เรื่อง : ธารา บัวคำศรี
ลำน้ำแม่จันไหลมาจากขุนน้ำด้านใต้ของเทือกเขานางนอนที่วางตัวยาวเหยียดอยู่ฟากฝั่งตะวันตกและเป็นปราการขวางกั้นที่ราบสูงฉานแห่งเมียนมาร์กับทุ่งราบแม่จัน – เชียงแสน – แม่สาย น้ำแม่จันไหลไปบรรจบกับลำธารสายหนึ่งคือ น้ำแม่คำ ซึ่งไหลมาจากแหล่งปลูกฝิ่นอันเลื่องชื่อบนเทือกเขาเดียวกัน ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บ้านสบคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ลำน้ำทั้งสองถือเป็นระบบแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของแม่น้ำโขง
เทือกเขานางนอนเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแดนลาว หนึ่งในเทือกเขาน้อยใหญ่แห่งโขง – สาละวิน เมื่อมองดูจากทุ่งราบแม่จัน – เชียงแสน – แม่สาย ในวันท้องฟ้าโปร่งอากาศแจ่มใส จะเห็นรูปหญิงสาวนอนหงายสยายผมชี้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ปลายเท้าอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ หญิงสาวสง่างามผู้นี้นอนยาวเหยียดจากน้ำแม่สายไปจรดน้ำกก จากนั้นระลอกคลื่นแห่งเทือกเขาทอดยาวลงไปในแนวเหนือใต้เป็นเทือกเขาผีปันน้ำตะวันตก
น้ำฮาหุ น้ำฮาโก น้ำจันน้อย เป็นสาขาย่อยของน้ำแม่จันบนดอยสูงต้นกำเนิด น้ำแม่คำมีต้นกำเนิดอยู่ที่แม่คำ ไหลลึกในหุบเขาเย็นเยือก ลำน้ำสาขาสายหนึ่งคือน้ำแม่สะลอง มีต้นน้ำอยู่ใกล้กับน้ำแม่จันไหลมารวมกับน้ำแม่คำก่อนลงสู่ทุ่งราบ
บนเทือกเขานางนอนคือทางด่านของชนเผ่าเร่ร่อนที่เคลื่อนย้ายจากตอนบนลงมาสู่ดินแดนที่สงบสุขกว่าตลอดระยะเวลานับศตวรรษ ได้กลายเป็นแหล่งพักพิงของชาวอาข่า ลาหู่ ลีซู จีนฮ่อ ไทยใหญ่ เมี่ยน ม้งและว้า แต่ละกลุ่มต่างมีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานอพยพเคลื่อนย้ายแตกต่างกันไป
กลุ่มชาวจีนภายใต้การนำของก็กมินตั๋งถอยร่นจากการต่อสู้ทางอุดมการณ์ในจีนมายังเมียนม่าร์ แนวพรมแดนไทย-เมียนมาร์ ท้ายสุดมาตั้งมั่นอยู่ ณ เชิงเขามังกรบนดอยสามเส้าหรือดอยแม่สะลองซึ่งเป็นต้นกำเนิดส่วนหนึ่งของน้ำแม่จัน น้ำแม่สะลอง-แม่คำ ที่ระดับความสูง 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล
เงื่อนไขทางการเมืองและเศรษฐกิจได้แปรสภาพกองทหารลี้ภัยมาเป็นศูนย์กลางการปกครองและการค้าบนเทือกเขาสูงในนามหมู่บ้านสันติคีรี
ชาวอาข่า ลาหู่ ลีซู ม้ง เมี่ยน คือสีสันของชนเผ่าแห่งแผ่นดินตอนใต้ของหมู่เมฆ เผ่าพันธุ์จีน-ธิเบตเหล่านี้เคลื่อนย้ายมาจากโขง-สาละวินตอนบนอย่างต่อเนื่องนานมาแล้ว เทือกเขานางนอนจึงมีหมู่บ้านเล็กๆ ของพวกเขากระจายอยู่ทั่ว และยังรักษาวิถีการผลิตแบบยังชีพก่อนถนนสายใหญ่จะนำคนภายนอกและโลกภายนอกเข้าไปถึง
เทือกเขาต้นน้ำแม่จันในปัจจุบันคือชุมชนสันติคีรีที่โตวันโตคืนจากผลพวงอันสลับซับซ้อนเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์หลายรูปแบบรวมถึงสินค้าผิดกฎหมายในอาณาเขตสามเหลี่ยมทองคำ ตลอดจนการแพร่ระบาดของเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว หมู่บ้านสันติคีรีไม่ต่างอะไรกับศูนย์กลางทุนนิยมบนเทือกเขาในขณะที่หมู่บ้านชนเผ่ารายรอบคือเหล่าบริวาร
