ธารา บัวคำศรี เรียบเรียงจาก Seeing Forests for the Trees and the Carbon: Mapping the World’s Forests in Three Dimensions (By Michael Carlowicz, Design by Robert Simmon -January 9, 2012)

ป่าไม้ให้ความชื้น ความร่มเย็นและเต็มอ็อกซิเจน ต้นไม้ช่วยกันลมและกันแดด เป็นที่อยู่อาศัยของสรรพชีวิต หยั่งรากลงบนผืนดิน ดูดซับและชะลอการไหลของน้ำ

ป่าไม้เป็นแหล่งอาหาร ยารักษาโรค เชื้อเพลิงและวัสดุก่อสร้างที่มนุษย์นำมาใช้ในการดำรงชีวิต ป่าไม้ยังช่วยคงสมดุลของวัฐจักรคาร์บอน

นักวิทยาศาสตร์ประมาณว่ามนุษย์เราช่วยกันปล่อยคาร์บอนราว 9 พันล้านตัน (ส่วนใหญ่เป็นคาร์บอนไดออกไซด์) ในแต่ละปีจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน คาร์บอนไดออกไซด์ราว 4 พันล้านตัน เข้าไปสะสมในชั้นบรรยากาศและราว 2 ล้านตันถูกดูดซับโดยมหาสมุทร และอีก 3 พันล้านตัน เข้าไปในระบบนิเวศภาคพื้นดิน แต่แหล่งดูดซับคาร์บอน (sinks) อยู่ ณ บริเวณใดบ้างนั้นยังคงเป็นคำถามใหญ่

ป่าไม้ถือเป็นแหล่งสะสมคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดแหล่งหนึ่งในโลกและปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศผ่านกระบวนการทางธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ พื้นที่ป่าไม้ครอบคลุมผิวโลกภาคพื้นดินอยู่ในราวร้อยละ 30 ในขณะที่มีผลิตภาพของพรรณพืช (plant productivity) คิดเป็นร้อยละ 50 คาร์บอนที่กักเก็บในผืนดินกว่าร้อยละ 45 นั้นเกี่ยวข้องกับผืนป่า

ในอดีต ป่าไม้เก็บคาร์บอนไว้มากหรือน้อยกว่า? ป่าไม้สามารถเก็บสะสมคาร์บอนมากขึ้นในอนาคตหรือไม่? เหล่านักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่รู้คำตอบจริงๆ ในเรื่องนี้ สิ่งที่พวกเขารู้ก็คือกิจกรรมของมนุษย์ช่วยทำให้มีการปล่อยคาร์บอนจากแหล่งสะสมที่เสถียรและมีระยะยาว เช่น หิน การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและป่าดงดิบเขาดึกดำบรรพ์ เป็นต้น นำไปสู่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรงในระยะสั้น

ตัวอย่างเช่น เมื่อเราตัดไม้ทำลายป่า เราตัดเอาไม้ใหญ่ที่สามารถเก็บสะสมคาร์บอนในต้น กิ่งก้านสาขามาเป็นนับร้อยๆ ปี เมื่อเราแทนต้นไม้ที่ตัดออกด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจหรือเปลี่ยนเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ซึ่งสะสมคาร์บอนน้อยกว่าในระยะสั้น

80 ปีหลังจากต้นไม่ในผืนป่าแห่งบริติชโคลัมเบียถูกโค่นลงครั้งแรก ไม้ต้นดังกล่าวก็ยังไม่อาจฟื้นคืนกลับเป็นต้นไม้ที่ยิ่งใหญ่ต้นเดิม (Photograph ©2007 Aviruthia.)

สตีฟ รันนิ่ง นักนิเวศวิทยาป่าไม้ที่มหาวิทยาลัยมอนตานากล่าวว่า “แหล่งสะสมทางธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของคาร์บอนในภาคพื้นดินอยู่ในป่าไม้และต้นไม้ของเรา และแหล่งคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นดินก็คือผืนป่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราสามารถเข้าใจว่าเรามีปริมาณคาร์บอนอยู่เท่าใด(carbon budget) ก็โดยการสำรวจเก็บข้อมูลคาร์บอนที่มีอยู่ในต้นไม้และป่าไม้ของเรา”

การวัดคาร์บอนนั้นดูจาก “ชีวมวล” ซึ่งเป็นมวลรวมของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง  หลักการง่าย ๆ ทั่วไปของนักนิเวศวิทยาคือ ปริมาณคาร์บอนที่สะสมในต้นไม้จะเท่ากับครึ่งหนึ่งของต้นไม้นั้นเมื่ออยู่ในสภาพแห้ง(dry biomass) ดังนั้น หากเรารู้คร่าวๆ ว่า “ชีวมวล” ของต้นไม้ทุกต้นในผืนป่าทุกผืนมีปริมาณเท่าใด เราก็จะพอประมาณถึงปริมาณคาร์บอนที่สะสมอยู่ผืนดิน

การทำการวัดชีวมวลของผืนป่าในปีหนึ่ง ๆ ทศวรรษหนึ่งๆ และศตวรรษหนึ่งๆ จะช่วยเราเข้าใจถึงการเคลื่ิอนย้ายของคาร์บอนบนโลก ต้นไม้จึงถูกนำมาใช้เป็นคำตอบให้กับปัญหาปริมาณคาร์บอนของเรา เป็นข้อถกเถียงทางเศรษฐศาสตร์ เช่น บางคนบอกว่า เราก็แก้ปัญหาโดยการทำให้ภูมิทัศน์เขียวขึ้น คำถามคือการปลูกต้นไม้จะช่วยหรือไม่? หรือเราควรจะตัดต้นไม้เพิ่มอีกเล็กน้อย?  มันสำคัญหรือไม่ว่าต้นไม้จะอยู่พื้นที่ไหนก็ได้? ขั้นแรกในการตอบคำถามเหล่านี้คือการค้นหาให้ได้ว่ามีคาร์บอนสะสมในอยู่ต้นไม้และป่าไม้ของเราเท่าใด