลื่องชื่อแห่งสงครามอินโดจีน มีภาษาเขมรประกอบ แต่ผมไม่เข้าใจความหมายของภาพเลย

เรามีเวลาเดินไม่นานนักต้องย้อนมาที่สะพาน ด้วยความเกรงใจนักรบดำจากปักธงชัยซึ่งย้ำหนักหนาว่าไม่เกินห้าโมงเย็นต้องข้ามกลับฝั่งไทย มีรถกะบะลุยฝุ่นข้ามสะพานสวนทางกับเรา

“พวกซื้อไม้” พ่อบอก

มะพร้าวเป็นประตูหนึ่งของการค้าไม้ข้ามพรมแดน ลึกเข้าไปในเขตป่าเขา เงินไหลเข้าไป ไม้ซุงถูกลำเลียงออกมา

การอยู่ประชิดพรมแดนของหมู่บ้านนี้ นอกจากชาวบ้านไทย – เขมรจะติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนเพื่อหาเลี้ยงชีวิตแล้ว หากมีการโจมตีหมู่บ้าน พวกเขาสามารถข้ามมาลี้ภัยฝั่งไทยโดยง่าย นักรบดำจากปักธงชัยบอกผมว่า พวกเขาล้วนมีเสบียงอาหารพร้อมด้วยอาวุธปืนไว้กันเหนียว

เรากลับออกมายืนที่สะพานข้ามซะตึงห้วยใส ผมไม่มั่นใจนักว่า สิ่งที่คิดอยู่ในใจจะเป็นเรื่องเพ้อฝันหรือไม่

ประวัติศาสตร์ของมนุษย์มักเล่าเรื่องราวการต่อสู้ชิงอำนาจ คนที่เชื่อเช่นนั้น มักสร้างมายาคติในเรื่องการจงเกลียดจงชัง ไม่ไว้วางใจกัน ข่มเหงกัน เขมรมาจากเผ่าพันธุ์โบราณกลุ่มหนึ่งที่กรุยทางให้เผ่าพันธุ์รุ่นหลังมีชีวิตอยู่ อาณาจักรล่มสลาย แผ่นดินลุกเป็นไฟ ผู้นำผลัดกันชิงอำนาจ แต่คนปลูกข้าว คนหาปลาแห่งกัมปูเจียยัง “ด้นดั้น”กับชีวิตไม่ร้างรา

พรชัย บัวคำศรี (2486-2564)

ด้วยน้ำมือแห่งระยะทาง เราห่างออกไปจากซะตึงห้วยใสและหมู่บ้านมะพร้าว ไกลลิบจนผมเหลียวกลับไปไม่เห็น หมู่บ้านเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่บนพรมแดนไม่มีอะไรให้ระลึกถึง ผมภาวนาให้พวกเขามีรอยยิ้มและอยู่กันอย่างสันติสุข

เสียงตึงตังยังคงแว่วมาจากฟากฟ้าตะวันออก เป็นบทเพลงแห่งสงครามไม่รู้จบ

ธารา บัวคำศรี เขียนไว้เมื่อปี 2535