เทือกเขาต้นน้ำแม่คำอยู่ถัดจากดอยแม่สะลองขึ้นไปเป็นพื้นที่เย็นเหมาะแก่การปลูกฝิ่น ประวัติศาสตร์ของหุบเขาเย็นเยือกแห่งนี้เคยปรากฏชื่อและความเคลื่อนไหวของจางซีฟู-ขุนส่าแห่งเมืองไตอาร์มี่ และบ้านหินแตกหรือบ้านเทอดไท อดีตชุมชนศูนย์กลางใหญ่ของพลพรรคปฏิวัติแห่งรัฐฉานและฐานการผลิตสินค้ายี่ห้อสิงโตคู่เหยียบลูกโลก เหนือหุบเขาน้ำแม่คำ หนทางยังทุรกันดารเมื่อเทียบกับถนนสายใหญ่ขึ้นดอยแม่สะลอง
ปัจจุบันลุ่มน้ำแม่จัน-แม่คำตอนบนอยู่ภายใต้การดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่ข้างเคียงโครงการพัฒนาดอยตุงหรือโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่แม่ฟ้าหลวง-แม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่สูงที่ขยายผลต่อจากโครงการพัฒนาดอยตุง
ปี 2534 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกับกองทุนความร่วมมือเศรษฐกิจโพ้นทะเลของรัฐบาลญี่ปุ่นเร่งสร้างถนนสายแม่จัน-ห้วยหินฝน-ท่าตอน ถนนไต่เลื้อยจากตัวอำเภอแม่จันเลียบลำน้ำจันขึ้นไปบนกิ่วดอยข้ามลงไปยังลุ่มแม่น้ำกกในเขตอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างสันปันน้ำที่ถนนสายการท่องเที่ยวตัดผ่าน มีถนนสายความมั่นคงสร้างโดยกองบัญชาการทหารสูงสูดเชื่อมต่อไปยังดอยแม่สะลอง โครงข่ายคมนาคมเจาะลึกเข้าไปในขุนเขา ตัดผ่านหมู่บ้านชนเผ่าเกือบทุกแห่ง แทบไม่มีที่แห่งใดในเขตต้นน้ำแม่จันไม่ถูกรุกรานจากภายนอก ถนนนำความมั่งคั่งอย่างใหม่มาสู่พวกเขาอย่างรวดเร็ว บนดอยสูงแห่งนี้ สีสันของโลกสมัยใหม่เหลื่อมซ้อนกับวิถีของโลกดั้งเดิม ไฟฟ้า-คาราโอเกะกับแสงตะเกียงวอมแวมในหมู่บ้าน ไร่ข้าวกับทุ่งกระหล่ำปลี และฝิ่นกับเฮโรอีน
เตือนใจ ดีเทศน์ นักพัฒนาผู้คลุกคลีอยู่กับชนเผ่าบนเทือกเขานางนอนหลายสิบปี เขียนถึงความผันเปลี่ยนของสายน้ำแม่จันบนเทือกเขาไว้ว่า “ลำน้ำแม่จันยังเรื่อยไหลไม่ขาดสาย อาจจะแห้งไปบ้างเมื่อยามแล้ง ลำน้ำสายนี้ได้พบผ่านการเปลี่ยนแปลงของผู้คนบนฟากฝั่งมากมายในชั่วอายุนี้ และคงจะได้รู้ได้เห็นความผันแปรอีกมากมายในภายหน้า”
จากดอยสูงสู่ทุ่งราบแม่จัน-เชียงแสน-แม่สายไปจรดแม่น้ำโขง ความยาวของน้ำแม่จันเพียง 59 กิโลเมตร ส่วนน้ำแม่คำมีความยาว 86 กิโลเมตร แม้เป็นลำน้ำสายสั้นแต่ความอุดมสมบูรณ์มีอยู่ทั่วลุ่มน้ำ จากหุบเขาถึงทุ่งราบที่สายน้ำไหลผ่าน การอยู่ในละติจูดสูงลึกเข้าไปในภาคพื้นทวีป ทำให้ทุ่งราบแห่งนี้อากาศเย็นสบาย และมีปริมาณฝนต่อปีสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ในภาคเหนือตอนบนในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา
