เรื่อง : ธารา บัวคำศรี

ในห้วงเวลาปัจจุบันที่มนุษย์เผชิญหน้ากับ “ความเร่งด่วนร้อนรน” ของวิกฤตที่เชื่อมต่อวันนี้กับพรุ่งนี้เข้าด้วยกันนั่นคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตราย ชะตากรรมของประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก(Small Island States) ได้ถูกอุปมาอุปไมยว่าเป็น “นกคีรีบูนในเหมืองถ่านหิน(Canaries in the Coal Mine)” อันเป็นสำนวนที่หมายถึง สัญญานเตือนภัยล่วงหน้าเล็กๆ น้อยๆ ก่อนเหตุใหญ่จะตามมา

สำนวนนี้มีที่มาจากในอดีตเมื่อคนงานเหมืองถ่านหินลงไปทำงานใต้ดินจะต้องหิ้วกรงที่มีนกคีรีบูนไปด้วยเพื่อใช้เป็นเครื่องเตือนภัย นกคีรีบูนนั้นอ่อนไหวอย่างยิ่งต่อก๊าซพิษ เช่น มีเทนหรือคาร์บอนมอนอกไซด์ซึ่งไม่มีกลิ่นไม่มีสี ถ้าก๊าซพิษในเหมืองสูงเกินระดับที่ปลอดภัย มันก็จะส่ายโงนเงนแล้วตกลงมาตาย

หมู่เกาะขนาดเล็กที่เป็นเกาะเล็กเกาะน้อยอันห่างไกลและกระจัดกระจายตามมหาสมุทรต่างๆ โดยธรรมชาตินั้นก็เสี่ยงต่อพิบัติภัยทางธรรมชาติอยู่แล้ว บางแห่งมีจุดสูงสุดเพียง 2-4 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หลายแห่งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกเช่น มัลดีฟส์ เป็นต้น ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติในพื้นที่ การเปิดรับเศรษฐกิจเสรี และกลไกดั้งเดิมในการรับมือกับพิบัติภัยที่สูญเสียไป ทำให้ประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กมีความล่อแหลมมากที่สุดต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของระบบภูมิอากาศโลก กว่า 20 ปีมาแล้ว นายมามูน อับดุล กายูม (Maumoon Abdul Gayyoom) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐมัลดีฟส์ ได้เตือนภัยเรื่องนี้กับผู้นำโลก การประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในเดือนตุลาคม ปี 2530 เขากล่าวว่า “สำหรับมัลดีฟส์ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเฉลี่ยอีก 2 เมตร จะทำให้ทั้งประเทศที่ประกอบด้วยเกาะเล็กเกาะน้อยจำนวน 1,190 เกาะ จมอยู่ใต้น้ำ นั่นจะเป็นความตายของชาติวาระเรื่องความล่อแหลมต่อผลกระทบจากภาวะโลกร้อนของรัฐที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็กบรรจุอยู่ในการประชุมสุดยอดสิ่งแวดล้อมที่ริโอ(2535) เรื่อยมาจนถึงการเจรจาโลกร้อนที่บาหลี(2550) แต่กลับไม่มีการลงมือปฏิบัติการที่ชัดเจน

หมู่เกาะปะการังคาเทอเร่ (Carteret) นอกชายฝั่งปาปัวนิวกินี เป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล(ซึ่งมาจากการขยายตัวของมหาสมุทรเนื่องจากความร้อนเป็นหลัก) ทำให้การกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงมากขึ้น คลื่นสูงกระทบฝั่งทำให้น้ำเค็มทะลักเข้าพื้นที่การเกษตร สร้างความเสียหายต่อผลผลิตกล้วยและมันสำปะหลัง อาหารเริ่มขาดแคลน ชาวเกาะต้องปะทังชีวิตด้วยปลาและมะพร้าว มีแผนการอพยพชาวหมู่เกาะนี้ไปยังเกาะโบเกนวิลล์(Bougainville) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของหมู่เกาะปะการังแถบนั้น แต่ล้มเหลวเพราะขาดการประสานงาน งบประมาณและพื้นที่รองรับ

ความสนใจเรื่องความล่อแหลมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขยายไปในพื้นที่ลุ่มชายฝั่ง(Low Elevation Coastal Zone-LECZ) การศึกษาโดยศูนย์เครือข่ายวิทยาศาสตร์ว่าด้วยโลก(Center for International Earth Science Information Network-CIESIN) นิยามที่ลุ่มชายฝั่งว่าเป็นพื้นที่ที่มีระดับความสูงไม่เกิน 10 เมตรและลึกเข้าไปจากชายฝั่งไม่เกิน 100 กิโลเมตร และนำเสนอว่า ทุกๆ10 คนบนโลก จะมี 1 คนที่อาศัยอยู่ในที่ลุ่มชายฝั่งซึ่งมีพื้นที่รวมกันเพียงร้อยละ 2.2 ของแผ่นดินบนโลก ประเทศยากจนและด้อยพัฒนามีสัดส่วนของประชากรที่อาศัยอยู่ในที่ลุ่มชายฝั่งสูงมาก ในขณะที่ประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กคือสัญญานเตือนภัย ล่วงหน้าถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อน ยังมีคนอีกนับล้านที่อาศัยอยู่ในที่ลุ่มต่ำในประเทศต่างๆ มีความล่อแหลมมากขึ้นจากความเกรี้ยวกราดของสภาพภูมิอากาศด้วย ดังกรณีพายุเฮอริเคนแคทรีน่าที่ถล่มเมืองนิว ออร์ลีนในปี 2548 แสดงให้เราเห็นว่าที่ลุ่มชายฝั่งมีความล่อแหลมเพียงใดแม้กระทั่งประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐอเมริกา

