การที่ไม้ถูกนำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับทำกระดาษ ก่อให้เกิดปัญหาที่เฉพาะเจาะจงขึ้น ลิกนิน (lignin) ซึ่งมีหน้าที่เสริมเซลลูโลสในลำต้นให้แข็งแรงนั้นเป็นยางไม้เหนียวทนทาน โดยทั่วไปเนื้อไม้ประกอบด้วยเซลลูโลสร้อยละ 50 ลิกนินร้อยละ 30 และอีกร้อยละ 20 เป็นสารประกอบอื่นๆ เช่น น้ำมันหอมระเหย และคาร์โบไฮเดรตกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม เฮมิเซลลูโลส (Hemicellulose)
ในการทำกระดาษ เซลลูโลสจะถูกแยกจากส่วนประกอบอื่นๆ ของเนื้อไม้เพื่อนำมาผลิตเป็นเยื่อกระดาษ แล้วนำมาใช้ทำกระดาษต่อไป “การทำเยื่อ” นี้สามารถทำด้วยกรรมวิธีทางเคมีโดยต้มเนื้อไม้กับสารเคมี หรือด้วยกรรมวิธีเชิงกลโดยการสับบดเนื้อไม้ กระบวนการทำเยื่อแต่ละวิธีเหมาะสำหรับต้นไม้แต่ละชนิด เพราะต้นไม้ต่างชนิดกันนั้นจะมีลักษณะเฉพาะของเนื้อไม้ที่แตกต่างกัน
ต้นไม้สามารถจำแนกได้เป็นสองกลุ่ม คือ ไม้เนื้อแข็ง และ ไม้เนื้ออ่อน ไม้เนื้อแข็งเป็นไม้ผลัดใบ เช่น เมเปิ้ล (Maple) เบิร์ช (Birch) บีช (Beech) และยูคาลิปตัส (Eucalypt) ต้นไม้เหล่านี้ให้เส้นใยเซลลูโลสที่สั้น (ยาวประมาณ 1 ถึง 2 มิลลิเมตร) ไม้เนื้ออ่อนเป็นต้นไม้จำพวกสน (Conifer) เช่น สน (Pine) สพรูซ ( Spruce) และเฟอร์ (Fir) ต้นไม้เหล่านี้ให้เส้นใยที่ยาวกว่า (ยาว 3 ถึง 5 มิลลิเมตร) จึงให้เยื่อกระดาษที่แข็งแรงกว่า ไม้เนื้อแข็งมีสัดส่วนเส้นใยเซลลูโลสสูงกว่า ในขณะที่ส่วนไม้เนื้ออ่อนมียางไม้มากกว่า