โครงข่ายเหมืองฝายของน้ำแม่จันและน้ำแม่คำเชื่อมต่อกันเมื่อน้ำสองสายไหลคดเคี้ยวอยู่ในทุ่งราบ น้ำแม่จันมีลักษณะพิเศษ เมื่อไหลผ่านตัวอำเภอแม่จันแล้วไหลวกขึ้นไปสบกับน้ำแม่คำ สายน้ำส่วนหนึ่งแตกกระจายซึมหายไปในพื้นที่ตำบลจันจว้า
“จันจว้า” เป็นคำไตโยนหมายถึง “สายน้ำที่แตกกระจายซึมหายไป”
น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ทำให้บางส่วนของทุ่งราบปลูกข้าวได้สองครั้ง “ข้าวหอมมะลิแม่จัน” ข้าวคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งมาจากพื้นที่แห่งนี้ ท่าข้าวเปลือกริมฝั่งแม่น้ำกกใช้ฐานการผลิตข้าวจากที่นี่ กิจการโรงสีข้าวโดยเฉพาะในเขตอำเภอแม่จันมีมากเป็นอันดับสองรองจากอำเภอเมืองเชียงราย
ที่นี่คือต้นสายวัฒนธรรมแห่งล้านนา และต้นธารที่หล่อเลี้ยงชีวิตคน เวียงพางคำ เวียงปรึกษา เวียงหนองล่ม และตำนานเมืองหิรัญนครเงินยาง ตำนานเมืองโยนกนาคพันธุ์ สืบย้อนถึง “ลัวะ” กลุ่มชนดั้งเดิมและชนเผ่าไท กลุ่มชนจากภายนอกที่ผสมรังสรรค์เกิดกระบวนการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้น
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ สมัยยังเป็นนักเรียนวิชาโบราณคดี เธอบันทึกความรู้สึกถึงเรื่องราวของเวียงในเชียงราย ความวิบัติภายใต้เงาทะมืนของสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจว่า “ในสมัยที่การท่องเที่ยวยังไม่ระบาดเหมือนยาเสพติด และผืนดินที่นักเก็งกำไรคาดการณ์ถึงผลประโยชน์งดงามยังสงบนิ่งอยู่ในมือของชาวบ้าน เศรษฐีใหม่เป็นคำแปลกหู และโรคเอดส์นั้นแทบไม่มีใครรู้จัก เชียงรายคือหัวเมืองต่อแดนในภาคเหนือ รุ่งเรืองและร้างรามาหลายยุคหลายสมัย เป็นหน้าด่านตอนบนของล้านนาที่ปะปนไปด้วยผู้คนต่างเผ่าต่างชาติพันธุ์ ศูนย์รวมของความหลากหลายทางวัฒนธรรม…คือชีวิตที่เคยเป็นอยู่”
ความผันเปลี่ยนของทุ่งราบแม่จัน-เชียงแสน-แม่สายในภาพรวมของเชียงรายเป็นไปภายใต้กระแสธารแห่งกาลเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา การปลูกข้าวยังเป็นกิจกรรมส่วนใหญ่ในเชียงราย การผลิตข้าวได้มากทำให้เชียงรายมีโรงสีเชิงพาณิชย์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานมากที่สุดในภาคเหนือ ทว่า 10 ปีหลังจากนั้นเชียงรายกลับกลายเป็นจังหวัดที่ผลิตขิงอ่อนได้มากที่สุด เป็นการปลูกเพื่อส่งออกเพียงเพราะว่าขิงอ่อนที่เชียงรายถูกรสนิยมญี่ปุ่น
นับแต่ปี 2529 มีการขยายตัวของธุรกิจเรียลเอสเตทในเชียงราย ทั้งการขายที่ดิน พัฒนาที่ดินและการก่อสร้างที่อยู่อาศัย เป็นผลพวงมาจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่คือการสร้างสนามบินนานาชาติเชียงราย โครงการพัฒนาดอยตุง ปีท่องเที่ยวไทย นโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นตลาดการค้าของรัฐบาลชาติชาย โครงการคาสิโนที่สามเหลี่ยมทองคำ ด้วยการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วขึ้น เชียงรายจึงเป็นบ้านหลังที่สองและสนามกอล์ฟของคนจากเมืองหลวง
