หลัก 4 ประการของการผลิตที่สะอาด

หลักการระวังไว้ก่อน (The Precautionary Principle)

เมื่อปี พ.ศ. 2541 แถลงการณ์วิงสเปรด (Wingspread Statement) ในเรื่องหลักการระวังไว้ก่อนได้ให้นิยามหลักการนี้ว่า “ในการทำกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้น ควรนำมาตรการระวังไว้ก่อนมาใช้ แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุและผลกระทบอาจยังพิสูจน์ไม่ได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์”  ภายใต้หลักการนี้ความรับผิดชอบจึงตกอยู่กับผู้ประกอบการที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า วิธีประกอบการของตนปลอดภัยที่สุด แทนที่ผู้ได้รับผลกระทบหรืออาจได้รับผลกระทบจะต้องเป็นผู้พิสูจน์ว่าการประกอบกิจกรรมนั้นๆ ก่อให้เกิดอันตรายแก่ตน

หลักการป้องกัน (The Preventive Principle)

การป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวิธีที่ถูกกว่าและมีประสิทธิภาพกว่าความพยายามจัดการหรือ “ฟื้นฟู” ความเสียหายนั้น  การป้องกันทำได้ก็โดยการตรวจสอบทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาของวัตถุดิบไปจนถึงการกำจัดเมื่อเลิกใช้  หลักการป้องกันกระตุ้นให้เกิดการหาทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดขึ้น ตัวอย่างเช่น การป้องกันต้องประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงทั้งตัวผลิตภัณฑ์และกระบวนการการผลิต – โดยการออกแบบผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษจากวัสดุที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้อย่างปลอดภัย หรือย่อยสลายได้ – เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างขยะซึ่งจะถูกทำลายโดยการเผา

หลักการประชาธิปไตย (The Democratic Principle)

การผลิตที่สะอาดเกี่ยวข้องกับทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางอุตสาหกรรมซึ่งได้แก่ คนงาน ผู้บริโภค และชุมชน การเข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทั้งในส่วนพลังงานและทรัพยากร  แสดงให้เห็นถึงกระบวนควบคุมที่เป็นประชาธิปไตย การผลิตที่สะอาดจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อคนงานและผู้บริโภคมีส่วนร่วมในสายการผลิตอย่างแท้จริง

หลักการแบบองค์รวม (The Holistic Principle)

สังคมต้องยอมรับแนวทางแบบบูรณาการในการใช้ทรัพยากรและการบริโภค เราต้องการการคิดอย่างเป็นระบบ เราต้องเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุ พลังงาน และผู้คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าทุกชิ้นที่เราซื้อ การเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้จะเอื้อให้เกิดการสร้างพันธมิตรเพื่อการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนขึ้นได้ เราต้องใช้แนวคิดแบบองค์รวม ดังนั้นเราจะไม่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาจากการแก้ปัญหาเก่า (เช่น ลดการใช้ยาฆ่าแมลงด้วยการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม) หรือนำความเสี่ยงจากคนกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่มหนึ่ง