ในเอเชียใต้ซึ่งมีประชากรกว่า 130 ล้านคน อาศัยอยู่ในที่ลุ่มชายฝั่ง การศึกษาของกรีนพีซ อินเดียระบุว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มเป็น 4-5 องศาเซลเซียสภายในช่วงศตวรรษนี้ ตามการคาดการณ์แบบที่เป็นไปตามปกติ(Business as Usual) ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภูมิภาคเอเชียใต้จะต้องเจอกับคลื่นผู้ลี้ภัยจากภาวะโลกร้อนซึ่งรวมถึงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและภัยแล้งจากการขาดแคลนแหล่งน้ำและความแปรปรวนของมรสุม และประมาณว่าประชากร 125 ล้านคนประกอบด้วย 75 ล้านคนจากบังคลาเทศและที่เหลือจากที่ลุ่มชายฝั่งในอินเดียจะต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ภายในสิ้นศตวรรษนี้ คนจากบังคลาเทศส่วนใหญ่จะอพยพไปยังอินเดีย ผู้ลี้ภัยจำนวน 125 ล้านคนดังกล่าวนี้เทียบเป็น 375 เท่าของจำนวนคนที่ต้องมีการตั้งถิ่นฐานใหม่จากโครงการเขื่อนซาดาร์ ซาโวราที่สร้างกั้นแม่น้ำนาร์มาดาในอินเดีย !!!

ตลอดแนวชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 2,667 กิโลเมตร ของไทยเป็นที่ตั้งของเมือง ชุมชนและมีการใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ หากนำเกณฑ์ Low Elevation Coastal Zone มาพิจารณาแล้ว จะมีประชากรจำนวน 15.689 ล้านคน อยู่ในที่ลุ่มชายฝั่ง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของประชากรทั้งประเทศ ยังไม่มีการศึกษาที่ประเมินถึง “ผู้ลี้ภัย” ที่อาจจะเกิดขึ้นแบบเดียวกับกรณีของเอเชียใต้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับที่ลุ่มชายฝั่งของไทยไม่ว่าจะเป็นวิกฤตชายฝั่งที่เกิดการกัดเซาะไปกว่าร้อยละ 22อันเป็นสาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน(แผ่นดินทรุด การทำลายป่าชายเลน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ) นั้นเพียงพอที่เราควรตระหนักและหาทางป้องกัน ในกรณีของเอเชียใต้ ความรุนแรงของพายุโซโคลนที่ซัดเข้าฝั่งรัฐโอริสสาของอินเดีย เข้าถล่มบังคลาเทศ และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีของพม่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ น่าจะเป็น “นกคีรีบูนในเหมืองถ่านหิน” – สัญญานเตือนภัยล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุใหญ่ – ให้กับเราอีกทางหนึ่ง

มีข้อเสนอถึงกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจและการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแบบใหม่ในสถานการณ์ที่โลกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตราย และกรอบดังกล่าวเน้นถึงความจำเป็นในการประเมิน จัดลำดับความสำคัญและลดความเสี่ยงจากผลกระทบที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีแนวทางกว้างๆ คือ เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ(climate friendly) และป้องกันผลกระทบ(climate proof) สำหรับClimate friendlyอาจเรียกได้อีกอย่างว่า การลดผลกระทบ(Mitigation) คือปฏิบัติการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะขึ้นไปสะสมในชั้นบรรยากาศ ซึ่งทำได้ตั้งแต่ระดับปัจเจก (ปิดไฟ ใช้ถุงผ้า) ไปจนถึงระดับนโยบาย(ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและลดละเลิกพึ่งพาเชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์) ส่วน Climate proof นั้นเทียบเคียงกับแนวทางการปรับตัว (Adaptation) ซึ่งมิได้บอกว่า เราจะทนทานผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่หมายถึงความจำเป็นที่เราต้องพร้อมรับมือมากขึ้นและลดความเสี่ยงลง และถือให้เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศ และใช้เป็นเครื่องมือทดสอบการตัดสินใจและการดำเนินนโยบายต่างๆ ในทุกระดับ ว่าจะนำไปสู่การเพิ่มหรือลดความล่อแหลมจากหายนะภัยของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เราได้เห็นแล้วว่า ความเสี่ยงต่อภัยพิบัติที่เกิดขึ้นไม่เพียงเป็นผลลัพธ์จากกระบวนการทางกายภาพของโลก แต่ยังรวมถึงผลที่เกิดจากทางเลือกและการลงมือปฏิบัติของมนุษย์ด้วย

อ้างอิง :

Gordon McGranahan, Deborah Balk and Bridget Anderson, “Low Coastal Zone Settlements” in Teimpo – A Bulletin on Climate and Development, Issue 59, April 2006.

Greenpeace, “Blue Alert – Climate Migrants in South Asia : Estimates and Solutions”, March 2008.

Greenpeace and the Working Group on Climate Change and Development, “Up in Smoke? Asia and the Pacific – the Threat from Climate Change to Human Development and the Environment”, 2007.