ถึงปัจจุบัน โรงสีขนาดเล็กในเชียงรายปิดกิจการลงหลายแห่ง ธุรกิจค้าข้าวไม่ให้ผลกำไรเหมือนก่อน ชาวนามีโอกาสกู้เงินจากแหล่งอื่นโดยไม่ต้องพึ่งโรงสี ความเคลื่อนไหวของราคาข้าวมาจากช่องทางข้อมูลข่าวสารที่เปิดกว้างขึ้น โรงสีใหญ่ที่ทันสมัยเข้ามาแทนที่ ในขณะเดียวกันพื้นที่ปลูกข้าวลดลง เพราะคนปลูกข้าวขายที่ดินของตนเอง ที่หมู่บ้านบ่อก้าง อำเภอแม่จัน มีนายทุนญี่ปุ่นมาเปิดกิจการโรงสีผลิตข้าวบาสมาติกเพื่อส่งออก ผืนดินอุดมของเชียงรายหล่อเลี้ยงไปถึงหมู่คนแข็งกระด้างในโลกอุตสาหกรรม
ในคืนวันที่สถิติการซื้อขายรถกะบะและรถจักรยานยนต์ในเชียงรายพุ่งสูง ดอยจัน ดอยแห่งพระธาตุศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นดอยจันรีสอร์ท ห้ามบุคคลภายนอกเข้า หนองบงกายหรือทะเลสาบเชียงแสนกลายเป็นบึงขี่สกู๊ตเตอร์ ริมแม่น้ำโขงที่ดินมีค่าราวกับทองคำ เส้นทางโสเภณีเปิดด้วยนโยบายสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ห้าเชียง เชียงรายได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง
ในวันนี้ ความอุดมสมบูรณ์ของเชียงรายกลายเป็นดาบสองคม
ผมได้ข่าวจากเชียงราย ลูกสาวแห่งลุ่มน้ำแม่จันคนหนึ่งบอกว่า นิคมอุตสาหกรรมจะมาตั้งที่อำเภอแม่จัน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหลายฉบับรายงานตรงกันว่า บริษัทยูนิโก้ ซึ่งมีนายประทีป จันทรเขตต์ อดีตผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการผู้จัดการ จับมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรม
นายสมเจตน์ ทินพงษ์ ตัวแทนผลประโยชน์นักอุตสาหกรรมคนสำคัญเคยแถลงว่า เพื่อเตรียมรับมือกับสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ มีการวางแผนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในอำเภอแม่จันโดยจะให้เป็นทั้งฐานะการผลิตและฐานการค้า
คนสำคัญของบริษัทยูนิโก้เคยแถลงไว้ว่า ได้ติดต่อนักลงทุนญี่ปุ่นที่จะมาร่วมลงทุนไม่ต่ำกว่า 400 ราย นิคมอุตสาหกรรมเชียงรายได้ศึกษามานานกว่า 10 ปีแล้ว มีเนื้อที่ 2,285 ไร่ ในพื้นที่ตำบลแม่จัน อำเภอ แม่จัน แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป 1,000 ไร่ เขตส่งออก 200 ไร่ ที่เหลือคือพื้นที่การค้าและอื่น ๆ
เส้นทางรถไฟที่คนเชียงรายปรารถนาจะมารองรับการเกิดนิคมอุตสาหกรรมอย่างเหมาะเจาะ การรถไฟแห่งประเทศไทยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมทางวิศวกรรมและเศรษฐกิจโดยเส้นทางรถไฟยาว 250 กิโลเมตร จากเด่นชัย มีปลายทางอยู่ 2 ทางเลือก คือ พะเยา-เชียงราย-แม่จัน-เชียงแสน หรือ พะเยา-เชียงราย-แม่จัน-แม่สาย ความฝันของโครงการยังวางแผนให้เป็นรถไฟรางมาตรฐาน 140 เมตร วิ่งด้วยความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
