ผลกระทบของพีวีซีต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมประการสำคัญคือการที่นำไปเผา

ชีวิตสมัยใหม่ปัจจุบัน มีการใช้พลาสติกพีวีซีอย่างกว้างขวางนับแต่พื้นบ้าน ผนังห้อง ม่านห้องน้ำ กรอบหน้าต่าง หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นฉนวนสายเคเบิลและสายไฟ ไม่รวมกับผลิตภัณฑ์พีวีซีที่เรายากจะแยกได้อีกไม่มากมาย

หากมีการเผาวัสดุเหล่านี้ ควันกรดที่ฉุนและสารประกอบอินทรีย์คลอรีนอย่างไดออกซินจะถูกปล่อยออกมา

ควันที่ออกมาจะมีไฮโดรเจนคลอไรด์ซึ่งมีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ หากเข้าไปรวมกับความชื้นหรือน้ำ เช่น ในปอดก็จะเกิดเป็นกรดไฮโดรคลอริกซึ่งสามารถทำลายเนื้อเยื่อมนุษย์เช่นเดียวกับสร้างความเสียหายให้กับวัสดุต่างๆ

แต่ไม่ใช่ว่าต้องเผาเท่านั้นถึงจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้ ในความเป็นจริงอัคคีภัยที่ร้ายแรงอาจไม่ใช่การเผาผลาญโดยตรงแต่เป็นเพลิงที่คุ ทำให้ผลิตภัณฑ์พีวีซีถูกทำลายและอาจทำให้บาดเจ็บหรือถึงตายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับคำกล่าวอ้างของอุตสาหกรรมพีวีซีที่ว่า

“เมื่อพีวีซีถูกเผา จริงอยู่ว่ามันจะปล่อยสารไฮโดรคลอไรด์ออกมา แต่ในความเข้มข้นที่ต่ำมากห่างไกลจากระดับที่จะเป็นอันตรายอย่างเฉียบพลัน”

ก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์ที่ออกมาจากพลาสติกพีวีซีที่ไหม้ไฟจะทำปฏิกิริยากับสารเติมแต่ง ตัวอื่น ๆ เกิดเป็นก๊าซที่มีพิษรุนแรงปริมาณมาก โลหะหนักในพีวีซีจะถูกปล่อยออกมาซึ่งจะเป็นพิษมากหากสาร Stabilisers ตัวนั้นเป็นสารแคดเมียม

เหตุการณ์เพลิงไหม้ใน Bevery Hills Supper Club นับเป็นกรณีตัวอย่างที่มีการบันทึกไว้ที่สามารถยืนยันถึงอันตรายจากอัคคีภัยที่เกี่ยวข้องกับพีวีซีได้เป็นอย่างดี เหตุเพลิงไหม้ครั้งนั้น สายไฟที่ทำจากพลาสติกพีวีซีหลอมตัวเป็นกลุ่มควันสีขาวเทาและเปลวไฟที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น พนักงานที่ศูนย์นันทนาการเล่าว่าควันดังกล่าวทำให้เล็บเธอลอก หลังจากนั้นทุกส่วนของร่างกายเธอสัมผัสกับควันก็ปวดร้อนและผิวหนังเธอก็เป็นแผลไหม้ระดับสอง ทางการแพทย์เรียกว่า second-degree burns

กว่าที่เปลวไฟจะมากพอที่จะมองเห็น ก็เป็นจังหวะที่สัญญาณดับเพลิงดังลั่น ทุกอย่างก็สายเกินไป ผู้คนกรูกันออกไปจากบริเวณนั้นอย่างไม่คิดชีวิต แต่คนโชคร้ายที่สัมผัสกับควันดังกล่าวก็มีอันหมดสติล้มกองกับพื้นตาม ๆ กัน

หลังเหตุเพลิงไหม้มีผู้เคราะห์ร้าย 161 รายเสียชีวิตโดยไม่ได้ถูกเปลวเพลิงแม้สักนิด พวกเขาตายก่อนที่ไม้โครงสร้างตึกจะไหม้ และก่อนที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเพลิงจะมากพอที่จะเป็นอันตรายแก่พวกเขา ในบรรดาผู้บาดเจ็บสาหัสมีอีก 4 รายที่เสียชีวิตหลังจากนั้น ไม่นับกับผู้รอดชีวิตอีกจำนวนมากที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการสาหัสของโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เป็นที่แน่ชัดว่าพีวีซีคือสาเหตุโดยตรงของการตายและบาดเจ็บทั้งหมด

