สารเคมีทั้งหลายที่เราได้รับเข้าสู่ร่างกายโดยผ่านมาทางอากาศ น้ำและอาหารนั้น องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ(USEPA) รวมถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้กำหนดปริมาณ “ที่ปลอดภัย” ให้ประชาชนทั่วไปเอาไว้ใช้เป็นแนวทาง กระนั้นก็ยังเป็นการยากที่จะแปลงหน่วยไมโครกรัมและจำนวนส่วนในล้านส่วน ให้เข้าใจง่ายและใช้การได้ในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น จะตัดสินใจได้อย่างไรว่า แต่ละครั้งที่เรากินแซนด์วิชปลาทูน่า จะได้รับสารปรอทเข้าสู่ร่างกายมากเพียงไร
มีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับค่าเทียบเท่ากับข้อเท็จจริงในรูปย่นย่ออยู่บ้าง ที่ช่วยในการคำนวณ เพื่อจะได้ระบุบอกได้ว่า ร่างกายของเรารับสารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งเข้าไปมากเพียงไร
ขั้นตอนแรกในการระบุปริมาณ คือการเปลี่ยนหน่วยต่างๆ ให้อยู่ในหน่วยเดียวกัน ตัวเลขที่ใช้กันในสหรัฐอเมริกานั้น มักจะบอกน้ำหนักตัวคนในหน่วยปอนด์ และปริมาณอาหารที่กินในหน่วยออนซ์ ทว่าความเข้มข้นของสารเคมีต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อม และปริมาณสารเคมี ที่รับเข้าสู่ร่างกายนั้น ปกติแล้ว จะคำนวณโดยใช้หน่วยเมตริก (กรัม, กิโลกรัม) ขอให้สังเกตค่าเปรียบเทียบดังต่อไปนี้
- 1 กิโลกรัม (ใช้ตัวย่อว่า “กก.”) = 2.2 ปอนด์
- 1 ปอนด์ = 16 ออนซ์ = 454 กรัม
- 1 ออนซ์ = 28 กรัม (ใช้ตัวย่อว่า “ก.”)
เนื่องจากเรามักกังวลกับการได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่น้อยมาก การรู้ถึงหน่วยวัดน้ำหนักที่แบ่งย่อยจากระดับกรัม ออกเป็นหน่วยเล็กจิ๋ว จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์
- มิลลิกรัม (“มก.”) = 1/1000 ก. (หนึ่งในพันของหนึ่งกรัม)
- ไมโครกรัม (“มคก.”) = 1/1,000,000 ก. (หนึ่งในล้านของหนึ่งกรัม)
- นาโนกรัม (“นก.”) = 1/1,000,000,000 (หนึ่งในพันล้าน)
- ไพโคกรัม (“พก.”) = 1/1,000,000,000,000 (หนึ่งในล้านล้าน)
ตัวอย่างเช่น หนึ่งกรัม มีค่าเท่ากับ 1,000 มิลลิกรัม หรือ 1 ล้านไมโครกรัม
โดยทั่วไปแล้ว สารเคมีที่เรารับเข้าสู่ร่างกาย ล้วนอยู่ในอีกสื่อหนึ่งซึ่งจะเป็นตัวกลางส่งทอดมายังเราอีกทีหนึ่ง เป็นต้นว่าอากาศ น้ำ หรืออาหาร การจะคำนวณปริมาณการรับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย เราจะต้องคำนวณความเข้มข้นเสียก่อน นั่นก็คือปริมาณที่สารเคมีชนิดนั้น มีบรรจุอยู่ในน้ำที่เราดื่ม หรือในอาหารที่เรากิน เป็นต้นว่า ถ้าหากว่า ปลา 1 กรัม เฉลี่ยแล้ว มีสารปรอทบรรจุอยู่ 1 ไมโครกรัม (มคก.) เราก็จะบอกความเข้มข้นนี้ออกมาว่า เท่ากับหนึ่งไมโครกรัมต่อหนึ่งกรัม หรือ 1 มคก./ก. เนื่องจาก 1 กรัม มีค่าเท่ากับ 1 ล้านไมโครกรัม เราจึงสามารถระบุบอกความเข้มข้นนี้ได้อีกแบบหนึ่ง คือ มีสารปรอทอยู่ 1 ส่วน ต่อ 1 ล้านส่วน หรือ 1 พีพีเอ็ม. (ppm. ซึ่งย่อมาจาก part per million) ตารางต่อไปนี้ ประมวลค่าที่เท่ากันมาแสดงไว้ให้เห็น