แต่ข่าวเรื่องนี้เต็มไปด้วยความสับสน ข้อมูลจากอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงรายบอกว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยศึกษาความเป็นไปได้ของนิคมอุตสาหกรรมเชียงรายเรียบร้อยแล้ว โดยเลือกตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน มีเนื้อที่ 2,375 ไร่ ดำเนินงานโดยบริษัทยูนิโก้
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตั้งเป้าว่า ภายในปี พ.ศ.2544 ประเทศไทยจะมีนิคมอุตสาหกรรมกระจายไปทุกภูมิภาคไม่ต่ำกว่า 30 แห่ง โครงการนิคมอุตสาหกรรมเชียงรายอยู่ในแผนปฏิบัติการปีงบประมาณ 2538 และอยู่ในระหว่างศึกษาความเป็นไปได้พร้อมกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมพะเยา โครงการนิคมอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร(ประจวบคีรีขันธ์) โครงการนิคมสุราษฎร์ธานี เขตอุตสาหกรรมปัตตานี โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี โครงการนิคมอุตสาหกรรมศรีษะเกษ โครงการนิคมอุตสาหกรรมบุรีรัมย์ จังหวัดที่มีโครงการนิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้อยู่เป็นจังหวัดศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7
สถานการณ์ร้อนระอุขึ้น ณ ทุ่งราบน้ำแม่จัน-แม่คำ จากข่าวว่าจะมีการจัดซื้อที่ดินแปลงใหญ่เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ท่าทีที่ค่อนข้างชัดเจนของชาวบ้านในพื้นที่แถบนั้นคือต้องการขายที่ดิน ไม่มีใครรู้ว่านิคมอุตสาหกรรมจะมาตั้งบริเวณใด ที่นาอุดมสมบูรณ์แห่งใดจะเปลี่ยนมือจากชาวบ้านไปสู่นายทุน ทุกอย่างถูกปิดเป็นความลับ ผลประโยชน์มหาศาลวนเวียนอยู่เหนือทุ่งราบแห่งนี้
ผมเดินทางเข้าไปยังบ้านหนองอ้อ ห่างจากตัวอำเภอแม่จันราว 4 กิโลเมตรไปตามเส้นทางสาย 1016 เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่มีกระแสข่าวหนาหูว่า นิคมอุตสาหกรรมจะมาตั้งในทุ่งนาเหนือหมู่บ้านขึ้นไป หมู่บ้านที่อยู่รายรอบได้แก่ บ้านดง บ้านเด่น บ้านโพธนาราม บ้านแม่สรวย บ้านบ่อก้าง บ้านขัวรินคำ บ้านกล้วย บ้านป่ายาง บ้านเหมืองกลาง บ้านป่าห้า บ้านสันคือ และบ้านป่าซาง ทุ่งนาที่หมู่บ้านเหล่านี้ล้อมรอบอยู่ระหว่างถนนสาย 110 และสาย 1016 ที่ทะลุไปยังอำเภอแม่สายและเชียงแสน อยู่ระหว่างน้ำแม่จันกับน้ำแม่คำ ผมทราบในภายหลังว่าพื้นที่แถบนี้ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาวไตยองจากลำพูนและเชียงใหม่
ก่อนมาเป็นอำเภอแม่จัน คนจากลำพูน เชียงใหม่ เคลื่อนย้ายขึ้นไปอยู่ที่เมืองเชียงแสนก่อนในช่วงปี 2433 สามสิบปีต่อมา ทางการย้ายที่ทำการจากเมืองเชียงแสนมาตั้งที่เมืองกาสา ห่างจากแม่น้ำโขงราว 36 กิโลเมตร ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อยกฐานเป็นอำเภอเชียงแสน เมืองเชียงแสนเดิมกลายเป็นกิ่งอำเภอเชียงแสนหลวง เนื่องจากอำเภอเชียงแสนอยู่ติดลำน้ำแม่จัน ในปี 2452 จึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอแม่จันและเมืองเชียงแสนเดินได้ยกฐานะให้เป็นอำเภอเชียงแสนในภายหลัง
สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นว่า “ถ้ามีนิคมอุตสาหกรรมในอำเภอแม่จันน่าจะเป็นพื้นที่ระหว่างน้ำแม่จัน-น้ำแม่คำ ห่างจากตัวอำเภอไม่ไกล เพราะราคาถูก น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ มีระบบเหมืองฝายที่ระบายน้ำอย่างดี ติดถนนใหญ่สองสายและไม่ไกลจากสนามบินนานาชาติเชียงราย หาซื้อที่อื่นไม่ได้อีกแล้ว มีชาวบ้านสันคือ ป่าห้า เหมืองกลางทำสัญญาซื้อขายกับนายหน้าไปแล้ว บ้านสล่าตุ๋ย ชาวบ้านป่าห้ายังเขียนป้ายติดไว้ว่าขายที่ดินติดนิคมอุตสาหกรรม”
กลุ่มแม่บ้านหนองอ้อนั่งทอผ้าอยู่ในบริเวณวัด หญิงวัยกลางคนยิ้มทักทาย ผมถามถึงความรู้สึกลึกๆ เรื่องการขายที่ดินให้พวกนายหน้าอุตสาหกรรม เธอตอบว่าจำเป็นต้องขาย เพราะทำนาได้ไม่คุ้มเสีย หนี้ ธ.ก.ส.มีทุกครัวเรือน
“แม่อยากให้ลูกหลานได้งานทำ ถ้ามีโรงงานที่เขาจ้างคนในหมู่บ้านและไม่ทำให้น้ำเสีย อากาศเสีย”
ทุ่งนาแห่งน้ำแม่จัน-แม่คำมาก่อนเป็นทุ่งข้าวที่สวยงามที่สุดที่ผมไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ทุ่งหลวงแห่งหริภุญไชยที่น้ำแม่ปิง-แม่กวงไหลผ่านนั้นตายเสียแล้ว แต่น้ำแม่จัน-แม่คำยังมีชีวิตอยู่ แม้ว่านักลงทุนหลายรายเริ่มหว่านเม็ดเงินลงบนผืนดินแม่จันไปแล้วก็ตาม
แม่อุ๊ยคนหนึ่งบอกว่า “นิคมอุตสาหกรรม อยากได้ครึ่งไม่อยากได้ครึ่ง มีคนจากหมู่บ้านหนองอ้อไปทำงานโรงงานนิคมอุตสาหกรรมลำพูนหลายคน เด็กที่ไปทำงานกลับมามีเงินทองมาให้บ้าน แต่บางคนก็ป่วย เข้าโรงพยาบาลหลายครั้ง บางคนไปทำได้ปีสองปีก็ลาออกกลับมาไปทำงานอื่น”
องค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำในเชียงรายเปิดเวทีสาธารณะขึ้นในวันที่ 7 เมษายน 2538 เวทีถูกย้ายจากหอประชุมอำเภอแม่จันมาจัดที่วัดศรีบุญเรืองข้างถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ด้วยเกรงว่าจะทำลายบรรยากาศการลงทุน บรรยากาศของเวทีปั่นป่วนเมื่ออภิปรายถึงตำแหน่งที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม ผู้แทนจากการนิคมอุตสาหกรรมไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างชัดเจนว่า นิคมอุตสาหกรรมเชียงรายจะตั้งอยู่ ณ ที่ใด การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไปถึงไหน มีอะไรเป็นหลักประกันว่าหากมีนิคมอุตสาหกรรมแล้วจะป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
พญ. อรพรรณ เมธาดิลกกุล ซึ่งเข้าร่วมเวทีพูดปิดท้ายว่า “ระหว่างมีเงินพอกินพอใช้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีน้ำสะอาดและอากาศบริสุทธิ์ กับร่ำรวยแต่เป็นโรครักษาไม่หาย ให้เลือกเอา ชาวแม่จันต้องตัดสินใจเอง แต่อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจ ยังมีข้อมูลให้เก็บไปคิด”
จากทุ่งราบแม่จัน-แม่คำ ที่ซึ่งสายน้ำไหลหล่อเลี้ยงคนปลูกข้าวทั้งคนบนดอยและคนพื้นราบ ความละโมบของทุนนิยมอุตสาหกรรมกำลังครอบงำ…ผมเดินทางออกมาไกลมากแล้ว