ต่อให้ไม่มีคนอาศัยอยู่ในตึกดังกล่าวขณะเพลิงไหม้ ความเสียหายต่อตัวอาคารก็จะรุนแรงมากเมื่อเทียบกับกรณีอัคคีภัยเดียวกันแต่ไม่มีชิ้นส่วนของพีวีซีในเพลิง โดยเฉพาะชิ้นส่วนนั้นเป็นอุปกรณ์สวิทซ์ไฟฟ้ายกเครื่องปรับปรุงกันใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องทำหากไม่มีอุปกรณ์พีวีซี

ด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้มีการห้ามใช้พีวีซีในโรงพยาบาล โรงเรียน หอโทรคมนาคม ธนาคาร โรงไฟฟ้าและอาคารกองทัพจำนวนมาก

ในบางกรณีการใช้และการกำจัดพีวีซีมีส่วนทำให้เกิดสารพิษรุนแรงกลุ่ม PCDDs และ PCDFs (Polychlorinated-dibenzodioxins and furans) ขึ้นมา แม้ว่าบรรดาอุตสหากรรมพีวีซีจะพยายามออกมาปฏิเสธิ แต่การศึกษาล่าสุดได้ยืนยันว่าการเผาพีวีซีจะปล่อยสารพิษสองตัวนี้ออกมาจริง

กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสิ่งแวดล้อมเยอรมันได้กล่าวว่า “เนื่องจากพลาสติกที่สารกลุ่มฮาโลเจนผสม โดยเฉพาะพีวีซีและพลาสติกที่ผสมโบรไมด์เพื่อคุณสมบัติต้านเปลวไฟ จะปล่อยสารพิษไดออกซินออกมาหากถูกไฟไหม้ ซึ่งทางปฏิบัติเกิดได้ในกระบวนการกำจัดหรือนำพลาสติกเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ ดังนั้นเราจึงขอแนะนำให้บริเวณที่ไวต่อไฟไหม้หลีกเลี่ยงในการใช้พลาสติกประเภทนี้ ในนามของสองหน่วยงาน เราขอให้มีการห้ามการใช้พลาสติกที่มีส่วนผสมของคลอรีนและโปรไมด์ในอุปกรณ์ที่ไวต่อไฟไหม้ ในอุตสาหกรรมผลิตชิปบอร์ด และขอให้มีการติดฉลากพลาสติกที่มีคลอรีนผสม หากเป็นไปได้ขอให้ห้ามใช้พีวีซีผลิตบรรจุภัณฑ์”

แต่ทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าบริเวณไหนที่เข้าข่ายเป็นบริเวณ “ไวต่อไฟไหม้” ยังคงเป็นคำถามสำคัญ ในกรณีของเหตุเพลิงไหม้ภายในอาคารจำนวนมากที่เกิดขึ้น การห้ามดังกล่าวน่าจะเหมารวมถึงการใช้อุปกรณ์ที่มีชิ้นส่วนที่ทำมาจากพีวีซีทั้งหมดที่ใช้ภายในอาคาร

กระทรวงสาธารณสุขเยอรมันได้ออกข้อแนะนำอย่างเป็นทางการให้บริษัทที่รับกำจัดเก็บกวาดเศษเถ้าถ่านหลังเหตุเพลิงไหม้ ต้องดำเนินการเก็บกวาดเถ้าไม่ให้เหลือเลย หากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวเกิดในสถานที่ซึ่งมีการใช้อุปกรณ์ที่ทำจากพีวีซีแม้เพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพที่จะเกิดขึ้นได้อันเนื่องมาจากสารพิษไดออกซินและฟูราน ที่อาจเกิดจากเหตุอัคคีภัยดังกล่าว ข้อแนะนำนี้ประกาศใช้กับแฟลต โรงเรียน สำนักงานและร้านค้า

แม้กระทั่งผู้ผลิตพีวีซียักษ์ใหญ่แห่งยุโรปอย่าง Norsk Hydro ก็ออกมายอมรับว่าในงานที่ต้องเสียงกับอัคคีภัยสูงอย่างงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันหรือการติดตั้งนิวเคลียร์ ควรใช้วัสดุฉนวนคุณภาพสูงที่อาจจะราคาแพงกว่าพีวีซี

เนื่องจากคุณสมบัติการโหมความรุนแรงของอัคคีภัยและการปล่อยสารพิษไดออกซินออกมา หากเกิดไฟไหม้เฟอร์นิเจอร์หรือสายเคเบิลที่ทำจากพีวีซี ทำให้เมือง Bielefeld ในเยอรมันตัดสินใจที่จะประกาศห้ามใช้พีวีซีในตึก ในปี2530 จากนั้นก็มีผลการศึกษาระบุให้มีการใช้วัสดุอื่นทดแทนพีวีซี  เนื่องจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เกินจะรับได้จากการกำจัดพีวีซีในเตาเผาขยะ