- ก./กก. = มก./ก. = จำนวนส่วนที่มีอยู่ในหนึ่งพันส่วน หรือ หนึ่งในพันส่วน (parts per thousnad) นั่นคือค่า “ppt” (1/1000)
- มก./กก = มคก./ก. = หนึ่งในล้านส่วน หรือ = “ppm” (1/1,000,000)
- ไมโครกรัม/กก. = นก./ก. = หนึ่งในพันล้านส่วน (parts per billion) หรือ = “ppb” (1/1,000,000,000)
- นก./กก. = พก./ก. = หนึ่งในล้านล้านส่วน (parts per trillion) หรือ = “ppt”(1/1,000,000,000,000)
ในเมื่อเราระบุปริมาณความเข้มข้นของสารปรอทที่มีอยู่ในปลาทูน่าเอาไว้แล้ว เราจึงสามารถระบุได้ว่า คนๆ หนึ่ง จะรับสารปรอทเข้าสู่ร่างกายเท่าไร เมื่อรับประทานปลาทูน่า ด้วยการคำนวณระดับเบื้องต้น เราก็สามารถคิดสะระตะออกมาได้ว่า ในกรณีที่ระดับสารปรอทในปลาทูน่า เฉลี่ยแล้ว มีปริมาณความเข้มข้นเท่ากับ 0.2 ส่วนในล้านส่วน สตรีที่บริโภคปลาทูน่าสัปดาห์ละ 7 ออนซ์ จะได้รับสารปรอทเข้าสู่ร่างกายเท่าไร (สมมุติว่าสตรีผู้นี้ไม่ได้กินปูปลากุ้งหอยชนิดอื่นๆ หรือได้รับสารปรอทจากแหล่งอื่นเข้าสู่ร่างกาย)
- ขั้นแรก เราแปลงจากมาตราที่มีหน่วยเป็นออนซ์ ให้เป็นหน่วยเมตริก นั่นคือ ปลา 7 ออนซ์ = ปลา 196 กรัม
- จากนั้น เราก็นำเอาปริมาณปลาที่บริโภคต่อสัปดาห์ มาคูณเข้ากับปริมาณความเข้มข้นของสารปรอทในปลา เพื่อจะได้รู้ว่า ร่างกายได้รับสารปรอทเข้าสู่ร่างกายสัปดาห์ละเท่าไร
ปลา 196 กรัม/สัปดาห์ X ปรอท 0.2 ไมโครกรัม/กรัม = ปรอท 39.2 ไมโครกรัม/สัปดาห์
- คิดเป็นสารปรอทปริมาณเท่าไรต่อวัน
- หารด้วย 7 เนื่องจากหนึ่งสัปดาห์มี 7 วัน นั่นคือ
- ปรอท 39.2 ไมโครกรัม/สัปดาห์ = ปรอท 5.6 ไมโครกรัม/วัน นั่นคือปริมาณสารปรอทที่ได้รับในวันหนึ่ง ๆ
ปกติแล้ว เราจะปรับค่าปริมาณที่ได้รับนี้ ให้อยู่ในมาตรฐาน ด้วยการเอาน้ำหนักตัวมาหารค่าปริมาณทั้งหมด การใช้หลักปริมาณที่ได้รับ “ต่อหนึ่งกิโลกรัม” ทำให้เราสามารถเปรียบเทียบปริมาณที่บุคคลที่มีขนาดตัวต่างกันได้รับ ถ้าหากว่าเราสมมุติว่า สตรีคนที่รับประทานแซนด์วิชนั้นเป็นผู้มีน้ำหนักตัวตามค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป (คือ 132 ปอนด์ หรือ 60 กก.) เราก็จะเอา 60 กิโลกรัม มาหารค่าปริมาณสารปรอทที่รับเข้าสู่ร่างกายทั้งหมด ซึ่งจะได้เท่ากับ
- สารปรอท 5.6 ไมโครกรัมต่อวัน / 60 กก. = 0.093 ไมโครกรัม/กก.
เท่ากับเราคำนวณออกมาได้แล้วว่า ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัว 132 ปอนด์ (60 กก.) ซึ่งกินปลาทูน่า 7 ออนซ์ (196 กรัม) ต่อสัปดาห์ ได้รับสารปรอทเข้าสู่ร่างกายเท่ากับ 0.093ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน (0.093 มคก./กก./วัน)
ระดับการได้รับสารปรอทเท่านี้ อยู่ตรงขีดที่ USEPA กำหนดไว้ว่า “ปลอดภัย” นั่นคือไม่เกิน 0.1 ไมโครกรัม/กก./วัน
การคำนวณนี้ ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า สตรีคนนั้นหนัก 132 ปอนด์
แต่ปริมาณการได้รับสารปรอทเข้าสู่ร่างกาย จะมีค่าเท่าไร ถ้าหากว่าเด็กหนัก 50 ปอนด์บริโภคปลาทูน่าในปริมาณที่เท่ากันตลอดระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์?
เด็กคนนี้จะได้รับสารปรอทเข้าสู่ร่างกายประมาณ 0.243 ไมโครกรัม/กก./วัน