จุดสูงสุดทั้งเจ็ดคือยอดเขาที่สูงที่สุดในแต่ละภาคพื้นทวีปของโลก แต่มีข้อถกเถียงว่าจะรวมเอานิวซีแลนด์และโอเชียเนีย(ซึ่งรวมถึงหมู่เกาะแปซิฟิกและหมู่เกาะอินโดนีเซีย) กับออสเตรเลียด้วยหรือไม่ หากมองว่าโอเชียเนียเป็นส่วนหนึ่งของทวีปออสเตรเลียแล้ว ยอดที่สูงที่สุดก็คือ”ปุนจักจายา(Puncak Jaya ออกเสียง ˈpʊntʃak ˈdʒaja)” หรือมักเรียกกันว่า ยอดเขาคาร์สเทนซ์ (Carstensz)  ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของเกาะนิวกินี ในเขตประเทศอินโดนีเซีย

ยอดเขาคาร์สเทนซ์ (Carstensz)  ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของเกาะนิวกินี ในเขตประเทศอินโดนีเซีย
ยอดเขาคาร์สเทนซ์ (Carstensz)
ปุนจักจายา

“ปุนจักจายา” มีความสูง 4,884 เมตร (16,024 ฟุต) สูงกว่ายอดเขาคอสซิอุสโก (Mt. Kosciuszko) ของออสเตรเลียและยอดเขาคุกหรืออาวโรกิ (Aoraki/Mt. Cook) ของนิวซีแลนด์ “ปุนปักจายา” เป็นยอดสูงสุดใจกลางเทือกเขาเปกุนนันกัน มาโอเก(Pegunungan Maoke) อันยาวเหยียดกว่า 2,500 กิโลเมตร ตอนกลางของนิวกินี

ชื่อเรียกคาร์สเทนซ์ (Carstensz) มาจากนักสำรวจชาวดัชท์ชื่อ ยาน คาร์สเทนซ์ (Jan Carstenz) ซึ่งทำการสำรวจเป็นคนแรกจากชายฝั่งของเกาะในปี ค.ศ.1623 ในวันที่ท้องฟ้าปลอดโปร่งที่น้อยครั้งจะเกิดขึ้น จนกระทั่งเมื่ออินโดนีเซียได้รับอิสรภาพจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ปุนจักจายา” หมายถึงยอดเขาแห่งชัยชนะ

การปีนเขาที่บันทึกไว้ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1962 นำทีมโดยนักปีนเขาชางออสเตรเลียชื่อไฮนริช ฮารเรอร์ (ตัวละครในภาพยนตร์ Seven Years in Tibet) นับแต่นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสนใจต่อแนวคิดเรื่องยอดสูงสุดเจ็ดแห่ง(the Seven Summits concept) ก็มีการปีนยอดเขาปุนจักจายาหลายครั้ง

ความยากของการปีนยอดเขานี้อยู่ในระดับปานกลางหากเป็นเส้นทางขึ้นสู่ด้านทิศเหนือและตามแนวสันเขา ซึ่งทั้งหมดเป็นพื้นหินแข็ง พื้นที่แถบนี้เข้าถึงได้ยากมาก ต้องอาศัยการเดินเท้า 100 กิโลเมตร จากเมือง Timika เมืองที่ใกล้ที่สุดที่มีสนามบิน เพื่อไปยังเบสแคมป์ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาราว 4 ถึง 5 วัน

พื้นที่แถบนี้ยังคงมีกองกำลังปฏิวัติที่ต่อสู็กับรัฐบาลกลางของอินโดนีเซียเพื่อปลดแอกจังหวัดปาปัวนิวกินี โดยมีเหมืองทองแดงฟรีพอร์ท (Freeport Copper Mine) ที่เทมบากาปุรา(Tembagapura) เป็นจุดปะทะ กองกำลังปฏิวัตินี้เห็นว่าเหมืองแร่เป็นทั้งสัญลักษณ์ของจักรวรรดินิยมและแหล่งกำเนิดของมลพิษ ดังนั้น การปีนยอดเขาจะต้องได้รับใบอนุญาตเข้าพื้นที่จากรัฐบาลกลาง อย่างไรก็ตาม ชุมชนท้องถิ่นในแถบนี้ต่างก็มีไมตรีต่อผู้มาเยือน

ในขณะที่ยอดบนสุดของปุนปักจายาไม่มีธารน้ำแข็ง แต่บริเวณเขตสูงชันของยอดเขานั้นมีธารน้ำแข็งอยู่หลายแห่ง เช่น ธารนำ้แข็ง(Carstensz Glacier) ธารนำ้แข็งเมเรน(Meren Glacier) ผนังเฟิร์นด้านเหนือ(Northwall Firn) หรือบางทีเรียกว่าธารน้ำแข็งลอยฟ้า (hanging glaciers) การที่ในเขตเส้นศูนย์สูตร ความแตกต่างของอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่างปีไม่ค่อยมีมากนัก(ประมาณ 0.5°C และธารน้ำแข็งนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามฤดูกาลเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ขอบเขตของธารน้ำแข็งในแถบศูนย์สูตรที่หายากเหล่านี้จากบันทึกในอดีตนั้นแสดงให้เห็นถึงการหดตัวลงของธารน้ำแข็งอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ทศวรรษ 1850 การหดตัวลงนี้ระบุถึงการเกิดความร้อนในระดับท้องถิ่นโดยมีค่าเฉลี่ยราว 0.6 องศาเซลเซียสต่อศตวรรษระหว่างปี ค.ศ. 1850 และ 1972 ธารนำ้แข็งบนยอด “ปันจักตรีโครา(Puncak Trikora)” ในเทือกเขาเปกุนนันกัน มาโอเก นั้นได้สูญไปอย่างสิ้นเชิงระหว่างปี ค.ศ. 1939 และ 1962

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970s มีการติดตามตรวจสอบขอบเขตของธารน้ำแข็งโดยดาวเทียม ส่วนใหญ่เป็นดาวเทียมแลนแซท เนื่องจากการสำรวจภาคพื้นดินนั้นเป็นเรื่องท้าทายมาก การสำรวจด้วยดาวเทียมเองนั้น กว่าจะได้ภาพมาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน ดังเช่นภาพข้างต้นที่ถ่ายในช่วงที่ปลอดเมฆ

ภาพถ่ายดาวเทียมนี้ถ่ายโดยดาวเทียมแลนแซทในวันที่ 29 พฤษภาคม 2003 หิมะและน้ำแข็งในภาพจะปรากฎเป็นสีฟ้า ส่วนเมฆจะเป็นสีขาว พื้นผิวที่ไม่มีพืชพรรณปกคลุมเช่นแนวเขาหินปูนจะปรากฎเป็นสีแดงหรือชมพู ส่วนสีม่วงเข้มหรือเทาคืพื้นที่เหมืองทองแดงแบบเปิดหน้าดิน ส่วนพื้นที่ป่าเขตร้อนและทีลุ่มต่ำปรากฎเป็นสีเขียว ในภาพยังปรากฎให้เห็นน้ำที่ไหลบนพื้นผิวลงสู่แม่น้ำทางด้านใต้ของเหมืองทองแดงซึ่งปรากฎเป็นสีม่วงเข้ม ส่วนใหญ่คือเศษหินและดินที่ถูกชะล้างจากการทำเหมือง